เกณฑ์ประเมินค่างาน JETHRO คืออะไร


เรื่องนี้เป็นการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนราชการ ซึ่งการที่จะมอบหมายให้คนทำงาน ราชการจะมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบไว้ก่อนล่วงหน้าและมีอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นที่จะกำหนดให้เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นๆ การดำเนินการตรงจุดนี้ ราชการเราเรียกว่า ”การกำหนดตำแหน่ง” เมื่อส่วนราชการจะกำหนดตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิ (ถ้าเปรียบเทียบระบบซีเดิมคือระดับ 9 ขึ้นไป) ซึ่งตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนด จะให้คณะกรรมการการกำหนดตำแหน่งระดับสูง เป็นผู้พิจารณาประเมินค่างานตามโปรแกรมอัตโนมัติประเมินค่างาน หรือที่เรียกกันว่า JETHRO โดยเป็นแบบชุดคำถามคำตอบจำนวน 20 ข้อคำถาม ซึ่งเป็นการสร้างมาจากการแบบการประเมินค่างาน 3 องค์ประกอบหลัก ดังนี้
1) ความรู้และทักษะที่จำเป็นในงาน (Know - How) หมายถึง ระดับและขอบเขตของความรอบรู้ ความชำนาญงาน และทักษะที่พัฒนาขึ้นมาจากประสบการณ์การทำงานและการฝึกฝน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นต้องมีเป็นพื้นฐาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตำแหน่งนั้นได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย 3 ด้าน
- ความรู้และความชำนาญ (Technical Know How)
- การบริหารจัดการ (Management Breadth)
- การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ (Human Relationship Skills)
2) ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem Solving) หมายถึง ระดับและขอบเขตของการใช้ความคิดและการตัดสินใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ขั้นตอนที่ตำแหน่งนั้นจะต้องนำความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย 2 ด้าน
- กรอบของอำนาจและอิสระในการคิด (Freedom to Think)
- ความท้าทายในการคิดแก้ปัญหา (Thinking Challenge)
3) ภาระรับผิดชอบ (Accountability) หมายถึง ระดับและขอบเขตของผลกระทบ ที่เกิดจากงาน ความรับผิดชอบหรือคุณภาพของงานที่เกิดขึ้น รวมถึงความอิสระหรือข้อจำกัดใน การปฏิบัติงานของตำแหน่งนั้น ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย 2 ด้าน
- อิสระในการปฏิบัติงาน (Freedom to Act) หรือความรับผิดชอบของการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับผู้อื่น (Accountability for Team Work)
- ผลกระทบจากการปฏิบัติงานและลักษณะงานที่ปฏิบัติของตำแหน่ง (Area and Type of Impact) ซึ่งจะพิจารณาจากปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กัน 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ ขอบเขตของผลกระทบ (Magnitude) และลักษณะของผลกระทบ (Type of Impact)
การประเมินตาม 3 องค์ประกอบหลักดังกล่าว เป็นลักษณะการให้ค่าคะแนน หรือเป็นระบบประเมินค่างานแบบการให้คะแนนองค์ประกอบ หรือ Point Rating System ทั้งนี้ในการนำไปใช้ในการประเมินเมื่อผู้ประเมินเป็นคณะกรรมการจะใช้ดุลยพินิจในการให้คะแนนที่จะทำให้เกิดมาตรฐานค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ก.พ.จึงได้กำหนดรูปแบบการประเมิน โดยให้แปลงการให้คะแนนดังกล่าวเป็นการตอบข้อคำถามที่มีมาตรฐานคำตอบเดียวกัน โดยต้องนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานในตำแหน่งนั้นมาอธิบายเลือกข้อคำตอบแต่ละข้อ ทั้งนี้ ยังอยู่ในองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการประเมินทั้ง 3 ด้าน ที่กล่าวในตอนต้น
สำหรับการประเมินนั้น โปรแกรมมีการตรวจสอบความคงเส้นคงวาในการเลือกข้อคำตอบด้วย กล่าวคือหากเลือกคำตอบที่มีค่าคะแนนสูงๆ ในแต่ละองค์ประกอบ ก็อาจไม่ผ่านการประเมินได้ เพราะข้อเท็จจริงของบทบาทการทำงานในแต่ละประเภทตำแหน่งไม่เหมือนกัน จึงมีการตรวจสอบขอบคะแนนในแต่ละประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่งที่จะต้องการกำหนดด้วย
ในคราวต่อไป ผมจะมาช่วยขยายความว่าใน 20 ข้อคำถามเป็นเรื่องใดบ้าง และการวิเคราะห์เพื่อเลือกข้อคำตอบได้ตรงตามข้อเท็จจริง

คำสำคัญ (Tags): #JETHRO คืออะไร
หมายเลขบันทึก: 600487เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท