กรอบความคิดที่ทับซ้อน


เราจะทำอย่างไรถึงจะย่อขยายกรอบความคิดของตนเองให้ไปรับเรื่องราวที่เราพูดคุยกัน และสามารถตัดตอนเรื่องราวได้อย่างเหมาะสม ทำอย่างไรถึงเราจะปักหมุดโดยกำหนดร่วมกันได้ว่าวันนี้เราจะพูดคุยแค่ไหน ต้องการบรรลุอะไร?

หลายครั้งการประชุม (การสนทนา) ไม่ได้จบลงด้วยทางออก แต่มักจะไปเพิ่มความหนักใจให้กับคนทำงาน หลังประชุมเสร็จรู้สึกถึงความหนักอึ้งและเติมไปด้วยปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น! คนเรามาประชุมกันก็เพราะต้องการให้งานเดินต่อไปได้ แต่ทำไมหลังประชุมเสร็จหลายต่อหลายครั้งเรารู้สึกว่าไม่รู้จะไปต่ออย่างไร ทำไมเรามักจะกลับมากังวลกับปัญหาที่เหมือนจะได้รับเพิ่มมากขึ้น แทนที่ว่าปัญหานั้นจะถูกทำให้เบาลง

เราต้องการให้การประชุมเป็นเช่นนั้นหรือ ก็ไม่ใช่! ย้อนกลับมาถามตัวเอง ทุกคนล้วนอยากให้ปัญหาถูกแก้ไข แต่เป็นเพราะอะไร! เราไม่ฟังกันใช่ไหม หรือทักษะการฟังของเราไม่ดีพอใช่ไหม! ก็คงมีส่วน สำหรับผมแล้วคิดว่าการฟังจะแปรผันตามเรื่องราวที่เราพร้อมฟัง “ถ้าหากเรื่องนั้นอยู่ในความสนใจเราจะฟังได้ดี” การพูดเช่นนี้อาจทำให้เข้าใจผิดพลาดไป! แต่ผมชวนมองลงไปลึกกว่านั้น ลองคิดดูว่าในหนึ่งเรื่องที่มีหยิบยกขึ้นมา มีรายละเอียดย่อยๆ อีกมากมาย แต่ละคนที่มานั่งประชุมมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ทุกครั้งที่มีการประชุมจึงเกิดภาวะของการ “คุยคนละเรื่องเดียวกัน” หมายถึงคุยเรื่องเดียวกันแต่มองคนละด้าน มองคนละมุม ให้ความสนใจในจุดที่ยืนต่างกัน!

ถ้าสมมุติว่าการประชุมในแต่ละเรื่อง(แต่ละครั้ง) เปรียบเสมือนแผนที่ประเทศไทย บางคนอาจพูดในระดับของพื้นที่ทั้งหมดทั้งประเทศ บางคนอาจพูดในขอบเขตเพียงบางจังหวัดหรือบางส่วน บางคนกำลังพูดว่าเราใครจะร่วมเดินทางไปกับเราบ้าง? หรือบางคนอาจพูดว่าเราจะต้องเตรียมอะไรบ้างสำหรับการเดินทางครั้งนี้? เราจึงมักที่จะพูดคนละเรื่องคน ละด้านในพื้นที่ๆ เรายืนอยู่ร่วมกันเสมอ...!

ต้นตอของการพูดเกิดมาจากการคิด "เราคิดก่อนถึงจะพูด” แล้วเราคิดอะไร ต้นตอของความคิดเราคืออะไร? นั่นคือกระบวนการโปรแกรมกรอบความคิดลงในสมองโดยที่เราไม่รู้ตัว การที่เราพูดต่างกันนั่นก็แสดงว่า เราคิดต่างกัน เราคิดอยู่ในกรอบที่ต่างกัน การมานั่งรวมกันในที่ประชุมจึงก่อให้เกิด “การทับซ้อนของกรอบความคิด” ที่ดูเหมือนว่าแต่ละคนจะมีอาณาเขตของการพูดคุยที่ไม่เท่ากันกัน "เรามักจะมองเห็นเพียงอาณาเขตของตนเองแต่ไม่เห็นอาณาเขตของคนอื่น" เรามักจะติดอยู่กับกรอบความคิดที่เราแต่ละคนกำหนดไว้โดยไม่รู้ตัว การแสดงออกผ่านคำพูดของแต่ละคนจึงเหมือนจะกลายเป็นต่างคนต่างพูด ไม่เข้าใจกัน! ไม่ใช่ไม่ฟังกัน! แท้จริงแล้วเราไม่เข้าใจกันต่างหากว่าเราแต่ละคนกำลังคิดอะไรอยู่
. การยืนอยู่บนกรอบความคิดของตนเองในที่ประชุม ไม่ต่างอะไรกับการชวนเพื่อนไปเล่นกีฬา ถ้านาย ก. ชวนนาย ข. ไปเล่นฟุตบอล แต่นาย ข. อยากเล่นเทนนิส ใจของนาย ข. ย่อมที่จะไปอยู่กับเทนนิส และพยายามอธิบาย นาย ก. เรื่องเทนนิส แต่ในขณะเดียวกัน นาย ก. ซึ่งอยากเล่นฟุตบอลก็ไม่รับฟัง และอยากจะพูดเรื่องฟุตบอล นาย ก. และนาย ข. ยืนอยู่บนกรอบความคิดที่ต่างกัน เกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการตอบสนอง และอาจเกิดความไม่พอใจในลำดับต่อมา การชวนเพื่อไปเล่นกีฬาก็เหมือนกับการชวนกันไปประชุม การเล่นฟุตบอลหรือเทนนิสก็เปรียบเสมือนกรอบความคิดที่ต่างกันที่เราติดตั้งในตัวเราเองก่อนการประชุม


เราจะทำอย่างไรถึงจะย่อขยายกรอบความคิดของตนเองให้ไปรับเรื่องราวที่เราพูดคุยกัน และสามารถตัดตอนเรื่องราวได้อย่างเหมาะสม ทำอย่างไรถึงเราจะปักหมุดโดยกำหนดร่วมกันได้ว่าวันนี้เราจะพูดคุยแค่ไหน ต้องการบรรลุอะไร? และเราจะทำอย่างไรถึงจะหลอมรวมความคิดของคนในที่ประชุมและนำพาไปสู่การก้าวไปข้างหน้า ทุกครั้งเมื่อเราประชุมร่วมกันเสมือนว่าเจอทางออกทุกครั้งว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร! “นี่เป็นคำถามอันท้าทายที่ผมอยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านได้สืบค้น”

หมายเลขบันทึก: 600333เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท