จาก”นักวิชาการสาธารณสุข” สู่ เกษตรกร “นักวิชาแพะ”


คุณหมอเชวง บุริวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปาฝา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของข้าราชการที่ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้เวลาว่างหลังเลิกงานมาทำเกษตรพอเพียงและเลี้ยงแพะ และทำสวนมะนาว

แบร้ๆๆๆๆๆๆๆๆ เป็นเสียงร้องของ แพะ (Goat) หรือ “แบ้” ที่หลายๆคนรู้จักกันดี เมื่อพูดถึงแพะหลายคนก็มักจะมะโนไปถึง สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย เช่นแพะรับบาป แพะบูชายัญ และอาจนึกไปถึงบทเพลง วิชาแพะ ของศิลปินเพื่อชีวิตน้าแอ๊ด คาราบาว ไปโน่น แต่หารู้ไม่ว่าแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญประเภทหนึ่ง เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ หนังสือพิมพ์ร้อยเอ็ดวันนี้ มีโอกาสแวะเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง”วิชาแพะ”กับพี่เวง คุณหมอเกษตรกรคนเก่งของเรา ที่เชวงฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่บ้านหนองเข็ง ตำบลดงสิงห์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด พวกเราไปถึงเชวงฟาร์มราวเจ็ดโมงเช้า พบพี่เวงกำลังสาละวนอยู่กับการให้อาหารเช้าน้องแพะ ราว ๕๐ ตัว ทุกตัวกำลังเอร็ดอร่อย และจดจ่ออยู่กับใบกระถิน หรือที่ภาคอีสานเราเรียก ผักกะเสด นั่นเอง ทีมงานร้อยเอ็ดวันนี้ เราพบว่าแพะที่เชวงฟาร์ม แยกออกเป็น 3 คอก คือคอกอนุบาลหลังคลอด สอบถามว่าเป็นแพะแม่ลูกอ่อนหลังคลอดไม่เกินหนึ่งเดือน โดยจะขังไว้ในคอกเล็กๆขนาดพื้นที่ ราว 2 ตารางเมตร โดยแยกไว้หลังจากคลอดลูกเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน เพื่อให้แม่หลังคลอดได้กินอาหารเพียงพอฟื้นฟูสภาพตนเอง และให้ลูกแพะเกิดใหม่ได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ ถัดมาก็จะเป็นคอกขุน คอกนี้มีพื้นที่ราว 20 ตารางเมตร ซึ่งมีแพะตัวผู้อยู่ราว 7 ตัว พี่เชวงบอกเราว่าแพะหนุ่มพวกนี้คัดเฉพาะตัวที่ไม่หล่อ (ลักษณะไม่ดี สายพันธุ์ไม่ดี) ไว้ขายให้พ่อค้าส่งโรงเชือด ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคแพะเพศผู้ คอกนี้พี่เวงจะดูแลให้กินอาหารเยอะเป็นพิเศษเหตุผลคือเพื่อให้ได้น้ำหนักมากๆ พี่เวงบอกว่าต้องฉีดยาคุมกำเนิดให้มันอีกด้วยเพื่อให้แพะหนุ่มเป็นสัด และโตเร็ว คล้ายๆการตอนว่างั้น ทีมงานเราเลยสงสัยว่าทำไมไม่ตอนมันเลยล่ะ พี่เวงให้เหตุผลว่าลูกอัณฑะของแพะลูกหนึ่งจะมีราคาแพงกว่าเนื้อแพะทั้งตัวอีก ผู้บริโภค(แถว สปป.ลาว และเวียดนาม นิยมกินลูกอัณฑะของน้องแพะหนุ่มมากเพราะเชื่อว่าเป็นยาโป๊วเสริมพลัง ทีมงานเราเลยได้ถึงบางอ้อ มิน่าล่ะ!!! ถัดจากคอกแพะขุนก็มาถึงคอกรวม คอกนี้จะใหญ่ที่สุดพื้นที่ราวๆ 50 ตารางเมตรเป็นคอกมุงหลังคาสังกะสีด้านในยกพื้นขึ้นอีกชั้นสำหรับให้แพะนอน พี่เวงให้ข้อมูลกับทีมงานเราว่าแพะไม่ชอบความชื้นแฉะจะไม่นอนพื้นดิน ต้องนอนในที่สูงๆเหนือพื้น หรืออาจหาแคร่ให้แพะนอนก็ได้ ด้านนอกของคอกมีการจัดลานดินขนาดประมาณ 60 ตารางเมตร ไว้สำหรับแพะวิ่งเล่น และให้อาหาร คอกรวมนี้มีแพะประมาณ 33 ตัว มีแพะหนุ่มน้อยตัวหนึ่งเป็นตัวผู้คุมฝูง จากนั้นคอกสุดท้ายก็จะเป็นคอกแพะพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ พี่เวงกั้นพื้นที่ขนาดราวๆ 25 ตารางเมตร สำหรับแพะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และมีเถียงนาน้อยสำหรับให้แพะขึ้นนอนด้วยหนึ่งหลัง ทีงานเราพบว่ามีแพะพ่อพันธุ์ตัวใหญ่หนึ่งตัวพี่เวงแกเรียกมันว่า “ไอ้ตูมตาม” และมีแม่พันธุ์ในคอกรวม ๕ ตัว พี่เวงให้ข้อมูลกับพวกเราว่าจริงๆแล้วแพะพ่อพันธุ์หนึ่งตัวมันสามารถคุมฝูงตัวเมีย(แม่พันธุ์) ได้สูงถึง 25 ตัว ทำให้ทีมงานเราถึงกับอึ้งและอิจฉาเจ้าตูมตามขึ้นมาทันที ขณะที่ทีมงานเราดูคุยกับพี่เวงอยู่นั้น ก็สังเกตุเห็นเจ้าตูมตามทำเจ้าชู้ใส่แม่พันธุ์ตลอดเวลา เจ้านี่ไม่เบาเลย

ในเรื่องการเลี้ยง พี่เวงได้ให้ข้อมูลว่าการเลี้ยงแพะที่เชวงฟาร์มเป็นการเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย ส่วนเรื่องอาหารหลักของแพะ พี่เวงบอกกับทีมงานว่า อาหารแพะ มี 2 ชนิดหลักๆคืออาหารหยาบ และอาหารข้น โดยอาหารหยาบคือต้นกระถินซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามริมทาง หลังจากเลิกงานพี่เวงก็จะแวะตัดต้นกระถินตามรายทางใส่ท้ายรถกระบะทุกมาทุกวัน วันละ 1 คันรถ แบ่งเป็นอาหารให้แพะได้ 2 มื้อ คือมื้อเย็นและมื้อเช้าของวันถัดไป พี่เวงให้ข้อมูลกับทีมงานเราว่า แพะเป็นสัตว์ที่ชอบต้นกระถินมาก โดยเฉพาะกระถินเทศ หรือกระถินยักษ์น้องแพะยิ่งชอบ จะกินทั้งใบและเปลือกลำต้น ทีมงานเราสังเกตุว่ารอบๆคอกจะมีลำต้นกระถินแห้งกองเต็มไปหมด โดยลำต้นกระถินเหล่านี้จะถูกน้องแพะ ลอกเปลือกออกจนขาวเกลี้ยง พี่เวงยังเล่าให้ทีมงานเราฟังว่าไม้กระถินเหล่านี้มีประโยชน์สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย โดยจะมีชาวบ้านมาขอไปทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงไว้ใช้ในครัวเรือนอยู่ตลอด ซึ่งพี่แกก็ไม่หวงและยินดีแบ่งปัน ส่วนอาหารอีกประเภทหนึ่งคืออาหารข้นนั้น พี่เชวงบอกว่าแพะจะกินอาหารข้นไม่มาก โดยใช้อาหารสำเร็จรูปของโคเนื้อรุ่น 3 เดือนไม่เกิน 6 เดือน เฉลี่ยค่าอาหารข้นตัวละประมาณ 1 บาทต่อวัน โดยบางครั้งพี่เวงแกก็จะผลิตอาหารข้นเอง โดยใช้กากมันสด หญ้าเนเปีย มาหมักเป็นอาหารข้นทำให้ประหยัดต้นทุนไปอีกมาก ในการให้อาหารแพะนั้น พี่เวงบอกว่าจะให้อาหารเพียงวันละ 2 ครั้งเท่านั้นคือตอนเช้ากับตอนเย็น

ด้านตลาด หลายท่านอาจสงสัยว่าแพะเนื้อขายยังไงต้องชำแหละไปขายหรือไม่ พี่เวงบอกกับทีมงานเราว่าการขายแพะเนื้อมี 2 แบบคือขายให้พ่อค้าส่งไปโรงเชือด ก็จะมีพ่อค้าแวะเวียนมาจับแพะอยู่ตลอด เป็นการขายชั่งกิโลแบบยกตัวเหมือนสุกร ราคาขายก็จะอยู่ราวๆกิโลกรัม 80-100 บาท มีบางช่วงที่แพะขาดตลาดอาจได้สูงถึงกิโลกรัมละ 120 บาท การขายแบบที่ 2 คือการขายเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ถ้าเราพัฒนาพันธุ์แพะได้ดี มีแพะสวยๆเราก็จะคัดไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ก็จะเกษตรกรมีผู้ที่สนใจเลี้ยงแพะมาติดต่อซื้อไปเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เราก็จะขายในราคากิโลกรัมละ 120-140 บาท หากตัวที่ลักษณะดี และสวยมากๆ ก็จะบวกค่าพันธุ์เพิ่มอีกตัวละ 500 บาท ซึ่งทีมงานเรามองว่าเป็นรายได้ที่ไม่เลวเลยทีเดียว

จากนั้นทีมงานได้เยี่ยมชมรอบๆฟาร์ม ยังพบว่าเชวงฟาร์ม เป็นฟาร์มที่ร่มรื่นมากเพราะมีต้นมะค่าแต้ และต้นประดู่ใหญ่ขนาด 2-3 คนโอบอยู่สองต้นซึ่งนับเป็นธนาคารโอโซนที่สำคัญเลยทีเดียว ส่วนบริเวณรอบๆฟาร์ม พี่เวงยังปลูกพืชผักหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นต้นปริญญาหรือลิ้นฟ้า(เพกา) ผักหวานป่า พริก มะละกอ ฝรั่ง ไผ่เลี้ยงน้อง ไผ่หม่าจู และมะนาวแป้นพิจิตร ราว 70 ต้น ซึ่งมะนาวที่สวนพี่เวงจะมีลำต้นสมบูรณ์ ใบเขียว ผลดกโต สอบถามพบเคล็ดลับมะนาวงาม คือ ขี้แพะนั่นเอง ซึ่งจะมีคนมาติดต่อขอซื้อขี้แพะไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้อยู่ตลอดเวลา โดยขายในราคากระสอบละ 40 บาท (เปลี่ยนกระสอบ 35 บาท)
เมื่อเสร็จภารกิจจากชมแพะและชมสวนแล้ว พวกเราขยับมาจิบกาแฟคุยกับพี่เวงที่บ้านพักหลังเล็กๆน่ารักๆในฟาร์ม
พี่เวงเล่าให้เราฟังว่าแรงจูงใจที่ทำให้มาทำการเกษตรพอเพียง คือเงินเดือนน้อย ต้องการมีรายได้เสริม ลดภาระค่าใช้จ่าย อีกทั้งชอบชีวิตเรียบง่ายพอเพียง ประหยัด รายได้อาจไม่เยอะแต่ทำแล้วมีความสุขที่ได้แบ่งปันผลิตผลปลอดสารพิษ ให้แก่เพื่อนฝูง พี่น้องและชาวบ้านในละแวก ไม่ว่าจะเป็น ฝักลิ้นฟ้า หน่อไม้ พริก มะละกอ มะนาว แม้กระทั่งฟืนเศษไม้กระถิน เหลือกิน เหลือแบ่งปันแล้วก็ขาย พอมีรายได้บ้างเล็กน้อย ส่วนแรงจูงใจในการเลี้ยงแพะนั้น พี่เวงเล่าต่อว่าตอนไปเรียนต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในช่วงทำปริญญานิพนธ์อาจารย์ที่ปรึกษาของคณะสาธารณสุขเต็มหมด ทางคณะก็เลยเชิญอาจารย์จากคณะสัตว์แพทย์มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา พี่เวงก็เลยได้ท่าน ผศ.ดร.สพญ.สุกัญญา ลีทองดี เป็น Adviser ซึ่งท่านถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องแพะลำดับต้นๆของเมืองไทยก็ว่าได้ พี่เวงก็เลยเกิดอาการอิน และซึมซับเรื่องแพะจากอาจารย์ และสนใจเลี้ยงแพะในที่สุด ปัจจุบันเชวงฟาร์มยังเป็นฟาร์มที่นิสิตสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาฝึกปฏิบัติงานโดยตลอด

จากการพูดคุยกับพี่เวงทำให้ทีมงานเราได้พบว่า “คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน หากแต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ สิ่งที่ทำได้ใน 24 ชั่วโมงนั้นมากน้อยต่างกัน” พี่เวงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของข้าราชการที่สู้ชีวิต และบริหารเวลาใน 24 ชั่วโมงได้คุ้มค่าอีกคนหนึ่ง ท่านที่สนใจต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการเลี้ยงแพะ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เชวงฟาร์ม บ้านเลขที่ 179 หมู่ที่ 4 บ้านหนองเข็ง ตำบลดงสิงห์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด โทรศัพท์ 09-4542-7401

หมายเลขบันทึก: 600193เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2016 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2016 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท