สาเหตุปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยในมุมมอง ดร. ปัญ ปฐพร


ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยน่าจะมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ โครงสร้างของสังคมไทยและการทุจริต คอรัปชั่นของข้าราชการบางกลุ่ม สามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้ คือ 1. โครงสร้างของสังคมไทย ที่เป็นระบบเครือญาติหรือระบบอุปถัมภ์ เราใช้สรรพนามว่า พี่ ป้า น้า อา ลุง ป้า ตา ยาย กับบุคคลภายนอกโดยทั่วไป เฉกเช่นคนในครอบครัว หรือเสมือนหนึ่งเป็นญาติพี่น้องกัน เมื่อ “ค่าของคน อยู่ที่คุณรู้จักใคร” การเลือกตั้งของประเทศไทยมี 2 ลักษณะ คือ “การเลือกตั้ง” กับ”การลากตั้ง” การเลือกตั้ง” คือการใช้ “สมอง คิด วิเคราะห์ แยกแยะ”และเลือกโดยการพิจารณาผู้สมัครจากความคิดของผู้เลือกตั้งที่มีเหตุผล แต่ “การลากตั้ง” คือการใช้ “หัวใจ”หรือความพอใจ ความถูกใจส่วนตัวในการเลือกผู้สมัคร ซึ่งไม่มีถูกผิด ไม่มีเหตุผล เป็นนามธรรม เพราะเมื่อชอบผู้สมัครท่านนี้ ก็ต้องแสดงออกและชักชวนให้ผู้อื่นชอบตามไปด้วย โดยการโน้มน้าวจิตใจ จึงเป็นที่มาของคำว่า “หัวคะแนน” ซึ่งเบื้องหลังคือการพบปะ สังสรรค์ ใกล้ชิด ช่วยเหลือกันภายในแต่ละชุมชน ดังนั้น การเลือกตั้งจึงถูกต้อง แต่การลากตั้งจะถูกใจ

จากความหมายข้างต้น จะมองเห็นความแตกต่างของผู้ที่มีการศึกษาหรือสังคมเมือง จะใช้วิธีเลือกตั้ง แต่สังคมชนบทของไทยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังเป็น “การลากตั้ง” เพราะเป็นรากเหง้า วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย การแจกเงิน ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ที่กล่าวถึงนั้น เป็นการกล่าวที่อาจมองข้ามสาเหตุที่แท้จริงว่า การรับเงินจากผู้สมัครไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ใดๆเลยว่าจะได้รับการเลือกตั้ง การทุจริตหรือปัจจัยต่างๆ

2. การทุจริต คอรัปชั่นของข้าราชการบางกลุ่ม เนื่องจากประเทศไทยใช้การปกครองในลักษณะของรัฐ ซึ่งเกิดมาจากมนุษย์อยู่ร่วมกันในลักษณะสังคมที่เล็กขนาดครอบครัวและรวมกันในรูปของเผ่า ขยายจากเผ่ากลายเป็นนครรัฐและไปเป็นชาติ เป็นรัฐหรือประเทศ โดยปกติคำว่า รัฐและประเทศมีความหมายคล้ายกัน และความหมายของรัฐโดยรวม หมายถึง ประเทศที่มีรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือประชากร ภายในดินแดนของตนอย่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่ใคร ความหมายของรัฐเน้นในเรื่องการเมือง คือ มีการจัดองค์กรในรูปแบบที่มีคนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ปกครองมีอำนาจเหนือกลุ่มคนทั้งหมด อำนาจของผู้ปกครองนี้อาจได้มาด้วยการใช้กำลัง หรือความยินยอมมอบให้ หรือการยอมรับของคนที่อยู่ในสังคมนั้นทางใดทางหนึ่งก็ได้ โดยจุดประสงค์สำคัญในการมีรัฐ คือความปรารถนาของคนที่จะมีชีวิตที่มีความสมบูรณ์ อันได้แก่ การมีเสรีภาพ มีโอกาสอันเท่าเทียมกัน มีความเจริญก้าวหน้า มีโอกาสพัฒนาด้านสติปัญญา ความสามารถและบุคลิกภาพ มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของประเทศ และองค์ประกอบของรัฐ คือ ประชากร ดินแดน รัฐบาล และอธิปไตย โดยสังคมที่จะเป็นรัฐประชาชาติโดยสมบูรณ์ได้ต้องมีอธิปไตย คือมีอำนาจเด็ดขาดและเต็มที่ที่จะบัญญัติ บังคับและตัดสินคดีความตามกฎหมายให้ประชาชนของรัฐของตน และสามารถที่จะดำเนินกิจการภายในหรือภายนอกประเทศโดยอิสระ ไม่ถูกควบคุมหรือบงการโดยรัฐอื่น ถ้าหากว่ารัฐใดขาดอธิปไตยแล้ว ถือว่ารัฐนั้น ไม่มีเอกราชโดยแท้จริง

เมื่อประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานผ่าน “ข้าราชการ”ซึ่งมีบทบาทสำคัญตั้งแต่เกิด ต้องใบแจ้งการเกิดที่อำเภอเพื่อออกสูติบัตร เมื่อโตต้องเข้าโรงเรียน ซึ่งแม้จะไปเรียนโรงเรียนเอกชน ก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐหรือเกี่ยวข้องกับข้าราชการ การเจ็บป่วย ต้องไปโรงพยาบาล คลินิก ขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน ออกเลขที่บ้าน ซื้อรถ ประกอบอาชีพต้องเสียภาษี ขออนุญาตเปิดกิจการ จนถึงแก่ความตาย ยังต้องไปออกใบมรณะบัตร หากมีปัญหาขัดแย้ง ต้องไปสถานีตำรวจ ศาล ฯลฯ จะเห็นว่า ข้าราชการมีบทบาทสำคัญในทุกช่วงชีวิตของคนไทย โดยมีกฎหมายเป็นหลักปฏิบัติหรือแนวทาง เพื่อให้เกิดความสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย และยังต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น น้ำ ไฟฟ้า ถนน ฯลฯ เป็นต้น

ระบบข้าราชการไทยในปัจจุบัน กำลังเข้าสู่วิกฤติเสื่อมศรัทธา ปัญหาต่างๆมากมายส่วนหนึ่งมาจากข้าราชการบางคนที่”ขาดจิตสำนึกสาธารณะ”มุ่งกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง เนื่องจากการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงกว่านั้น ได้มาจากการ“ใช้เงิน” ไม่ได้ใช้”ความสามารถ” เช่นนี้แล้ว ประชาชนจะหวังพึ่งภาครัฐได้อย่างไร ในเมื่อระบบทุจริต คอรัปชั่นในวงการข้าราชการไทยโด่งดังไกลไปทั่วโลก สาเหตุมาจากภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะไม่ได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเมื่อสังคมไทยยังต้องใช้ ภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน ควบคุม พัฒนา เศรษฐกิจและความอยู่รอดของประชาชน ประเทศไทยจึงเข้าสู่ความขัดแย้งอย่างหนัก จากปัญหาความเอารัดเอาเปรียบของข้าราชการไทยในหลายรูปแบบในอดีต ฝ่ายจัดซื้อที่มีการโกงกินอย่างมโหฬารเกือบจะทุกหน่วยงาน เพราะเป็น “ค่าธรรมเนียม น้ำร้อน น้ำชา” การจับกุมคดียาเสพติดที่ยึดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดโดยไม่ลงบันทึกการจับกุมให้ถูกต้อง แลกกับการลงโทษให้น้อยลง เมื่อศักดิ์ศรีไม่มี เพราะรับประทานไม่ได้ การทุจริตจึงกลายเป็นมะเร็งร้ายกัดกินสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยกตัวอย่างปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากปัญหาที่ข้าราชการในอดีตบางกลุ่ม ข่มเหง รังแก เอารัดเอาเปรียบ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ หรือเป็นประชาชนชายขอบ จนเมื่อมี “ผู้เป็นคนกลาง” เข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้แยกดินแดน ทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบ มีข้อสังเกตว่า นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นคนจากภาคใต้มากกว่าภาคอื่นๆซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งคือ หากใครมีลูกหลานเรียนกฎหมาย และถ่ายรูปติดไว้ที่บ้าน สามารถใช้เป็นสิ่งป้องกันข้าราชการที่ทุจริตได้

ประกอบกับสังคมไทยชอบวิพากษ์วิจารณ์ จับผิด แต่ไม่ยอมเสนอแนวทางในการแก้ไข เพราะอาจจะไม่รู้ว่าจะเสนอแนวทางอย่างไร ทราบแต่ว่า ไม่ดี ไม่ถูกต้อง แต่ไม่ทราบว่า แล้วที่ดี ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร การนำเสนอต่างๆขาดเหตุผลสนับสนุน ไม่มีเหตุผล นอกจากอารมณ์และอคติส่วนตัว ระบบยุติธรรมที่เลือกปฏิบัติ จนเป็นปัญหาให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นปัญหาหนักที่มาจากการประพฤติ ปฏิบัติของข้าราชการบางกลุ่มที่ทุจริตในทุกรูปแบบทำให้เกิดความแตกแยก และนโยบายต่างๆที่ทำให้แล้วแต่ยังไม่เห็นผลที่เกิดแก่ประชาชนโดยโดยตรง จึงสร้างความไม่พอใจและออกมาเรียกร้องต่างๆ เพราะส่วนใหญ่มีปัญหาความยากจนคือ สภาพการดำรงชีวิตของบุคคลที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ไม่สามารถจะหาสิ่งจำเป็นมาสนองความต้องการทางร่างกาย และจิตใจได้อย่างเพียงพอ จนทำให้บุคคลนั้นมีสภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่สังคมวางไว้ ซึ่งเกิดผลเสียต่อบุคคลและครอบครัว ทำให้บุคคลสูญเสียบุคลิกภาพที่ดี ครอบครัวขาดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ไม่สามารถจะส่งบุตรหลานเล่าเรียนได้เท่าที่ควร เป็นภาระแก่สังคม สังคมต้องอุ้มชู ดูแลคนยากจน ทำให้ประเทศชาติไม่สามารถจะทุ่มเทการพัฒนาได้ และทำให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไม่มั่นคง ประเทศที่มีคนยากจนมากก็ไม่สามารถจะพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองได้ ทำให้เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศไม่มั่นคง เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างในสังคม ซึ่งส่วนหนี่งเกิดจากปัญหาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง คอรัปชั่น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญระดับชาติ จะเห็นได้ว่าการทุจริตมีตั้งแต่ในระดับสูงลงมาถึงระดับท้องถิ่น แม้ว่าจะมีการปราบปรามและรณรงค์ต่อต้านอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาทุจริตมาจากความต้องการบริโภคเกินความพอดี คือมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย จึงหาช่องทางทุจริตนำเอาทรัพย์สินของคนอื่นและของทางราชการมาเป็นของตนเอง รวมทั้งกฎเกณฑ์และกฎศีลธรรมของคนในสังคมเสื่อมลง จึงทำผิดได้โดยไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง

แนวทางการแก้ปัญหาจึงเริ่มจากการปลูกฝังค่านิยมที่ดี โดยเฉพาะการปลูกฝังให้เห็นว่าประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รวมทั้งต้องมีการรณรงค์ให้คนในสังคมรังเกียจการทุจริต เน้นความซื่อสัตย์ ภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง โดยต้องการปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก ผ่านการอบรมสั่งสอนของบิดามารดา และการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อให้ค่านิยมเหล่านี้ซึมอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคน

นอกจากนี้ บทลงโทษทางสังคมก็จะต้องเข้มแข็งไม่ให้มีช่องโหว่ทางกฎหมายในการช่วยเหลือพวกพ้องให้พ้นผิด คนจะได้ไม่กล้าทุจริต และสังคมต้องให้การสนับสนุนด้วยการชี้เบาะแสผู้กระทำผิดให้กับองค์กร ก็จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ลดน้อยลงได้เพราะผลเสียของการคอรัปชั่นในด้านรัฐ ทำให้เกิดการผูกขาด ข้าราชการจะติดต่อซื้อขายกับพรรคพวกของตนหรือผู้ที่ให้ผลประโยชน์ต่อตนเอง เท่านั้น ทำให้สินค้าแพงกว่าความเป็นจริง วัสดุสิ่งของคุณภาพต่ำ ทำให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ในวงราชการ ใช้สถานที่ราชการหากินในทางไม่สุจริต ส่วนในด้านข้าราชการนั้น จะทำให้ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตหมดกำลังใจในการทำงาน ถ้าผู้บังคับบัญชาร่วมกับลูกน้องใกล้ชิดกระทำการคอรัปชั่นด้วยแล้ว ข้าราชการที่สุจริตย่อมอยู่ในวงราชการยากเพราะจะโดนกลั่นแกล้งตลอดเวลาและด้านประชาชน ประชาชนเสื่อมศรัทธาข้าราชการ เพราะข้าราชการที่คอรัปชั่นจะทำให้ข้าราชการที่ซื่อสัตย์พลอยเสียชื่อเสียง เกียรติยศ ไปด้วย

การทำโครงการ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นการรวมตัวของหน่วยทางสังคมที่สำคัญที่สุด เพื่อความเจริญงอกงาม บ่งบอกถึงวัฒนธรรมอันจะเกิดจากความดีงามของคนทุกคนที่จะร่วมกันพัฒนาทั้งสามสิ่งไปพร้อมๆ กัน

บ้าน อาจหมายถึงชุมชน หน่วยทางสังคมที่สำคัญหน่วยหนึ่ง ในบ้านอาจมีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน เป็นผู้นำ ผู้นำเหล่านี้จะพัฒนาทางด้านสภาพแวดล้อม ทางด้านกายภาพต่างๆภายในหมู่บ้านหรือชุมชน

วัด หน่วยทางสังคมที่สำคัญยิ่ง ในอดีตวัดคือศูนย์รวมของทุกๆสิ่งตั้งแต่เกิดจนตายก็ว่าได้ เกิดก็ไปวัดให้พระตั้งชื่อลูก ตั้งชื่อหลานให้ หากลูกหลานเป็นชายก็จักให้บวชเรียน เขียนอ่าน พอโตหน่อยจะออกเหย้าออกเรือน พระก็เป็นผู้ดูฤกษ์พานาทีให้อีก ไปจนวาระสุดท้ายก็สงบนิ่ง ณ มุมอันสงบของวัด

โรงเรียน หน่วยทางสังคมสุดท้ายที่จะกล่าวถึง โรงเรียนตั้งขึ้นเป็นทางการครั้งแรกในปี 2414 สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ในสมัยก่อนหน้า วัดคือสถานบันการศึกษาของชุมชน แม้การจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา ชาวบ้านในชนบทก็ยังไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียน เนื่องจากว่ายังแปลกใหม่อยู่ เนิ่นนานหลายปีกว่าชาวบ้านจะเข้าใจและยอมส่งบุตรหลานเข้าในระบบโรงเรียน

ฉะนั้น บ้าน วัด โรงเรียน จึงเป็นหน่วยทางสังคมที่มีความสำคัญทั้งหมด วัด มีบ้านและโรงเรียนให้การอุปถัมภ์ ค้ำชู ทำนุบำรุงพระศาสนา บ้านก็มี วัดคอยให้สติ เตือนใจ รวมทั้งจิตวิญญาณและมีโรงเรียนคอยสนับสนุนกิจกรรมในชุมชน โรงเรียน มีวัด ที่ให้การสนับสนุน อบรมสั่งสอนในศีลธรรม และมีบ้านที่คอยให้การสนับสนุน ผู้ที่มีความรู้ความสามรถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยอาจเป็นครูภูมิปัญญา ให้ความรู้ในเรื่องที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ และกรรมการสถานศึกษาก็มีพระ มีผู้นำชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานในโรงเรียน

วิธีการดำเนินงาน โดยการมอบนโยบายให้แต่ละอบต.ไปดำเนินการ โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแล รับผิดชอบ หาแนวทางในแต่ละจังหวัดซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่พื้นที่และชุมชนจะสามารถจะปลูกฝังค่านิยมและแนวทางชุมชนที่ยั่งยืนได้โดยง่าย และอาจเป็นแนวทางแก้ปัญหาของสังคมไทยได้

หมายเลขบันทึก: 599862เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2016 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2016 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท