ประเภทของตราสารหนี้


ตราสารหนี้มีได้หลายประเภทและหลายรูปแบบ เพราะโดยทั่วไปผู้ออกมักจะมีการออกตราสารหนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของผู้ออก ในขณะเดียวกันก็ควรต้องตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของนักลงทุนแต่ละประเภทด้วย

ตราสารหนี้สามารถแบ่งได้ตามประเภทหลักๆ ดังนี้

• แบ่งตามประเภทของผู้ออก

1. ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังเพื่อการระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป มาใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนภาระขาดดุลงบประมาณ ตราสารหนี้ชนิดนี้ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลโดยตรง ตราสารหนี้ชนิดนี้ถือว่าไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น (Default free) เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นลูกหนี้

2. ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ ซึ่งองค์กรผู้ออกจะมีหน้าที่และภาระในการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนดไว้ ความสามารถในการชำระหนี้และฐานะทางการเงินขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณา ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าพันธบัตรรัฐวิสาหกิจบางแห่งมักได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และช่วยให้รัฐวิสาหกิจนั้นสามารถระดมทุนได้ในอัตราที่ถูกลง

3. ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ “หุ้นกู้” เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปีที่ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ หุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนนี้มักจะมีเงื่อนไขรายละเอียดของการออกในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการจ่ายคืนเงินต้นของบริษัทผู้ออกนั้นๆ รวมถึงเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งทำให้มีการแบ่งหุ้นกู้ออกเป็นประเภทต่างๆตามที่จะนำเสนอต่อไป

• แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง

1. ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ถือจะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์และเจ้าหนี้ทั่วไปในกรณีที่บริษัทผู้ออกตราสารล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ ซึ่งจะมีสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย

2. ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ผู้ถือตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องให้ชำระหนี้ แต่จะมีสิทธิเรียกร้องสูงกว่าผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ

• แบ่งตามการค้ำประกัน

1. ตราสารหนี้มีประกัน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือ สังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน เป็นหลักประกันในการออก โดยผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเหนือสินทรัพย์นั้น โดย ก.ล.ต. บังคับว่าหุ้นกู้ประเภทนี้จะต้องจัดให้มี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง จำนำ หรือรับหลักประกัน และใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันด้วย

• แบ่งตามประเภทอื่นๆ

1. ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed-rate bond) คือ ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตามที่กำหนดไว้ตลอดอายุของตราสารหนี้ โดยตราสารหนี้ในตลาดกว่าร้อยละ 80 จะมีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่

2. ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate bond หรือ FRN) หมายถึง ตราสารหนี้ที่กำหนดอัตราผลตอบแทนที่แปรไปตามอัตราอ้างอิงหรือดัชนีที่กำหนดไว้ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ออกตราสารหนี้ย่อมต้องการออกตราสารหนี้ประเภทที่กำหนดผลตอบแทนคงทีเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ต้นทุนดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ซื้อหรือนักลงทุนจะมีความต้องการในตราสารหนี้ประเภทลอยตัว เพราะจะไม่เสียโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามตลาด

ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง นักลงทุนย่อมต้องการลงทุนในหุ้นกู้แบบจ่ายดอกเบี้ยคงที่ เพื่อล็อคผลตอบแทนไว้ไม่ให้ลดลงตามภาวะตลาด ในขณะที่ผู้ออกจะอยากออกตราสารหนี้แบบจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว

3. หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) เป็นตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นกู้ในการแปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นหุ้นสามัญตามอัตรา ราคาแปลงสภาพ และเวลาที่กำหนดไว้ หุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับความนิยมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดี

4. หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing bond) คือ ตราสารหนี้ประเภทที่ผู้ออกจะทยอยจ่ายคืนเงินต้นแก่ผู้ถือในแต่ละงวด แทนที่จะเป็นการจ่ายคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุดังเช่นตราสารหนี้ปกติ ในปัจจุบันตราสารชนิดนี้มีเฉพาะหุ้นกู้เอกชนซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของผู้ลงทุนได้ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันมีความเหมาะสมกับกระแสเงินรับของผู้ออกหุ้นกู้

5. หุ้นกู้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด (Callable bond) คือ ตราสารหนี้ที่ให้สิทธิผู้ออกในการเรียกคืน (call) หรือไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นก่อนกำหนด ก่อนการลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ควรจะต้องทราบเงื่อนไขการไถ่ถอนก่อนกำหนดนี้ด้วยเนื่องจากมีผลต่อราคาของหุ้นกู้

6. หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable bond) หมายถึงตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการขอไถ่ถอนก่อนครบกำหนด โดยรายละเอียดของเงื่อนไขและวิธีการจะกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกหุ้นกู้ เช่น การกำหนดว่าผู้ออกต้องดำรงอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับใด และหากไม่สามารถทำได้ ผู้ถือตราสารมีสิทธิที่จะขอไถ่ถอนก่อนกำหนด

7. ตราสารหนี้จากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitized bond) คือ ตราสารหนี้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยการจ่ายดอกเบี้ยจะมาจากกระแสเงินสดที่ได้จากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้น โดยปกติตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีหลักทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้นค้ำประกัน หรือมีกระบวนการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ (Credit enhancement)

8. ตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond) คือตราสารหนี้ที่ไม่มีวันหมดอายุ โดยไม่มีการไถ่ถอนคืนจนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ และจะมีการจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนด

อ้างอิงจาก : http://www.thaibond.com/bondmarket/bond_type.html

คำสำคัญ (Tags): #ตราสารหนี้
หมายเลขบันทึก: 599707เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2016 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2016 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท