ภาษี งบประมาณ กับ การพัฒนาประเทศ (ตอนที่7 สรุป)


ภายใต้พัฒนาการของความคิดและประสบการณ์ของจริงที่เกิดขึ้นในไทย เกี่ยวกับ การปฎิบัติภารกิจแห่งรัฐ และอำนาจในการเก็บภาษีอากร รวมทั้งการกำหนดมาตรการทางการเงิน ในลักษณะต่างๆ ที่ส่วนหนึ่งนำไปใช้จ่ายเป็นงบประมาณประจำปี น่าจะสรุปได้ทำนองนี้

  • แม้ในหลักการจะชัดเจนว่า รัฐบาลมีอำนาจและหน้าที่เก็บภาษีอากร และมีอำนาจเต็มที่ ที่จะกำหนดให้นำเงินจากภาษีอากรที่เก็บได้ ไปพัฒนาบ้านเมือง ตามที่เห็นสมควร แต่ภายใต้พัฒนาการที่เกิดขึ้น ไม่มีรัฐบาลใดจะสามารถเอาภาษีที่เก็บได้ไปทำอะไรก็ได้ ตามที่เห็นสมควร
  • ในทางปฎิบัติ รัฐบาลจะพิจารณาว่าควรหรือสามารถ “ใช้กลไกอะไร อย่างไร” ทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาประเทศ อย่างที่ควรจะเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ความโปร่งใส ความยั่งยืน และความต่อเนื่อง)
  • กล่าวเฉพาะในส่วนของกลไกที่รัฐบาลสามารถใช้ได้โดยตรง แม้กลไกสำคัญของรัฐจะได้แก่ หน่วยราชการต่างๆ แต่ประสบการณ์ที่ชัดเจนในประเทศไทย มีกลไกอีกประเภทหนึ่ง ที่สร้างขึ้น และสามารถปฎิบัติภาระกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ คือ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยราชการ ที่ประกอบด้วย หน่วยงานที่มี พรบ เฉพาะ กับ หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น ตาม พรบ องค์การมหาชน (ซึ่งในตอนหลังเรียกรวมๆกันว่าเป็น องค์การมหาชน แม้จะมีความแตกต่างกันไม่น้อย ในแง่ของลักษณะภาระกิจ และความคล่องตัวในการบริหารงาน) แต่สิ่งสำคัญคือการออกแบบให้ กลไกเหล่านั้น มี “กลไกกำกับดูแล” ที่มีธรรมาภิบาล และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ (รูปธรรม คือการมี คณะกรรมการที่มีองค์ประกอบที่เหมาะสม มีส่วนร่วมจากทั้งภาคราชการ และผู้มีความรู้ความสามารถ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคประชาชน) มีการบริหารที่เป็นมืออาชีพ (ทั้งส่วนของ คณะกรรมการ และฝ่ายบริหาร) และมีการตรวจสอบผลการทำงาน และแนวทางการทำงาน อย่างจริงจังและสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น กับสังคมและประชาชน มากกว่า กฎระเบียบที่เคร่งครัดตายตัว (ซึ่งมักเป็นอุปสรรค ในการทำงานของหน่วยราชการที่มีอยู่เดิม)
  • ไม่ว่าจะใช้ กลไกที่เป็นหน่วยราชการ หรือเป็น หน่วยงานของรัฐ ที่มี พรบ หรือ พรฏ เฉพาะ การทำให้ เงิน หรืองบประมาณที่ได้มา สามารถทำให้ ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ภาคเอกชนธุรกิจ หรือ เอกชนสาธารณะประโยชน์ เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมตัดสินใจ ร่วมบริหาร หรือ ร่วมในการเป็นผู้นำ งบประมาณ ไปสร้างกิจกรรม หรือทำธุรกรรม ที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสังคมร่วมกัน เป็นแนวทางการบริหาร งบประมาณที่น่าจะสร้างประโยชน์ได้มากกว่า การทำให้งบประมาณ ถูกใช้จ่ายโดยหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยราชการแต่เพียงฝ่ายเดียว
  • นอกเหนือจาก การให้ความสำคัญกับการพิจารณา งบประมาณ ขาขึ้น คือการลงไปในรายละเอียดอย่างถี่ยิบ ในขั้นตอนการของบประมาณ สิ่งที่อาจจะสำคัญกว่า และได้ประโยชน์มากกว่า คือการให้ความสำคัญกับการกำหนดผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และการลงติดตามตรวจสอบ ว่างบประมาณ ที่จัดสรรลงไป ภายใต้เป้าหมาย หรือผลที่พึงประสงค์กว้างๆ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างที่ต้องการ มากน้อยเพียงไรและจะมีแนวทางการปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ และเกิดความคุ้มค่ามากขึ้นได้อย่างไร

ประเด็นท้าทาย สำหรับสังคมไทยที่จะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง มีอยู่ 2 โจทย์

โจทย์แรก เราอยากเห็น กลไกสำคัญๆ อะไรบ้างในสังคม โดยเฉพาะกลไกรัฐ ที่จะเข้ามาปฎิบัติภาระกิจแห่งรัฐ

โจทย์ข้อที่สอง คือ เราอยากเห็นการใช้กลไก และมาตรการทางเงิน การสร้างกลไกการตรวจสอบ และกรอบกฎหมาย อย่างไร เพื่อให้ กลไกของรัฐเหล่านั้นปฎิบัติ ภาระกิจอย่างได้ผล และมีประสิทธิภาพ มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ทั้งจากภายในและภายนอก

ตัวอย่างต่างๆ ทีเล่ามา รวมทั้ง ผลงาน หรือข้อมูล ที่ปรากฎต่อสาธารณะ (ที่ไม่ได้เกิดจากการใส่สี ตีความ เพื่อวัตถุประสงค์แฝง) น่าจะเป็นรูปธรรม ที่ให้บทเรียน ให้ทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกัน ก้าวไปข้างหน้า ให้ประเทศไทยของเราดีกว่าที่เป็นมา

หมายเลขบันทึก: 599666เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2016 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2016 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท