เรียนรู้ชีวิตใน “ค่ายสร้างสุข” ประสบการณ์ดีๆ ที่ไม่มีในห้องเรียน


ค่ายสร้างสุขส่งเสริมให้คนได้ออกไปดูความจริง ว่าสังคมเมืองและชนนบทแตกต่างกันอย่างไร เพราะชนบทมีปัญหาหลากหลายมากกว่าสิ่งที่เขารู้และรู้สึกคิด ลองใช้ชีวิตในค่ายร่วมกัน ซึ่งเราไม่อยากให้ทำแต่งาน สร้างโน่น สร้างนี่ แต่ต้องมีการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย



คนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยต่างเคยผ่านการออกค่ายมาบ้างไม่มากก็น้อย ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตของนักศึกษาที่หาไม่ได้ในตำราหรือในห้องเรียน

องค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมูลนิธิโกมลคีมทอง เป็นองค์กรสำคัญที่สนับสนุนกิจกรรมออกค่ายของนักศึกษา โดยเน้นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทำงานเป็นหลัก ต่อมาเมื่อปี 2549 มูลนิธิโกมลคีมทอง ร่วมกับสำนักสร้างสรรโอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาจัดค่ายอาสาพัฒนา เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และยกระดับความคิด สร้างจิตสำนึกสาธารณะ สำนึกต่อการรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน และส่งเสริมสุขภาพในชุมชน ผ่านโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา หรือ “ค่ายสร้างสุข”

วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโกมลคีมทอง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ “ค่ายสร้างสุข” ว่า ในขณะนั้นพบว่านักศึกษาสนใจและมีความรับผิดชอบต่อสังคมน้อยลง จึงอยากสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการทำค่าย และค่ายนั้นต้องเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และไม่ส่งเสียงดังรบกวนคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่มาของ “ค่ายสร้างสุข” คือสุขทั้งกายและใจ ทั้งคนทำค่ายและคนในชุมชน โดยให้ทุนโครงการละไม่เกิน 1 แสนบาท

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา “ค่ายสร้างสุข” มีการพัฒนารูปแบบการออกค่ายทุกๆปี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ปี 2549-2551 ส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสบ่มเพาะจิตอาสาในตัวเอง ปูพื้นฐานแนวคิดเรื่องของการทำงานค่ายอาสาพัฒนา เรียนรู้เสียสละและการปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ระยะที่สอง ปี 2552-2555 ได้เพิ่มมิติของการเรียนรู้สังคม เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน พร้อมทั้งพัฒนาทักษะและความสามารถในการออกแบบและจัดกิจกรรมค่ายอาสา และระยะที่สาม ปี 2556-2560 เน้นไปที่การค้นหาและพัฒนาหลักสูตรพัฒนาศักยภาพในการสร้างนักขับเคลื่อนงานทางสังคมรุ่นใหม่ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ออกแบบและทดลองปฏิบัติการในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

“ค่ายสร้างสุขส่งเสริมให้คนได้ออกไปดูความจริง ว่าสังคมเมืองและชนนบทแตกต่างกันอย่างไร เพราะชนบทมีปัญหาหลากหลายมากกว่าสิ่งที่เขารู้และรู้สึกคิด ลองใช้ชีวิตในค่ายร่วมกัน ซึ่งเราไม่อยากให้ทำแต่งาน สร้างโน่น สร้างนี่ แต่ต้องมีการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย ได้เห็นปัญหา พูดคุยถกเถียงระดมความคิดเห็นกันในหมู่ค่าย จริงอยู่ที่ว่าอาจจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่คนในค่ายจะได้เรียนรู้ได้เข้าใจฐานของปัญหาและสังคม เผื่อว่าวันข้างหน้าเขาจะมีวิธีแก้ปัญหาได้ลึกซึ้งกว่าตอนนี้ก็เป็นได้” วีรพงษ์ กล่าว

จากความสำเร็จของ “ค่ายสร้างสุข” ในระยะ 1-2 ในขณะนี้ต่อยอดมาสู่การดำเนินงานในระยะที่ 3 เป็นการค้นหาและพัฒนาหลักสูตรพัฒนาศักยภาพสร้างนักขับเคลื่อนงานทางสังคมรุ่นใหม่ เพื่อเป็นมาตรฐานของนักจัดค่ายอาสาพัฒนาที่พร้อมจะเป็น “นักปฏิบัติการทางสังคม” เพื่อขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคมต่อไป

วีรพงษ์ เล่าว่า แนวทางการดำเนินงานของโครงกาในระยะที่ 3 คือการถ่ายทอดองค์ความรู้และหลักสูตรไปยังหน่วยงานหรือผู้ที่มีศักยภาพในทุกภูมิภาค ให้มีความสามารถในการจัดบอรมและสร้างนักปฏิบัติการทางสังคมได้ โดยไม่ต้องพึ่งมูลนิธิโกมลคีมทองอีกต่อไป ซึ่งต่อไปทาง สสส. ก็ไม่ต้องให้ทุนสนับสนุนกับมูลนิธิโกมลคีมทอง โดยสามารถกระจายทุนไปยังผู้ที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ ได้เลย

“ค่ายอาสาพัฒนาเป็นเครื่องมือเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนพฤติกรรมของคน นักศึกษาควรผ่านการจัดค่ายอาสาพัฒนา ได้ไปใช้ชีวิตร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เจอโจทย์ก็แก้ปัญหาร่วมกัน เกิดกระบวนการเรียนรู้ ร่วมทุกข์สุขในห้องเรียนชีวิต เมื่อพ้นรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว คุณก็จะเข้าใจปัญหาของสัมคมที่มีอยู่จริง ไม่ใช่อยู่ในตำราหรือทฤษฎี และจะเป็นประโยชน์กับการทำงานของตัวคุณเอง เพราะคุณได้เข้าใจสังคมมากขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว” กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโกมลคีมทอง กล่าว

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา “ค่ายสร้างสุข” ทำให้เกิดค่ายอาสาพัฒนากว่า 900 ค่ายทั่วประเทศ และบ่มเพาะนักศึกษาที่ดีมีศักยภาพสู่สังคมมากกว่า 20,000 คน ที่พร้อมยกระดับไปสู่การเป็นนักปฏิบัติการทางสังคมต่อไปในอนาคต หรือบางรายเป็นพลังหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนงานทางสังคมอยู่ในปัจจุบัน อย่างเช่น “ตั้ม” ธนภัทร แสงหิรัญ บัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเคยผ่าน“ค่ายสร้างสุข” เมื่อครั้งใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ตั้ม เล่าว่า เมื่อ พ.ศ.2550 ขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เขาพร้อมด้วยเพื่อนๆ ได้ออกค่ายอาสาพัฒนา “สร้างสัมพันธ์สานสายใย สร้างคนค่ายเพื่อสังคม” ตอน ปลาแดกแลกสะตอ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา โดยเลือกพื้นที่ชุมชนปากบารา จ.สตูล

“ขณะนั้น เราทราบว่าได้มีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา คนในพื้นที่ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เพราะได้รับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ พวกเราซึ่งเป็นคนอีสานก็อยากจะไปเรียนรู้ในการทำค่ายในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากถิ่นที่อยู่ เราจึงลงพื้นปากบาราเพื่อเรียนรู้และรับทราบถึงสภาพปัญหาที่ชาวบ้านพบเจอ แม้ว่าเราจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้มากมาย แต่อย่างน้อยเราก็เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่ช่วยบอกต่อให้สังคมรับทราบความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน” ตั้ม เล่า และเพิ่มเติมว่า การทำงานในค่ายอาสาพัฒนาของ“ค่ายสร้างสุข” นั้น จะแตกต่างค่ายอาสาพัฒนาทั่วไป เพราะค่ายสร้างสุข จะมีรูปแบบการออกแบบค่ายและการทำงานที่ชัดเจน ผู้ทำค่ายก็จะต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือหรือทักษะการจัดกระบวนการในการทำค่ายให้มีประสิทธิภาพ เช่น แผนภูมิต้นไม้ สอนให้เรารู้วางแผนและสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะแตกต่างจากค่ายนักศึกษาทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการลงพื้นที่ไปสร้างตึกสร้างอาคาร แต่ค่ายสร้างสุขของเรามุ่งเน้นปฏิสัมพันธ์กับชุมชนมากกว่า เรียนรู้ชุมชน มองชุมชนอย่างลึกซึ้ง ค่ายอาสาพัฒนา ถือเป็นประสบการณ์หนึ่งที่หาไม่ได้ในรั้วมหาวิทยาลัย สอนให้เราเปิดใจเพื่อเข้าใจชุมชนให้มากขึ้น

ขณะที่ “มะฟู” กิตติศักดิ์ ปัตตานี เป็นอีกคนหนึ่งที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้และจัดค่ายสร้างสุขขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มะฟู เล่าว่า ช่วงปี 2555-2556 สหพันธุ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ได้ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องของสุขภาพ สิทธิทางการเมือง และชุมชน อันเนื่องจากสภาวะความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งทรัพย์สิน ร่างกาย และจิต ดังนั้นเขาจึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะลงไปช่วยเหลือได้บ้าง จึงได้รวมตัวกับเพื่อนๆ ขอทุนจากโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา มาทำค่าย “เรียนรู้บนวิถีชีวิตชุมชน” ในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพราะเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้ง และพื้นฐานทางการเมืองของชาวบ้านยังไม่เปิดกว้าง จึงอยากสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มชาวบ้าน โดยการจัดเวทีสร้างการมีส่วนระหว่างชุมชนด้วยกันเองในการแก้ปัญหาของชุมชน

“เราพากลุ่มนักศึกษาได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนว่าเขาเป็นอยู่อย่างไร ประสบปัญหาอะไรบ้าง และลงพื้นที่ทำกิจกรรม กินนอนอยู่ในชุมชน ใช้ชีวิตเหมือนคนในชุมชน การทำค่ายของ “ค่ายสร้างสุข” สอนให้เราเกิดจิตสำนึกในการทำงาน เกิดกระบวนการเรียนรู้ มีองค์ความรู้ เรียนรู้การทำงานร่วมกัน และยังให้ทักษะการทำงาน โดยการใช้เครื่องมือการลงพื้นที่ การวิเคราะห์ชุมชนซึ่งหาไม่ได้จากค่ายที่มีอยู่” มะฟู บอก

ปัจจุบัน “ตั้ม” ธนภัทร แสงหิรัญ ทำหน้าที่เป็นประธานโครงการฮักบ้านเกิด (ความสุขอยู่ที่บ้านเรา) และยังทำงานด้านสังคมในบ้านเกิด จ.สกลนคร ขณะที่ “มะฟู” กิตติศักดิ์ ปัตตานี กำลังขับเคลื่อน ศูนย์บูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมนุมชน เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวได้แสดงออกพลังทางบวกในการสรรค์สร้างจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้ง2 คน ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จาก “ค่ายสร้างสุข” มาปรับใช้ในการสร้างค่ายเรียนรู้ สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสารับผิดชอบต่อสังคมจนเกิดเป็นเครือข่ายเด็กค่ายอาสาสร้างสุขไปทั่วประเทศที่เป็นพลังพร้อมขับเคลื่อนสังคมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 599540เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2016 04:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2016 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท