ความดีที่สะแกกรัง (บันทึกของลูกสาวข้าพเจ้า)


ความดีที่สะแกกรัง

สะแกกรัง คำๆนี้ ได้ยินครั้งใด ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจและมีความสุข เพราะมันหมายถึง การดำรงชีวิตที่มีความสุข ของชาวบ้านเมืองอุทัยธานีมาอย่างยาวนาน

บิดาของข้าพเจ้าเล่าให้ฟังเสมอว่า เดิมวิถีชีวิตของครอบครัวตระกูลของเรา ดำรงชีวิตอาศัยอยู่บนแม่น้ำสะแกกรัง มาตั้งแต่สมัยคุณปู่ทวด ได้ใช้เรือสำปั้นขนาดใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยและยานพาหนะในการเดินทางเพื่อใช้ซื้อขายและขนส่งสินค้า ต่อมาในรุ่นของคุณปู่และบิดาของข้าพเจ้า เริ่มสร้างที่อยู่อาศัยเป็นเรือนแพเป็นแบบแพลูกบวบ ใช้วิถีชีวิตแบบชาวแพบนแม่น้ำสะแกกรัง

บิดาของข้าพเจ้า เล่าให้ฟังว่า ในสมัยยังไม่มีเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อถึงหน้าน้ำลด แม่น้ำสะแกกรังจะแห้งขอดผู้คนสามารถเดินข้ามฟากไปอีกฝั่งได้ สามารถเก็บหอยแบบต่างๆ ไปทำอาหารรับประทาน ในช่วงหน้าน้ำ มีน้ำเต็มฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ในช่วงนี้ยิ่งสนุกสนานมาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ได้เล่นน้ำ ได้กระโดดน้ำ บิดาของข้าพเจ้าบอกว่า การกระโดดน้ำให้สนุกนั้น ต้องขึ้นไปบนต้นไม้ที่สูง ๆ แล้วกระโดดลงมาในน้ำ ยิ่งใครสามารถปีนต้นไม้ขึ้นได้สูงที่สุด เหมือนกับว่า คนนั้นมีฝีมือระดับเซียนในการกระโดด ชาวบ้านก็มีความสุขกับแม่น้ำเช่นกัน เพราะสามารถเดินสัญจรได้สะดวก ไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น และที่สำคัญที่สุด นั่นคือ แม่น้ำสะแกกรัง เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ที่สุด มีทั้งผักชนิดต่าง ๆ มากมาย มีสัตว์น้ำมากมาย หลายชนิด มีปลาตัวใหญ่ ๆ เช่น ปลากดแก้ว ปลาน้ำเงิน ปลาแดง ปลาเค้า ปลาเทโพ บิดาเล่าว่า ได้ปลาแต่ละครั้ง มีแต่ปลาขนาดใหญ่ หัวปลาแต่ละตัวขนาดหม้อข้าวเบอร์ ๓๐ พอจับปลาตัวใหญ่ขึ้นมาบนเรือ เสียงปลามันร้องดัง อู้บ ๆ เด็กฟังก็หัวเราะ ขำกับเสียงปลาร้องที่สามารถร้องได้ สิ่งที่เด็กได้กินกันประจำ นั่นคือ กุ้งแม่น้ำสะแกกรัง ในสมัยก่อนนั้น กุ้งแม่น้ำสะแกกรังมันชุมเหลือเกิน บิดาบอกว่า เหวี่ยงแหแต่ละครั้ง ได้ปลาแล้ว จะต้องมีกุ้งตัวใหญ่ติดมาด้วยเสมอ ถ้าต้องการทำกับข้าว เพียงแค่พายเรือมาที่หน้าแพ เหวี่ยงแหครั้งหรือ สองครั้งก็ได้ปลาได้กุ้ง ก็ใช้ทำอาหารแล้ว ในตอนนั้น บิดาบอกว่า เรากินกันเฉพาะปลาตัวใหญ่ เมื่อปลาตัวเล็ก ๆ ได้เราปล่อยไป รอให้มันโตเสียก่อน วันไหนได้ปลามามาเยอะ ก็จะแบ่งปลาให้กับชาวบ้านที่อยู่บนตลิ่งไปรับประทาน และหลายครั้งชาวบ้านบนตลิ่ง ก็มีของฝากที่แพของบิดาข้าพเจ้าเสมอ เช่น มันนก นนูนาย่าง โดยเฉพาะหนูนา บิดาของข้าพเจ้าชอบรับประทานมาก เพราะเนื้อหนูนาเวลาย่างไฟแล้ว มีกลิ่นหอม ชวนรับประทานเป็นที่สุด

บิดาเล่าว่า อยู่แพที่แม่น้ำสะแกกรัง ไม่ต้องซื้อกับข้าว สิ่งที่ชาวแพจะซื้อ ก็มีแต่เพียง กะปิ น้ำปลา พริก น้ำมันหมู กระเทียมเท่านั้น อย่างอื่นสามารถหาเอาได้จากแม่น้ำ เนื้อสัตว์อื่น ๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ไม่ค่อยได้รับประทาน เพราะต้องเสียเงินซื้อ นาน ๆ จึงจะได้รับประทานสักครั้งหนึ่ง เช่น เมื่อมีบุญงานของชุมชน เด็กก็จะได้รับประทานเนื้อสัตว์ทีไม่ใช่ปลา และผักในแม่น้ำ

ศราวรรณ พิมพันธุ์

หมายเลขบันทึก: 599416เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2016 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2016 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท