ถ้าช่วยได้มากกว่านี้ ก็คงจะดี


เมื่อวันอาทิตย์ก่อน ได้ไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านแถวชานเมืองกรุงเทพฯด้านเหนือ คนไข้คนนี้ นักกายภาพบำบัดชุมชนได้นำมาปรึกษาในที่ประชุมประจำสัปดาห์ คนรักษาไม่แน่ใจว่า อาการปวดร้าวลงขาทั้งสองข้าง ขาและเท้าชา เป็นๆหายๆตลอดเวลาที่คนไข้บอกเกิดจากอะไรกันแน่

เมื่ออาการและประวัติไม่ชัดเจนก็ต้องขอไปดูกันที่บ้าน

เราไปถึงบ้านคนไข้แต่เช้า เธอรออยู่ คนไข้เป็นผู้หญิงอายุ 62 ปี ยังทำงานขายอาหารตามสั่งเล็กๆน้อยๆที่บ้าน และต้องดูแลแม่อายุมากที่เดินไม่ได้

คนไข้เดินไปมาในบ้านได้อย่างลำบาก ทั้งก้มและเอียงตัวเพื่อหนีความเจ็บปวด อาการปวดไล่จากสะโพก ลงไปขาทั้งสองข้าง ถึงน่องและเท้า เท้าชาตลอดเวลา อาการปวดเปลี่ยนแปลงตามท่าทาง ส่วนใหญ่นอนลงจึงจะดีขึ้นแต่ก็ไม่ทุกครั้ง ทำให้ใช้ชีวิตยากลำบากมาก เมื่อเป็นแรกๆเคยถึงขนาดกลั้นปัสสาวะไม่ได้ และมีอาการชาแถวหว่างขา!! ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว

เคยไปพบแพทย์โรงพยาบาลเอกชนตามสิทธิประกันสุขภาพบัตรทอง แต่ไม่เคย x-ray แพทย์บอกว่าถ้าเป็นมากขึ้นก็ต้องผ่าตัด

ไป "ทำกายภาพ" ที่คลินิกใกล้บ้าน แต่ที่ฟังจากเทคนิคการรักษาและราคาน่าจะไม่ใช่นักกายภาพบำบัดหรือแพทย์เป็นผู้รักษา

บ่ายเบี่ยงที่จะไปพบแพทย์อีก แม้เราจะบอกว่าถ้าเห็น x-ray จะรักษาได้ตรงจุดขึ้น เหตุผลมากมาย --- ไม่มีเงิน เป็นห่วงไม่มีใครดูยาย หมอคงไม่ทำอะไรให้อีก

จึงคุยกับคนไข้และนักกายภาพบำบัดว่าเราจะจัดการกันต่ออย่างไร

ตามหลักการทางกายภาพบำบัดที่เราใช้วินิจฉัย ถ้าปวดร้าวลงขาเรามักคิดถึงอาการจากเส้นประสาทถูกกดทับก่อนอื่น แต่การทับนี้มาจากอะไรก็ต้องตรวจเพื่อตัดสินใจกันอีกที

หมอนรองกระดูกสันหลังแตกจนเจลที่อยู่ตรงกลางยื่นมากดเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด

แต่ก็ยังมีเหตุอื่นอีกมากที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันได้ เช่น ช่องโพรงไขสันหลังตีบแคบ กระดูกสันหลังทั้งอันเลื่อนจากกันจนกดทับ หรือเส้นประสาทอาจเกิดพังผืดหลังจากเคยอักเสบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีเหตุอื่น กล้ามเนื้ออักเสบ เส้นประสาทอักเสบ หรือแม้แต่หลอดเลือดส่วนปลายผิดปกติ

ตามอาการปวดขาทั้งสองข้าง น่าจะกดทับตรงกลาง แต่บอกยากว่าจากอะไร เพราะอาการตอบสนองการเคลื่อนไหวของหลัง สะโพก และขาเป็นแบบไม่ค่อยมีแบบแผนชัดเจน เช่น หลังงอบางทีก็ปวดบางทีก็หาย หลังแอ่นบางทีก็ปวดบางทีก็หาย

ลองดึงขาดู อาการปวดเบาลงทุกครั้ง เลยตัดสินใจว่าจะใช้วิธีนี้เพื่อลดปวด และเริ่มฝึกให้คนไข้เกร็งท้องเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบลำตัวแข็งแรงขึ้นพอจะยึดกระดูกสันหลังให้มั่นคงขึ้นได้ ที่ลำบากคือการฝึกเกร็งท้องบางครั้งก็ทำให้อาการปวดลงขากลับมาด้วย จึงให้โปรแกรมคนไข้ไว้ให้ดึงหลังและฝึกกล้ามเนื้อด้วยตัวเองก่อน

เช้าวันนั้นเราขับรถออกมาด้วยหัวใจหนักอึ้ง และคำถามมากมายในหัว

หมายเลขบันทึก: 599036เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2016 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2016 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท