การเดินทางเพื่อเจรจาธุรกิจในต่างประเทศ


หนังสือ : ธุรกิจส่งออก สำเร็จได้ รวยเร็ว หาซื้อได้ที่ซีเอ็ดบุคส์ทุกสาขา

-----------------------------------------------

เมื่อท่านทำธุรกิจส่งออก การเดินทางจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตอนที่ย้ายบ้านมาอยู่ชุมชนนี้แรกๆ เพื่อนบ้านถึงกับนึกว่าผู้เขียนทำงานเป็น Flight Attendant เลยที่เดียว เพราะมีการเดินทางไป-กลับ ค่อนข้างบ่อย แต่สำหรับท่านเองที่เป็นผู้ประกอบการ ยังไม่ต้องตกใจว่ามันจะขนาดนั้นเลยเหรอ อาจจะไม่ขนาดนั้นค่ะ เพราะที่ถี่ขนาดนั้นเพราะผู้เขียนอยู่บริษัท Trading เราทำการค้ากับลูกค้าหลายราย หลายประเทศ ทางฝ่าย supplier (ประเทศแหล่งผลิตสินค้า) เองก็อยู่หลายประเทศ งานแสดงสินค้าที่เราต้องไปก็มีทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และในเอเชียด้วยแต่ก็ไม่แน่นะคะหากกิจการของท่านมีลูกค้า Active จำนวนมากในหลากหลายประเทศ การไปเยี่ยมลูกค้า ไปงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆก็อาจจะถี่ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึงท่านก็น่าจะมีทีมงานที่มาช่วยแบ่งเบาภาระส่วนนี้ และส่วนอื่นๆไป ให้ได้มีเวลาหายใจ มีเวลาพักผ่อนบ้าง เพราะหลายท่านที่อยู่ในวงการนี้จะทราบดี ว่าการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เป็น Business Trip นี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเหนื่อย เราต้องมีเทคนิคการบริหารจัดการในกิจกรรมนี้ให้ดี เพราะหากบริหารไม่ดีอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพดังเช่นผู้เขียนจะแชร์เป็นกรณีตัวอย่าง ให้ได้เตรียมตัวกัน สำหรับผู้ส่งออกรายใหม่ หรือน้องๆ ที่เพิ่งจะเข้ามาทำงานในองค์กรหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องมีการเดินทางก็น่าจะสามารถนำประสบการณ์เหล่านี้ไปปรับใช้ได้เช่นกัน นอกจากการที่ท่านจะเดินทางไปเพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อการเปิดตัวครั้งแรก ไปรอลูกค้า Walk in อย่างเดียว ท่านก็สามารถดูข้อแนะนำเรื่อง การเตรียมตัวเข้าร่วมงานแสดงสินค้าได้ กลับมาที่ข้อแนะนก่อนการเดินทาง ก็มีการเตรียมการดังนี้ค่ะ

  1. การเดินทางไปแต่ละครั้ง ให้พยายามวางแผนรวบรวมจุดที่ต้องไปให้ได้ครบถ้วนที่สุด เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาการเดินทาง เช่นหากเราไปยุโรป มีลูกค้ารายไหนบ้างที่เราสมควรทำการนัดเพื่อไปเยี่ยมประชุม ก็ให้ทำ List และ Agenda ออกมารอไว้ก่อน ทั้งนี้ลูกค้าอาจอยู่ในหลายประเทศ แต่ก็ประหยัดงบประมาณกว่าอยู่ดีที่จะรวมการไปเยี่ยมในคราวเดียว แทนที่จะปล่อยให้เสียโอกาสไป เช่น 5 รายอยู่ในอังกฤษ 3 รายอยู่เยอรมัน อีก 3 รายอยู่เนเธอร์แลนด์ แต่งาน show จัดที่เยอรมัน เราเลยนัดเฉพาะรายที่อยู่เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ไม่นัดบรรดาลูกค้าที่อยู่อังกฤษ เราจึงควรรวมเอาไว้ด้วย เพราะลูกค้าทั่วยุโรปโดยปกติหากมีงานแสดงสินค้าที่ไหน เขามักจะไปดูสินค้าใหม่ๆ supplier รายใหม่ๆกันอยู่แล้ว เราไม่ควรที่จะวางแผนไปแยกคราวกัน หากไม่จำเป็น หรือมีข้อจำกัดใดจริงๆ เช่นการนัดไม่ได้ เวลาซ้ำซ้อนกันแล้วเลื่อนไม่ได้จริงๆ แต่กรณีนี้จากประสบการณ์แล้ว หากเราพบว่าอาจมีการซ้ำซ้อนกันบ้างเรื่องวันและเวลาที่ลูกค้าสะดวก เราก็สามารถขยับไปมาให้สามารถลงตัวได้ในที่สุด มีน้อยครั้งมากจริงๆที่อาจจะไม่สามารถจัดให้ลงตัวได้
  2. ต่อเนื่องจากข้อแรก การถือโอกาสไปเยี่ยมลูกค้าเหล่านั้น หากรวบเอาไว้ในช่วงเวลาการไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าได้ (Trade Show) ก็ยิ่งจะเป็นการดีหลายประการ เพราะเราสามารถนัดลูกค้าให้มาเยี่ยมชมสินค้าใหม่ๆ ที่ Booth จัดแสดงพร้อมทั้งได้โอกาสเจรจาธุรกิจที่คั่งค้าง หรือที่ดำเนินการอยู่ปกติเพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้าของแต่ละ Project ระหว่างกัน ทั้งนี้รายที่สำคัญๆ ที่มีมูลค่าการค้ากับเราเป็นปริมาณมากนั้น เราไม่ควรนัดเฉพาะในงานจัดแสดงสินค้าอย่างเดียว ควรที่จะต้องทำการนัดเพื่อร่วมรับปทานอาหารเย็นกับเขาข้างนอกงานด้วยถือเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ขึ้นไปอีก ในรายที่สำคัญรองๆ กันไป อาจเชิญไปนั่งร้าน Coffee shop ในบริเวณงาน สำหรับมื้อเที่ยง หรือระหว่างวันบ้าง ทั้งนี้ท่านต้องดูก่อนว่าทีมงานที่ไปด้วยกันนั้นมีจำนวนเพียงพอที่จะมีคนเฝ้า Booth ประจำตลอดเวลา และทีมงานนั้นสามารถต้อนรับลูกค้าที่ Walk in ได้ทั่วถึงด้วยหรือไม่ หากยังไม่มีทีมงานมากไปกันแค่ 2-3 คนก็คงไม่อำนวยสำหรับการที่จะแยกตัวออกไปนั่งเจรจาที่อื่นระหว่างวันได้สักเท่าไหร่ คงจะต้องเป็นมื้อเย็นเช่นกันเพราะสามารถไปหลังการจบงานในแต่ละวัน ทั้งนี้จะรวมทั้งการผสมกับวิธีไปเยี่ยมลูกค้าที่สำนักงานของเขา ซึ่งอาจเป็นช่วงก่อนงาน หรือภายหลังงานแสดงสินค้า ส่วนนี้ก็จะเป็นลูกค้ารายอื่นๆ ที่เราต้องการติดตามการดำเนินงานที่คั่งค้าง เพื่อเพิ่มปริมาณธุรกิจ หรือรวมทั้งเพื่อโอกาสได้สร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นดังกล่าว การนัดหมายในงานแสดงสินค้าในรายสำคัญ รายที่มีศักยภาพ หรือรายที่เป็นเป้าหมายใหม่ๆ เราก็ต้องทำ List รายชื่ออกมาเช่นกัน พร้อมทั้งกำหนดว่ารายไหนต้องนัด Dinner รายไหนจะเป็นแค่ Lunch หรือการดื่มเครื่องดื่มร่วมกัน และเป็นไปได้ว่าการเชิญเองอาจมาจากฝั่งลูกค้า เนื่องจากเขาก็อยากเป็นฝ่ายรักษาความสัมพันธ์กับเรา หรือเป็นการขอบคุณในการบริการ และคุณภาพสินค้าของเราที่เขาประทับใจ
  3. และอีกจุดมุ่งหมายในการเดินทางที่ควรจะรวมเข้าไว้ด้วยคือ การไปสำรวจตลาด (Market survey) ที่ผู้เขียนได้ทำการแนะนำไปแล้ว เพราะนอกจากได้ Update สินค้าในงานแสดงสินค้าแล้ว บรรดา Retail Outlet ต่างๆที่ ที่เป็นจุดวางขายให้ผู้บริโภคโดยตรง จะเป็นอีกแหล่ง ที่วางขายสินค้าจากประเทศต่างๆ ที่เป็นทั้งคู่แข่ง และไม่ใช่คู่แข่ง ที่เราจะสามารถดูได้ทั้งแนวโน้มรูปแบบสินค้า ระดับราคาขาย และวิธีการจัดทำโปรโมชั่นของแต่ละร้านในคราวเดียวกัน อีกเช่นกันคือต้องทำ List ชื่อร้านค้า ที่อยู่ พร้อมแผนที่ร้านต่างๆ ที่เรามีเป้าหมายไปดู ไปศึกษา หรือทำการซื้อตัวอย่างกลับมาเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอด ตามที่เคยได้กล่าวถึงมาในหัวข้อก่อนหน้า ส่วนใหญ่ให้มุ่งไปในแหล่งที่ร้านค้ากระจุกตัวกัน จะสามารถไปดูได้หลายๆ ร้าน ก็จะสามารถทำเวลา และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ อาจอยู่บน shopping street เป็นต้นซึ่งท่านก็ต้องดูว่าสินค้าของท่านเองจะอยู่ในร้านค้าประเภทไหน ย่านการค้าไหนนั่นเอง

หลังจากที่เราได้ List ในข้อ 1, 2, 3 มาแล้ว ทีนี้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการนัดหมายอย่างเป็นทางการ การนัดอย่างเป็นทางการไปล่วงหน้าถือว่าสำคัญมาก เป็นมารยาททางการค้า เป็นวิธีการของมืออาชีพ ผู้เขียนคงไม่ต้องย้ำประเด็นนี้อีกเชื่อว่าทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็ต้องเอาปฎิทินมากางดู แล้วเขียน Itinerary ลงไปในแต่ละวันที่จะเริ่มจาก

  1. วันที่ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยจะไปด้วย flight อะไรเวลาและวันไหน รวมรายละเอียดเดียวกันเมื่อถึงปลายทางว่าถึงเวลา และวันไหน วิธีเดินทางไปที่พักใช้วิธีใด
  2. สถานที่พักเป็นที่ไหนบ้างในแต่ละ Destination ในวันไหน รวมทั้งวิธีเดินทางระหว่างจุด หากยังไม่มีทำเครื่องหมายไว้เพื่อทำการ update ภายหลังได้รายละเอียด
  3. ต้องใช้เวลาเตรียม Booth จัดแสดงสินค้ากี่วัน กรณีการเดินทางครั้งนี้สามารถรวบไว้กับการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าได้ ระยะเวลาการจัดเก็บหลังเสร็จงาน ตารางนัดหมายระหว่างงาน
  4. ลูกค้ารายไหนจะนัดก่อนงาน นัดในงาน นัดหลังงาน รายไหนที่จะนัด Dinner เป็นพิเศษ อื่นๆ ใน List รายชื่อลูกค้าแต่ละรายนั้น ท่านก็ต้องมีวาระการประชุม (Agenda) ของแต่ละรายเอาไว้ด้วย ซึ่งก็จะแตกต่างกันไป ตามความคืบหน้าความสนใจของลูกค้ารายนั้นๆ เพราะจะได้วางแผนว่าแต่ละรายต้องมีเวลาประชุมร่วมกันสั้น หรือยาวแค่ไหน จากนั้นก็ กำหนดลงไปในแต่ละวันคร่าวๆก่อน
  5. หลังจากได้ภาพคร่าวๆ ของทั้งหมดไม่ว่า ตารางการประชุมก่อนงาน ระหว่างงาน หลังงาน แล้วก็กำหนดตารางในส่วนการไปสำรวจตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหลังงานจะเป็นการดี เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ผ่อนคลายแล้วจากการประชุม เจรจาการค้า การสับรางการประชุมต่างๆ แล้วนั่นเอง
  6. พอได้ตารางออกมาชัดเจนขึ้น ว่าวันไหน พบใคร เวลาเท่าไหร่ พูดเรื่องอะไรแล้ว เราก็เริ่มทำการติดต่อเพื่อขอนัดยืนยันวันและเวลาดังกล่าว ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาหลายวัน เพราะอาจต้องเจรจาการเลื่อนวันเวลากัน กลับไปกลับมาจนสามารถลงตัวกันได้มากที่สุด ซึ่งในระหว่างนี้ itinerary เราก็ต้องมีการ revise อยู่หลายครั้งจนกว่าจะ final หรือสรุปสุดท้าย ดังนั้นท่านจะเห็นว่า หากท่านไปเตรียมการนัดหมายใกล้ๆแล้ว อาจจะไม่ทันการ เพราะลูกค้าแต่ละรายไม่ได้มีเราเป็น supplier รายเดียว เขาก็ต้องมีการจัดตารางการพบปะของเขาเอง รวมทั้งกับคู่แข่งของเรารายอื่นๆ ด้วยนั่นเอง ส่วนใหญ่แล้วให้สามารถสรุปตารางเหล่านี้ได้ก่อนการเดินทางจะดีที่สุด
  7. ในแต่ละข้อก็ต้องทำประมาณการค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะดูว่าหากรวมทั้งหมดแล้ว จะทำให้งบประมาณส่วนใดสูงไป ก็จะได้สามารถปรับในส่วนที่จำเป็นน้อยที่สุดออก เพื่อให้งบประมาณลงตัว

ทั้งนี้ก็อยากแนะนำเพิ่มเติมให้ท่านเตรียมให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระหว่างการเดินทางด้วย ท่านต้องสามารถบริหารการเปลี่ยนแปลงนั้น ให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่สถานณ์การจะทำได้ เช่นโรงแรมเองอาจทำงานผิดพลาดในการยืนยันห้องพัก ไปถึงแล้วพบว่ามีการจองซ้อนมีคนอื่น Check in ไปแล้ว ถึงระบบต่างๆในการจองถือว่าค่อนข้างดี ไม่ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมันนี และอื่นๆ ที่อาจไม่ค่อยเป็นน่าแปลกใจเช่น จีน และอินเดีย เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอ รวมทั้งเหตุไม่คาดคิดอื่นๆ ที่เป็นเรื่องขำๆ หรือสนุกๆบ้าง เครียดๆบ้าง เช่น Flight delay โดยเฉพาะในเมืองจีน อาจทำให้เราไปไม่ทันนัดถัดไปที่อยู่อีกเมือหรืออีกประเทศ เพราะการ delay บ้าง การตกเครื่องบ้าง ก็ต้องดูว่า flight ถัดไปเมื่อไหร่ ก็ต้องรีบโทรแจ้งลูกค้าเพื่อขอนัดใหม่เป็นต้น มันอาจเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ ท่านก็ต้องอยู่กับปัจจุบันว่าเหตุเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว แล้วอะไรที่ต้องทำต่อเพื่อแก้ไขสถานณการณ์ได้ ผู้เขียนผ่านสถานการณ์มาทุกระดับตั้งแต่ขำๆ ไปถึงเครียดๆ แต่ทุกครั้งก็ผ่านมาได้ด้วยดี ลูกค้าก็มีงอนบ้าง ไม่พอใจบ้างก็ต้องใช้ศิลปะ Customer Relation Repairing ที่ท่านอาจไม่เคยได้ยินชื่อศาสตร์นี้มาก่อน แต่ท่านน่าจะเข้าใจว่าวิธีการซ่อมความสัมพันธ์นั้นก็ไม่ตายตัว สำหรับแต่ละคนในแต่ละเหตุการณ์ บางเหตุการณ์เป็นความเผลอเรอของการวางแผนที่ไม่รอบคอบของเราเอง โดยเฉพาะกรณีที่ต้องเดินทางบ่อย ในแต่ละ Trip มีนัดมาก มีจุดที่ต้องไปมาก อย่าว่าแต่ข้ามเมือง ข้ามประเทศบางทีข้าม Time Zone เลยก็มี ต้องอาศัยประสบการณ์ของแต่ละคน ความมีมนุษย์สัมพันธ์ของเรา บวกความจริงที่เราไม่คาดคิดนั่นแหล่ะ และความจริงใจที่จะอธิบาย ท้ายสุดส่วนใหญ่ก็ไม่เกินความพยายามที่จะ Repair ความรู้สึก ความสัมพันธ์ให้กลับมาได้

ในส่วนที่เกริ่นเอาไว้ในข้อที่ควรระวังในด้านปัญหาสุขภาพนั้น ที่สามารถเกิดได้ระหว่างการเดินทาง ก่อนอื่นขอเริ่มจากประสบการณ์ตรงก่อน ก็คือน้ำหนักของกระเป๋าและสิ่งของ เอาเฉพาะในส่วนที่ต้องถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา ทุกวันนี้นับว่าประเด็นนี้น่าจะทุเลาลงไปเยอะ แต่ก็อยู่ที่นิสัยส่วนตัวแต่ละท่านอีกสำหรับเรื่องน้ำหนักรวม ว่าท่านจะเป็นคนบ้าหอบฟางมากน้อยแค่ไหน (ขออภัยหากบางท่านไม่ทันเพลงนี้ มุกนี้อาจแป๊กจึงขออธิบายคำว่า บ้าหอบฟาง ก่อน คำนี้เป็นชื่อเพลงของอัสนีวสันต์ในยุค 80 หมายถึงคนที่ชอบสร้างภาระต่างๆที่บางทีไม่จำเป็นสำหรับชีวิตตนเอง ) สำหรับผู้เขียนเองนั้นกระเป๋าที่จะถือเป็นสำภาระติดตัวสำหรับใช้แล้ว ความจริงจะมีไม่มาก แต่เมื่อก่อนที่มีปัญหาก็เนื่องจากน้ำหนัก Lab top ถึงตอนนั้นอายุจะน้อยกว่าปัจจุบันมาก แต่ด้วยความถี่ของการเดินทาง การที่ต้องสะพาย lap top ที่เมื่อก่อนมีน้ำหนักมากไว้บนไหล่ พร้อมอุปกรณ์อย่างอื่นเช่น accessories ต่างๆไม่ว่าจะเป็น Charger โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป แต่ปัจจุบันคุณภาพกล้องในโทรศัพท์ค่อนข้างดี ไม่ต้องมีกล้องแยกก็ได้ แต่อย่างที่เกริ่นว่ามันก็ขึ้นอยู่กับท่านว่า อยากที่จะใช้กล้องแยกอยู่ดีหรือไม่ ท่านอาจใช้ tablet แทน lab top ก็จะทำให้น้ำหนักเบาไปได้เยอะ แต่บรรดาเครื่องใช้อื่นๆในกระเป๋า ที่จะรวมกันเข้ามาอีกหล่ะ ท่านจะมีมากน้อยแค่ไหนเพิ่มเติมจากบรรดาอุปกรณ์การสื่อสาร การทำงานเหล่านี้อีก อย่างกระเป๋าของผู้เขียนสมัยก่อนทุกอย่างรวมกันน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 3.5 KGS....ซึ่งถือว่าหนักมากในระหว่างการเดินทางที่ไม่ใช่การนั่งบนที่นั่งผู้โดยสารอย่างเดียว ยังรวมการเดินในสนามบิน และนอกสนามบินที่น้ำหนักนี้จะอยู่บนไหล่เราตลอดเวลา ส่งผลกระทบไปทั้งไหล่ หลัง และหลังส่วนต่ำที่ต้องคอยรับน้ำหนักตลอด

พอการเดินทางผ่านไปสักแค่ 2 ปี อาการปวดไหล่ และหลังเริ่มปรากฏเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ ด้วยที่รับน้ำหนักมากเป็นเวลานาน ซ้ำร้ายการทำงานที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องที่ต้องมีการเดินทางตลอด เวลารักษาจริงจังก็ไม่มี หรือเรียกว่าไม่ได้รักษาก็ว่าได้ ทางที่ดีผู้เขียนแนะนำให้ท่านใช้กระเป๋าถือแบบที่มีล้อลากได้จะดีที่สุด ซึ่งพออาการผู้ผู้เขียนมากขึ้นนั้น ตอนหลังถึงได้หันมาใช้กระเป๋าประเภทนี้แทนการสะพายบนไหล่ หากใช้แบบนี้ก่อนก็คงไม่สร้างอาการเจ็บปวดให้ตัวเองเรื้อรัง ปัญหาอื่นๆจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นก็อาจมีเช่น การเป็นโรคกระเพาะอาหาร หากท่านเป็นคนที่ไม่สามารถรับปทานอาหารต่างชาติได้นาน เนื่องจากการเดินทางแต่ละครั้งจะกินเวลาไม่ต่ำกว่า 1 อาทิตย์ บางคนวันที่ 3 หรือ 4 หากหาอาหารไทยในที่นั้นๆไม่ได้ก็จะเริ่มมีปัญหาเป็นต้น นี่ไม่รวมคนที่อาจจะมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่นแพ้อากาศ แพ้อาหาร หรืออื่นๆ ที่จะแนะนำคือท่านต้องรู้ตัวเองว่าสุขภาพอยู่ระดับไหน มีอะไรเป็นข้อจำกัด จะสามารถวางแผนรับมือกับข้อจำกัดอย่างไรเป็นต้น เช่นหากมียาที่ต้องรับปทานประจำ การเดินทางข้ามไปในโซนเวลาที่แตกต่าง ที่ต้องเปลี่ยนเวลากิน เวลานอนด้วยนั้น ท่านก็ต้องวางแผนการเตรียมการเหล่านี้เอาไว้ด้วย นี่ไม่นับรวมอาการ Jet lack ที่จะเกิดขึ้นอีก ส่วนนี้ก็ต้องวางแผนการรับมือไว้บ้างเช่นกัน แม้กระทั่งการเดินทางท่ามกลางโรคระบาดเช่นสมัยที่มีโรค ซาร์ แล้วเร็วๆนี้ก็มีโรคเมอร์ซ เป็นต้น โดยพื้นฐานแล้วก็จะเป็นความสมบูรณ์ แข็งแรงของสุขภาพเรา หากท่านอายุยังไม่มากก็จะสามารถปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง หากเริ่มมีอายุเพิ่มมากขึ้นท่านก็ต้องวางแผนรับสถานณ์การเหล่านี้ให้แตกต่างไป ให้เหมาะกับวัยเป็นต้น

Business trip อาจดูเป็นเรื่องเหนื่อย เพราะภาระกิจเยอะแยะที่ต้องทำในช่วงเวลาจำกัด แต่หากบริหารจัดการด้วยการวางแผนที่ดี เราก็จะสามารถสร้างความสำเร็จหลังการเดินทางแต่ละครั้งเสร็จสิ้นลง ในระหว่างการเดินทางเราก็จะได้ทำภาระกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างความสนุกสนาน สร้างความรู้ใหม่ๆได้ ถึงดูเป็นกิจกรรมที่ทำซ้ำๆ แต่รายละเอียดก็จะแตกต่างกันไป ขอให้ทุกท่านมีการวางแผนการเดินทางที่ดี มีการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆได้ดี ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี รับรองว่าท่านจะได้ประสบการณ์ที่สามารถนำมาปรับปรุงอนาคตได้เสมอค่ะ ขอให้สนุกกับการเดินทาง



คำสำคัญ (Tags): #Business trip#Itinerary#agenda
หมายเลขบันทึก: 598419เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2015 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2019 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท