ทำไมต้องทบทวนวิธีการสอบของมหาวิทยาลัยไทยเมื่อ แพทย์รามาฯ คว้าเกียรตินิยมเกินครึ่ง


ทำไมต้องทบทวนวิธีการสอบของมหาวิทยาลัยไทยเมื่อ แพทย์รามาฯ คว้าเกียรตินิยมเกินครึ่ง

ทำไมต้องทบทวนวิธีการสอบของมหาวิทยาลัยไทยเมื่อ แพทย์รามาฯ คว้าเกียรตินิยมเกินครึ่ง

เมื่อเดือนที่แล้ว มีข่าวที่น่าแปลกใจเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ออกมาให้ข่าวว่า ปีที่ผ่านมา บัณฑิตที่จบคณะแพทย์รามาฯ กว่าครึ่งจบได้เกียรตินิยม และในวันต่อมาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและคณบดีออกโทรทัศน์ยืนยันว่าเป็นจริงตามข่าว ซึ่งปีที่ผ่านมาก็มีผู้จบเกียรตินิยมจำนวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่งปีก่อนหน้านี้ก็เป็นเช่นนี้ โดยยืนยันว่าไม่ได้ปล่อยเกรดแต่อย่างใด

เรื่องการที่ผู้เรียนได้ผลการเรียนในระดับสูงจำนวนมากเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะการทดสอบทั่วไปของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยใด ผลการสอบมักจะออกมาเป็นกราฟในลักษณะเหมือนระฆังคว่ำ คือมีคนส่วนใหญ่ได้คะแนนอยู่ในส่วนกลางของกราฟเสมอ (ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินผลการทำงานของพนักงานในองค์กรมักจะออกมาในรูปแบบเดียวกัน) แต่น่าแปลกที่ แพทย์รามา ผลการสอบออกมาในลักษณะที่แตกต่างจาก คณะแพทย์ศาสตร์ที่อื่น

คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี อ้างต่อไปว่าเนื่องจากนักศึกษาที่สอบเข้ามาได้เก่งอยู่แล้ว จึงทำคะแนนได้ดีเมื่อสอบในแต่ละวิชา จึงได้คะแนนในระดับเกียรตินิยมจำนวนมาก คำถามที่เกิดขึ้นตรงนี้คือ รู้ได้อย่างไรการสอบของคณะมีมาตรฐานเพียงพอ ใช้เทียบกับเกณฑ์อะไร การที่ผู้เรียนจำนวนมากได้คะแนนสูง ไม่ได้แปลว่าเพราะผู้เรียนเก่งมาก่อนแล้ว จึงทำข้อสอบได้คะแนนดี ลองตั้งคำถามว่า “สมมุติว่านักศึกษาแพทย์รุ่นต่อไป มีผู้จบการศึกษาโดยได้เกียรตินิยมน้อยกว่ารุ่นที่ผ่านมา เราสามารถสรุปได้ไหมว่า รุ่นที่แล้วโดยรวมเก่งกว่ารุ่นนี้?”

มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ ผู้สอบจำนวนมากได้คะแนนสูงกว่าที่คาดไว้ เช่น..........

1. ผู้สอนออกข้อสอบง่ายเกินไป จนทำให้ผู้เรียนสามารถตอบจนได้คะแนนสูงโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับคณะแพทย์ศาสตร์รามาฯ เท่านั้น ที่ทำให้ได้ เกียรตินิยมมาก เมื่อเร็วๆนี้ก็มีข่าวว่าผู้เรียนหลักสูตรปริญญาตรี ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ ก็จบมาได้เกียรตินิยมจำนวนมากเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะต้องมาทบทวนข้อสอบใหม่ว่าข้อสอบง่ายเกินไปหรือไม่ (บางมหาลัยผู้สอนไม่อยากออกข้อสอบยาก เพราะถ้ามีเด็กตกเยอะ เทอมหน้าจะไม่มีเด็กมาเลือกเรียน ทำให้ครูผู้สอนขาดรายได้และจะไม่มีปริมาณผลงานในการสอนเพื่อไปขอตำแหน่งวิชาการ)

“แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ออกข้อสอบแบบไหนจึงเหมาะสม ไม่ยากไม่ง่ายเกินไป” ซึ่งโดยวิธีการออกข้อสอบที่ดีต้องมีการสร้างข้อสอบออกมาหนึ่งชุดแล้วทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายก่อน หลังจากนั้นจะนำผลการสอบมาพิจารณาว่ามีความยากง่ายเพียงใดเหมาะที่จะเอาไปใช้สอบจริงหรือไม่

หรืออีกวิธีหนึ่งใช้การเปรียบเทียบข้อสอบ โดยนำเอาข้อสอบวิชาเดียวกันของมหาวิทยาลัยอื่น เช่น จากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ หรือ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช มาเปรียบเทียบ เพื่อพิจาณาความเหมือนและแตกต่างของข้อสอบ จึงสามารถบอกได้ว่าข้อสอบใครยากง่ายกว่ากัน การที่จะบอกว่าข้อสอบของเรายากหรือง่าย ก็โดยการเปรียบเทียบเท่านั้น ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกของผู้ออกข้อสอบเพียงอย่างเดียว

2. วิธีการสอบ แต่ละมหาวิทยาลัยมีวิธีการสอบที่แตกต่างกันมาก เช่น บางวิชาผู้สอนให้ผู้เข้าสอบเปิดหนังสือดูได้ เรียกว่าวิธีการสอบแบบ Open Book หรือบางแห่งการสอบให้เอาข้อสอบไปทำที่บ้านได้แล้วมาส่งในวันรุ่งขึ้น หรือ การออกข้อสอบแบบอัตนัยหรือปรนัยล้วนทำให้เกิดความแตกต่างของผลสอบอย่างมาก หรือการสอบแบบปฏิบัติที่มักจะให้คะแนนสูงกว่าการสอบข้อเขียน ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์มาทุกประเภท แม้กระทั่งผู้สอนแอบบอกข้อสอบก่อนการสอบกับลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด เพราะในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน มีเรื่องการเมืองและผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องมาก เช่น ถ้าลูกศิษย์ตัวเองสอบตกมาก อาจารย์ผู้สอนอาจจะถูกประเมินว่าไม่มีความสามารถในการสอน (ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง หลักสูตรพิเศษที่เก็บค่าหน่วยกิตแพงกว่าภาคธรรมดา อาจารย์ทั้งหลายพยายามเข้ามาสอนหลักสูตรนี้เพราะได้ผลตอบแทนมากกว่าภาคปกติ ถ้าจะสอบอย่างจริงจังจะมีผู้เรียนสอบตกมาก ดังนั้นจึงมีความพยายามช่วยผู้เรียนด้านต่างๆ รวมทั้งการออกข้อสอบที่ไม่ยากเกินไป)

3. วิธีการให้คะแนนของผู้สอน

ผู้สอนแต่ละท่านมีวิธีการให้คะแนนที่แตกต่างกันมากจนยากที่จะบอกว่าวิธีไหนมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน เช่นการให้คะแนนตามเกณฑ์ หรือตามกลุ่ม บางวิชามีการให้คะแนนตามเกณฑ์ที่อาจารย์กำหนดไว้ เช่น ถ้าได้ ระหว่าง 50-60 คะแนนได้เกรด 1 ถ้าได้ 60-70 คะแนนได้เกรด 2 เป็นต้น หรือบางผู้สอนให้คะแนนตามกลุ่ม โดยดูจากคะแนนสอบออกมาแล้วตัดเกรด โดยทั้งสองวิธีมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ฉะนั้นเกรดที่ได้ของผู้เรียนที่เก่งเท่ากัน เรียนวิชาเดียวกัน กับผู้สอนสองคน อาจจะออกมาแตกต่างกันจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้ การให้คะแนนจึงไม่มีความแน่นอน (Validity) มหาวิทยาลัยในต่างประเทศมีระเบียบให้ผู้เรียนสามารถทักท้วงขอดูวิธีการให้คะแนนของผู้สอนได้ถ้าไม่พอใจผลคะแนน เรียกว่า Appeal แต่ในประเทศไทยการไปขอดูคะแนนอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ ผู้เรียนคนนั้นอาจจะต้องรับผลร้ายจากผู้สอนภายหลังได้

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการเรียนทั้งในประเทศ (3 มหาวิทยาลัย) และในต่างประเทศ (1 มหาวิทยาลัย) สามารถบอกได้เลยว่าการสอบในประเทศไทยโดยรวม ยังต้องปรับปรุงอีกมากในด้านความความน่าเชื่อถือของการวัดผล ยิ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น การวัดผลก็มีการแตกต่างกันมากจนหามาตรฐานที่ดีได้ยาก จนทำให้ผู้เรียนสับสนและเลือกที่จะเอาตัวรอดโดยการท่องจำเฉพาะในสิ่งที่อาจารย์คนนั้นสอน แทนที่จะเรียนเพื่อหาความจริงหรือความเป็นเลิศ ในสาขาวิชานั้นและการสอบวัดผลในประเทศไทยมีเรื่องของผลประโยชน์ หรือ ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มาเกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้การวัดผลการศึกษาของไทยผิดเพี้ยนจนต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า “ถึงเวลาต้องมาทบทวนวิธีการวัดผลกันใหม่ได้รึยัง”

สำหรับกรณี ผู้จบคณะแพทย์รามาฯ ที่มีผู้สอบได้ เกียรตินิยม จำนวนมากที่ผ่านมา 3 ปีติดต่อกันนั้น เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คณบดี ไม่ใช้โอกาสนี้ในการเปรียบเทียบข้อสอบกับคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่น เพื่อเป็นการ Benchmark ความยากง่ายของข้อสอบ หรือตรวจสอบวิธีการให้คะแนนของผู้สอนว่ามีอะไรแบบแฝงอยู่หรือไม่ หรือใช้โอกาสนี้ยกระดับการสอนและการสอบให้สูงขึ้น เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น (ยกระดับให้สูงขึ้น raise the bar เหมือนการแข่งขันกระโดดสูง ที่นักกีฬาต้องพยายามกระโดดให้สูงขึ้นทุกครั้ง ตามไม้กั้นที่ถูกยกขึ้น )

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.CBTthailand.com

หมายเลขบันทึก: 598210เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2015 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2015 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท