วิถีแห่งการเรียนรู้ R2R กรมอนามัย


เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม ที่ผ่านมา...ข้าพเจ้าได้รับโอกาสจากสำนักส่งเสริมฯ กรมอนามัยโดยมีท่าน ผอ.นพ.ดนัย ธีวันดาเป็นผู้ต้นเรื่องในการที่จะนำพาคนทำงานนำ KM&R2R มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน

ผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนคนทำงานจากศูนย์อนามัยต่างๆ จากทั่วประเทศทั้ง 12 ศูนย์

การจัดกระบวนการ R2R ครั้งนี้ทางผู้จัดและข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมงานกันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่รุ่นแรกได้รับความสำเร็จผ่านมาแล้ว ซึ่งจัดขึ้นเฉพาะภายในสำนักส่งเสริมฯ ...และการกลับมาอีกครั้งในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างที่เกิดขึ้นของบุคลากรที่ได้ผ่านการเข้าร่วมกับไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการ ...คือ เรื่องของวิธีคิดและพลังชีวิต คนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ R2R จะมีวิธีการคิดที่หลากหลายและกล้าเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์ ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการจะมีวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ข้าพเจ้าเรียกว่าคือ ความเคยชิน

โดยส่วนตัวข้าพเจ้ามีความศรัทธาท่านอาจารย์ดนัย หลายๆ ครั้งที่ได้ฟังวิธีคิดของท่าน ทำให้ข้าพเจ้าได้เกิดปัญญาและต่อยอดความคิดได้มากมาย ทุกครั้งคือ การเรียนรู้...ข้าพเจ้าจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กลับมาร่วมงานอีกครั้งกับ อ.พี่น้องหนูและ อ.ดร.พี่ปุ้มผู้รับผิดชอบและผู้จัดการฯในครั้งนี้ซึ่งถูกอัธยาศัยกับทั้งสองท่านและคณะทำงานเป็นอย่างยิ่ง

ในการจัดกระบวนการครั้งนี้เรามีความคาดหวังร่วมกันคือ...

  • การเกิดแรงบันดาลใจ Inspiration >> ข้าพเจ้ามีความเชื่อส่วนตัวอย่างหนึ่งว่า ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นอิสระนั้น ผู้เรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านปัญญาที่มาจากฐานของการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ นั่นก็คือ ใจมีกำลัง ใจมีความฮึกเฮิมและใจมีความมุ่งมั่น ก็จะนำตนเองไปสู่การเรียนรู้ที่สุดก็เกิดเป็นปัญญา
  • เรียนรู้ทักษะคุณอำนวย R2R หรือ R2R Facilitator ... >> เนื่องด้วยว่า ผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนที่มาจากศูนย์อนามัยฯ ทั้ง 12 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้นการมาเรียนรู้ครั้งนี้ โอกาสที่จะกลับไปชี้ชวนช่วยเชื่อมชื่นชม...ด้วยการใช้ R2R เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของคนในศูนย์จะมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้น การได้เรียนรู้ทักษะของ R2R Fa ผ่านการปฏิบัติจริงเลยจะนำมาสู่ความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

และเมื่อกระบวนการเรียนรู้ผ่านไปในสองวัน...

แม้จะเป็นช่วงสองวันสั้นๆ แต่ก็เกิดการแปรเปลี่ยนที่เห็นชัดเจน ฐานความรู้เดิม (Pior Knowledge) เรื่องวิจัยข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้เข้าร่วมกระบวนการมีมากพอสมควรและมีประสบการณ์ ดังนั้นการให้ Data/Information เกี่ยวกับเนื้อหาความรู้วิจัยไม่ต้องเน้น แต่สิ่งที่เน้นคือ การดึงเอาฐานความรู้ออกมาใช้ และใช้แบบมีความสุขมีพลัง น่าจะท้าทายและสำคัญกว่า

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ความเบิกบานและแช่มชื่น...

ความรื่นรมย์ลื่นไหลของการนำองค์ความรู้ที่แต่ละคนมีมาแชร์มาแลกเปลี่ยนกัน ต่างคนต่างพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันภายใต้วงสุนทรียสนทนา (Dialogue) และการดึงความสำเร็จหรือความประทับใจ ความภูมิใจที่มีในเนื้องานมาแบ่งปันกัน ...มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมกับได้วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคที่ยังเหลืออยู่ (Gap) เลือกมาเป็นฐานที่นำมาสู่การตั้งคำถามการวิจัย (Research)

กระบวนการเรียนรู้ ...ข้าพเจ้าใช้ตัวเอก คือ "PICO" เป็นเครื่องมือในการเดินเรื่อง และลงมือเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ใช้การบรรยายน้อยมาก แต่ใช้การสรุป concept ให้ฟัง เพื่อให้ผู้เรียนเข้าไปทำความเข้าใจด้วยตนเองตามฐานความรู้เดิมที่มีและเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ที่ได้รับผ่านการ Dialogue และการ Share&Learning

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ...ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดเกลียวความรู้หมุนวนและต่อยอดทางปัญญาได้ดีมาก

สิ่งที่เห็นอีกอย่างหนึ่งคือ พื้นฐานของ KM ที่นี่ดีมากและวิธีการสุนทรียสนทนาหรือ Dialogue ก็ทำได้ดีภายใต้หัวใจของการฟังอย่างลึกซึ้ง หรือ Deeo listening

ผู้ที่เข้าร่วมค่อนข้าง Open mind เปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้ และบรรยากาศกับกระบวนการเอื้อไปสู่การเปลี่ยน...ในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้เทคนิคใหม่ของการฝึกเจริญสติผ่านบทเพลงภาวนา แบบไม่ต้องนำหลับตาแต่เป็นการฝึกเจริญสติผ่านคลิปวีดีโอสั้นๆ ได้เห็น "วิถีแห่งการงาน R2R" พร้อมเปิดบทเพลงภาวนาไปพร้อมๆ กัน ...และค่อนข้างได้ผลเพราะจิตที่จดจ่อและตื่นรู้มีมากขึ้น พร้อมความผ่อนคลายเกิดขึ้น...

กระบวนการเรียนรู้ที่ค่อยๆ ไต่ระดับของการทำความเข้า ทำให้ผู้เรียนค่อยๆ ผ่อนคลาย...

ความผ่อนคลายนำมาซึ่งความเบืกบาน...และเกิดปิติสุข

อีกประเด็นหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ คือ เรื่องสถานที่ ...

ท่านอาจารย์หมอดนัยและคณะผู้จัด ...เจาะจงเลือกสถานที่นี้ในการจัดแทนการไปเช่าห้องโรงแรม คือ "ห้องประชุมสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ" จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ของกรมอนามัย มีอายุ 60 ปี

เมื่อมาจัดที่นี่ ...โอกาสที่ผู้คนจะหนีหายน้อยมาก ห้องประชุมกว้างขวางและเงียบ

ผู้ประสานงานที่ดูแลห้องประชุมให้บริการที่ดีมากๆ มีความใส่ใจและร่วมแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ทำให้การทำกระบวนการรื่นไหลไม่สะดุด

แต่ระหว่างการเดินทางจากที่พักมาที่นี่ เราต้องเผชิญกับปัญหารถติดแถวสี่แยกแคราย ...ทำใหค่อนข้างเพลียจากการเดินทาง ตอนที่ถอดบทเรียนร่วมกับผู้จัด รอบหน้าน่าจะเปลี่ยนที่พักที่ใกล้กว่านี้ ...หรือจะอย่างไร คงต้องหารือกันภายในอีกครั้ง

โดยรวม ...ข้าพเจ้าค่อนข้างประทับใจและชื่นชมคนทำงานที่เป็นตัวแทนมาจากพื้นที่ต่างๆ

มีความตั้งใจและมีจิตใจที่ดีงาม ...และเมื่อมาเข้ากระบวนการ KM พลังของจิตด้านบวกยิ่งเพิ่มพูน

...

"ถอดบทเรียน...R2R&KM"

Happiness R2R to Transformation

1-2 ธันวาคม พ.ศ.2558


หมายเลขบันทึก: 598139เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2015 03:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2015 03:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท