ห่วงโซ่ Supply Chain ของธุรกิจ Export และการพัฒนาผลิตภัณฑ์


          ธุรกิจส่งออก สำเร็จได้ รวยเร็ว หาซื้อได้ที่ซีเอ็ดบุคส์ทุกสาขา

                     ----------------------------------------


หลังจากที่ได้พูดถึงวิธีการดำเนินการต่างๆในแต่ละขั้น แต่ละกระบวนการในด้านการค้าระหว่างประเทศ หรือในกิจกรรมธุรกิจส่งออกมาหลากหลายหัวข้อ วันนี้จะขอนำภาพ Supply Chain ของธุรกิจนี้มาฝาก เพื่อให้ท่านได้เห็นภาพรวมในแต่ละขั้นให้ชัดเจนขึ้น ว่า Steak Holder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสายการบริโภคนี้มีใครบ้าง ใครอยู่อันดับไหน ทำหน้าที่อะไร เกี่ยวข้องหรือต่อสายมาจากใคร

กรณีธุรกิจตุ๊กตานี้ หรือที่ยกตัวอย่างมานี้เอาเป็นการขายส่งข้าวบรรจุเสร็จไรซ์เบอร์รี่ หรือบางทีก็เรียกข้าวหอมนิลบ้าง (Black Rice) ก็มี ห่วงโซ่อุปทานนี้ หากไม่รวมคนขายปุ๋ย ขายเมล็ดพันธ์ เครื่องมือการเกษตรแล้ว ก็จะขอเริ่มต้นจากผู้ปลูกเลยนะคะ ดังจะมีรายละเอียดห่วงโซ่สายนี้ในแต่ละขั้นดังนี้

  1. ผู้ปลูก ในที่นี้อาจเป็นเกษตรกร หรือเจ้าของธุรกิจผู้ส่งออกเองก็แล้วแต่รูปแบบธุรกิจนะคะ หรือเจ้าของธุรกิจส่งออกมีแปลงปลูกของกิจการบางส่วน แล้วที่เหลือเป็น Contract Farming อาจเป็นหน่วยเดียวกัน หรือแยกกันระหว่าง ผู้ปลูกและผู้นำไปแปรรูปจนกลายเป็นข้าวบรรจุเสร็จ เพื่อการจำหน่ายก็ได้ เรามาพูดถึงหน้าที่การปลูกและบทบาทกันโดยเฉพาะกัน การปลูกนั้นอาจถูกกำหนดมาจากตลาด หรือผู้ปลูกกำหนดเองว่าจะปลูกสายพันธ์ไหน กรณีข้าวหอมนิลนี้เนื่องจากค่อนข้างใหม่ในตลาด และพันธ์ต่างๆที่มีอยู่ที่ป้อนเข้าสู่ตลาดนั้นยังไม่มาก จึงเป็นการกำหนดสายพันธ์การปลูกจากผู้ผลิตมากกว่า ว่าอยากเสนอสินค้านี้แล้วทำการบอกกล่าวว่าสินค้านี้ดีอย่างไร ไม่เหมือนข้าวหอมมะลิ ทีตลาดจะรู้จักมานาน รู้จักว่าข้าวหอมมะลิมีจากสุรินทร์เป็นอย่างไร จากทุ่งกุลาร้องไห้เป็นอย่างไร หอมมะลิเสาไห้เป็นอย่างไร เพื่อทำการกำหนดมาจากตลาดว่าต้องการสั่งซื้อสายพันธืไหนเป็นต้น ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานสายพันธ์ของข้าวหอมนิลนั้น ก็จะขึ้นกับผู้ปลูกและผู้แปรรูป (ผู้จำหน่าย) ที่จะคอยควบคุมและนำไปทำการตลาดให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของสินค้าตน ผู้ปลูกเองก็จะต้องดูแลในเรื่องความชื้น และมาตรฐานอื่นของการค้าข้าวเปลือกนั่นเอง ปริมาณนั้นก็อาจกำหนดร่วมกันว่าจะปลูกในเนื้อที่เท่าไหร่ ให้ได้จำนวนผลผลิตเท่าไหร่ที่สอดคล้องกับความต้องการ (Demand) ของตลาดนั่นเอง
  2. ผู้แปรรูป หรือผู้จำหน่าย (Exporter) ก็จะทำการจัดซื้อข้าว (Purchase) ให้ได้คุณลักษณะ หรือมาตรฐานที่ตนกำหนด (Qualified Quality) หรือที่ตนได้แจ้งผู้ซื้อจากต่างประเทศไป แล้วนำไปแปรรูปเป็นข้าวสาร หรือการทำการสีข้าวนั่นเอง สำหรับสถานที่สีข้าวนั้น ก็แล้วแต่รูปแบบธุรกิจอีกว่าจะเป็นของหน่วยธุรกิจ หรือจะเป็น out source (ผู้รับเหมาช่วงการผลิตจากภายนอก) ขอทำความเข้าใจก่อนตรงนี้เพื่อป้องกันการสับสน เนื่องจากข้าวประเภทอื่นๆโดยปกติการค้าจะเป็นในลักษณะบรรจุในถุงใหญ่ ,มีปริมาณการซื้อขายเป็นหลายหมื่นตัน แต่กรณีตัวอย่างนี้เป็นการผลิตแล้วบรรจุในรูปแบบแพคเล็ก เพื่อผู้บริโภครายย่อยเลย ถึงจะเป็นการค้าส่งอยู่คือปริมาณในหลักพัน หรือหลายพันแพค แต่ก็ถือว่าเป็นคนละ Business Model กับบรรดาข้าวขาวโดยทั่วไปที่จะค้ากันแบบ G to G หรือ ฺB to B ตามที่มีข่าวกันอยู่ ก็แล้วแต่รูปแบบธุรกิจ แบบนั้นจะเป็นหลักหมื่นตันและบรรจุในถุง 10-20 กิโลกรัม เรียกว่า Bulk Pack มากว่า กลับมาที่การแปรรูปของข้าวหอมนิลในกรณีตัวอย่าง ผู้แปรรูปก็ต้องควบคุมคุณภาพในระหว่างการผลิตให้ได้มาตรฐาน ทั้งตัวสินค้าคือข้าว และตัวบรรจุภันฑ์ทำการตรวจคุณภาพสินค้าตามที่ตกลง (Inspection) จะโดยใช้หน่วยงานอื่น (3rd party) หรือทำการตรวจเองก็ขึ้นอยู่กับการตกลง ที่ได้ตกลงกันตั้งแต่ระหว่างการเจรจา ทำการบรรจุหีบห่อ ทั้งหมดนี้ซึ่งก็เป็นกระบวนการการผลิต (Production) เพื่อเตรียมการส่ง (Shipment) ก็ต้องทำการจองระวางสินค้าจากบริษัทขนส่งสินค้า (Forwarding Agent) แล้วทำการจัดส่ง จัดเตรียมเอกสารส่งออกที่ต้องดูว่าในการส่งออกข้าวบรรจุเสร็จนั้นเอกสารนอกจาก Invoice, Packing list และ ฺB/L แล้วต้องมีอะไรอีกบ้าง ทำการดำเนินพิธีการส่งออก ระหว่างนี้ก็ทำการแจ้งรายละเอียด การส่งสินค้าให้ลูกค้าทราบ ซึ่งลูกค้าที่อยู่ต่อจากผู้ขายส่ง หรือ Exporter นั้นจะเรียกว่า Importer
  3. Importer หรือผู้นำเข้า ที่อาจเป็นผู้กระจายสินค้า (Distribution) ในประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งก็แล้วแต่รูปแบบธุรกิจอีกเช่นกัน อาจเป็นหน่วยธุรกิจที่มี Retail Outlet ของตนเองเพื่อทำการค้าปลีกไปสู่ผู้บริโภคสุดท้ายเลยก็ได้ หน่วยธุรกิจนี้นั้น หลังจากผู้ขายได้แจ้งรายละเอียดการส่งของมา (Shipment Detail) พร้อมการได้รับเอกสารขาออก (Export Documents) มา ก็จะให้ตัวแทนในการเคลียสินค้าขาเข้าดำเนินการพิธีการขาเข้า เมื่อเรือสินค้าลำดังกล่าวมาถึงท่าเรือปลายทาง ทำการนำสินค้าเข้าโกดัง ทำการตรวจเช็คตามข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าที่มีต่อกัน (Inspection) แล้วกระจายสินค้าเข้าสู้ร้านค้าปลีก (In land transportation) เพื่อจัดจำหน่ายต่อไป
  4. สุดท้ายร้านค้าปลีก ที่อาจเป็น Super Market, เป็น Super Market ใน Department Store เป็น Convenient Store เป็นต้น หน่วยนี้ก็จะทำการจำหน่าย ทำการตลาด จัดโปรโมชั่น วิเคราะห์ตลาด แล้วทำการส่งยอดคำสั่งซื้อครั้งต่อไปกลับมายังผู้นำเข้า แล้วสั่งกลับมาที่เราที่เป็นผู้ขาย ณ จุดนี้ก็ถือว่าการค้าได้ครบรอบวงจรการค้า (Business Cycle) และกำลังจะเกิดรอบใหม่ขึ้นนั่นเอง

นี่ก็เป็นวงจรการค้าในธุรกิจส่งออก นอกจากนี้อาจมีรายละเอียดหรือการดำเนินการที่มากขึ้นอีก โดยเฉพาะในกระบวนการ การพัฒนาสินค้า ยกตัวอย่างเช่น หากผู้นำเข้าเห็นว่าข้าวหอมนิลนี้มีคุณประโยชน์ทางด้านโภชนาการมากมายตามที่ผู้ขายได้นำเสนอไป โดยมีผลการวิจัยรองรับ และได้เล็งเห็นว่าน่าจะสามารถต่อยอดพัฒนาแตกไลน์สินค้าใหม่ได้ บวกกับได้วิเคราะห์ทางด้านการตลาดว่าปริมาณผูบริโภคข้าวที่เป็น whole grain หรือเป็นเมล็ดแบบผลิตภัณฑ์ตัวแรกนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารเส้นโดยเฉพาะเส้น Pasta ที่มีความต้องการปริมากมากว่า และได้รับความนิยมไปในกลุ่มหลากหลายเชื้อชาติแล้ว จึงน่าจะมีการพัฒนาสูตรเส้นพาสต้าชนิดต่างๆขึ้นมา โดยมีส่วนผสมจากแป้งข้าวหอมนิล ณ จุดนี้ก็จะเกิดกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าขึ้นไปอีก (Value Added) โดยอาจจะทำการพัฒนาที่ห้องปฏิบัติการของผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแยกกัน หรือมีความร่วมมือกันเพื่อนำไปสูสูตรเส้นพาสต้า ที่ผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นสูตรที่สามารถนำเข้าสู่การผลิต แตกออกมาเป็นสินค้าชนิดใหม่ (New Product) ที่มีกระบวนการการผลิตที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง จะต้องมีการลงทุนเพิ่มหรือหา Out Source เพื่อการผลิต หน่วยธุรกิจเองก็ต้องวิเคราะห์และทำการตัดสินใจแนวทางที่เหมาะสมกับตน ในการที่จะทำการต่อยอดจากข้าวหอมนิล มาเป็นผลิตภัณฑใหม่ ๆ ซึ่งในท้องตลาดจริงขณะนี้ได้แตกไลน์ไปในกลุ่มสินค้าต่างๆ แล้วที่ท่านอาจเคยเห็นหรือเคยได้ยินมาแล้วบ้าง

กลับมาที่สินค้าท่านเองก็ลองดูว่าอะไรบ้างที่สามารถทำการเพิ่มมูลค่าได้ ในฐานะที่ประเทศไทยเราอยู่ในสภาวะที่ต้นทุนการดำเนินการต่างๆนั้นมีสูงขึ้น ทั้งค่าแรง และวัตถุดิบเป็นต้น ในฐานะที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle Income Country) จากธนาคารโลกแล้ว การผลิตสินค้าจึงควรมุ่งไปในกลุ่มที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และมีนวัตกรรมมากว่าที่จะส่งออกวัตถุดิบที่ราคาจะเป็นไปตามกลไกของตลาดเท่านั้น เช่นการส่งออกข้าวแบบ G to G ที่ทำอยู่ราคาของสินค้าไม่ได้กำหนดโดยผู้ผลิต หรือผู้ปลูก จะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด อย่างสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาตลาดโลกของข้าวต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมาก ผู้ผลิตก็ต้องรับภาระการขาดทุนเช่นรัฐบาลทำการรับจำนำมาในต้นทุน 15,000 บาทต่อตัน แต่ราคาตลาดโลกอยู่ที่ 9,000 - 10,000 บาทต่อตัน รัฐบาลจึงเกิดภาระการขาดทุนเป็นมูลค่าเป็นล้านล้านบาทดังที่ปรากฎ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องทำการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม หากรัฐบาลยังย่ำอยู่ในวงจรการค้าเดิมๆ ในทางปฏิบัติ ทั้งที่ในทางนโยบายเองก็เขียนไว้อย่างสวยหรูเรื่องการที่จะต้องมุ่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มอยู่ แต่ก้ยังอยู่บนกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรอื่นๆเช่น ยางพารา และปาล์มนำ้มัน เป็นต้น ที่เป็นฝ่ายต้องยอมรับการกดดันราคาจากตลาดอย่างเดียว ผู้ประกอบการต้องพิจารณาทางรอดเอาเอง ไม่ว่าจะทำต่อยอดกระบวนการแปรรูปไปเป็นตัวอาหาร หรือวัตถุดิบเป็นแป้ง เป็นเส้น เป็นอาหารแห้งประเภทขนมขบเคี้ยว หรือ Snack ต่างๆ รวมทั้งในผลิตภัณฑ์นอกลุ่มอาหารเอง ก็จะสามารถขายได้มูลค่าที่มากกว่า และที่สำคัญสามารถกำหนดราคาขายที่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง และยิ่งเมื่อมีตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ตราสินค้านั้นก็มีมูลค่าทางการตลาดขึ้นไปอีก จะกลายเป็นความยั่งยืนของธุรกิจได้ในที่สุด

หวังว่าผู้ประกอบการที่หวังจะเป็นผู้ส่งออก หรือเป็นผู้ส่งออกรายใหม่จะมีแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ สร้างตราสินค้าของท่านได้ และประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ทุกท่านนะคะ

หนังสือแนะนำ การบริหารซัพพลายเชน และการประยุกต์ใช้ คลิกที่นี่

หาหนังสือเล่มใหม่ คลิกที่นี่


หมายเลขบันทึก: 598081เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2015 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2019 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท