การทูตเชิงรุก TPP ร้อนๆ กับเอกอัครราชทูตคนใหม่


เกล็น เดวิส ชื่อนี้กลายเป็นที่สนใจอยู่บนพื้นที่ข่าวในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาแม้กระทั่งวันนี้ เอกอัครราชทูตคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ผู้มารับหน้าที่ใหม่ไม่นาน ทำไมสร้างความฮือฮาได้มากขนาดนี้ วันนี้จึงอยากเขียนเรื่อง มาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางด้านภาษี (Non Tariff Barriers) ที่แฝงในประเด็นร้อนๆ อยู่นี้

วิวัฒนาการ และเครื่องมือของมาตรการการกีดกันทางการค้านั้น มีมาเรื่อยๆ มาตรการการกีดกันทางการค้าดูเหมือนจะก่อเกิดมาจากชาติตะวันตกนั้น หากไม่นับรวมการปิดประเทศ การไม่คบค้าสมาคมกับชาติต่างๆ ด้วยเหตุผลทางด้านการเมือง หรือเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลเช่นรัฐบาลทหารของพม่าที่เพิ่งเปิดประเทศมาไม่นาน ก็คงนับไม่ได้ว่าเป็นมาตรการการกีดกันนัก

สมัยแรกๆ เราจะเห็นมาตรการการกีดกันโดยใช้มาตรฐานสินค้าเรื่องสิ่งปนเปื้อน โดยเป็นเหตุผลทางด้านสุขอนามัยเป็นหลัก เช่นมาตรฐานการปนเปื้อนของโลหะหนักในสินค้าบางชนิด ที่หากมีปริมาณเกินข้อกำหนดแล้ว ก็จะไม่สามารถส่งเข้าไปขาย ณ ประเทศผู้ออกกฎนั้นๆ ได้ จะมองว่ามาตรการเหล่านี้ออกมาเพื่อการดูแลสุขอนามัยของประชากรในประเทศของตน ก็จะดูสมเหตุผลและมีความชอบธรรม แต่ถ้าหากดูลึกลงไปถึงรายละเอียดของข้อกำหนดที่ว่ากันโดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือวิชาการด้านการแพทย์ ก็จะเห็นว่ามาตรฐานบางอย่างมีข้อกำหนดที่เข้มข้นเกินความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่นในกรณีโลหะหนักที่จะก่อให้เกิดสาเหตุของภาวะการเจ็บป่วยได้ กับข้อกำหนดในมาตรฐานสินค้าแล้ว จะมีช่องว่างห่างกันอยู่มาก แต่รัฐบาลประเทศนั้นๆ อาจจะอ้างด้วยเหตุผลของการที่สารต้องห้ามดังกล่าวสามารถสะสมในร่างกายได้ หรือในอีกด้านหนึ่งคือความไม่มีเสถียรภาพด้านการควบคุมระหว่างการผลิต ของประเทศผู้ผลิตเอง ก็อาจจะมีส่วนความเป็นจริงอยู่ จึงทำให้ค่อนข้างก้ำกึ่งว่า เป็นมาตรการการกีดกันโดยแท้จริงหรือไม่ หรือมีการเลือกปฏิบัติได้ต่อบางประเทศ

มาตรการต่อมาที่เห็นกันคือ การใช้แรงงานทาส แรงงานเด็ก ในการผลิต แต่หลายๆ ครั้งในความเป็นจริง การใช้มาตรการนี้กีดกันสินค้าจากบางประเทศมักจะใช้ในกรณีของการแสดงความไม่เห็นด้วยในนโยบายทางการเมือง อย่างกรณีล่าสุดการพิจารณาระดับความน่าเชื่อถือการใช้แรงงานทาสของไทย เปรียบเทียบกับกรณีมาเลเซีย ซึ่งในสายตานักวิเคราะห์สายกลางระบุว่าสหรัฐอเมริกาปรับระดับให้มาเลเซียมีอันดับดีขึ้น แต่คงระดับของประเทศไทยที่ก่อนหน้าได้ถูกปรับลดมาแล้วนั้น ก็เพราะเหตุผลที่มาเลเซียได้ตอบรับการเข้าร่วม TPP หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ในชื่อไทย (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) ขณะที่ไทยยังไม่มีท่าทีที่จะเข้าร่วมในห้วงเวลาก่อนหน้านั่นเอง (แต่หลังจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์เข้ารับตำแหน่ง ดูจะมีท่าทีที่อยากจะนำประเทศไทยเข้าร่วม โดยล่าสุดได้ขอให้ญี่ปุ่นให้การรับรองเจตจำนงค์อันนี้) แม้กรณีแรงงานเด็กในประเทศจีน และฟิลิปปินส์ ยังรุนแรงแรงกว่าประเทศไทยอยู่ แต่การนำเข้าสินค้าจากทั้ง 2 ประเทศนี้ก็ยังดำเนินไปอยู่อย่างค่อนข้างปกติ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่มีระบบการปกครองที่แตกต่าง ที่โดยปกติจะได้รับมาตรการการกีดกันในหลายๆ กรณีก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางด้านภาษี เช่นการให้สิทธิพิเศษต่อประเทศที่มีรายได้น้อย (กำลังพัฒนา) จากสหภาพยุโรปหรือที่เรารู้จักในชื่อ GSP (Generalized System of Preferences) ที่ไม่เก็บภาษีขาเข้าจากบรรดาประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้ เช่นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปี 2557 นั้นประเทศไทยจะได้รับสิทธิพิเศษนี้มาในกลุ่มสินค้าหลายประเภท แต่หลังจากการจัดอันดับจากธนาคารโลกให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle Income Country) จึงถูกถอนสิทธินี้ไป ตามที่เคยได้เขียนถึงในหัวข้อก่อนหน้าไว้แล้ว แต่มีบางกรณียกตัวอย่างประเทศจีน เมื่อ 10 ปีที่แล้วจีนยังมีรายได้ประชากรต่อหัวค่อนข้างต่ำ และด้วยการที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ที่ถือว่าอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับประเทศเสรีทุนนิยมทางด้านนโยบายเศรษฐกิจในระดับรัฐบาล จีนจึงถูกสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการทางด้านภาษีต่อสินค้าจากจีนที่ส่งเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกา บางรายการมีภาษีสูงถึง 90% แต่ในระดับของเศรษฐกิจการค้าของเอกชนนั้น สินค้าประเภทนั้นก็ยังถูกสั่งเข้าไปขายโดยพ่อค้าสหรัฐอเมริกาอยู่ สินค้าที่พูดถึงนี้คือบรรดาเทียนหอมที่ใช้ประจำครัวเรือน เนื่องจากเป็นประเทศในเขตหนาว การบริโภคเทียนสำหรับจุดในบ้านที่เป็นธรรมเนียมจากอดีตที่มีมานั้นยังคงเป็นที่นิยมอยู่ แต่ละปีประเทศตะวันตกส่วนใหญ่นำเข้าเทียนเป็นจำนวนมาก

แม้กระทั่งการใช้กฏหมายสิ่งแวดล้อมบ้าง เช่นกรณีข้อกำหนดการใช้สารเคมีบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อสภาวะเรือนกระจก เช่นสารคลอโรฟูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon; CFC) เป็นกลุ่มของสารเคมีสังเคราะห์ที่มีคลอรีนผสมอยู่ ที่สามารถทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศได้ ซึ่งเราได้ยินมาในการผลิตสินค้าที่เี่ยวข้องจึงต้องมีมาตรฐานของสารนี้ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนด

และสุดท้ายที่จะพูดถึง คือในยุคการค้าเสรี ที่เขตการค้าเสรีในโลกนั้นมีมากมาย ทับซ้อนกันบ้าง ไข่วกันไปมาบ้าง จนนักวิชาการบางคนให้คำจำกัดความเป็นสภาวะ Spaghetti Bowl เพราะสภาวะการพันกันของเขตการค้าเสรี กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทางการค้านั่นเอง เช่น TPP เองที่บางส่วนก็ทับซ้อนกับ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน” เป็นต้น ซึ่งในรายละเอียดข้อตกลงทางการค้าในเขตการค้าเสรีเหล่านี้ ไม่ได้มีความเป็นเสรีอย่างแท้จริง ต่างมีเงื่อนไข ข้อยกเว้นบางอย่างที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้เขียนหรือเจ้าภาพ อย่างเช่นกรณี TPP ที่เป็นเจ้าภาพโดยสหรับอเมริกา ข้อตกลงทางการค้าในเขตการค้าเสรีเหล่านี้ เลยยังไม่พ้นที่จะถูกเรียกเป็น มาตรการการกีดกันด้านการค้าอยู่ดี ถึงจะไม่ใช้ภาษีขาเข้าเป็นเครื่องมือ แต่กลายเป็นมาตรการที่ไม่ใช่การใช้ภาษีเพื่อให้เป็นกำแพงของการกีดกัน โดยหันไปใช้กฎระเบียบอื่นนั่นเอง

กรณีร้อนๆ ของวาทะเอกอัครราชทูตของสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ในด้านกฎหมายทางด้านขนบธรรมเนียมไทย ที่เป็นประเพณีปฎิบัติมาอย่างยาวนานนั้น ที่วิพากกฏหมาย ม. 112 นั้น ดูจะกลบกรณีที่ทูตท่านนี้พยายามรุกคืบในกรณี TPP หากจะมองให้ครบองค์ในสาระของเนื้อหาที่ทูตท่านนี้จะส่งให้รัฐบาลไทยนั้น จะเห็นว่ามีกรณีการที่จะมุ่งกดดันไทยอย่างต่อเนื่องให้เข้าร่วมกับข้อตกลง TPP อยู่ด้วย แต่เหตุที่กรณีมาตรา 112 นั้นอ่อนไหวต่อความรู้สึกของชาวไทยมากว่า กรณีกดดัน TPP จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า สหรัฐอเมริกาใช้การล๊อบบี้อย่างหนักในเบื้องหลังหรือไม่ ทั้งในระดับกฏหมายท้องถิ่นในไทยเอง และในระดับข้อตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศ เพื่อให้ไทยทำการยอมรับและเข้าร่วม โดยร่างกฏหมายด้านพันธุกรรม หรือพืช GMO (Genetically Modified Organisms) หรือสัตว์ หรือแบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์ ที่ถูกดัดแปลง พันธุกรรม ให้ผ่านในระดับสภา โดยที่ GMO เป็นหนึ่งในสาระใน TPP ด้วย ทั้งๆ ที่เบื้องหน้าก็พยายามที่จะระมัดระวังในคำพูดที่ว่า ไม่ได้ทำการกดดันรัฐบาลไทย และพร้อมที่จะให้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน TPP ให้ไทยในทุกแง่มุม และสื่อมวลชนไทยเองดูเหมือนไม่ให้ความสนใจที่จะนำเสนอข่าวประเด็นนี้มากนัก จากลุ่มที่ต่อต้าน โดยกลุ่มเหล่านี้พยายามให้ข้อมมูลว่า GMO จะกระทบต่อการเกษตร การผลิตอาหารปลอดภัย และเกษตรกรไทยอย่างไร และจะกระทบในด้านการผลิต การนำเข้ายาที่จำเป็นของไทยอย่างไร เป็นต้น

ไทยจะยังคงรักษาความเป็นตัวของตัวเองต่ออิทธิพลของชาติมหาอำนาจ โดยรักษาผลประโยชน์ของชาติตนเป็นส่วนรวมเอาไว้ด้วยวิธีการใด หรือ TPP ไม่ได้มีอะไรน่ากลัวอย่างกระแสต่างๆ เลย เป็นที่น่าจับตามาก ต่อการเข้ามารับตำแหน่งของ นายเกล็น เดวิส ผู้ที่ดูจะมาพร้อมภาระกิจที่เขาดูจะมุ่งมั่นในการทำให้ประสบผลให้จงได้ในครั้งนี้








หมายเลขบันทึก: 598015เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2015 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2015 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท