การบริหารความเสี่ยงในการค้าระหว่างประเทศ (Risk Management-International Business)


การบริหารความเสี่ยง (Risk Management for International Business) ในการค้าระหว่างประเทศนั้น นับว่ามีปัจจัยที่ต้องคำนึงอยู่หลายๆด้าน ก่อนอื่นมาทบทวนคำว่า ความเสี่ยงกันก่อน ความเสี่ยงก็คือความไม่แน่นอนต่างๆ (Uncertainty) ในทางลบต่อกิจการ ที่มีโอกาส และความเป็นไปได้จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ (Chance and Possibility of Lost) รวมทั้งเหตุที่เกิดความคลาดเคลื่อนจากผลที่ได้คาดการณ์ไว้ (Dispersion of Actual Result) จะมากหรือน้อยนั้นก็ไม่สามารถชี้ชัดได้แน่นอน แต่เราจะสามารถบริหารหรือควบคุมความเสี่ยงนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อกิจการให้น้อย หรือไม่ให้มีความเสียหายเลยได้หรือไม่ จะขอแยกความเสี่ยงเป็น 3 ส่วนดังนี้

1. ภัย (Peril) คือ หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว เกิดพายุ สึนามิ น้ำท่วม จะเห็นว่าภัยส่วนนี้จะอยู่นอกเหนือการควบคุม การลดหรือการบริหารความเสี่ยง หรือลดผลกระทบนั้นจะขึ้นอยู่กับการติดตามสถานณ์การต่างๆ ที่จะเป็นการบอกเหตุล่วงหน้า และเราจะต้องมีแผนการรองรับสำหรับสถานณ์การเหล่านี้ไว้ว่าหากมีเหตุเกิดขึ้นแล้วขั้นตอนปฏิบัตต่อสถานการณ์ ว่ามีอะไรบ้าง

2. ภัยส่วนเกิดจากการกระทำของคนเช่น จลาจล อัคคีภัย ฆาตกรรม การก่อการ้ายเช่นเหตุการในกรุงปารีสเร็วๆ นี้ที่สื่อมวลชน(The Sun) ใช้คำว่าการสังหารหมู่ เป็นต้น ที่จะส่งผลให้ตลาดเกิดการ Shock ทำให้สั่งสินค้าต่างๆ ลดลง ทั้งนี้รัฐบาลอาจสร้างมาตรการต่างๆเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้มากขึ้น ในมาตรการนำสินค้าเข้า อันจะส่งผลถึงความยุ่งยากในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดนั้น ก็สามารถทำให้ยอดการส่งออกกระทบเพิ่มเติมได้ด้วยนั่นเอง ส่วนอัคคีภัยในที่นี้จะเป็นอัคคีภัยที่เกิดจากภายนอกในบริเวณใกล้เคียงที่อาจลุกลามมา หรือส่งผลกระทบกับเราได้ ดังนั้นภัยในข้อนี้ก็จะอยู่นอกเหนือการควบคุมเช่นกันการลดหรือการบริหารความเสี่ยง หรือลดผลกระทบนั้นก็จะเหมือนข้อแรก

3. ภัยยังรวมทั้งเหตุสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นได้คือภัยที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ที่ถือเป็นภัยที่รุนแรงเพราะจะกระทบกับคนในภูมิภาคไม่ว่าภายในประเทศนั้นๆ หรือจะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางขึ้นไปยังประเทศอื่นๆ เช่นเหตุการณ์การลดค่าเงิน หรือการลอยตัวของค่าเงินบาทที่กระทบไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งเหตุการณ์วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่สหรัฐอเมริกาที่ทำให้ลดความสามารถการสั่งซื้อลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการในบ้านเราส่งออกสินค้าได้น้อยลง ประเด็นนี้ผู้ประกอบการอาจใช้มาตรการหลายตลาด ไม่ใช่ตลาดเดียวเพราะหากเกิดผลในประเทศหนึ่งก็จะมีตลาดอื่นๆที่ช่วยพยุงกิจการไปได้ การลดหรือการบริหารความเสี่ยงนั้นอาจจะขึ้นอยู่กับการติดตามสถานณ์การต่างๆ ที่จะเป็นการบอกเหตุล่วงหน้าส่วนหนึ่ง เช่นความเสี่ยงด้านอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อาจจะใช้การประกันค่าเงินล่วงหน้า หรือเรียก FX Swap คือบริการที่ธนาคารทำสัญญาซื้อและขายเงินตราต่างประเทศจำนวนหนึ่งในวันทำสัญญา เช่น ซื้อเงินตราต่างประเทศ ณ เวลาหนึ่งเพื่อทำการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตสินค้า และทำธุรกรรมด้านตรงข้าม เช่น ขายเงินตราต่างประเทศ ณ อีกเวลาหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับค่าสินค้าจากสัญญาซื้อขายหลังการผลิตและการส่งมอบสินค้า (หรือขาย/ซื้อ) ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของทั้งสองธุรกรรมไว้คงที่ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องรับภาระเสี่ยงจากการขึ้นลงของอัตราการแลกเปลี่ยนของภาวะปกติของตลาดนั่นเอง

ทั้งนี้ภัยในข้อนี้จะรวมถึงความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆของรัฐบาล ที่จะส่งผลให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่นที่เคยยกตัวอย่างเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่ขึ้นทันทีทั่วประเทศที่มีอัตราก่อนหน้าของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ในจังหวัดห่างไกลที่เดิมมีอัตราค่าแรงอยู่ที่ 100 กว่าบาทพอปรับมาเป็น 300 บาทก็ถือเป็นการปรับขึ้นที่สูงมาก แม้ในกรุงเทพมหานครเองที่ก่อนปรับจะมีอัตราค่าแรงที่ 215 บาทนั้น พอมาเป็น 300 บาทก็ถือว่าส่งผลให้กระทบเกือบ 40% ที่เป็นภาระที่สูงมากต่อต้นทุนผู้ประกอบการ ไม่นับรวมที่ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบันที่อัตราค่าแรงตามความเป็นจริงในท้องตลาดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร และภูเก็ตเป็นต้นได้พุ่งขึ้นสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่พลักดันขึ้นมา เช่นเราจะเห็นป้ายประกาศรับแม่บ้านบริษัทรับเหมาทำความสะอาดจะจ่ายค่าแรงที่ 350 บาทต่อวัน พนักงานขับรถ 535 บาท แม้กระทั่งคนงานขายผลไม้ที่แผงผลไม้ที่ปากซอยบ้านของผู้เขียน จะอยู่ที่ 400-600 บาทต่อวัน เป็นต้น การรับมือของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอุตสาหกรรมส่งออก ก็มีตัวอย่างดังได้กล่าวไปในกรณีของบริษัทคราวน์ ที่ได้เขียนไว้ในหัวข้อก่อนหน้า (การเป็นประเทศมีรายได้ปานกลางระดับสูง คือความเสี่ยงหรือโอกาส)

'ภัย' อีกนัยหนึ่ง ก็คือสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความเสียหาย (Hazard) หรือเหตุที่จะทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นใน 2 ด้าน

1.ต่อสภาพทางด้านกายภาพ (Physical) เช่น ชนิดและทำเลที่ตั้งของโรงงานตั้งอยู่ในสถานที่ ทีเกิดน้ำท่วม ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคาร เครื่องจักร หรือวัตถุดิบต่างๆ หรือบางสถานที่ขาดแคลนน้ำในบางช่วงของทุกปี หากเป็นสถานการณ์การเกิดซ้ำซาก การบริหารความเสี่ยงก็จะง่ายสามารถลดความเสี่ยงด้วยมาตรการเชิงรุกได้ แต่หากเป็นกรณีที่นานๆเกิดที ก็ต้องอาศัยมาตรการตั้งรับ

2. สภาวะทางด้านศีลธรรม (Moral) คือ สภาวะของโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากความไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน เช่น ในโรงงานเครื่องประดับที่อาจการฉ้อโกงของพนักงานได้ง่าย และทางด้านจิตสำนึกในการป้องกันความเสี่ยง (Morale) ในการที่ไม่ประมาทและเลินเล่อ ไม่มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Safety)เช่น การที่พนักงานปล่อยให้เครื่องจักรทำงานโดยไม่ควบคุม ไม่มีการดูแลซ่อมบำรุงตามระยะเวลาที่กำหนด เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัตเหตุเป็นต้น

ซึ่งข้อนี้จะเป็นปัจจัยความเสี่ยงจากภายในที่องค์กรไม่ได้สร้างเงื่อนไขที่จะส่งผลให้ลดความเสี่ยงของตนเอง นั้นก็หมายความว่าความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่จะบริหาร และควบคุมได้ สำหรับการค้าระหว่างประเทศเองแล้ว หลายครั้งที่ผู้ประกอบการถูกเงื่อนไขทางการค้าบังคับให้ลดความเสี่ยงในข้อนี้ของตนเองลง ทั้งที่ต้นทุนการผลิตอาจจะดูสูงขึ้นในตอนแรกๆ แต่ถ้าเราทำได้ประสิทธิภาพตามที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้แล้ว ก็จะส่งผลเป็นการลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว เช่นเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศที่ระบุว่าเขาต้องซื้อสินค้าจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9002 ที่มีหนึ่งในมาตรฐานของกระบวนการทำงานคือเรื่องความปลอดภัย โรงงานจะต้องมีทางหนีไฟ มีป้ายบอกชัดเจน มีมาตรฐานจำนวนเครื่องดับไฟ และตำแหน่งที่จัดวาง แม้กระทั่งมาตรการการซ้อมหนีไฟเป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันด้านความปลอดภัยไม่ใช่หนึ่งในมาตรฐาน ISO เท่านนั้นยังเป็นส่วนของมาตฐานของอุตสาหกรรมโดยทั่วไปที่องค์กรจะต้องมีกรรมการดุแลโดยเฉพาะ และคงไม่ต้องยกตัวอย่างมากนักว่าหากเกิดความเสียหายด้านนี้ขึ้น ในกรณีที่ควบคุมไม่ได้จะสมารถสร้างความเสียหายได้มากน้อยเพียงใด เช่นหากท่านทันเหตุการณ์กรณีโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เป็นต้น

หากพูดโดยรวมความเสี่ยงที่เกิดจากภายในก็คือสิ่งต่างๆที่รวมอยู่ในจุดอ่อน Weaknesses และ Treats ที่เป็นปัจจัยภายนอก ตามการวิเคราะห์ SWOT นั้่นเอง การบริหารความเสี่ยงภายในจึงเป็นการบริหารที่สามารถทำได้ง่ายกว่า และการบริหารภัยหรือความเสี่ยงภายนอกจะยากกว่า จะต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และเครื่องมือทางการบริหารต่างๆในการป้องกันซึ่งสามารถทำได้ระหนึ่งเท่านั้น เพราะเป็นภัยอยู่เหนือการควบคุม ดังนั้นที่ทำได้ดีที่สุดก็จะเป็นการตั้งรับ หรือการที่จะสามารถปรับตัว เพื่อลดความเสียหายหรือให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด เช่นโรงงานในภาคตะวันออกที่จะเจอสภาวะการขาดแคลนน้ำ จะต้องมีมาตรการการเตรียมการเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการไปได้หากยังจะต้องตั้งโรงงานในสถานที่นั้นต่อไป ทั้งนี้การลดความเสี่ยงภาวะการขาดน้ำ หรือภัยอื่นๆของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ก็จะต้องอาศัยมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐเป็นส่วนสำคัญด้วย เพราะการลดภัยต่างๆให้ผู้ประกอบการจะเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้


โดยเฉพาะสำหรับการค้าระหว่างประเทศความสามารถในการแข่งขันนี้จะนำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศ ที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในได้ หวังว่าขณะที่รัฐบาลจะคอยแต่จะรายงานตัวเลขส่งออกที่ลดลงถึงขั้นติดลบ รายงานการปรับลดตัวเลข GDP คอยจะส่งผลให้ดัชนีผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ให้เปลี่ยนเป็นการหามาตรการอันจะสามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ให้ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจบริการ หรือธุรกิจการผลิตสินค้า ในในประเทศและการค้าต่างประเทศไปพร้อมๆกันได้

และหวังว่าท่านผู้ประกอบการทั้งหลายเอง จะให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงต่างๆภายในองค์กรตัวเองด้วย เพราะความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องมาจากความไม่แน่นอนต่างๆ และความจำกัดของทรัพยากรโครงการ ผู้บริหารโครงการจึงต้องจัดการความเสี่ยงของโครงการต่างๆให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ปัญหาของโครงการ ของกิจการลดน้อยลง และสามารถดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิผล การจัดการความเสี่ยงหรือ การบริหารความเสี่ยง (Risk managment)สรุปคือ การจัดการความเสี่ยงในกระบวนการในการระบุ วิเคราะห์(Risk analysis) การประเมิน (Risk assessment) มาตรการดูแล การตรวจสอบ และควบคุมความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับ กิจกรรมในทางธุรกิจต่างๆ ในหน้าที่และกระบวนการทำงาน เพื่อให้องค์กรลดความเสียหายจากความเสี่ยงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อันเนื่องมาจากภัยที่องค์กรต้องเผชิญในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือเรียกว่าอุบัติภัยก็แล้วแต่ (Accident)เพื่อให้ความเสี่ยงเหล่านั้นสามารถอยู่ภายใต้การควบคุมให้ได้มากที่สุด ที่จะต้องทำไปพร้อมๆการบริหารด้านอื่นๆ เช่นการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ที่เพิ่งกล่าวไปในหัวข้อที่ผ่านมานี้ในเรื่องการเลี้ยงรับรองลูกค้าแล้ว ก็เพื่อให้การบริหารงานในด้านต่างๆ ร่วมกันส่งผลต่อการประสบความสำเร็จของท่านเองนั่นเอง ขอให้ทุกท่านโชคดี

หนังสือแนะนำ เพื่อเรียนรู็วิธีการบริหารความเสี่ยงโดยละเอียด คลิกที่นี่

หมายเลขบันทึก: 597730เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2015 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2015 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท