ข้อตกลงทางการค้า TPP และอื่นๆ ประเด็นที่ผู้ส่งออกควรติดตาม (?)


ข้อตกลงทางการค้า TPP และข้อตกอื่นๆ ประเด็นที่ผู้ส่งออกควรติดตาม (?)

ความตกทางการค้าในยุค 10 ปีหลังมานี้ส่วนใหญ่จะเป็นข้อตกลงการค้าเสรี หรือเรียกว่า FTA (Free Trade Agreement หรือตัว A บางองค์กรอาจแปลเป็น Area บ้างก็มี ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะใช้ในประเด็นความหมายว่าเป็นสาระของข้อตกลง ก็จะเป็น Agreement แต่ถ้าหมายถึงว่าพื้นที่ครอบคลุมถึงไหนทั้งทางภูมิศาสตร์และกลุ่มสินค้าก็อาจใช้ Area) ซึ่งอาจเป็นข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ หรือมากว่าเป็นกลุ่มประเทศก็ได้ อย่างที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดและกำลังมีผลเริ่มบังคับใช้สิ้นปี 2558 นี้ก็เขตการค้าเสรีของกลุ่มประชาคมอาเซียน ( AEC ) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศในอาเซียนที่ทุกท่านน่าจะคุ้นเคยว่านอกจากไทยเราแล้วมีใครอีกบ้าง มาทบทวนกันอีกครั้งนะคะว่า AEC มีแนวทางที่ตกลงว่าจะดำเนินการร่วมกันระหว่างสมาชิกทั้ง 10 ประเทศนั้นคือประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน
2.การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน
4. การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

ซึ่งความจริงแล้วเขตการค้าเสรีต่างๆนั้นใช่จะเสรีจริงๆ 100% ก็จะมีข้อจำกัดต่างๆที่ต้องทำความตกลงร่วมกันว่ากลุ่มสินค้าใดที่จะมีภาษีนำเข้าส่งออกระหว่างกันเป็น "0" และกลุ่มใดจะมีระยะเวลาการปรับฐานภาษี เวลาที่ใช้เป็นเวลานานเท่าไหร่ หรือมีแนวโน้มการลดลงกันอย่างไรเป็นต้น

ทีนี้ลองมาดูข้อตกลงทางการค้าที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดอยู่ ณ ขณะนี้คือข้อตกลง TPP หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) กันสักนิด ที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากมายก็อาจจะเนื่องจากข้อตกลงนี้ดูจะผูกยึดติดกับนโยบายทางการเมืองค่อนข้างมาก ยิ่งปัจจุบันการบริหารบ้านเมืองของไทยเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร และข้อตกลงนี้โต้โผใหญ่ในการก่อตั้งและผลักดันเป็นสหรัฐอเมริกาที่อ้างตนเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยและการค้าเสรีของโลกด้วย มันก็ยิ่งถูกกล่าวถึงอยู่ในทุกๆครั้งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีการพบปะของผู้นำ หรือระดับผู้บริหารที่มีความสำคัญๆ เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลประโยชน์ทางการค้า ได้ถูกนำเอามาเป็นเครื่องมือต่อรองกันทางการเมืองอยู่เสมอๆ

แล้ว TPP นี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมหรือไม่ ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงมีทีท่ากดดันไทยออกนอกหน้านอกตาในการที่จะให้ไทยเข้าร่วมข้อตกลงอันนี้ ทำไมมีนักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานวิจัยต่างๆ ทำการศึกษาข้อตกลงนี้ และเกิดการเผยแพร่ ถกเถียงกันอย่างมาก ผู้เขียนจะไม่ขอนำรายละเอียดนั้นๆมากล่าวถึง เพราะมีอยู่มากในเวปข่าวสารทั่วไป ในเวปของหน่วยงานองค์กรต่างๆอีกเป็นจำนวนมาก ที่ท่านจะสามารถหาอ่านได้ จากนั้นท่านเองก็จะมีแนวความคิดต่อข้อตกลง TPP นี้เป็นของตัวท่านเองด้วย ทีนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงผลของการศึกษาที่ว่าเหล่านั้น เพื่อให้กระชับภายใต้ข้อสนทนาของเราเท่านั้น ก็แยกออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรก : บอกว่าควรเข้าร่วม หากไทยไม่อยากตกขบวนในประโยชน์จากข้อตกลง เพราะตลาดนี้มีขนาดใหญ่กว่า AEC และอ้างว่ามูลค่าการค้าของสมาชิกจะมีถึง 40% ของ GDP ของโลกโดยที่มิได้นำข้อเสียมาชีแจงร่วมไว้แต่อย่างใด

กลุ่มที่ 2 : บอกไม่ควรรีบร้อน ระวังข้อตกลงหมกเม็ดต่างๆที่อยู่ใน TPP นั้น กลุ่มนี้จะมีแจกแจงทั้งข้อดี แบะข้อเสียเอาไว้ ส่วนข้อที่บอกว่าน่ากังวลนั้น ที่อาจนำทางตันมาถึงประเทศไทยในการจัดการสินค้าที่จำเป็นในหลายๆกลุ่มเช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิบัตรยา การเข้าถึงยาการจัดซื้อการผลิต การคุ้มครองพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สิ่งแวดล้อม การเปิดเสรีธนาคารและโทรคมนาคมต่างๆ ไทยยังมีเวลาที่จะศึกษาในละเอียดถ่องแท้ และถึงไม่เข้าร่วมข้อตกลงนี้ก็มีข้อตกลงอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วและทับซ้อนกันอยู่ สามารถที่จะคงประโยชน์ทางการค้าไว้ได้ด้วยเช่นกัน เช่น RCEP หรือข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (RCEP) 16 ประเทศ ที่มีเป้าหมายเสร็จในต้นปี 2560 โดยจะมีการลดภาษีสินค้าปีแรก 65% ของรายการสินค้า 8,000-9,000 รายการ จากนั้นจะลดเพิ่มอีก 20% ใน 10 ปี ซึ่ง RCEP มีขนาดตลาดใหญ่กว่า TPP แต่ GDP อาจยังน้อยกว่า TPP แต่ไทยจะได้ตลาดประเทศที่ไม่ใช่ TPP คือ จีน อินเดีย และอาเซียนอื่นนอกจาก TPP ดังนั้น ไทยอาจต้องผลักดันการเจรจานี้ให้คืบหน้าไปได้ รวมทั้ง AEC + 3, และ + 6 ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งขนาดของตลาดก็ไม่เล็กด้วยเช่นกัน

กลับมาที่ TPP ซึ่งข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกานั้น จะต้องมีการแก้ไขกฏหมาย ระเบียบกฎเกณท์ภายในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในกลุ่มที่ระบุเบื้องต้นแล้ว และจะทำให้มาตรฐานต่างๆ ต้องขยับสูงขึ้นตามไปด้วย จนทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยปรับตัวได้ยาก โดยเฉพาะกรณียาที่ข้อวิจารย์คือสหรัฐอเมริกาจะได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลที่จะสามารถขายยาให้ไทยได้มากขึ้น ในปัจจุบันเรามีองค์กรเภสัชกรรมที่สามารถผลิตยาพื้นฐานได้หลายประเภท รวมทั้งเอกชนไทยอีกหลายราย เราสามรถประหยัดการนำเข้าได้อย่างมหาศาล หากต้องนำเข้าจากอเมริกาแทนแล้ว เราจะต้องสูญเสียงบประมาณในปริมาณมากมายมหาศาลเช่นกัน เราจะสามารถรับภาระอันนี้ได้หรือไม่ ทั้งเรื่องพันธ์พืช และสัตว์ก็เหมือนกันที่ประเทศเราที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้น จะเสียประโยชน์อันประเมินค่าไม่ได้

ทั้งนี้มีนักสื่อสารมวลชนต่างชาติให้คำจำกัดความของข้อตกลงนี้ว่าเป็นข้อตกลง หายนะ บ้างก็มี และดูจะเป็นข้อตกลงที่สหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นมาเพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคด้วยก็มี อำนาจที่ทางจีนดูจะโดดเด่นมากขึ้นทุกวัน แม้แต่พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาที่ใกล้ชิดที่สุดในโลกอย่างอังกฤษ ในระหว่างการเยือนของประธานาธิบดีจีนที่มีการต้อนรับอย่างใหญ่โตตั้งแต่ระดับราชวงค์ และรัฐบาลที่ตามมาด้วยข้อตกลงอีกมากมายที่แสดงการต้อนรับการลงทุน ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยที่หวังให้การขยายความยืดหยุ่นให้จีนสามารถมีกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในอังกฤษได้ง่ายขึ้นนั้น จะช่วยเศรษฐกิจอังกฤษให้ดีขึ้นได้นั่นเอง อังกฤษได้ใช้นโยบายที่ต่างจากสหรัฐอเมริกา คือใช้ความเป็นมิตรแทนที่จะเป็นศัตรูมากีดกันจีนด้วยข้อตกลงทางการค้าต่างๆ แม้กระทั่งล่าสุดท่าทีทางการทหารที่ส่งกองเรือรบเข้าประชิดเกาะในทะเลจีนใต้ที่จีนถือครองอยู่นั้น อเมริกาก็มีทีท่าต่อจีนในแบบที่ไม่คิดจะเป็นมิตรด้วยเช่นกัน

อย่าเพิ่งสงสัยนะคะว่ากำลังอ่าน Blog ทางการเมืองอยู่หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันการค้าและเศรษฐกิจกับการเมืองนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองในประเทศต่างๆ เขานำมาผูกโยงกับเรื่องการเมืองเองอย่างแยกไม่ออก พวกเราคนทำมาค้าขายก็ต้องพลอยศึกษาท่าที่ และแนวโน้มต่างๆเหล่านี้เป็นองค์รวมไปด้วย โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้นต่อคำถามที่ว่า ประเด็นที่ผู้ส่งออกควรติดตามไม่ว่าจะเป็น กรณี TPP หรือข้อตกลงอื่นๆก็คือ เราต้องมุ่งประเด็นไปในสินค้าในกลุ่มของเราค่ะ สำหรับ TPP เองที่ไทยยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมในปัจจุบันนั้น ก็อาจมีการศึกษาว่าสินค้าของเราได้มีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงหรือไม่ หากมีผลกระทบจะเป็นไปในทางบวก หรือทางลบ และการกระทบที่จะมีได้นั้นเราต้องมีการเตรียมการรองรับอย่างไร อย่าลืมนะคะว่าการเตรียมการรองรับนั้นถึงจะเป็นผลกระทบในด้านดี ก็ต้องมีการเตรียมการเช่นกัน หากเราต้องการเป็นผู้ประสบผลสำเร็จ เราก็ควรไม่ประมาทอยู่เสมอ ในส่วนที่จะมีผลกระทบในทางลบนั้น เราควรที่จะคอยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือกลุ่มสินค้าแขนงเดียวกัน ร่วมมือกันในการจัดทำข้อมูลเพื่อส่งให้รัฐบาลในรูปแบบข้อมูลจากสมาคมวิชาชีพ เพื่อให้รัฐบาลตระหนักในผลกรทบในทางลบนั้นๆ พร้อมทั้งอาจมีการเสนอแนวทางแก้ไขไปด้วย ทั้งนี้การแนะนำนี้ไม่ได้การรันตีว่าจะสามารถลดผลกระทบได้ ทางรัฐบาลจะรับฟังหรือช่วยได้เสมอไปก็หาไม่ เช่นในหลายกรณีของข้อพิพาษทางการค้าหลายอย่างในปัจจุบันเอง ทางรัฐบาลแม้ดูว่าจะกำลังหาทางช่วยอยู่แต่ยังไม่ประสบผลก็มี เช่นในกรณีไทยโดนปรับลดอัตราความน่าเชื่อถือเรื่องการใช้แรงงานทาสในกลุ่มอุตสาหกรรมประมงเป็นต้น แต่ถึงอย่างไรเราก็ควรรวมตัวในรูปแบบสมาคมไว้ รวมทั้งเตรียมการในส่วนภายในองค์กร หรือหน่วยงานเราเองด้วยโดยอาจจะร่างแนวทางการเตรียมการโดยกว้างๆ นอกจากการทำข้อเสนอให้ทางรัฐบาลแล้วว่า...

  1. เราเองสามารถจะปรับตัวได้หรือไม่ หากปรับได้จะปรับอย่างไร (เช่น ในแง่ประสิทธิภาพการผลิต การทำ re-engineeringจะช่วยได้หรือไม่)
  2. เราเองจะขยับขยายไปในธุรกิจที่มีโอกาศมากว่าหรือไม่ (Diversify) หรือการหาตลาดใหม่ๆทดแทน (New Market)
  3. การใช้นววัตรกรรม การ out sourcing, ย้ายฐานการผลิต และ อื่นๆ จะมีทางเลือกใดๆอีกบ้างก็ต้องศึกษาข้อดี ข้อเสียก่อนให้ดี เป็นต้น

ซึ่งการปรับตัวด้านการดำเนินการ หรือปรับกลยุทธ์ทางการค้านั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ ยิ่งเราตื่นตัวอยู่เสมอต่อสถานการณ์ทุกด้าน รวมถึงข่าวอัตราการส่งออกที่ติดลบของประเทศ นั่นก็เป็นภาพรวมของทุกกลุ่มที่มีแนวโน้มเดียวกันทั่วโลกอยู่แล้ว ตัวเราเองต้อง focus ที่สินค้าของเราว่าอยู่ในกลุ่มนั้นๆ หรือไม่ เราต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ และถูกต้องในการวิเคราะห์แล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่สามารถประเมินแนวทาง ที่จะเป็นทางออกต่อปัญหาหรือข้อจำกัดได้ดีเท่านั้น เราในฐานะผู้ประกอบการคือต้องไม่ท้อต้องมีวิสัยทัศน์ และวิจารณญาณเพื่อนำพาธุรกิจเราให้สามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้

อย่างเคยได้กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนหน้าว่าผู้ประกอบการหลายรายสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ อย่างช่วงที่มีการปรับขึ้นของอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทเมื่อปี 55 นั้น ที่อยู่ในช่วงเดียวกันกับการลอยตัวของ LPG พร้อมกับที่ราคาน้ำมันมีราคาสูง มีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่สามารถฝ่าวิกฤตนั้นไปได้อย่างสวยงาม ดังนั้นกับสภาพการแข่งขันสูง ตลาดส่งออกหดตัวเช่นนี้ ไม่ว่าท่านอยากส่งออกในรูปแบบเดิม หรือแบบออนไลน์ สำหรับตลาดออนไลน์ที่กำลังโตสวนกระแสอยู่นี้ จะไม่ขอพูดถึง Lazada และห้างเจ้าท้องถิ่นถิ่นอื่นๆที่ลงมาเล่นตลาดนี้กันแล้วอย่างถ้วนหน้าแล้วนะคะ จะกล่าวถึงRakuten ญี่ปุ่นก็เข้ามาร่วมกับตลาดดอทคอมในระยะ2-3 ปีนี้

และล่าสุด Ookbee ร้านหนังสือดิจิทอล ที่ล่าสุดประกาศเปิด Ookbee Mall เพื่อทำการขายสินค้าด้วยเมื่อเร็วๆนี้ไม่กี่สัปดาห์ (จากญี่ปุ่นเช่นกัน จึงเน้นสินค้าจากญี่ปุ่นที่อาศัยอานิสงค์จากปริมาณที่นักท่องเที่ยวไทยหลั่งไหลไปญี่ปุ่นมากขึ้น) จะเห็นว่าช่องทางการค้าของรายเดิม และรายใหม่นั้นเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแนวทางของตนเองอย่างเดียว หรือการแสวงหาพันธมิตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและการลงตัว จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านหาช่องทางของตนเองให้เจอ และด้วยความมุ่งมั่นขอให้ทุกท่านประสบผลแต่ความสำเร็จค่ะ



ขั้นตอนปฏิบัติจริงการสร้างธุรกิจออนไลน์ อ่านรายละเอียดคลิกที่นี่

หมายเลขบันทึก: 597512เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2015 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2015 08:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท