“เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล” เครื่องมือสำรวจพื้นที่เพาะปลูกพืชของประเทศ เพื่อช่วยประมาณค่าการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรไทย


เกษตรกรไทย” คือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช...

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาระบุว่า แต่ละปีเกษตรกรไทยต้องเจ็บป่วยเพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เฉลี่ยปีละ 1,996 ราย โดยช่วงที่เจ็บป่วยมากที่สุดคือช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูกที่ต้องใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากกว่า 100,000 ตันต่อปี และผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมพบว่า อัตราป่วยด้วยพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีความสัมพันธ์กับข้อมูลยอดขายสารเคมี โดยทุกยอดขายสารเคมีที่เพิ่มขึ้น 100,000 บาท ส่งผลให้เกิดอัตราการป่วยเพิ่มขึ้น 0.11% หรือมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 110 คนในประชากรแสนคน!!

เมื่อมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก โอกาสที่เกษตรกรไทยจะได้รับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจนเกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพก็จะมีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้คือ การกำหนดนโยบายระดับประเทศเพื่อการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความปลอดภัยในไทย

เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนนโยบายนี้ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ จึงได้เดินหน้าศึกษาวิจัย “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย” โดยรวบรวมข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีสำรวจระยะไกล (Remote sensing) ร่วมกับการศึกษาข้อมูลรายงานการใช้สารเคมีในพื้นที่การเพาะปลูก และรายงานวิจัยข้อมูลระยะทางการแพร่กระจายของสารเคมี

คุณชยุตม์ พินิจค้า นักวิจัยโครงการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย เปิดเผยว่า เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล (Remote sensing) เช่น ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม มีส่วนช่วยในการเก็บข้อมูลที่จะทำให้ได้ข้อมูลในบริเวณพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแบ่งรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น การทำแผนที่ การสำรวจป่าไม้ การวางผังเมือง รวมทั้งการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ และการประเมินความเปลี่ยนแปลงทางการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจในแง่ปริมาณ ราคา ช่วงเวลา ฯลฯ เป็นต้น แต่การประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการประเมินการรับสัมผัสสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรไทย ถือว่าเป็นความพยายามครั้งสำคัญที่จะมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อคาดประมาณผลกระทบสุขภาพของประชากรอันเกิดจากการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในภาพรวมของประเทศ

“จุดเด่นของการใช้เทคโนโลยีนี้ในการทำงานวิจัยคือ เราสามารถเก็บข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกแต่ละฤดูกาลได้ โดยใช้งบประมาณที่ไม่สูงมาก เนื่องจากภาพถ่ายดาวเทียมจะช่วยให้เห็นรายละเอียดข้อมูลเชิงพื้นที่ครบถ้วนโดยไม่ต้องลงไปสำรวจพื้นที่จริงในทุกพื้นที่ และประเทศไทยก็มีหน่วยงานที่ทำการแปลข้อมูลและจำแนกข้อมูลเป็นประเภทต่างๆ อยู่แล้ว คือกรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ซึ่งข้อมูลที่ได้จะมีความละเอียดในระดับพื้นที่สูง ดังนั้นเราจึงสามารถนำข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้มีการจำแนกพื้นที่เพาะปลูกมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการซื้อสารเคมีของเกษตรกร ข้อมูลลักษณะการใช้สารเคมี ที่มีทั้งการพ่นทางอากาศและการพ่นทางภาคพื้นดิน ข้อมูลจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ และข้อมูลการเจ็บป่วยหรือข้อมูลการตรวจเลือดของประชากรในพื้นที่ เพื่อประมาณค่าการรับสัมผัสสารเคมีของเกษตรกรได้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานวิจัยอยู่ และถ้าหากได้ผลงานวิจัยแล้วเราจะสามารถรับรู้ได้ว่าแต่ละพื้นที่มีการใช้ปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูมากน้อยเพียงใด และประชากรในพื้นที่ใกล้เคียงมีปริมาณการรับสัมผัสสารเคมีในจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะเกิดผลดีต่อการนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป”

การนำเทคโนโลยีสำรวจระยะไกลมาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาข้อมูล จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์งานวิจัยที่เห็นเชิงภาพรวมในระดับประเทศ และผลงานวิจัยที่ได้ก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นข้อมูลสนับสนุนนโยบายสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงภาระโรคที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรและประชากรไทยต่อไปในอนาคต

แหล่งข้อมูล :

1. สำนักระบาดวิทยา 2552. สถานการณ์และปัญหาสุขภาพจากการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช.

2. สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม 2556. การพยากรณ์โรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชภาคเกษตรกรรม :การนำข้อมูลการเฝ้าระวังโรค 5 มิติ มาวิเคราะห์. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

หมายเลขบันทึก: 596893เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2015 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2015 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท