ความดันโลหิตสูง (Hypertension)


ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องวัดความดัน (Sphygmomanometer) วัดที่แขน และค่าที่วัดได้มี 2 ค่า คือ

  1. ความดันช่วงบน (Systolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว ซึ่งอาจจะสูงตามอายุ ความดันช่วงบนในคนๆ เดียวกันอาจมีค่าแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามท่าทางของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และปริมาณการออกกำลัง
  2. ความดันช่วงล่าง (Diastolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว

ในปัจจุบันได้มีการกำหนดค่าความดันโลหิตปกติ และระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป (โดยการวัดในท่านั่ง วัดอย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป แล้วคิดเป็นค่าเฉลี่ย)

ค่าการประเมิน/ ความดันช่วงบน /ความดันช่วงล่าง

ปกติ < 130 < 85

ปกติแต่ค่อนข้างไปทางสูง 130-139 85-89

ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย 140-159 90-99

ความดันโลหิตสูงปานกลาง 160-179 100-109

ความดันโลหิตสูงรุนแรง 180-20 110-119

ความดันโลหิตสูงรุนแรงมาก ≥210 ≥120

ความดันโลหิตสูง หมายถึง ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หรือความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มิลิเมตรปรอทขึ้นไป

โดยมากผู้ป่วยจะมีความดันช่วงล่างสูง (Diastolic hypertension) โดยความดันช่วงบนจะสูงหรือไม่ก็ได้

บางรายอาจมีความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว แต่ความดันช่วงล่างไม่สูง เรียกว่า ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว (Isolated systolic hypertension) ซึ่งมักจะพบในผู้สูงอายุ, โรคคอพอกเป็นพิษ, ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ (Coartation of aorta)

โรคความดันโลหิตสูง พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของคนทั่วไป ส่วนมากจะเริ่มเป็นในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และเป็น “ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ” เป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยที่อาจพบในคนอายุน้อย ซึ่งอาจเป็น “ความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ” ร่วมด้วย

สาเหตุ

  1. ส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 90) จะไม่พบโรคหรือภาวะผิดปกติ หรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความันโลหิตสูง เรียกว่า ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary hypertension) หรือความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Essential hypertension)

แต่อย่างไรก็ตามมักพบว่า ปัจจัยทางกรรมพันธุ์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค กล่าวคือ ผู้ที่พ่อแม่พี่น้องฝนครอบครัวเดียวกันเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติดังกล่าวประมาณ 3 เท่า

นอกจากนี้ อายุมาก ความอ้วน การกินอาหารเค้มจัดหรือมีเกลือโซเดียมสูง และการดื่มเหล้าจัด ก็อาจเป็นปัจจัยเสริมของการเกิดโรคนี้

ผู้ป่วยเหล่านี้จะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 25-55 ปี พบมากในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสพบได้มากขึ้น

  1. ส่วนน้อย (ต่ำกว่าร้อยละ 10) อาจตรวจพบโรคหรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะถ้าพบในคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือเริ่มมีความดันโลหิตสูง เมื่ออายุมากกว่า 55 ปี เรียกว่า ความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ (Secondary hypertension) หรือความดันโลหิตสูงชนิดมีสาเหตุ
    1. ได้รับยาบางประเภท เช่น ยาคุมเม็ดกำเนิด หรือยาฮอร์โมนเอสโตรเจน, สเตียรอยด์, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาแก้คัดจมูก (Decongestant) และยาแก้หวัดที่เข้ายาแก้คัดจมูก, ยาลดความอ้วน, อะดรีนาลีน, ยาแก้ซึมเศร้าร่วมกับยากลุ่มกระตุ้นประสามซิมพาเทติก
    2. ความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์
    3. โรคไต เช่น หน่วยไตอักเสบ, กรวยไตอักเสบเรื้อรัง, ไตวายเรื้อรัง, หลอดเลือดแดงไตตีบ (Renal artery stenosis) ซึ่งมักได้ยินเสียงฟู่ๆ (Bruit) ที่หน้าท้อง, วัณโรคไต, โรคไตเป็นถึงน้ำมาแต่กำเนิด (Polycystic kidney disease) ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เป็นต้น
    4. หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ (Coarctation of aorta ) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (Aortic insufficiency) ซึ่งมักจะทำให้ความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว ส่วนความดันช่วงล่างเป็นปกติ
    5. โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น คอพอกเป็นพิษ มักทำให้ความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว, โรคคุงชิง, เนื้องอกของต่อมหมวกไตที่เรียกว่า ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดศรีษะ ใจสั่น เหงื่อออก หน้ามืด เป็นลม น้ำหนักลด เป็นต้น
    6. อื่นๆ เช่น ภาวะความดันในกระโหลกศรีษะสูง, ตะกั่วเป็นพิษ, ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
  2. ในผู้สูงอายุ มักมีความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Arthrosclerosis) เรียกว่า ความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ
  3. ความดันโลหิตอาจสูงได้ชั่วคราว เมื่อมีภาวะที่ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เช่น ไข้ ซีด ออกกำลังกายใหม่ๆ อารมณ์เครียด เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องรักษา จะหายไปได้เองเมื่อปัจจัยเหล่านี้หมดไป

อาการ

ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญ ขณะไปให้แพทย์ตรวจรักาด้วยปัญหาอื่น

ส่วนน้อยอาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ วิงเวียน มักเป็นเวลาตื่นนอนใหม่ๆ พอตอนสายจะทุเลาไปเอง

บางรายอาจมีอาการปวดศรีษะตุบๆ แบบไมเกรนได้

ในรายที่เป็นมานานๆ หรือมีความดันโลหิตสูงมากๆ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล

เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจแสดงอาการภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก บวม หอบเหนื่อย แขนขาเป็นอัมพาต เป็นต้น

การรักษา (ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ เท่านั้น ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง)

  1. สำหรับผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย คือช่วงระหว่าง 130-159/ 85-99 มิลลิเมตรปรอท ต้องหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัว การรับประทานอาหาร ลดเค้ม และเกลือโซเดียม ออกกำลังกาย ผ่อนคลาย งดบุหรี่ และเหล้า ไปตรวจทางห้องปฏิบัตการ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล โคเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ กรดยูริก ครีอะตินิน โพแทสเซียม โซเดียม ระดับความเข้มข้นของเลือด และคลื่นหัวใจ เพื่อหาสาเหตุปัจจัยเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่ซ่อนเร้น แต่ถ้าหากควบคุมไม่ได้แพทย์ถึงจะจ่ายยาให้รับประทาน
  2. สำหรับผู้ป่วยที่วัดความดันได้ช่วงระหว่าง 160-209/ 100-119 มิลลิเมตรปรอทตั้งแต่แรก ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง และรุนแรง ควรตรวจเลือด ปัสสาวะ คลื่นหัวใจ และรับยาในการรักษาจากแพทย์ หากพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง มากกว่า 210/ 120 ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
หมายเลขบันทึก: 596741เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2015 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2015 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท