007_องค์หนึ่ง วันเปิดเทอม


วันที่ 19 ตค 2558

เป็นวันเปิดเทอมภาคจิตตะที่โรงเรียนครับ

คิดไปถึงตอนสมัยเป็นนักเรียน วันเปิดเทอมจะเป็นรอยต่อของความสนุกกับความเบื่อ นั่นคือ เมื่อวานยังนอนเล่น ยังรู้สึกว่าพักผ่อน แต่พอเป็นวันนี้ เหมือนว่าชีวิตต้องเข้าตารางเวลาอีกแล้ว ตื่นเช้า..ไปนั่งเรียน...กลับบ้าน...นอน

ครั้งนี้ เราเป็นครู

ครูตื่นเต้นกันซะมากกว่าครับ ในห้องพักครู คึกคักมาก เพราะแต่ละท่านเตรียมอุปกรณ์การสอน เตรียมลำดับคิวต่างๆ แต่ละวิชาก็จัดกิจกรรมกันเต็มที่ ภาษาไทยก็ทอดไข่, คณิตศาสตร์มีวิ่งเปรี้ยว 5 คน, มานุษวิทยามีเป่าลูกโป่ง, ภาษาอังกฤษมีเรียนนอกห้องเรียน

ก็หวังจะส่งบทเรียนเข้าสู่นักเรียนได้อย่างโดนใจ

*ภาพแสดงกิจกรรมวิ่งเปรี้ยวสลับตัวกันเพื่อทำกิจกรรมร้อยลูกปัด (เรียนเรื่องการจัดเรียงลำดับ)

ระบบการสอนแบบ Open Approach จะมีลำดับการสอนดังนี้

  1. ขั้นแนะนำ
  2. ขั้นเปิดประเด็นคำถาม
  3. ขั้นของการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์
  4. ขั้นนำเสนอความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  5. ขั้นประมวลผล/สรุป/สังเคราะห์

ครูหน้าห้องทำหน้าที่เสมือนไวทยากร (conductor) คือเป็นเพียงผู้กำกับ และนำพาความรู้เคลื่อนไหวระหว่างนักเรียนด้วยกัน ความรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน จะเกิดจากตัวนักเรียนเป็นผู้ค้นพบ หรือช่วยกันจับเนื้อหาขึ้นมา ครูจะเป็นผู้เน้นย้ำ ผ่อนหนักเบากับบทเพลงความรู้ในห้องเรียนเท่านั้น

*ภาพแสดงกิจกรรมวิ่งเปรี้ยวสลับตัวกันเพื่อทำกิจกรรมร้อยลูกปัด (เรียนเรื่องการจัดเรียงลำดับ)

บทบาทครูผู้สังเกตการณ์ใน Lesson study(while) คือ คอยสังเกตผลการสอนที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ดูว่านักเรียนมีปฏิกริยาในระหว่างการสอนอย่างไรบ้าง กิจกรรมใดส่งถึงนักเรียน กิจกรรมใดยังไม่โดนใจ และจะเดินดูผลลัพธ์การทำงานของนักเรียนแต่ละคน เพื่อประเมินว่านักเรียนสามารถเข้าใจความรู้ได้มากน้อยเพียงใด

หลังจากคาบ ทีมครูก็จะมาอภิปรายกันอีกครั้งว่าแต่ละท่านพบเห็นอะไรบ้าง เพื่อสรุปและบันทึกสิ่งที่ประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดรับกับการสอนในคาบถัดๆไป


สรุปสิ่งที่เรียนรู้ในวันที่ 19 ตค.2558

  1. สิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้
    • What เรียนรู้เรื่องอะไร
      • เรียนรู้ Lesson Study-บทบาทครูผู้สังเกตการณ์ในห้องเรียน และการร่วมอภิปรายการสอนหลังจากจบคาบ
    • Why เรียนรู้ไปทำไม
      • เรียนรู้ บทบาทครูผู้สังเกตการณ์ เพื่อจะได้ฝึกทำหน้าที่นี้ได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
    • How ทำอย่างไร
      • Lesson study เป็นการเตรียมสอน จะแบ่งเป็นช่วง Pre, While, Post
        • Pre ทีมครูจะเตรียมแผนการสอนจากเอกสารประมวลการสอน, เตรียมสื่อที่ใช้ และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในห้องเรียน
        • While ทีมครูดำเนินการสอนตามแผนที่เตรียมกันไว้ และสังเกตผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
        • Post ทีมครูร่วมกันอภิปราย และสรุปสิ่งที่ประสบความสำเร็จ/สิ่งที่คิดว่าควรพัฒนาเพิ่่มเติม
  2. ความคิดเห็นส่วนตัวต่อสิ่งที่เรียน
    • รู้สึกมั่นใจและเริ่มเห็นภาพ Lesson Study ชัดเจนมากขึ้น คิดว่าการร่วมทำ lesson study ในทุกๆคาบ จะสามารถเก็บชั่วโมงบิน เพิ่มพูนประสบการณ์ได้เข้มข้นดียิ่งขึ้น
    • รู้สึกว่าการทำ lesson study จะทำให้ครูได้ไตร่ตรองและมีความมั่นใจในการสอน เมื่อสิ่งที่วางไว้ ส่งถึงนักเรียนจริงๆ ครูจะเสพความรู้สึกได้ว่าประสบความสำเร็จ และอยากพัฒนาการสอนมากยิ่งขึ้นไปอีก
  3. ไอเดียที่อยากทดลอง/ปฏิบัติ
    • อยากได้ใช้เวลารู้จักเด็กๆมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจมุมมองของเด็กๆต่อการเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 596509เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2015 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2015 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท