ประโยชน์ของสมุนไพร


เมื่อพิจารณาประโยชน์ของสมุนไพรในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่า สมุนไพรมีประโยชน์คือ

๑. เป็นวัตถุดิบในการผลิตตัวยาสำคัญ เช่น ซิงโคนาใช้ผลิตควินิน ดูบอยเซีย (duboisia) ใช้ผลิตอะโทรปีน (atropine) เป็นต้น

๒. เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยา เช่น พืชสกุลกลอย เป็นวัตถุดิบในการผลิตไดออสเจนิน (diosgenin) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาประเภทสเตียรอยด์ (steroid) หรือน้ำมันพืชเป็นวัตถุดิบในการผลิตบีตาซิโตสเตียรอล (beta sitosterol) ซึ่งใช้ผลิตยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ที่มีเกสรผึ้งเป็นส่วนผสม (เกสรฝึ้งคือเกสรดอกไม้ที่ติดมากับขาผึ้ง)
ผลิตภัณฑ์ที่มีเกสรผึ้งเป็นส่วนผสม (เกสรฝึ้งคือเกสรดอกไม้ที่ติดมากับขาผึ้ง)
๓. เป็นแบบอย่างในการสังเคราะห์ยา ยาส่วนใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันมีต้นกำเนิดจากธรรมชาติแทบทั้งสิ้น เมื่อค้นพบตัวยาสำคัญจากธรรมชาติแล้ว จึงมีการสังเคราะห์เลียนแบบขึ้น การศึกษาหายาใหม่ๆ จากพืชจึงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
น้ำมันพืช ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์ น้ำมันพืช ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารตั้งต้น ในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์

๔. เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อบำรุงสุขภาพ ในช่วงเวลา ๔-๕ ปีที่ผ่านมานี้ ชาวตะวันตกได้หันมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลัวความเป็นพิษรุนแรงจากยาสังเคราะห์ และสารตกค้างจากกระบวนการสังเคราะห์ นอกจากนี้ยังเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ในพืชและสัตว์ มีระบบการป้องกันตัวเองที่คล้ายคลึงกัน เช่น ระบบเอนไซม์ เป็นต้น จึงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์น่าจะปลอดภัยกับคนด้วย ตัวอย่าง เช่น โสม นมผึ้ง และเกสรผึ้ง เป็นต้น
ซิงโคนา ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาควินิน
ซิงโคนา ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาควินิน
จะเห็นว่าแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของสมุนไพร สำหรับประเทศไทยนั้น เรื่องการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรได้ถูกละเลยกันไประยะหนึ่ง การที่จะพัฒนานำมาใช้ใหม่อีกครั้ง จึงจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ จึงได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาสมุนไพรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๙) โดยได้สรุปแนวทางที่สำคัญ ไว้ ๔ ประการ คือ

๑. การพัฒนาเพื่อการส่งออก
๒. การพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมยา

๒.๑ อุตสาหกรรมยาแผนโบราณ
๒.๒ อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน

๓. การพัฒนาเพื่อใช้ในการสาธารณสุขมูลฐาน
๔. การพัฒนาเพื่อยุทธปัจจัย

ต่อมาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ คณะกรรมการพัฒนาสมุนไพรได้พิจารณาเห็นว่า รายชื่อยาที่ใช้เป็นยุทธปัจจัย สอดคล้องกับรายชื่อยาในอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน จึงรวมเข้าเป็นหัวข้อเดียวกับการพัฒนา เพื่ออุตสาหกรรมยา
โดยทั่วไปประชาชนไทยมีพฤติกรรมการรักษาอาการเจ็บไข้ของตนเอง และครอบครัวเป็น ๓ แบบ คือ

๑. ใช้บริการจากสถานบริการของรัฐ ซึ่งเป็นการให้บริการในรูปของการแพทย์แผนตะวันตก
๒. พึ่งพาแพทย์พื้นบ้าน
๓. รักษาตนเอง

จะเห็นได้ว่า การรักษาตนเอง และการพึ่งพาแพทย์พื้นบ้านนั้น ยังมีความสำคัญต่อคนไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล จากสถานบริการของรัฐ การรักษาตนเองมีข้อดี ที่เป็นการรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ก่อนอาการจะกำเริบมากขึ้น และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ก็จะต้องจำกัดอยู่เฉพาะโรคที่สามารถวินิจฉัย และรักษาตนเองได้เท่านั้น การส่งเสริมการใช้สมุนไพร จึงจำเป็นต้องพิจารณาขีดความรู้ และความสามารถของประชาชน โดยเฉพาะชาวชนบท
เกณฑ์การเลือกใช้สมุนไพรเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน

การเลือกสมุนไพรที่จะพัฒนาไปใช้ในการสาธารณสุขมูลฐานมีหลักเกณฑ์ที่จะต้องยึดถือดังต่อไปนี้

๑. เป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่วินิจฉัยได้เอง เช่น อาการจุกเสียด ท้องผูก ท้องเสีย บาดแผลเล็กน้อย และโรคผิวหนังบางชนิด เป็นต้น

๒. เป็นสมุนไพรที่หาง่ายในท้องถิ่น เพื่อประชาชนจะได้มีใช้เมื่อต้องการ

๓. ยาที่เตรียมขึ้นจากสมุนไพรต้องเป็นยาที่เตรียมได้ง่าย ไม่ต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยี หรือความชำนาญสูง เช่น เตรียมโดยวิธีต้ม บด และชง เป็นต้น

๔. ยาสมุนไพรนั้นต้องใช้ได้ง่าย หากเป็น สมุนไพรที่กินได้ยาก อาจแข่งขันกับยาแผนปัจจุบันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีรสขมมาก อาจจะต้องปรับปรุงรูปแบบ โดยบรรจุในแคปซูลแทนการชงน้ำกิน

๕. สมุนไพรนั้นต้องปลอดภัย อย่างน้อยควรต้องมีการตรวจสอบทางพิษวิทยาอย่างเพียงพอ หากไม่มีหรือมีหลักฐานการตรวจสอบน้อย ก็ควรจะเป็นพืชอาหาร หรือเป็นยาที่ใช้ภายนอก เท่านั้น

๖. ต้องแน่ใจว่า สมุนไพรนั้นให้ผลดี อย่างน้อยควรจะมีหลักฐานทางเภสัชวิทยาที่ยืนยันผลการใช้ และถ้าจะให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรสาธารณสุขก็จะต้องมีหลักฐานครบถ้วน ทั้งเภสัชวิทยา พิษวิทยา และการทดลองทางคลินิก ดังนั้น ขณะนี้จึงได้มีการส่งเสริมการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรเหล่านี้

๗. สมุนไพรที่นำมาใช้ต้องถูกชนิด จึงจะได้ผลในการรักษา

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จึงพอจะ ประมวลตัวอย่างสมุนไพร ที่สมควรนำมาใช้รักษาขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้
ดอกฟ้าทะลายโจร
ดอกฟ้าทะลายโจร
กระชาย
กระชาย
กระชาย

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ กะแอน ระแอน (เหนือ) ขิงทราย (มหาสารคาม จี๊ปู่ ซีพู (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน) เป๊าซอเราะ เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ว่านพระอาทิตย์ (กรงเทพฯ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โบเซน เบอร์เกีย โรทุนดา (บินเนียส) แมนสฟิลด์ (Boesenbergia rotunda (Linnaeus) Mansfild)

สรรพคุณและวิธีใช้

นำเหง้าแห้งประมาณครึ่งกำมือ ต้มเอาน้ำดื่มแก้ท้องอืดเฟ้อ
กระวาน
กระวาน
กระวาน

ชื่อพื้นเมืองได้แก่ กระวานขาว (กลาง) กระวานโพธิสัตว์ กระวานจันทร์ กระวานดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะโมมุม เครอร์วานห์ปีแอร์ (Amomum Krervanh Pierre)

สรรพคุณและวิธีใช้


เอาผลแก่จัด ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ขนาดครั้งละหนึ่งช้อนชาครึ่งถึงสามช้อนชา ชงกับน้ำอุ่น เอาน้ำดื่ม เพื่อรักษาอาการท้องอืด แน่น เฟ้อ
กระเทียม
กระเทียม
กระเทียม

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ หอมเทียม (เหนือ) เทียม หัวเทียม (ใต้) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอัลลิอุม ซาติอุม ลินเนียส (Allium Sativum Linnaeus)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. นำใบมีดสะอาดขูดผิวหนังส่วนที่เป็นเกลื้อน และฝานหัวกระเทียมทาถูลงไป ทำอย่างนี้เช้า-เย็น ติดต่อกันประมาณ ๑๐ วัน

๒. ฝานหัวกระเทียมทาบริเวณที่เป็นกลาก เช่นเดียวกับข้อ ๑

๓. ปอกหัวกระเทียมเอาเฉพาะเนื้อใน ๕ กลีบ หั่นซอยให้ละเอียด กินหลังอาหารทุกมื้อ สำหรับรักษาอาการจุกเสียด แน่น อืดเฟ้อ
กะเพราแดง
กะเพราแดง
กะเพรา

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่) กะเพราขาว กะเพราะแดง (กลาง) ห่อกวอซู ห่อตุปลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อิ่มคิมหลำ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โอซิมุม ซังก์ตุม ลินเนียส (Ocimum sanctum Linnae us)

สรรพคุณและวิธีใช้

ใช้ใบและยอด ๑ กำมือ (น้ำหนักสดประมาณ ๒๕ กรัม แห้งประมาณ ๔ กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม สำหรับรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง เหมาะสำหรับเด็ก หรือใช้ใบสด ๓ ใบ ผสมเกลือพอสมควร บดให้ละเอียด ละลายในน้ำสุก หรือน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กอ่อนที่คลอดได้ราวๆ ๒-๓ วันกินเป็นยาขับลม
ดอกกานพลู
ดอกกานพลู
กานพลู

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ จันจี่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ยูจีเนีย คาริโอฟิลลุส (สเปรงเกล) บุลล็อค และแฮอร์ริสัน (Eugenia caryophyllus (sprengel)Bullock et Harrison)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. ใช้ดอกแห้ง (เป็นส่วนของผลแต่เรียก ทั่วไปว่าดอก) ๕-๘ ดอก (๐.๑๒-๐.๖ กรัม) ต้มหรือบดเป็นผงกินรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง

๒. ใช้ดอกแห้ง ๓ ดอก ทุบแล้วแช่ในน้ำ เดือด ๑ ขวดเหล้า ใช้น้ำนี้ชงนมให้เด็กกิน จะช่วยป้องกัน และรักษาอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ

๓. ใช้ดอกแห้งตำพอแหลกผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อยเพียงให้แฉะ แล้วใช้สำลีจิ้มอุดฟัน ที่ปวด จะบรรเทาอาการปวดฟัน
กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า มูซา (เอบีบีกรุ๊พ) "น้ำว้า" (Musa (ABB group)"Nam Wa")

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. หั่นผลกล้วยดิบเป็นชิ้นบางๆ ผึ่งแดดให้แห้ง และบดให้ละเอียด จนเป็นแป้ง ใส่ขวดโหลไว้ เวลาปวดท้องเนื่องจากโรคกระเพาะอาหาร เอาผงกล้วยน้ำว้า ๑-๒ ช้อนโต๊ะ ใส่ลงไปในถ้วย และเติมน้ำผึ้งแท้ ๑ ช้อนโต๊ะผสมและคนให้ทั่ว กินวันละ ๔ ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน

๒. ใช้เนื้อกล้วยห่ามกินสด หรือใช้ผงกล้วยน้ำว้าดิบ กินรักษาอาการท้องเดิน
เหง้าขิง
เหง้าขิง
ขิง

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ขิงแกลง ขิงแดง (จันทบุรี) ขิงเผือก (เชียงใหม่) สะเอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิงจอเบอร์ออฟฟิซินาเล รอสโค (Zingiber officinale Roscoe)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. ใช้เหง้าสดขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม รักษาอาการท้องอืด จุกเสียด ปวดท้อง และคลื่นไส้อาเจียน

๒. ฝนเหง้ากับน้ำมะนาว ผสมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอ หรือจิบบ่อย ๆ ระงับอาการไอและขับเสมหะ
เหง้าขมิ้น
เหง้าขมิ้น
ขมิ้น

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ขมิ้นแกง ขมิ้น หยอก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขมิ้นชัน (กลาง) ขี้มิ้น (ใต้) ตายอ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร) สะยอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์วา เคอร์คูมา ลองกา ลินเนียส (Curcuma longa Linnaeus)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. นำผงเหง้าขมิ้นผสมกับน้ำฝน คนให้เข้ากัน ใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนเช้าและเย็น

๒. เมื่อถูกยุงกัด จะรู้สึกคัน และมีตุ่มขึ้นบริเวณที่ถูกยุงกัด ให้นำเหง้าขมิ้นมาขูดเอาเนื้อขมิ้นทาบริเวณที่ถูกกัด จะทำให้หายคัน และตุ่มจะยุบหายไป

๓. เอาผงเหง้าขมิ้นมาละลายน้ำ ใช้ทาบริเวณที่ถูกยุงกัดบ่อยๆ

๔. ผสมผงเหง้าขมิ้นกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอน กินครั้งละ ๓ - ๕ เม็ด วันละ ๔ ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน เพื่อรักษาอาการท้องอืด เฟ้อ อาหารไม่ย่อย และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

๕. นำเหง้าขมิ้นขนาดพอสมควรมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ เจือน้ำสุกเท่าตัว กินครั้งละประมาณ ๒ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓-๔ ครั้ง อาจเติมเกลือเล็กน้อย เพื่อให้กินได้ง่ายขึ้น ใช้รักษาอาการท้องร่วง

๖. ผสมผงเหง้าขมิ้น ๑ ช้อนโต๊ะกับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันหมู ๒ - ๓ ช้อนโต๊ะ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ และคนไปเรื่อยๆ จนน้ำมันกลายเป็นสีเหลือง ใช้น้ำมันที่ได้ใส่แผล หรือจะใช้ขมิ้น ที่ล้างให้สะอาดแล้ว มาตำจนละเอียด คั้นเอาน้ำ ใส่แผลสดก็ได้
ดอกข่า
ดอกข่า
ข่า

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ กฏกกโรหินี (กลาง) ข่าหยวก ข่าหลวง (เหนือ) เสะเออเคย สะเอเชย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ลังกูลัส กาลังกา (ลินเนียส) สตุนซ์ (Languas galanga (Linnaeus) Stuntz)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. ใช้เหง้าขนาดเท่าหัวแม่มือ (ถ้าเป็นเหง้าสดจะหนักประมาณ ๕ กรัม ถ้าแห้งหนักประมาณ ๒ กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง

๒. เอาเหง้าข่าแก่ๆ มาล้างให้สะอาด ฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่ในเหล้าโรง ทิ้งค้างคืนไว้ ๑ คืน ทำความสะอาดขัดถูผิวหนัง บริเวณที่เป็นกลากหรือเกลื้อนจนแดง และแสบเล็กน้อย แล้วเอาข่าที่แช่ไว้มาทาบริเวณนั้น จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ให้ทาเช้าและเย็น หลังอาบน้ำทุกวันติดกันประมาณ ๒ สัปดาห์ กลากเกลื้อนจะจางหายไป เมื่อหายแล้วควรทาต่อไปอีก ๑ สัปดาห์ และต้มเสื้อผ้าทุกชิ้น เพื่อให้หายขาด
ขี้เหล็ก
ขี้เหล็ก
ขี้เหล็ก

ชื่อพื้นบ้าน ได้แก่ ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี) ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง,สุราษฎร์ธานี) ขี้เหล็กหลวง (เหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (กลาง) ผักจี้ลี้ (ชาน-แม่ฮ่องสอน) แมะขี้เหละพะโดะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (มาเลย์-ปัตตานี) มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า คัสเซีย ไซแอเมีย ลามาร์ค (Cassia siamea Lamarck)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. ใช้ใบขี้เหล็ก ๔-๕ กำมือ ต้มเอาแต่น้ำ ดื่มก่อนอาหาร รักษาอาการท้องผูก

๒. ใช้ใบแห้งหนัก ๓๐ กรัม หรือใบสด หนัก ๕๐ กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน รักษาอาการนอนไม่หลับ
ชุมเห็ดเทศ
ชุมเห็ดเทศ
ชุมเห็ดเทศ

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ขี้คาก ลับมืนหลวง หมากกะลิงเทศ (เหนือ) ชุมเห็ดใหญ่ (กลาง) ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คัสเซีย อะลาตา ลินเนียส (Cassia alata Linnaeus)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. ใช้ช่อดอก ๒-๓ ช่อ ต้มกินกับน้ำพริก เพื่อระบายท้อง

๒. ใช้ใบเพสลาดสด ๘-๑๒ ใบ ผึ่งแดดจนแห้ง แล้วป่นให้เป็นผง ชงกับน้ำเดือด รินน้ำดื่ม เพื่อระบายท้อง

๓. นำใบเพสลาดสดมาตำให้ละเอียด ใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากหรือเป็นสังคัง
ชุมเห็ดไทย
ชุมเห็ดไทย
ชุมเห็ดไทย

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก (กลาง) กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) พรมดาน (สุโขทัย) ลับมืนน้อย (เหนือ) หญ้าลึกลืน (ปราจีนบุรี) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คัสเซย ทอรา ลินเนียส (Cassia tora Linnaeus)

สรรพคุณและวิธีใช้

ใช้เมล็ดแห้งที่คั่วแล้ว ๒ - ๒ ๑/๒ ช้อนโต๊ะ ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม แก้อาการท้องผูก
ผลดีปลี
ผลดีปลี
ดีปลี

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ดีปลีเชือก (ใต้) ประดงข้อ ปานนุ (กลาง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ปีเปอร์ เรโตรฟรักตุม วาห์ล (Piperretrofractum Vahi)

สรรพคุณและวิธีใช้

ใช้ผลแก่แห้ง ๑ กำมือ หรือประมาณ ๑๐-๑๕ ดอก ต้มเอาน้ำดื่ม แก้อาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ตะไคร้
ตะไคร้
ตะไคร้

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ คาหอม (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ไคร (ใต้) จะไคร (เหนือ) หัวสิงไค (เขมร-ปราจีนบุรี) เซิดเกรย เหลอะเกรย (เขมร-สุรินทร์) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิมโบโพกอน ซิตราตุส (เดอ แคนโดล) สตัปฟ์ (Cymbopogon citratus (De Candolle)Stapf)

สรรพคุณและวิธีใช้

นำตะไคร้ทั้งต้นและ รากมา ๕ ต้น สับให้เป็นท่อน ต้มกับน้ำ ๓ ส่วน และเกลือเล็กน้อย ต้มให้เหลือ ๑ ส่วน กินครั้ง ละ ๑ ถ้วยชา วันละ ๔ ครั้ง ก่อนอาหารและก่อน นอน ติดต่อกัน ๓ วัน สำหรับรักษาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียดในท้อง
น้อยหน่า
น้อยหน่า
น้อยหน่า

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ เตียบ (เขมร) น้อยแน่ (ใต้) มะนอแน่ มะแน่ (เหนือ) มะออจ้า มะโอจ่า (เงี้ยว-เหนือ) ลาหนัง (ปัตตานี) หน่อ เกล๊าะแซ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) หมักเขียบ (ตะวัน- ออกเฉียงเหนือ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อันโนนา สควอโมซา ลินเนียส (Annona squamosa Lin- naeus)

สรรพคุณและวิธีใช้


นำใบน้อยหน่า ๗-๘ ใบ หรือเมล็ดมาโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำ ทาบนศีรษะ ทิ้งไว้นาน ๑ ชั่วโมง แล้วล้างออก และสระผม สำหรับฆ่าเหา และทำให้ไข่ฝ่อ ควรระวังไม่ให้เข้าตา
บอระเพ็ด
บอระเพ็ด
บอระเพ็ด

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ เครือเขาฮอ จุ่งจิง (เหนือ) เจตมูลหนาม (หนองคาย) ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วน (สระบุรี) หางหนู (อุบลราช- ธานี สระบุรี) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ติโนสปอรา คริสปา (ลินเนียส) มิแอร์ส เอกซ์ ฮูเกอร์ เอฟ และทอมสัน (Tinospora crispa (Linnaeus) Miers ex Hooker f. et Thomson)

สรรพคุณและวิธีใช้


ใช้เถาหรือต้นสด ๒ คืบครึ่ง ตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำ โดยใช้น้ำ ๓ ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ ๑ ส่วน ดื่มก่อนอาหาร วันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น แก้อาการเบื่ออาหาร
บัวบก
บัวบก
บัวบก

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ผักแว่น (ใต้) ผักหนอก (เหนือ) ปะหนะเอขาเด๊าะ (กะเหรี่ยง- แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เซนเตลลา เอเชียติกา (ลินเนียส) เออร์แบน (Centella asiatica (Linnaeus) Urban)

สรรพคุณและวิธีใช้

นำต้นและใบบัวบก มาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล จะทำให้แผลหายสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน
ตำลึง
ตำลึง
ตำลึง

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ผักแคบ (เหนือ) แคเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอกซิเนีย แกรนดิส (ลินเนียส) วอยจต์ (Coccinia grandis (Linnaeus)Voigt)

สรรพคุณและวิธีใช้

ใช้ใบสดตำคั้นเอาน้ำ ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
ผักบุ้งทะเล
ผักบุ้งทะเล
ผักบุ้งทะเล

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ละบูเลาห์ (มลายู-นราธิวาส) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อิโปโมเอีย เปสคาปรี (ลินเนียส) สวีต (Ipomoea pescaprae (Linnaeus) Sweet)

สรรพคุณและวิธีใช้


ใช้ใบสดโขลกพอก บริเวณที่ถูกพิษแมงกะพรุนไฟ
ฝรั่ง
ฝรั่ง
ฝรั่ง

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ จุ่มโป่ (สุราษฎร์ธานี) ชมพู่ (ปัตตานี) มะก้วย (เชียงใหม่) มะก้วยกา มะมั่น (เหนือ) มะกา (แม่ฮ่องสอน) มะจีน (ตาก) ยะมูบเตบันยา (มลายู-นราธิวาส) ยะริง (ละว้า-เชียงใหม่) ยามู ย่ามู (ใต้) สีดา (นครพนม) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิดิอุม กัวจะวา ลินเนียส (Psidium guajava Linnaeus)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. นำผลฝรั่งอ่อนๆ มาฝานเอาแต่เปลือกกับเนื้อทิ้งไป ใส่เกลือเล็กน้อยให้พอกร่อยๆ แล้วกินรวมกัน หรือจะใช้ต้มน้ำดื่มก็ได้ สำหรับแก้ท้องร่วง

๒. ถ้าไม่มีผลให้ใช้ใบ ประมาณ ๑๐ ถึง ๑๕ ใบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วโขลกให้พอแหลก ใส่ลงในน้ำ ๑ แก้ว นำไปต้มให้เดือด ใส่เกลือ ให้พอมีรสกร่อย นำน้ำนั้นมาดื่ม ใช้แก้ท้องร่วง
ดอกพญายอ
ดอกพญายอ
พญายอ

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ พญาปล้องดำ (กลาง) ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่) พญา ปล้องคำ (ลำปาง) พญาปล้องทอง (ทั่วไป) โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เสลดพังพอน ตัวเมีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไคลนาคันทุส นูตันส์ (เบอร์แมน เอฟ) ลินเดา (Clinacanthus nutans (Burman f.) Lindau)

สรรพคุณและวิธีใช้


๑. นำใบเพสลาดมาตำให้ละเอียด ผสมกับ สุรา ใช้พอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก

๒. นำใบเพสลาดมาขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลง สัตว์กัดต่อย เพื่อลดอาการอักเสบ
เหง้าไพล
เหง้าไพล
ไพล

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ปูลอย ปูเลย (เหนือ) ว่านไฟ (กลาง) มิ้นสะล่าง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิงจิเบอร์ คัสซูมูนาร์ ร็อกซ์เบิร์ก (Zingiber cassumunar Roxburgh)

สรรพคุณและวิธีใช้


ใช้เหง้าไพลสดหนัก ๖๐ กรัม เกลือเม็ด ๗ เม็ด การบูรหนัก ๑๕ กรัม นำมาผสมกัน แล้วตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรง ๓-๔ ช้อนโต๊ะ คลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ เสร็จแล้วนำมาผิงบนฝาละมี หรือกะละมัง ตั้งบนไฟให้ร้อน ประคบบริเวณที่ปวดเมื่อย ๓-๔ ครั้ง จะช่วยให้หายเคล็ดขัดยอก หรือนำเหง้าไพลสดมาฝนทาบริเวณฟกช้ำบวม หรือเคล็ดขัดยอกก็ได้
ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ฟ้าทะลาย ยากันงู (หาดใหญ่) คีปังฮี (จีน) น้ำลายพังพอน (กลาง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อันโดรกราฟิส พานิคูลาตา (เบอร์แมน เอฟ) นีส (Andrographis paniculata (Burman f.) Nees)

สรรพคุณและวิธีใช้


นำใบมาผึ่งให้แห้งในร่ม บดเป็นผงละเอียด นำมาผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาเม็ดลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ผึ่งลมให้แห้ง กินครั้งละ ๓-๖ เม็ด วันละ ๔ ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน สำหรับรักษาอาการเจ็บคอ
ดอกมะขามแขก
ดอกมะขามแขก
มะขามแขก

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คัสเซีย อังกุสติโฟเลีย วาห์ล (Cassia angustifolia Vahl)

สรรพคุณและวิธีใช้

๑. ใช้ใบแห้ง ๑ - ๒ ๑/๒ กำมือ ต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาระบาย

๒. ใช้ฝักอ่อนแห้ง ๔-๕ ฝัก หั่นให้เป็นฝอย ต้มกับน้ำ ๑-๒ ถ้วยชา ให้เดือดประมาณ ๑๕ นาที รินเอาแต่ส่วนใสมาดื่มเป็นยาระบาย (การเก็บมะขามแขก ควรเลือกเก็บฝักที่ขนาดโตเต็มที่ แต่เมล็ดยังอ่อนอยู่ ซึ่งเมื่อใช้มือลูบจะรู้สึกว่า เมล็ดยังไม่เป็นไต)
มะนาว
มะนาว
มะนาว

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ โกรยชะม้า (เขมร-สุรินทร์) ปะนอเกล มะนอเกละ มะเน้าด์เล (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ปะโหน่งกลยาน (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ส้มมะนาว (ทั่วไป) ลีมานีปีห์ (คาบสมุทรมาเลย์ใต้) หมากฟ้า (ชาน-แม่ฮ่องสอน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิตรุส ออรันติโฟเลีย (คริสต์แมนน์) สวิง (Citrus aurantifolia (Christmann) Swing)

สรรพคุณและวิธีใช้


ใช้ผลสดคั้นเอาน้ำมา ผสมกับเกลือเล็กน้อย ชงกับน้ำร้อนดื่ม รักษา อาการไอ และขับเสมหะ
มะแว้งเครือ
มะแว้งเครือ
มะแว้งเครือ

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ แขว้งเคีย (ตาก) มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า โซลานุม ไตรโลบาตุม ลินเนียส (Solanum trilobatum Linnaeus)

สรรพคุณและวิธีใช้

ใช้ผลสด ๕-๑๐ ผล โขลกให้พอแหลก คั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย ใช้จิบบ่อยๆ หรือจะใช้ผลสด เคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อก็ได้ สำหรับระงับอาการไอและขับเสมหะ
มะแว้งต้น
มะแว้งต้น
มะแว้งต้น

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ มะแคว้ง มะแคว้งขม มะแคว้งคม มะแคว้งดำ (เหนือ) มะแว้ง (กลาง) แว้งคม (สุราษฎร์ธานี สงขลา) สะกั้งแค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หมากแฮ้งดง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) มะเขือป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า โซลานุม อินดิกุม ลินเนียส (Solanum indicum Linnaeus)

สรรพคุณและวิธีใช้

เช่นเดียวกับสรรพคุณ และวิธีใช้ของมะแว้งเครือ
แมงลัก
แมงลัก
แมงลัก

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ ก้อมก้อขาว (เหนือ) มังลัก (กลาง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โอซิ มุม บาซิลิกุม ลินเนียส เอฟ ซิตราตุม แบค (Ocimum basilicum Linnaeus F.citratum Back)

สรรพคุณและวิธีใช้

นำเมล็ดมาแช่น้ำให้ พองตัวเต็มที่จนเป็นวุ้น กินแก้ท้องผูก
เสลดพังพอน
เสลดพังพอน
เสลดพังพอน

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ พิมเสนต้น (กลาง) เซ็กแซเกี่ยม ฮวยเฮี๊ยะ แกโต่วเกียง (จีน) ชองระอา (ตราด) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า บาร์เลอเรีย ลูปูลินา ลินด์ลีย์ (Barleria lupulinaLindley)

สรรพคุณและวิธีใช้

นำใบมาโขลก เติมน้ำเล็กน้อยพอแฉะ ทาบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย เพื่อลดการอักเสบ
ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้
ว่างหางจระเข้

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ หางตะเข้ (กลาง) ว่านไฟไหม้ (เหนือ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะโลเอ บาร์บาเดนซิส มิลลส์ (Aloe barbadensis Mills)

สรรพคุณและวิธีใช้


นำใบมาล้างให้สะอาด โดยเฉพาะตรงรอยตัด ต้องล้างยางออกให้หมด ปอกเปลือกทางด้านโค้งออก โดยระวังไม่ให้มือถูกชิ้นวุ้น ใช้มีดสับวุ้น และขูดวุ้นออกใส่ถ้วยที่สะอาดไว้ นำน้ำเมือกที่ได้จากวุ้นไปใช้ทารักษาแผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฝี และแก้พิษแมลงสัตว์ กัดต่อย

ใช้วุ้นแปะแผลในปาก หรือแผลที่ริมฝีปากบ่อยๆ แผลจะหายเร็วขึ้น
หญ้าหนวดแมว
หญ้าหนวดแมว
หญ้าหนวดแมว

ชื่อพื้นเมือง ได้แก่ บางรัก ป่า (ประจวบคีรีขันธ์) อีตู่ดง (เพชรบูรณ์) พยับเมฆ (กรุงเทพฯ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ออร์โทไซฟอน อาริสตาตุส (บลองก์) มิเกล (Orthosiphon aristatus (Blanc) Miquel)

สรรพคุณและวิธีใช้


ใช้ทั้งต้นและใบ ๑ กอบ มือ (ถ้าเป็นใบสดหนักประมาณ ๙๐-๑๒๐ กรัม ใบแห้งหนักประมาณ ๔๐-๕๐ กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยชา (๓๐ มิลลิลิตร) วันละ ๓ ครั้งก่อนอาหาร เพื่อขับปัสสาวะ
คำสำคัญ (Tags): #นานานานา
หมายเลขบันทึก: 596489เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท