การผลิตอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา


อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เป็นแหล่งปลูกผักปลอดสารพิษที่ขึ้นชื่อโดยมีแหล่งปลูกสำคัญ คือบ้านสว่าง-ซำโอง บ้านหม้อ บ้านโนน ภายใต้แบรนด์ “ซำสูง” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลที่มีส่วนช่วยในการผลิต การบริหารจัดการ ตลอดจนการกระจายสินค้าที่ปลอดภัยส่งถึงมือผู้บริโภค ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษเกิดความมั่นใจในระบบการตลาด จึงผลิตผักที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตามที่กำหนด แต่ปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกผักประสบอยู่เป็นประจำคือ การระบาดทำลายของศัตรูพืช โดยที่ผ่านมาเกษตรกรจะใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ระบาด ซึ่งก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง กระทบต่อสภาพแวดล้อมต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค และยังประสบปัญหาการกีดกันสินค้าจากผู้ซื้อและผู้บริโภค ทำให้ผลผลิตเสียหาย ขายไม่ได้ราคา นอกจากนี้ต้นทุนการใช้สารเคมีก็นับวันที่จะสูงขึ้น ในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกผักจึงหันมาใช้วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชผักด้วยวิธีผสมผสาน การใช้น้ำหมักชีวภาพ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้สารไล่แมลง ทำให้ได้ผลผลิตผักที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อม ผู้บริโภค และที่สำคัญคือต่อตัวเกษตรกรเอง

โรงเรียนซำสูงพิทยาคม เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของนักเรียน ฝึกกระบวนการเรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัยโดยเริ่มจากการเตรียมสถานที่ การเตรียมดิน การปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี จึงได้จัดทำโครงการเครือข่ายการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนมีทักษะทางวิชาชีพเกษตรกรรม และผสมผสานเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักเรียนที่เป็นเยาวชน ได้รับการฝึกอบรมการผลิตอาหารปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แล้ว จะต้องนำความรู้และประสบการณ์จากการเรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ อันจะเป็นพื้นฐานรองรับประชากรในวัยแรงงาน และรองรับการเป็นฐานการผลิตอาหารปลอดภัยเมื่อไทยเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนในอีกสองปีข้างหน้า โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และทักษะวิชาชีพการผลิตอาหารปลอดภัย ตามมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นอกจากนี้ยังจะสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและครอบครัวต่อไป

๒. วัตถุประสงค์

๒.๑ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนร่วมกันผลิตผักปลอดสารพิษในโรงเรียน มีมาตรฐานความปลอดภัยในสินค้าเกษตรและอาหารให้กระจายไปยังผู้บริโภค

๒.๒ เพื่อให้เยาวชนและบุคลากรในโรงเรียนร่วมกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารแก่ผู้บริโภคโดยการจัดตั้งอาสาสมัคร Q ในโรงเรียน

๒.๓ เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้การผลิตอาหารให้ปลอดภัยในชุมชนด้วยการจัดกลุ่มเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

ผลสำเร็จในการดำเนินงาน

๑. นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต

๒. นักเรียนได้ฝึกการปฏิบัติหลากหลายกิจกรรมในการเข้าร่วมโครงการ

๓. เป็นทักษะอาชีพที่ติดตัวนักเรียนไปตลอดสอดรับกับนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต

๔. สร้างความตระหนักให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนชุมชน ผู้ปกครองได้รับรู้ เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการผลิตอาหารปลอดภัย และสามารถนำไปต่อยอดยังชุมชนของตนเองได้ เช่น ชาวบ้านอ้อคำที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๒๐ คน สามารถขยายเครือข่ายผู้ผลิตเพิ่มขึ้นถึง ๘๕ ราย (ข้อมูลเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘)

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ โรงเรียนซำสูงพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัลสถานศึกษาที่ผลิตอาหารปลอดภัยดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘ ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) นับเป็นก้าวสำคัญของเราที่จะต้องใส่ใจและพัฒนาตัวเองในการเส่งเสริม สนับสนุนให้เยาวชนของชาติได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารให้ปลอดภัยอยู่เสมอ


หมายเลขบันทึก: 596347เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2015 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2015 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท