​จุดหมายที่ปลายฝัน “การก้าวเดินของกลุ่มฮักนะเชียงยืนและผองเพื่อน”


“การก้าวเดินของกลุ่มฮักนะเชียงยืนและผองเพื่อน”

เกริ่นนำ

............... “ฮักนะเชียงยืน” เป็นกลุ่มเยาวชนที่ตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณ ๓ ปีที่แล้ว โดยเด็กนักเรียนที่มีความสนใจการทำงานเพื่อชุมชนและทำกิจกรรมในขณะนั้น ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิกองทุนไทยและมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำโครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดิน การทำงานมีจุดมุ่งหมาย คือ การให้ชุมชนหมู่บ้านแบก ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ได้ลดใช้สารเคมีในการทำเกษตรและหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางระบบเกษตรแบบพันธะสัญญาในระบบทุนนิยมที่มีโครงสร้างหยั่งลงทั่วรากหญ้า การเดินทางทำงานกับชุมชนและกับตัวเด็กๆในปีแรกจึงเป็นการสวนกระแส รายได้ เวลา และความเป็นอยู่ของชุมชนในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อได้ทำงานร่วมกับผู้ปกครอง กับเพื่อนๆพี่ๆ และน้องๆไปเรื่อยๆ ชุมชนก็เริ่มเกิดการยอมรับและวางใจเราในฐานะของลูกหลานมากยิ่งขึ้น การทำงานในปีที่ ๒ และ ๓ จึงง่ายขึ้นต่อการเข้าถึงของพี่ๆ ในบทบาทของคนนอกชุมชน แต่มีความหวังว่าอยากช่วยเหลือ พัฒนางานร่วมกันไปด้วยอุดมคติเดียวกัน คือ การให้ชุมชนลดการใช้สารเคมีลงและหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น
...............กระผมเป็นเพียงพี่เลี้ยงคนหนึ่ง จากสิบคน ที่คอยเฝ้าสร้างแรงเสริม ทางการทำงานเพื่อบ้านของตนเองให้กับกลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืน เด็กๆเรียกผมว่า “พี่แสน” และมีพี่เลี้ยงคนอื่นๆอีกหลายๆคนที่คอยช่วยกัน เช่น แซม เอ็ม ก๊อต ส้ม มิ้น และมีครูเพ็ญศรี ใจกล้าเป็นที่ปรึกษา เรื่องเล่าต่อจากนี้ ขอเล่าในมุมมองของพี่เลี้ยงตั้งแต่ ก้าวแรกของฮักนะเชียงยืนสู่ทางฝันที่ต้องเดินต่อ ทั้งกลุ่มเยาวชนและภาคเครือข่าย “ในปลายฝัน”

เส้นทางปีที่ ๑
...............วันหนึ่งมีโปสเตอร์มาประชาสัมพันธ์ถึงโครงการปลูกใจรักษ์โลกที่โรงเรียน ด้วยความอยากรู้อยากทำ ผมและเพื่อนจึงได้รวมกลุ่มกัน ตั้งชื่อกลุ่มว่า “ฮักนะเชียงยืน” โดยมี แซม แสน เอ็ม ก๊อต เนส ส้ม อี๊ฟ เนย เปรี้ยวและมิ้น และมีครูเพ็ญศรี ใจกล้า เป็นที่ปรึกษา เพื่อที่จะได้ทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทำกิจกรรมไปด้วยกันระหว่างเรียน เลือกประเด็นการบำบัดน้ำในพื้นที่ใกล้บ้าน “เราคิดว่าเราเข้าใจประเด็นเราดีแล้ว” แต่หารู้ไม่ว่า เมื่อได้เข้ามาอบรมพัฒนาโครงการของทางมูลนิธิกองทุนไทยจัดขึ้นวันที่ 28-30 เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ทำให้รู้สึกว่าเรายังไม่ชัดเจนในประเด็นของเราเลย เพราะพื้นที่เราทำนั้นเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลไม่ใช่พื้นที่ชุมชนหากทำลงไปแล้วปลายทางก็อาจไม่คุ้มค่าต่อกระบวนการและระยะเวลาที่ดำเนินงานไป
ก้าวแรกที่เริ่มต้นจากความไม่เข้าใจนำไปสู่ความเข้าใจในประเด็นของโครงการ และวิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเด็นให้เข้าใจร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

...............จากนั้นไม่นานเราก็เริ่มที่จะเข้าใจแล้วว่าการทำงานเพื่อชุมชนนั้นเป็นอย่างไร เราเริ่มจะหาประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆที่ควรเร่งสร้างเสริม และแล้ว เราได้ประเด็น การใช้สารเคมีในการทำเกษตรภายใต้ระบบเกษตรแบบพันธะสัญญาของหมู่บ้านแบก ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม จึงออกสอบถามและสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชน ทำให้เราเข้าใจข้อมูลเบื้องต้นของบริบทปัญหา เช่น ปลูกอะไร ปลูกอย่างไร ใช้สารเคมีอย่างไร สารเคมีเข้ามาตอนไหน ฯ พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

...............จากการสอบถามข้อมูลในระดับเบื้องต้น เราก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ร่วมกัน ผ่านเครื่องมือการคิดที่ทางมูลนิธิกองทุนไทยได้ถ่ายทอดให้ ครั้งนี้ได้วางเป้าหมาย วางวัตถุประสงค์ ออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของเราเองและขีดข้อจำกัดของกลุ่มเรา ซึ่ง ในปีแรกนี้ มีกระบวนการทำงาน คือ การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ สารเคมี ผลตรวจเลือดของคนในชุมชนและผลการตรวจดินในแปลงเกษตร ซึ่งจะนำผลเหล่านี้ไปสร้างความเข้าใจในกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนจัดเป็นค่ายเพื่อนบอกเพื่อนขึ้น และกลุ่มน้องๆชั้นประถมโรงเรียนแบกสมบูรณ์วิทย์จัดเป็นค่ายรักบ้านเกิดขึ้น โดยมีความมุ่งหวังว่าทั้ง ๒ กลุ่มนี้จะบอกต่อพ่อกับแม่ต่อไป และจัดค่ายสรุปผล คือ ค่ายปลูกรักบ้านเกิดขึ้นเพื่อคนข้อมูลสู่ชุมชน

...............การศึกษาเรียนรู้ในครั้งแรก เราไปเรียนรู้เรื่องสารเคมี ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วันที่ 14 กันยายน 2555 การเข้าศึกษาในครั้งเเรกเป็นการศึกษาในเรื่องของดินและสมบัติทางกายภาพของดิน และครั้งต่อมาเราไปเรียนรู้เรื่องสารเคมีในการทำเกษตรแบบต่างๆ และศึกษาผลตรวจเลือดจากกลุ่มวิจัยชาวบ้านตลอดจนศึกษาผลการตรวจดินจากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๕ ตามแผนงานที่ได้เขียนไว้ ทำให้เราทราบข้อมูลด้านสารเคมีทางการเกษตร ผลตรววจเลือดและผลการตรวจดิน เพื่อนำไปทำความเข้าใจกับเพื่อนๆ น้องๆ และผู้ปกครองในชุมชน

...............เมื่อศึกษาแล้วจึงจัดค่ายเพื่อนบอกเพื่อนขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 เป็นค่ายที่จัดขึ้นให้ พี่ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียน มีความมุ่งหวัง คือ ให้เพื่อนๆมีความรู้ มีความเข้าใจ ความตระหนักในพิษภัยของสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากค่ายในครั้ง นั้น คือ เพื่อนๆและน้องๆมีความเข้าใจในด้านผลกระทบของสารเคมีในการเกษตร เข้าใจลักษณะทางกายภาพของชุมชนตนเองกับพื้นที่ปัญหาการใช้สารเคมี ควบคู่ไปด้วยกัน
ไม่นานเมื่อสร้างกลุ่มเพื่อนแล้วก็ค่ายนี้ชื่อว่า ค่ายรักษ์บ้านเกิด" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 เป็นค่ายสร้างความเข้าใจด้านพิษภัยของสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรและสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กๆต่อภูมิปัญญาชุมชน ของน้องๆชั้นประถมศึกษาโรงเรียนแบกสมบูรณ์วิทย์ (โรงเรียนในชุมชน) ผลที่เกิดขึ้น คือ น้องๆได้บอกเล่าถึงปัญหาสารเคมีทางการเกษตรและได้เรียนรู้วิธีการเก็บตัวอย่างดินจากพี่ๆอีกด้วย

...............กิจกรรมปลูกรักษ์บ้านเกิด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 โดยลักษณะในกิจกรรมนี้เป็นเวทีชาวบ้าน ซึ่งมีกิจกรรม ได้แก่ การเดินรณรงค์ การเล่นละคร การเข้าฐานกิจกรรม และเวทีพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งยังเป็นเวทีในการคืนข้อมูลสู่ชุมชนที่เราได้ศึกษามาในเรื่อง ผลตรวจดินในพื้นที่ของชาวบ้าน ผลการตรวจเลือด ข้อมูลผลกระทบของสารเคมี ฯ ผลที่เกิดขึ้น คือ ชาวบ้านเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความสนใจกับกิจกรรมโดยเฉพาะผลการตรวจดิน และหลายท่านสนใจสอบถามเรื่องผลกระทบของสารเคมีในด้านต่างๆอีกด้วย

...............การก้าวเดินของปีแรกนี้ เน้นการศึกษาข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ข้อมูลปัญหาชุมชน และสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อนๆน้องๆในโรงเรียน โดยมีความมุ่งหวังว่าจะเป็นกลไก ในการก้าวเดินไปด้วยกันต่อไป เมื่อหันกลับมามองดูเป้าหมายของเราที่ว่า อยากให้ชุมชนลดการใช้สารเคมีลงเป็นเป้าหมายที่ใหญ่และเกินตัวเรามาก และมีปัญหาหลายๆอย่าง เช่น การไม่เคยทำกิจกรรมด้วยตนเองและยังขาดทักษะในด้านนี้อีกมากเครือข่ายที่เราสร้างขึ้นยังเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันน้อยมาก และชาวบ้านมีส่วนร่วมน้อยมาก ซึ่งจุดๆนี้จึงนำมาพัฒนางาน
ต่อในปีที่ ๒

เส้นทางปีที่ ๒

...............จากจุดด้อยที่ต้องพัฒนาต่อไปในปี ๑ นำมาสู่การเสริมและพัฒนาในปีที่ ๒ เช่น การปรับลดเป้าหมายลงให้เหลือเพียงกลุ่มผู้ปกครอง และคอยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น ซึ่งวิธีการดำเนินงาน คือ การศึกษาข้อมูลเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นทางเลือกด้านการเสริมสุขภาพให้ชุมชน การเวทีเสวนาพูดคุยกับชุมชน และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมทางเลือกในกับชุมชน คือ กิจกรรม Amazing Ban Bag
...............จากที่ได้วางวิธีการดำเนินงานร่วมกันไว้ สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ การรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ จึงไปศึกษา ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนเเก่น ในวันที่ 16 มกราคม 2557 การศึกษาหลักการปลูกพืชแบบอินทรีย์และวิธีการควบคุมดูแล รักษาพืชแบบอินทรีย์ร่วมไปด้วย และนอกจากนี้ยังไปศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ บ้านไร่ดงมูล จังหวัดกาฬสินธุ์ เพิ่มเติมในส่วนภาคปฏิบัติ เมื่อศึกษาแล้วเราจึงเปิดเวทีเสวนากับชาวบ้านเพื่อชวนคุยเรื่องปัญหาของชุมชนการจัดการแก้ไขในเวลาต่อมา

...............เวทีเสวนาชาวบ้าน จัดขึ้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557จากการพูดคุยในครั้งนั้น ได้ทราบปัญหาของชุมชน 3 ประเด็นหลักที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาภาระหนี้สิน ปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน และปัญหาการป้องกันตนเองที่ไม่ปลอดภัย เราจึงทราบปัญหาของชุมชนในระดับที่ลึกขึ้นและแต่ละปัญหาเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และชาวบ้านไม่สามารถที่จะลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรแปลงหลักของตนเองได้ จึงนำมาซึ่งการเสริมความปลอดภัยของชาวบ้านแทน และเสริมความรู้ความเข้าใจด้านวิธีการเกษตรทางเลือก เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้ชุมชนนำไปใช้ในการปลูกผักรับทานเองอย่างปลอดภัยและอาจใช้ในแปลงหลักที่ทำพันธะสัญญาร่วมด้วย

...............กิจกรรม Amazing Ban Bag จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 เป็นค่ายที่มุงหวังให้ชาวบ้านปลอดภัยจากสารเคมี โดยมีทางเลือกให้ชาวบ้าน คือ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวิธีการดูแลรักษาพืชแบบอินทรีย์ มีชุดป้องกันสารเคมีเพื่อความปลอดภัยให้ชาวบ้านอีกด้วย ซึ่งผลที่เกิดขึ้น คือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสนใจปุ๋ยหมัก บางคนจดเอาสูตรกลับไปทำที่บ้าน น้องๆหลายคนให้ความสนใจ ซักถามถึงวิธีการทำปุ๋ยสูตรต่างๆ

...............จากการก้าวเดินในปีที่ ๒ นี้ เราได้พยายามเสริมกลไกในการดำเนินงานร่วมกันจากปีแรก คือ เสริมการเป็นเจ้าของงานและการมีส่วนร่วมของกลุ่มน้องๆ เสริมการพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้าน และเสริมทักษะการสื่อสาร/การทำกิจกรรมของกลุ่มฮักนะเชียงยืนเองด้วย ปีนี้ชาวบ้านเริ่มหันเข้ามาสนใจเรามากขึ้น เริ่มให้พื้นที่เราทดลองปลูกผักบางส่วน เนื่องจากเด็กในพื้นที่เป็นเจ้าของกิจกรรมเอง และพี่ๆลงไปชุมชนบ่อยมากขึ้น ทำให้เราเริ่มเห็นกลุ่มผู้ปกครองแกนนำชัดเจนขึ้น เป้าหมายในปีนี้หากใคร่ครวญดูแล้วก็เป็นเป้าหมายที่แม้จะลดระดับลงมาแต่ก็ถือว่าใหญ่มากสำหรับการเปลี่ยนแปลง จึงมาปรับเป้าหมายให้เล็กและพอเพียงกับศักยภาพองเราที่จะสามารถทำได้ในปีถัดมา

เส้นทางของปีที่ ๓

...............เป้าหมายที่ปลายฝันของการก้าวเดินในปีที่ ๑ และ ๒ ในปีที่ ๓ เราจึงปรับมาให้เข้ากับศักยภาพที่เราสามารถทำได้จริง คือ ผู้ปกครองและลูกหลาน ๒๐ ครัวเรือนที่เรียนรู้ร่วมกัน จึงได้ชื่อโครงการ คือ สองวัยหัวใจสีเขียว เราค้นพบว่าการที่เราจะไปสร้างค่านิยมใหม่ว่า ต้องปลูกผักกินเองนั้นไม่คุ้มค่า เพราะภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนทั้งมิติสังคมและความคิดของชาวบ้านมีอยู่แล้ว เพียงเราต้องเสริมในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้นจึงเป็นหลักคิดของปีที่ ๓ ซึ่งได้กำหนดวิธีการดำเนินงาน คือ การศึกษาข้อมูลภูมิปัญญาในชุมชนและจัดตั้งครูภูมิปัญญาชุมชน ในด้าน การเกษตร วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และสังคม

...............เราใช้การออกไปสัมภาษณ์ในการศึกษาเรียนรู้อีกครั้งโดยเด็กๆ ที่แบ่งกลุ่มกันออกไปหลังจากเทคนิคการสัมภาษณ์และการเก็บข้อมูลชุมชนจากมูลนิธิกองทุนไทย ในเวลาประมาณ ๔ สัปดาห์ แล้วจึงจัดค่ายเพื่อให้ผู้ปกครองและลูกหลานมาเรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชนของตนเองร่วมกัน

...............กิจกรรมค่ายสองวัยหัวใจสีเขียว จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์- ๑มีนาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วนั้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าร่วมกันอีกครั้ง โดยเน้นสำคัญ คือ ด้านการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ไม่ใช้สารเคมี ให้ครูภูมิรู้ชุมชนสอนลูกหลานและเสริมความเข้าใจผู้ปกครองอีกครั้ง ผลที่เกิดขึ้น คือ กลุ่มลูกหลานได้เรียนรู้และเข้าใจภูมิปัญญาของตนเองเพิ่มมากขึ้น และ กลุ่มผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานมาสนใจปลูกผักที่สวนตนเองอย่างจริงจัง

...............จาการดำเนินงานในปีที่ ๓ ทำให้เราได้เปิดตลนาดนัดสีเขียวขึ้น ๒ ครั้งได้แก่ ที่โรงเรียนและที่ชุมชน ซึ่งเป็นผลผลิตของกลุ่มเป้าหมายเราเอง โดยการเดินทางตั้งแต่ปีที่ ๑ จนมาถึงในปีที่ ๓ นี้ จากกิจกรรมประเมินผลโครงการ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘ เสียงของชุมชนสะท้อนว่า “สิ่งที่ลุกหลานทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี อยากให้มีการทำต่อไป” ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในปี ๓ นี้ แม้เป้าหมายทั้ง ๒๐ ครอบครัวจะมีเพียง ๑-๓ ครอบครัวที่เด็กสนใจช่วยผู้ปกครองปลุกผักปลอดภัยรับประทานเอง แต่ก็ถือว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม/เปลี่ยนนิสัย ที่สำคัญที่สุดของงานที่ทำมาตลอดระยะเวลา ๓ ปี ผู้ปกครองที่เข้าใจก็มาเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับเราตลอดมา จากก้าวแรกของปีที่ ๑ สู่ปีที่ ๓ กระผมขอเล่าเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงจุดเล็กๆที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล/กลุ่มฮักนะเชียงยืน/เครือข่าย ส่วนชุมชนและส่วนภายนอกที่เข้ามาเห็นความสำคัญ จากการเดินทางมา ๓ ปี ผลที่เกิดขึ้นเป็นดังนี้

. ตนเอง/เพื่อนๆ/น้องๆ

.๑ สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง(การเปลี่ยนแปลงตนเอง)

  • จากเดิมที่เป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออกทางความคิดและมีนิสัยเขินอาย ไม่ค่อยกล้าถามเพื่อการเรียนรู้ เปลี่ยนเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนเองเรียนรู้และชอบการถกประเด็นแสดงความคิดอย่างเสรีและมีวิธีการจัดการกับบทเรียนเหล่านั้นผ่านการเขียนจนเป็นนิสัย
  • จากเป็นคนที่จัดกระบวนการหรือจัดกิจกรรมใดๆไม่เป็นเลย ผ่านกระบวนการค่ายและการลองผิดลองถูกแล้วสรุปบทเรียนให้ตนเองได้เรียนรู้ จึงทำให้เป็นคนที่เข้าใจเรื่องกระบวนการหรือการจัดกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น
  • จากเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจปัญหาสังคมหรือสถานการณ์บ้านเมือง เปลี่ยนมาเป็นคนที่สนใจเรื่องประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราเป็น “พลเมือง”
  • จากเป็นคนที่เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ยาก เปลี่ยนมาเป็นคนที่เริ่มเข้าใจภาวะทางความคิด ทางอารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

. ทักษะพื้นฐาน(ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อนๆและน้องๆ)

  • มีทักษะการเรียนรู้ ได้แก่ การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีทักษะจัดการความรู้ทั้งในมิติของสังคม วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกันและกัน การถอดบทเรียนของตนเองและเพื่อน การสื่อสารบทเรียนนั้นๆออกสู่ภายนอก เป็นต้น
  • มีทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ ได้แก่ การดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมและทุกๆคนมีความเป็นเจ้าของงาน แต่ละคนมีภาวะความเป็นผู้นำตามศักยภาพของแต่ละคน เกิดการยอมรับผู้อื่นและยืดหยุ่นตนเองในการทำงาน
  • มีทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา ได้แก่ การผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์,สังเคราะห์,ประเมิน,วิพากย์ วิจารณ์,คิดใคร่ครวญ/คิดเป็นระบบ/คิดรอบคอบที่เป็นและสมรรถนะในการตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและเชิงปัจเจกในแต่ละกิจกรรม
  • ทักษะชีวิต ได้แก่ การเข้าใจตนเอง เช่น รู้จักความฝัน อุดมคติ ภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง และมีความสามารถในการจัดการชีวิตของตนเองตามวิธีการของแต่ละบุคคล เข้าใจผู้อื่น เช่น รู้เหตุผล รู้อารมณ์ ที่ส่งออกมายังพฤติกรรม และสามารถยืดหยุ่นตนเองให้เข้ากับผู้อื่นหรือสังคมได้ การเข้าใจสังคม เช่น รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คิดแยกแยะความเป็นเหตุเป็นผลของพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในสังคมที่ตนอยู่ โดยรู้เท่าทันกับภาวะต่างๆของสังคมที่ตนอยู่อย่างเข้าใจและไม่หลงไปตามมายาคติของสังคม เป็นต้น

.๓ พฤติกรรม/นิสัย

...............ตลอดระยะเวลา ๑-๓ ปี พี่และน้องที่ผ่านกระบวนการคิดแบบเดียวกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก่อนเข้าโครงการและหลังเข้าโครงการ ที่ชัดเจน ได้แก่

  • ด้านการทำงาน เป็นทักษะที่ติดตัวไป เมื่อมีงานที่ได้รับผิดชอบในลักษณะของกลุ่มจะคอยช่วยตั้งคำถาม/ประเด็น คอยเป็นคนชวนคุย และสรุปประเด็นในการพูดคุย หรือเป็นผู้นำในบทบาทนั้นๆหรือเป็นผู้ตามที่คอยกระตุ้นองค์กรนั้นๆที่ตนอยู่ เป็นต้น
  • ด้านการจัดการปัญหาทั้งปัญหาตนเองและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน โดยส่วนใหญ่จะมีหลักคิดแบบอริยสัจ๔ ติดตัวไป ได้แก่ การรู้ปัญหา หาสาเหตุ แก้ที่เหตุ โดยมองที่ผล เป็นต้น
  • ด้านการปลูกผักปลอดภัยรับประทานเองเอง ได้แก่ เยาวชนในโครงการจำนวน ๓ คนที่สนใจปลูกผักกินเองและครอบครัวพร้อมส่งเสริม

. ชุมชน/โรงเรียน

  • ผู้ปกครองในชุมชน อย่างน้อย 7 คนที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรม คอยสนับสนุนกิจกรรมที่เด็กๆทำ เเละอยากให้ทำกิจกรรมต่อไป
  • หลายครอบครัวมีการปลูกผักปลอดภัยรับประทานเอง เมื่อเหลือจากการรับประทานแล้ว ก็มีตลาดออกขายในชุมชน
  • ผู้ปกครองอย่างน้อย 20 คนให้ความสนใจกับกิจกรรมของเด็กเเละเข้าร่วมกิจกรรม เสมอๆ
  • เกิดกลุ่มเครือข่ายในโรงเรียน ในการขับเคลื่อนกิจกรรมหรือโครงการร่วมกัน
  • ครูในโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคมเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมและการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

. สังคม/องค์กรภายนอก

  • เกิดเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ ได้แก่ เกษตรอำเภอเชียงยืน กลุ่มคนทำเกษตรอินทรีย์ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น
  • เกิดเครือข่ายการทำงานหนุนเสริมศักยภาพ ได้แก่ มูลนิธิกองทุนไทย มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) เป็นต้น



หมายเลขบันทึก: 596253เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท