M สไตล์บ้านๆ
ว่าที่ร้อยตรี นพรัตน์ เอ็ม ไชยชนะ

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านทิพุเย ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี


ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านทิพุเย

ประวัติความเป็นมาของชุมชน

“ทิพุเย” เป็นภาษากะเหรี่ยง หมายถึง ลำห้วยเล็ก ๆ ที่มีต้นเยขึ้นอยู่ หมู่บ้านทิพุเย[*]ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี นายจองเผ่ ไทรสังขคีรี อายุ 66 ปี มัคนายกของชุมชน เล่าว่าหมู่บ้านทิพุเยในปัจจุบันเพิ่งมีการตั้งรกรากถาวรเมื่อประมาณ 54 ปีมานี้เอง โดยเริ่มต้นมีเพียงบ้านของบิดามัคนายกแะญาติรวม 4 หลังคาเรือนเท่านั้น ต่อมาได้มีการย้ายมาอยู่อาศัยและทำกินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันหมู่บ้านทิพุเย มีประชากรตามหลักฐานทะเบียนราษฎร จำนวน 61 หลังคาเรือน 67 ครอบครัว 335 คน ชาย 178 คน หญิง 157 คน

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านและผู้เฒ่าในชุมชนยืนยันว่าบรรพบุรุษของตนนั้นตั้งรกรากอยู่ในป่าแถบตำบลชะแลและป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในปัจจุบันมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคนแล้ว “หลวงปู่” หรือบิดาของมัคนายกซึ่งมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2537 ขณะอายุได้ 94 ปี เคยเล่าให้ฟังว่าเคยได้เลี้ยงดูช้างเผือกที่นำไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสไทรโยค (ขณะนั้นหลวงปู่อายุประมาณ 7 ปี) ซึ่งกำนันตำบลชะแลและปลัดอำเภอทองผาภูมิในขณะนั้นได้เป็นตัวแทนของชาวกะเหรี่ยงตำบลชะแลนำช้างเผือกซึ่งชาวบ้านเลี้ยงไว้ไปถวาย ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตอบแทนชาวบ้าน โดยยกเว้นการเกณฑ์ทหารชายชาวกะเหรี่ยงในตำบลชะแลซึ่งมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือผู้ชายที่เกิดในตำบลชะแลและเป็นคนดั้งเดิมไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารมีหลักฐานเป็นเอกาสรที่อยู่อำเภอทองผาภูมิ

หลักฐานอีกประการหนึ่งที่ยืนยันว่าชุมชนกะเหรี่ยงมีถิ่นฐานอยู่ในแถบตะวันตกของประเทไทยมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ก็คืองานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองกาญจนบุรีหลายครั้ง แต่ละครรั้งทรงพระราชนิพนธ์ในลักษณะการบันทึกการเดินทางไว้ มีหลักฐานเป็นงานพระราชนิพนธ์ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไทรโยคเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2420 การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงเยี่ยมชุมชนกะเหรี่ยงจำนวนมากของเมืองไทรโยคและเมืองใกล้เคียงที่มาเฝ้ารับเสด็จหลายพื้นที่รวมทั้งกะเหรี่ยงจากทองผาภูมิ สำหรับข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรีสมัยนั้นมีปรากฏอยู่ในหลายลักษณะ เช่น การตั้งถิ่นฐาน บทบาทของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในการปกครองท้องถิ่น สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม เป็นต้น (มณฑล คงแถวทอง, 2538, น. 14)

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนและวิถีชีวิตในอดีต

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เป็นกลุ่มเครือญาติประมาณ 4 – 5 ครอบครัว ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมจะยึดมั่นในพุทธ ศาสนานับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติและวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก เช่น ในการเลือกพื้นที่ทำไร่ ปลูกข้าวไร่ ปลูกบ้าน ฯลฯ ล้วนจะต้องมีการทำพิธีบวงสรวง เสี่ยงทาย ขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองอยู่ทั้งสิ้น การดำเนินชีวิตจะเคร่งครัดในหลักศีลธรรม เช่น ห้ามขายเหล้าในหมู่บ้าน ห้ามลักขโมย มีความซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง มีความเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ไม่โลภ ไม่สะสม ยุติธรรม และรักสันโดษ

การสร้างบ้านเรือนของคนกะเหรี่ยงจะปลูกบ้านจากวัสดุธรรมชาติคือไม้ไผ่ทำโครงพื้นและตัวบ้าน ใช้ตอกผูก หลังคาใช้ใบไม้ ใบหวาย หรือหญ้าคา ความเป็นอยู่เรียบง่าย ลักษณะบ้านไม่มั่นคงถาวรเพราะจะไม่อยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานมักโยกย้ายบ่อยเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดี หรือมีโรคระบาดเกิดขึ้นและย้ายที่อยู่ตามแหล่งที่ทำกินคือพื้นที่ทำไร่ข้าว คนกะเหรี่ยงจะไม่ปลูกข้าวไร่ซ้ำในที่เดิมเป็นเวลานาน จะใช้วิธีทำไร่หมุนเวียนเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นความอุดมสมบูรณ์โดยตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

ชุมชนของคนกะเหรี่ยงในแถบตำบลชะแลก็เช่นกันจะตั้งบ้านเรือนอยู่จุดใดจุดหนึ่งเป็นเวลาประมาณ 2 – 5 ปี แล้วย้ายไปอยู่จุดอื่นวนเวียนอยู่ในป่าแถบตำบลชะแลและอาจจะย้ายกลับมาอยู่ ณ จุดเดิมอีกทีก็ได้ จุดที่เคยเป็นหมู่บ้านเก่าของคนกะเหรี่ยงในแถบนี้ เช่น บริเวณที่ตั้งหน่วยอุทยานแห่งชาติโปตาน่า, หน่วยห้วยยาง, ที่ตั้งหน่วย กจ.4 (เดิมเป็นหมู่บ้านตะเหราะเก้), บริเวณหมู่ที่ 7 บ้านชะอี้, บ้านห้วยเสือ บางแห่งปัจจุบันเป็นป่าไม่มีหมู่บ้านแล้วหลักฐานที่แสดงว่าเคยเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง ก็คือต้นไม้ยืนต้นที่ชาวบ้านปลูกไว้ เช่น ขนุน มะพร้าว และคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น หมู่บ้านเหน่งกะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีช้างเผือกแล้วได้นำไปถวายรัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสไทรโยค ปัจจุบันหมู่บ้านเหน่งกะเดิมไม่มีแล้วกลายเป็นป่า ชาวบ้านได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านคลิตี้บน (ทุ่งเสือโทน) ในปัจจุบัน สำหรับบริเวณหมู่บ้านทิพุเยนี้ชาวกะเหรี่ยงได้เคยย้ายวนกลับมาตั้งหมู่บ้านทำมาหากินแล้ว 3 รอบ ก่อนที่นะมีการตั้งเป็นหมู่บ้านถาวรในปัจจุบัน

ข้อมูลทั่วไปของชุมชนทิพุเย

หมู่บ้านทิพุเยตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ภายใต้การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลชะแล มีที่ทำการตั้งอยู่ที่หมู่บ้านทิพุเย แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยเสือ, หมู่ที่ 2 บ้านเกริงกระเวีย, หมู่ที่ 3 บ้านทิพุเย, หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งเสือโทน, หมู่ที่ 5 บ้านภูเตย, หมู่ที่ 6 บ้านทุ่งนางครวญ และ หมู่ที่ 7 บ้านชะอี้

ชุมชนตั้งอยู่บนที่ราบเทือกเขาพระฤๅษีบ่อแร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมซึ่งทางราชการเพิ่งประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมเมื่อปี พ.ศ.2534 โดยได้ประกาศเขตอุทยานฯ ทับพื้นที่หมู่บ้านและที่ทำกินของชาวบ้านทิพุเยทั้งหมด ทั้งที่ชาวบ้านยืนยันว่าชุมชนกะเหรี่ยงในแถบตำบลชะแลมีอายุมากกว่า 100 ปี รวมทั้งชุมชนทิพุเยด้วย ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการกันเขตที่ดินทำกินและหมู่บ้านทิพุเยออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อย่างเป็นทางการ ชาวบ้านจึงยังอยู่ในฐานะของผู้บุกรุกและกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 อยู่ดี

ในช่วงก่อนที่จะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมพื้นที่ของชุมชนทิพุเย ถูกรวมอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวน ในช่วงนั้นชาวบ้านยังพอจะทำไร่หมุนเวียนอยู่ได้บ้างโดยหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ไร่ซากเดิม แต่ไม่สามารถบุกเบิกพื้นที่ป่าใหม่ได้เพราะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุม แต่หลังจากมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯแล้ว มีการเปลี่ยนชุดของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูแลพื้นที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดโดยที่ชาวบ้านไม่มีความเข้าใจมาก่อนก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนจิตใจและเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถฟันไร่ซากถางไร่หรือเผาไร่ซากเพื่อปลูกข้าวไร่ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนกะเหรี่ยงได้ ต้องคอยหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวและไม่เป็นสุข

ในทางปฏิบัติแล้วชุมชนก็ได้รับการยอมรับจากทางราชการในระดับหนึ่งคือได้รับการอนุโลมให้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้ ภายใต้เงื่อนไขของกรมป่าไม้และอาณาเขตที่กรมป่าไม้กำหนดไว้เท่านั้น ต่อมาเพื่อพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมชาวเขาที่หมู่บ้านทิพุเยเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2540 แล้วหมู่บ้านทิพุเยก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะที่เป็นหมู่บ้านเน้นหนักในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการส่งเสริมด้านการพัฒนาจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานทหารพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นหมู่บ้านเน้นหนักในการพัฒนาของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ที่หน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านทิพุเยในพื้นที่ และสืบเนื่องจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบันได้มีการกำหนดแนวเขตพื้นที่ของชุมชนและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทั้งหมดอย่างชัดเจน รวมทั้งการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินในอนาคตด้วย ซึ่งทำให้ชุมชนมีความรู้สึกมั่นคงในชีวิตและที่ดินทำกินมากขึ้น

สภาพทางภูมิศาสตร์

หมู่บ้านและที่ดินทำกินส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่ราบ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นป่าเขาต้นน้ำลำธาร ล้อมรอบด้วยป่าเขาน้อยใหญ่ซับซ้อน มีที่ราบบริเวณหุบเขา ที่ราบเชิงเขา ที่ราบเนินเขาดินลักษณะเป็นลูกคลื่นรอนตื้นรอนลึก มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติตลอดปี มีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน 3 สาย คือ ห้วยทิพุเย ห้วยจองกวะ ห้วยทิไร่ป้า ลำห้วยไหลผ่านที่ทำกินของชาวบ้านคือ ห้วยโปตาน่า ห้วยทิยาหลุ่ง ห้วยแห้ง ห้วยแหว่งฉะชูว ห้วยแม่กลองโผ่ว เป็นต้น สภาพป่าไม้และสัตว์ป่ารอบหมู่บ้านยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากเป็นแหล่งอาหารและรายได้เสริมของชุมชน

เนื้อที่

หมู่บ้านทิพุเยมีพื้นที่ทำกินรวมทั้งที่อยู่อาศัยเป็นจำนวน 2,689 ไร่ มีพื้นที่ป่าชุมชนสำหรับใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ แหล่งอาหาร และใช้ประโยชน์ร่วมของชุมชนจำนวน 700 ไร่

อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อเขตทุ่งใหญ่นเรศวร

ทิศใต้ ติดต่อเขตป่าสงวน

ทิศตะวันออก ติดต่อเขตบ้านทุ่งนางครวญ

ทิศตะวันตก ติดต่อเขตบ้านเกริงกระเวีย

การคมนาคม

หมู่บ้านอยู่ห่างจากอำเภอทองผาภูมิประมาณ 36 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถเดินทางได้สะดวกโดยทางรถยนต์ เนื่องจากมีถนนลาดยาง สายเกริงกระเวีย-ห้วยเสือ ผ่านหมู่บ้าน (สร้างแล้วเสร็จต้นปี 2542) ถ้าเดินทางจากแยกทองผาภูมิไปตามทางหลวงสาย 323 เส้นสังขละบุรี ประมาณ 30 กิโลเมตรถึงบ้านเกริงกระเวีย แล้วเลี้ยวขวาตรงทางแยกไปตามถนนลาดยางสายบ้านเกริงกระเวีย-ห้วยเสือ (ทางไปทุ่งใหญ่นเรศวร 76 กม.) ประมาณ 4 กิโลเมตรจะถึงหมู่บ้านทิพุเย เดิมก่อนปี 2541 ระยะทาง 4 กิโลเมตรจากแยกเกริงกระเวียถึงหมู่บ้านเป็นทางลูกรังและทางเดิน ในฤดูฝนมักชำรุดต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อหรือเดินเท้าเท่านั้น

การเดินทางของชาวบ้านมีรถสองแถวโดยสารประจำทางวิ่งระหว่างบ้านห้วยเสือ-ตลาดทองผาภูมิ 2 คัน คันแรกถึงหมู่บ้าน 7.30 น. คันที่ 2 ถึงหมู่บ้าน 8.30 น. เที่ยวกลับรถออกจากตลาดทองผาภูมิ เที่ยวสุดท้ายประมาณ 12.00 น. ค่าโดยสารจากหมู่บ้านถึงตลาดคนละ 25 บาท

ลักษณะทางสังคมและประชากร

ลักษณะเด่นของความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนทิพุเย ก็คือความเป็นกลุ่มเครือญาติในหมู่บ้านทิพุเย เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นเครือญาติเดียวกัน คือ เมื่อสืบไปเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว กลุ่มครอบครัวกลุ่มแรก ๆ ที่มาตั้งชุมชนที่ทิพุเย คือ พ่อของกำนันชัชวาล เกรียงแสนภู พ่อของนายจองเผ่ ไทรสังขคีรี มัคนายก และยายของนายจำนง ทองผาไฉไล (สมาชิก อบต.) ทั้ง 3 คนนี้เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน แล้วสืบลูกหลานแยกเป็น 3 สายตระกูล ดังกล่าว ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของชุมชน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 กลุ่มซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในเขตชุมชนหลังจาก 3 กลุ่มแรกคือ กลุ่มสายตระกูลทองผาสุทธิ และสายตระกูลรักษ์กาญจนวัฒน์ ซึ่งในรุ่นต่อ ๆ มาได้มีการแต่งงานข้ามกลุ่มระหว่างคนที่อยู่ดั้งเดิมและกลุ่มที่ย้ายเข้ามาใหม่ภายหลังแตกแขนงออกไปอีก ดังนั้น แต่ละครอบครัวจึงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติซ้อนกันหลายชั้น

ประชากรในชุมชนเดิมเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโปทั้งหมด นับถือผีตามสายตระกูลของผู้หญิงและนับถือศาสนาพุทธ การดำเนินชีวิตเรียบง่าย รักสงบ รักอิสระ สันโดษ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ความเป็นอยู่จะผูกพันอยู่กับไร่ข้าวและป่าตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ในปัจจุบันมีบุคคลต่างวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนเพิ่มมากขึ้นทั้งโดยการเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ประกอบอาชีพรับจ้างทางการเกษตรให้นายทุนจากภายนอก และการแต่งานกับคนในชุมชนแล้วย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน นอกจากนี้ยังมีบุคคลภายนอกชุมชนซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยงจากที่อื่นและคนพื้นราบเข้าไปอยู่อาศัยและทำมาหากินอยู่ในชุมชนซึ่งมีการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการโดยคณะกรรมการชุมชนเมื่อเดือน พฤษภาคม 2542 ปรากฏว่ามีมากกว่า 200 คน

ปัจจุบันหมู่บ้านทิพุเยมีผู้ใหญ่บ้านชื่อนางอรุณี รักษ์วงศ์ ซึ่งเป็นบุตรของนายชัชวาล เกรียงแสนภูม อดีตกำนันคนที่ 8 ของตำบลชะแล ได้รับการเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2544 กำนันคนปัจจุบันเป็นคนที่ 9 อยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านห้วยเสือ

การศึกษาและการสาธารณสุข

เดิมชาวบ้านไม่ได้เรียนหนังสือไทย หน่วยงานแรกที่เข้าไปทำงานในชุมชนเมื่อปี พ.ศ.2521 คือศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาโดยมีการจัดตั้งหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านทิพุเยและสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นในชุมชน มีล่ามชาวเขาและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาอยู่ในชุมชนโดยทำหน้าที่สอนหนังสือไทยแก่ชาวบ้านด้วย ต่อมาได้ยุบโรงเรียนชั่วคราวไป เนื่องจากเด็กไปเรียนที่โรงเรียนบ้านเกริงกระเวีย ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 4 กิโลเมตร

มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง การศึกษาระดับมัธยมศึกษาสามารถเรียนต่อได้ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ได้แก่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พนมทวน โรงเรียนบ้านดินโส และโรงเรียนศรัทธามงคลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีครู กศน.ประจำในหมู่บ้าน 1 คน เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะได้รับการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ จปฐ.ปี2544 เด็กที่เรียนจบชั้นประถมศึกษา จำนวน 12 คน ได้รับการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาจำนวน 11 คน ส่วนผู้สูงอายุอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้แต่สามารถสื่อสารและฟังภาษาไทยได้รู้เรื่อง

มีสถานีอนามัยเกริงกระเวียอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 4 กิโลเมตร การรักษาของชาวบ้านเวลาเจ็บป่วยมีทั้งใช้ยาสมุนไพร และใช้การรักษาทางไสยศาสตร์แบบพื้นบ้าน เช่นให้หมอดูทำนายสาเหตุของการเจ็บป่วยว่าเกิดจากการผิดผีอะไรและต้องแก้ไขอย่างไร การผูกข้อมือเรียกขวัญตามแบบประเพณีดั้งเดิม แต่ส่วนใหญ่จะใช้บริการที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลทองผาภูมิ

ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม

คติความเชื่อของกระเหรี่ยงโป** ในเขตพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เป็นการผสมผสานกัน คือพุทธศาสนานิกายเถรวาทตามแบบฉบับที่ได้รับจากชาวมอญ ควบคู่กับการถือผีตามคติความเชื่อเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งชาวกระเหรี่ยงสามารถผสมผสานคติความเชื่อทั้ง 2 กระแสนี้ มาเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมของตนอย่างสอดคล้องและเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้อย่างน่าพิศวง (สมเกียรติ จำลอง และจันทบูรณ์ สุทธิ, 2539, น.3) การผสานคติความเชื่อของพุทธและผีของกะเหรี่ยงโปในภาคตะวันตกที่แตกต่างกับกะเหรี่ยงสะกอในภาคเหนือ เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเพราถือว่าเป็นบาป และถือว่าเหล้าเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมกะเหรี่ยงโปภาคตะวันตก ในขณะที่เหล่ากลับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมและพิธีกรรมของกะเหรี่ยงสะกอภาคเหนือ หรือแม้แต่การนับถือผีของกะเหรี่ยงโป ใน 3 จังหวัดดังกล่าวข้างต้นก็แตกต่างจากกะเหรี่ยงโปในภาคเหนือ คือ “โป” ในภาคเหนือใช้หมูและไก่เป็นของเซ่นไหว้ ขณะที่กะเหรี่ยงในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดใช้อ้น ปลา(เกล็ด) งา ดอกไม้ ขนม หรืออย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องเซ่นไหว้” (สมเกียรติ จำลอง และ จันทบูรณ์ สุทธิ, 2539, น.1)

ชาวกะเหรี่ยงบ้านทิพุเยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท สำหรับความเชื่อเรื่องผีจะนับถือสายผีตามฝ่ายหญิง เกือบทั้งหมู่บ้านเดิมเป็นกลุ่มด้ายขาว มีเพียง 1 ครอบครัว คือครอบครัวของมัคนายกซึ่งภรรยานับถือสายผีอยู่ในกลุ่มด้ายเหลือง แต่ในปัจจุบันความเคร่งครัดและความเชื่อเรื่องผีลดความสำคัญลงมากแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่เลิกไหว้ผีแล้วหันมาไหว้พระแทน ด้วยเหตุผลว่าการ “กินผี” มีความยุ่งยากซับซ้อนมีระเบียบปฏิบัติเคร่งครัดไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น ตัวอ้นและปลาที่ต้องใช้ในพิธีหายากขึ้น และพิธีกินผีจะเริ่มได้ต้องให้ลูกหลานญาติพี่น้องทั้งหมดมานอนอยู่รวมกันในบ้านพิธีอย่างพร้อมเพรียงเป็นเวลา 3 วัน หากมีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถทำพิธีได้อย่างราบรื่นก็จะต้องเริ่มต้นพิธีใหม่ทั้งหมดซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากและไม่สะดวกแก่ลูกหลานซึ่งแต่งงานแยกครอบครัวไปอยู่ที่อื่นหรือมีภาระหน้าที่การงานประจำ ในหมู่บ้านปัจจุบันยังเหลืออยู่ 2 ครอบครัวที่ยังนับถือผีและสืบทอดพิธีกรรมดั้งเดิมไว้ คือ ครอบครัวนายเส่งลงหง่วย ทองผาไฉไล และครอบครัวนางเส่งละหนี่ (ใม่มีนามสกุล)

ในวันพระชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัดและถือเป็นวันหยุดพักผ่อนของชาวบ้านจะไม่ทำงานในไร่ แต่อาจจะมีการนัดหมายเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชนเช่นดายหญ้า พัฒนาพื้นที่ส่วนรวมในชุมชน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะกินเจในวันพระและช่วงมีงานประเพณี

ประเพณีกะเหรี่ยงที่ชาวบ้านยังยึดถือปฏิบัติอยู่ เช่นงานปีใหม่กะเหรี่ยง (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5ช่วงเดือนเมษายน ก่อนสงกรานต์) หรือวันสำคัญทางพุทธศาสนาเช่น เข้าพรรษาชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญสวดมนต์ไหว้พระที่วัดเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงปีใหม่ของคนกะเหรี่ยงจะมีพิธีก่อเจดีย์ทรายสะเดาะเคราะห์ มีพิธีไหว้ต้นไม้ใหญ่ (มักใช้ ต้นโพ ต้นไทร) ชาวบ้านจะใช้น้ำขมิ้นล้างต้นไม้และพรมด้วยแป้งหอมแต่ละคนจะมีลำไม้ไผ่มาคนละ 1 กำ เพื่อค้ำต้นไม้นั้นเป็นการสืบชะตาชีวิตและขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังมีพิธีไหว้สะพานข้ามลำห้วยชาวบ้านจะล้างสะพานด้วยน้ำขมิ้นและปล่อยเต่าเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเช่นเดียวกัน

ในชุมชนมีวัด 1 แห่งคือ วัดทิพุเยโดวิทยาราม เดินวัดคือศูนย์กลางของชุมชนเนื่องจากเกือบทั้งชุมชนมีความเกี่ยวพันกับทางเครือญาติ หลวงปู่ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส คือคนแรกของวัดทิพุเยพร้อมด้วยครอบครัวของพี่สาวและน้องชายคนเล็กของหลวงปู่เป็นกลุ่มแรกที่มาตั้งชุมชนทิพุเยในปัจจุบันและแตกออกเป็นสามสายตระกูลหลักในชุมชนทิพุเยในปัจจุบัน เนื่องจากหลวงปู่มีลูกหลานมากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านจึงมีฐานะเป็นทั้งผู้อาวุโสเป็นที่ปรึกษาและเป็นหลักยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน ปัจจุบันผู้นำที่มีบทบาททางด้านศาสนา ความเชื่อและพิธีกรรมคนหนึ่งของหมู่บ้าน คือ นายจองเผ่ ไทรสังขคีรี มัคนายกซึ่งเป็นบุตรชายของหลวงปู่นั่นเอง

การแต่งกาย

ปัจจุบันการแต่งกายของชาวบ้านเหมือนคนพื้นราบทั่วไป ชายนิยมใส่เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว ผู้สูงอายุมักนุ่งโสร่ง ผู้หญิงสูงอายุและผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วจะนิยมใส่เสื้อกับผ้าถุง เด็กและวัยรุ่นแต่งกายตามสมัยนิยม เวลาไปวัดหรือมีงานบุญตามประเพณีผู้หญิงจะนิยมแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยง คือผู้หญิงแต่งงานแล้วจะใส่เสื้อกะเหรี่ยงทอลายสีแดง กับผ้าถุงทอลายกะเหรี่ยงสีพื้นเป็นสีแดง ส่วนเด็กและผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะแต่งชุดกะเหรี่ยงยาวกรอมเท้าทรงกระสอบสีขาว ผู้ชายนุ่งโสร่งหรือแต่งกายตามสมัยนิยม

ภาษา

ภาษาที่ใช้คือภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทยกลาง ภาษาเขียนเดิมใช้ตัวอักษรมอญอ่านเป็นภาษากะเหรี่ยง คนที่อ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยงได้มีเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุและพระ ชาวบ้านทั่วไปจะพูดคุยสื่อสารกันเองด้วยภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก เด็กและวัยรุ่นจะใช้ภาษากะเหรี่ยงปนกับภาษาไทยกลาง เวลาสื่อสารกับคนภายนอกจะใช้ภาษาไทย ภาษากะเหรี่ยงมีระดับความลึกซึ้ง เช่นภาษาที่ใช้ในการร้องเพลงลำตง ภาษาที่ใช้ในการเล่านิทานกะเหรี่ยงโบราณ เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะฟังไม่ค่อยเข้าใจ ต้องอาศัยผู้เฒ่าช่วยอธิบายให้ฟัง

เศรษฐกิจ

เดิมชาวบ้านทิพุเยทั้งหมดยังชีด้วยการทำไร่ข้าวแบบไร่หมุนเวียน โดยจะปลูกพืชใช้สอยและพืชอาหารต่าง ๆ เช่น พริก ฟักทอง แฟง เผือก มัน กลอย ฯลฯ รวมอยู่ในไร่ข้าวด้วย ปัจจัย 4 ในการดำรงชีพล้วนหาได้จากในไร่และป่ารอบ ๆ ชุมชนทั้งสิ้น เงินมีความจำเป็นน้อยมากในชีวิตประจำวันของชาวบ้านเพราะของจำเป็นที่ชาวบ้านต้องซื้อมีเพียงกะปิ และเกลือเท่านั้น เนื่องจากการเดินทางติดต่อกับตลาดและสังคมภายนอกเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราชุมชนอยู่ในป่าการเดินทางจะต้องใช้การเดินเท้าเป็นหลัก เช่นจะเดินทางมาตลาดทองผาภูมิจะต้องเดินทางอย่างน้อย 1 วัน จึงจะถึงในขณะที่ปัจจุบันใช้เวลาเพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมง ชาวบ้านเล่าว่า หัวหน้าหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาชื่อ นายทะแก้ว เสตะพันธ์ ซึ่งมาทำงานอยู่ในหมู่บ้านช่วงปี พ.ศ.2521 ป่วยเป็นโรคมาลาเลีย ชาวบ้านต้องทำแคร่หามเพื่อพาไปโรงพยาบาลที่ทองผาภูมิแต่ไปได้เพียงครึ่งทางก็เสียชีวิตลง ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการเดินทางและขนส่งดังกล่าววิถีการผลิตและเศรษฐกิจของชุมชนจึงยังคงลักษณะของเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพและพึ่งตนเองตามแบบของวิถีกะเหรี่ยงมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพทำไร่ โดยปลูกพืชหลักอยู่ 3 ชนิด คือ ข้าวไร่ พริก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่ปลูกไว้เพื่อบริโภคในครอบครัวเป็นหลัก พริกปลูกไว้เพื่อบริโภคและขาย ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลูกเพื่อขายเป็นหลัก ซึ่งเพิ่งเริ่มมีการปลูกข้าวโพดกันเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2530 และนิยมปลูกกันมากตั้งแต่ช่วงปี 2535 – ปัจจุบัน โดยกลุ่มผู้นำในชุมชนได้เริ่มเพาะปลูกก่อนตามอย่างหมู่บ้านของชาวอีสาน (บ้านห้วยเสือ ซึ่งอยู่เลยจากหมู่บ้านทิพุเยประมาณ 20 กิโลเมตร.

ในช่วงปี พ.ศ.2540 – 2543 หลายครอบครัวปลูกข้าวโพดอย่างเดียว เพื่อขายข้าวโพดได้เงินมาซื้อข้าวบริโภคแทน สาเหตุที่ปลูกข้าวไร่ไว้บริโภคเอง เนื่องจากที่ดินมีอยู่จำกัดไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ดังเดิม และบางรายก็แบ่งขายที่ดินทำกินให้กับนายทุนภายนอกชุมชนมีอยู่ 3 รายที่ขายที่ดินทำกินทั้งหมดให้กับนายทุนภายนอก การที่ต้องใช้ที่ดินในเนื้อที่จำกัดซ้ำที่เดิมทุกปีทำให้ดินเสื่อสภาพปลูกข้าวไร่ไม่ค่อยได้ผล เพราะมีวัชพืชขึ้นรบกวนต้นข้าวมากจนชาวบ้านไม่สามารถควบคุมด้วยการใช้แรงงานถางหญ้าได้ จำเป็นต้องใช้สารเคมีปราบวัชพืชซึ่งมีราคาแพงช่วยซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน ชาวบ้านจึงหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนเพราะไม่ต้องดูแลมาก และมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ต้นทุนก็ไม่สูงมากขึ้นด้วยเพราชาวบ้านต้องจ้างรถไถ ต้องเสียเงินค่าซื้อเมล็ดพันธุ์ ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า และปุ๋ยเคมี จึงจะได้ผลผลิตที่ดีตรงตามความต้องการของนายทุนผู้รับซื้อ

ในช่วงปี พ.ศ.2544 – 2545 ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เคยปลูกข้าวโพดอย่างเดียวหันมาปลูกข้าวไร่ไว้เพื่อบริโภคด้วย โดยให้เหตุผลตรงกันว่า “ปลูกข้าวโพดใช้ต้นทุนสูงหักหนี้สินแล้วเงินเหลือไม่พอซื้อข้าวกินทั้งปี แต่ถ้าเราปลูกข้าวไว้กินเองถึงจะไม่มีเงินก็ยังมีข้าวกิน เพราะข้าวคือชีวิตทุกคนต้องกินข้าว”

นอกจากนี้บางครอบครัวได้แบ่งพื้นที่ใกล้บ้านจำนวนหนึ่งทำเป็นส่วนผลไม้ สวนครัว ผักกางมุ้ง สวนพริกไทย และโรงเพาะเห็ดหอม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และขุดบ่อเลี้ยงปลา โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการนำร่องของหน่วยงานราชการต่าง ๆ และจาก อบต.ชะแล ซึ่งโครงการส่งเสริมกลุ่มอาชีพและรายได้เสริมต่าง ๆ เหล่านี้เริ่มสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 – ปัจจุบัน ซึ่งไม้ผลต่าง ๆ ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ปี 2540 เช่น มะม่วง ชมพู่ ลิ้นจี่ สะตอ เริ่มให้ผลผลิตเพียงพอบริโภคในครอบครัวแจกจ่ายญาติพี่น้องและเหลือจำหน่ายบ้างบางส่วนเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง

โดยทั่วไปรายได้เสริมของชาวบ้าน คือ การหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำผึ้งป่า หน่อไม้ แฝก ลูกเนียง เห็ดต่าง ๆ สะตอป่า มะไฟป่า ผลไม้ป่า สมุนไพร สัตว์ป่า บางรายมีรายได้เสริมจากการรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างก่อสร้าง ทำงานในไร่ หรือตัดไม้ เป็นต้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านกะเหรี่ยงทิพุเยแท้ ๆ จะหาของป่าเพื่อการยังชีพ และบริโภคเท่านั้น เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพหลักคือการทำไร่จึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูแลไร่ การหาของป่าขายจึงทำเป็นรายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านทิพุเยเป็นแหล่งเดียวในตำบลชะแลที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากชาวบ้านจะมีหลักและกติกาในการใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชิตและยังคงฝังแน่นอยู่ในวิถีชีวิต ความคิดความเชื่อของชาวบ้าน เช่นการล่าสัตว์จะล่าเพียงแค่พอเป็นอาหารบริโภคเท่านั้น ถึงแม้จะเจอสัตว์อื่นอีกก็จะไม่ล่าเมื้อได้สัตว์ป่าจะมาแบ่งปันแจกจ่ายกันในหมู่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง, สัตว์ป่าบางชนิดชาวบ้านจะไม่ล่า เช่น นกเงือก ชะนี เป็นต้น การตัดหน่อไม้ถ้าหน่อไม้เล็กเกินก็จะไม่ตัดปล่อยให้โตต่อไปก่อน หน่อที่ใหญ่เกินก็ไม่เอา มีช่วงระยะเวลาในการตัดหน่อไม้เพื่อให้มีไม้ไผ่รุ่นใหม่ทดแทนของเดิม เป็นต้น

สาธารณูปโภค

มีประปาภูเขาของหมู่บ้านใช้อุปโภคบริโภคและรดต้นไม้พืชผักสวนครัวโดยมีคณะกรรมการดูแล มีการเก็บเงินค่าใช้น้ำตามมิเตอร์ราคาหน่วยละ 1 บาท มีไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้บริการตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2541 มีถนนลาดยางผ่านหมู่บ้าน 1 สายคือ ถนนสายเกริงกระเวีย-ห้วยเสือ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2542 มีถนนลูกรังแยกย่อยตามซอยในหมู่บ้านครบทุกเส้น มีโทรศัพท์สาธารณะ 2 เลขหมาย

กิจกรรมพัฒนา วัตถุส่วนรวมและกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน

ปัจจุบันชุมชนทิพุเยมีกองทุน และวัตถุก่อสร้างต่าง ๆ ที่เกิดจากการรวมกลุ่มในชุมชน, ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ และจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ดังนี้

- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทิพุเย (ชาวบ้านสร้างเองปี 2532 ต่อมากรมพัฒนาชุมชนสนับสนุนงบประมาณ ปัจจุบันถ่ายโอนให้อยู่ในความดูแลของ อบต.ชะแล แล้ว)

- กองทุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทิพุเย (ก่อตั้งโดยเริ่มจากเงินบริจาคจากภายนอกและในชุมชน ตอมาขยายผลให้คนในชุมชนกู้ยืมประกอบอาชีพส่วนหนึ่ง)

- กองทุนธนาคารข้าวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

- กองทุนเพื่อการศึกษาเด็กหมู่บ้านทิพุเย (ชาวบ้านระดมทุนเอง)

- กองทุนประปาหมู่บ้านทิพุเย

- สหกรณ์ร้านค้าชาวเขา 1 แห่ง (ตั้งขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ปี 2542 จากงบประมาณสนับสนุนโครงการมิยาซาวา และระดมทุนจากภายในชุมชน)

- กองทุนสหกรณ์ร้านค้าชาวเขาบ้านทิพุเย (ขยายผลจากกิจการร้านค้าชาวเขา)

- กองทุนเงินกู้โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กขคจ.) กรมพัฒนาชุมชน

- กองทุนกู้ยืมกลุ่มแม่บ้านทิพุเย (ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.ชะแล)

- กองทุนกิจกรรมกลุ่มแม่บ้านทิพุเย (ระดมทุนจากสมาชิกและดอกผลจากรายได้การรวมกลุ่มกิจกรรมอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มต้อนรับนักท่องเที่ยว, การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้านแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น)

- กองทุนศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน กรมประชาสงเคราะห์

- กองทุนกลุ่มออมทรัพย์บ้านทิพุเย (จัดตั้งปี 2545)

- กองทุนชุมชน 1,000,000 บาท (จัดตั้งปี 2545)

- โรงสีข้าวขนาดเล็กของชุมชน 1 แห่ง

- อาคารเอนกประสงค์ 2 แห่ง

- บ่อน้ำมันเพื่อการเกษตร จำนวน 3 บ่อ (สนับสนุนโดยหน่วยงานทหารพัฒนา)

- โครงการประปาเพื่อการเกษตรหมู่บ้านทิพุเย (ก่อสร้างปี 2545 จากงบพัฒนาจังหวัด หลังจากดำเนินการเสร็จแล้จะมอบให้ชุมชนดูแลต่อไป)

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมกลุ่มอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการ ต่าง ๆ และอบต.ชะแล อีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มปลูกพริกไทย กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มเลี้ยงไก่ กลุ่มปลูกผักกางมุ้ง ฯลฯ ซึ่งบางกลุ่มก็ยุบเลิกไป บางกลุ่มก็มีการพัฒนาขยายผลเพิ่มมากขึ้น



[*]ต้นเย คือต้นเต่าร้าง เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามริมห้วยในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแต่เดิมลำห้วยทิพุเยมีต้นเยขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก การเรียกชื่อสถานที่ต่าง ๆ ของคนกะเหรี่ยง จะเรียกชื่อตามลักษณะทางภูมิศาสตร์และลักษณะเด่นของพืชและระบบนิเวศน์ในแต่ละแห่ง เช่นน้ำตกโปตาน่า คือมีต้นโปตาน่าขึ้นอยู่ ห้วยแหว่งสะชูว์ หมายถึง ห้วยมะไฟ เป็นต้น

** กะเหรี่ยงในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มย่อย คือ โป (โปว์), สะกอ, ตองสู และบเวที่มีจำนวนมากที่สุดก็คือ กะเหรี่ยงโป และสะกอ กะเหรี่ยงโป เรียกตนเองว่า “โผล่ว” ส่วนใหญ่จะอยู่ทางจังหวัดในภาคตะวันตกของประเทศไทย จะมีบางส่วนอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งจะมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกันในรายละเอียด ส่วนกะเหรี่ยงสะกอ เรียกตนเองว่า “ปาเกอะญอ” ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามกะเหรี่ยงจะมีเอกลักษณ์ในเรื่องของระบบคุณค่า ชีวทัศน์ โลกทัศน์ความเชื่อและวิถีการผลิต ไม่แตกต่างกัน

คำสำคัญ (Tags): #กะเหรี่ยง#โผล่ว
หมายเลขบันทึก: 596115เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2015 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2015 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท