ประวัตินางกวัก หรือนางสุภาวดี


การค้าขายของดี มีคนมาซื้อจำนวนมาก

ประวัตินางกวัก หรือนางสุภาวดี

นายอานนท์ ภาคมาลี (คนหาปลา)

วันนี้ข้าพเจ้ามีเรื่องที่น่าสนใจที่คนอีกหลายคนยังไม่เคยรู้มาก่อนนั่นคือ นางกวัก หรือนางสุภาวดีนั้นเอง หลายคนคงเคยพบเห็น นางกวัก หรือนางสุภาวดี ตามร้านขายของต่างๆ และรู้จักนางกวักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่ทำมาค้าขาย ก็ต้องมีนางกวัก หรือนางสุภาวดีไว้บูชา บนหิ้งหรือหลังตู้ต่างๆ เพราะเชื่อว่าจำทำให้ขายดี มีคนมาซื้อของเยอะๆ แต่เคยทราบไหมว่า ที่มาของความเชื่อเกี่ยวกับนางกวัก หรือนางสุภาวดีมาอย่างไร

ตำนานแรกในสมัยพุทธกาลหลายพันปีก่อน ที่เมืองมัจฉิกาสัณฑ์มีครอบครัวตระกูลพราหมณ์ บิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ มารดาชื่อ สุมณฑา มีบุตรสาวชื่อสุภาวดี ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย นางสุภาวดีจะหาบของขายไปตามตลาดและที่ต่างๆ อยู่มาวันหนึ่งนางสุภาวดีขายของได้ไม่ดี แต่ว่าวันนั้นนางสุภาวดีได้พบพระมหากัสสปะ อัครสาวกของพระพุทธเจ้าซึ่งมีผู้นิมนต์มาฉันเพลที่บ้านหลังหนึ่ง นางจึงได้ไปทำบุญถวายเพลร่วมกับคนอื่น ๆ และได้ขอพรจากพระมหากัสสปะ พระมหากัสสปะผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์จึงให้พร คือ ให้ นางสุภาวดีนั้นร่ำรวยมิทรัพย์สินเงินทองจากการค้า ปรากฏว่าพรนั้นทำให้นางสุภาวดีขายดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์จนมีฐานะดีขึ้น ต่อมานางสุภาวดีก็ได้ฟังธรรมจากพระสีวลีซึ่งเป็น พระสาวกผู้เป็นเลิศด้านมีลาภสักการะมาก เกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้ทำบุญถวายเพลแด่พระสีวลี และนางก็ได้ขอพรจากพระสีวลี พระสีวลีก็ได้ให้พรซึ่งเหมือนกับพรที่พระมหากัสสปะให้ ทำให้นางสุภาวดียิ่งขายดีมากขึ้น จนนางเป็นเศรษฐีในที่สุด ตั้งแต่นั้นมาจึงมีคนปั้นรูปผู้หญิงยกมือกวัก ต่อมาจึงเรียกว่า นางกวัก ซึ่งก็คือนางสุภาวดีนั่นเอง ทำให้เกิดความเชื่อว่า ถ้าใครบูชานางกวัก หรือนางสุภาวดีแล้ว ก็จะค้าขายดีและมีเงินไหลมาเหมือนกับนางสุภาวดีนั่นเอง


ส่วนอีกตำนานหนึ่งเป็นตำนานที่แต่งเพิ่มเติมจากเรื่องท้าวกกขนากใน รามเกียรติ์ของไทย ที่เป็นที่มาของตำนานหนึ่งของลพบุรี มีเรื่องราวว่า นางกวักเป็นลูกสาวคนเดียวของ ปู่เจ้าเขาเขียวหรือท้าวพนัสบดี ซึ่งเป็นเจ้าชั้นจาตุมหาราชิกา มีตำแหน่งเป็นพระพนัสบดีคือ เจ้าแห่งป่าเขาลำเนาไพรทั้งปวง ครั้งนั้นอสูรหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อน กับปู่เจ้าเขาเขียว ชื่อ ท้าวอุณาราช ถูกพระรามเอาศรต้นกกแผลงศรไปถูกทรวงอกแล้วตรึงร่างไปติดกับเขาพระสุเมรุ แล้วสาปว่า ตราบใดที่บุตรของท้าวอุณาราชทอใยบัว เป็นจีวร เพื่อถวายแด่พระศรีอาริยะเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้ จึงจะพ้นคำสาป ท้าวอุณาราชจึงมีชื่อเรียกว่าท้าวกกขนากอีกชื่อหนึ่ง และนางประจันต์ บุตรสาวของท้าวกกขนากจึงต้องอยู่คอยปฏิบัติพระบิดาและพยายามทอจีวร ด้วยใยบัวเพื่อให้เสร็จทันถวายพระศรีอาริยะเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้ในภายหน้า เมื่อนางประจันต์มาคอยดูแล พระบิดาอยู่ที่เขาพระสุเมรุนั้น ฐานะความเป็นอยู่ของนางลำบากมาก ทำให้ปู่เจ้าเขาเขียวเกิดความสงสารจึงส่งนางกวักบุตรสาวมาอยู่เป็นเพื่อน ด้วยบุญฤทธิ์ของนางกวัก จึงได้บันดาลให้พ่อค้าวานิช และผู้คนทั้งหลายเกิดความเมตตาพากันเอาทรัพย์สินเงินทองและเครื่องอุปบริโภค มาให้นางประจันต์เป็นจำนวนมาก ทำให้ความเป็นอยู่ของนางสุขสบาย ขึ้น รูปปั้นนางกวัก จะเห็นว่าจะยกมือขึ้นกวักระดับเสมอปาก แปลว่ากินไม่หมด แต่ถ้ากวักต่ำลงมากกว่าปาก จะแปลว่ากินไม่พอ









หมายเลขบันทึก: 595064เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2015 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2015 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท