..... ภาษาไทยวันละหลายคำ .....


นี่..คุณชม คุณไปหยิบหมากพลูมาให้ผมรับประทานหน่อยซิ

.....คำว่า "กู" เป็นคำสรรพนาม บุรุษที่ ๑ คำว่า "มึง" เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒ และ คำว่า "มัน" เป็นสรรพนาม บุรุษที่ ๓ ซึ่งคำ ๒ -๓ คำนี้ เป็นคำไทยเก่าใช้กันมานานแล้ว ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใด เพราะเกิดไม่ทัน ครับ ปัจจุบันนี้ก็ยังใช้กันอยู่ แต่เป็นในลักษณะของคำพูดมากกว่าการเขียน ก็มักจะใช้กับคนที่สนิทๆกัน เช่นเพื่อนฝูงทำนองนี้

..... ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นคำที่ไม่สุภาพในยุคข้าวแกงจานละ ๕๐ บาท ก็ว่าได้ แต่ในยุคโบราณคิดว่าน่าจะเป็นคำปกติที่ใช้กันทั่วไป สำหรับภาษาเขียน ก็คงไม่มีใครนำมาใช้แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็น บทความ เรียงความ รายงาน หรือ ฯลฯ นอกเสียจากจะนำมาเขียนเป็นคำจิกด่าใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้นเอง

ทีนี้วกเข้ามาในเรื่องของวงการกวีบ้าง ถามว่า คำ ๒ -๓ คำ นี้ หากใช้ในบทร้อยกรอง (กลอนต่างๆ) จะเป็นคำหยาบ ไม่สุภาพไหม สำหรับผู้เขียนเองขอตอบแบบฟันธงเปรี้ยงลงไปเลยว่า " ไม่หยาบครับ" เหตุผลคือ บทร้อยกรองต่างๆที่รวบรวมเป็นตำหรับตำรา พิมพ์เองขายเอง แต่งเองแล้วอ้างว่าเป็นของเก่าโบราณครูบาอาจารย์ยุคก่อนโน้นแต่งเอาไว้ แต่จริงๆแล้วคงไม่ใช่หรอก ก็ลอกสืบทอดกันมาทั้งนั้น ลอกกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษนั่น และก็ คำที่ว่านี้เขาก็ใช้กันมานมนานแล้ว ถ้าไม่สุภาพ หยาบคาย ก็ต้องโทษไปถึงรุ่นนั้นด้วย


..... ในสมัยก่อน ถ้าย้อนเวลาไปสักนิดหนึ่งแค่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ต้นถึงกลางนี่ มีไหมครับ คำว่า " คุณ" และ "ผม" ไม่มีใช่ไหมครับ คำที่ว่านี้ถ้าจำไม่ผิด คงเริ่มใช้กันมาในสมัย จอมพล ป. นั่นเอง ในยุค มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ ศิวิไลซ์ เลิกกินหมาก ใครกินหมาก ถูกจับปรับสินไหม โค่นต้นหมาก ถางสวนพลูทิ้ง บังคับสวมหมวกทั้งชายหญิง แบบสุภาพบุรุษตะวันตก และ แหม่มกะปิ

..... เผอิญ..ไปอ่านเจอข้อห้ามในเพจๆหนึ่งที่เกี่ยวกับวงการกลอน ร้อยแก้ว ร้อยกรอง นี่แหละครับ ซึ่งเขามีข้อห้ามว่า ห้ามเขียนคำว่า "มึง" และ "กู" ลงในบทกลอน เพราะถือว่าไม่สุภาพ ไม่ใช่ภาษาของผู้ดีเขาใช้กัน ให้ใช้คำว่า ผม และ คุณ แทน ก็ไม่รู้ว่าคนตั้งกฏเป็นผู้รากมากดีมาแต่สมัยไหน

..... ครับ... ถ้าเป็นร้อยแก้วธรรมดา เช่นบทความ รายงาน หรือข้อเขียนอะไรก็แล้วแต่ ก็น่าจะสมควรห้าม แต่ก็น่าจะอนุญาตให้ถ้าเป็นการยกคำมาอ้างอิง แต่สำหรับบทกลอนแล้ว ผู้เขียนรู้สึกว่าข้อห้ามนี้มันทะแม่งๆอย่างไรพิกล ก็ไปห้ามเขาได้อย่างไรครับเพราะถ้าเขาเขียนเรื่องราวโบราณอันเกี่ยวกับวรรณคดีต่างๆ อย่างเช่น ขุนช้าง ขุนแผน แผลเก่า ไอ้ขวัญ อีเรียม ผู้ชนะสิบทิศ พันท้ายนรสิงห์กับพระเจ้าเสือ ฯลฯ แล้วบทสนทนาจะให้เขาเขียนอย่างไรเล่าครับ ถ้าคำเหล่านี้ต้องห้าม ยกตัวอย่าง..เช่น..


..... ขุนช้างเรียกบ่าวไพร่ ข้าทาสบริวารมาคอยรับใช้ สมมติว่า ข้าทาส ชื่อ นายชม ถ้าเป็นบทกลอน หรือร้อยแก้ว ก็เถอะ ก็ต้องเขียนว่า

............ ขุนช้างพูด... "เฮ้ย..ไอ้ชมมึงไปหยิบหมากพลูมาให้กูกินหน่อย ซิ" แบบนี้เขียนไม่ได้ใช่ไหมครับ เพราะไม่สุภาพ ไม่เป็นผู้ดี ต้องเขียนแบบนี้

............ ขุนช้างพูด.. " นี่..คุณชม คุณไปหยิบหมากพลูมาให้ผมรับประทานหน่อยซิ " เอาแบบนี้ใช่ไหมครับถึงจะถูกหลักคำของผู้ดี

ท่านผู้ชม...เอ๊ย..ย..ย..ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรครับ ส่วนผมมันรู้สึก ลักปิด ลักเปิด อย่างไรไม่รู้ ซึ่งคำร้อยกรองเขาก็ถอดความออกมาตามสภาพของยุคสมัยและก็ตัวละครในยุคนั้นนั่นแหละครับ ใครมันจะเพี้ยนเขียนออกมาด้วยสำนวนสมัยใหม่คงไม่ม่ีหรอกครับ ยกเว้นแต่จะแต่งออกมาเป็นเรื่องตลกเท่านั้น

เลยกลายเป็นผิดไปเลยใช่ไหมครับ เพราะใช้คำไม่สุภาพ ก็ไม่รู้คนออกกฏนี้มาเอาสมองส่วนไหนคิด มันผะอืด ผะอม จริงๆ ไม่รุ้จะโลกสวยกันไปถึงไหน


ผู้เขียน : วันปีย์

คำสำคัญ (Tags): #กู#มึง#คุณ#ผม
หมายเลขบันทึก: 592989เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2015 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2015 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีวันเข้าพรรษาจ้ะ

เอาบุญมาฝากท่านวันปีย์ด้วยจ้ะ


ขอบพระคุณ ครับผม ขอให้อานิสงฆ์ของบุญที่ฝากมา จงกลับไปสนองผู้ให้ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท