Knowledge Management กับ Knowledge Network ศาสตร์ใหม่บนแนวคิดคลาสสิค


Knowledge Management กับ Knowledge Network

แนวคิดของศาสตร์ด้าน KM และเครือข่าย KN นั้นมิใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นสิ่งลึกๆ ที่ฝั่งรากอยู่ในจิตใจของผู้ประกอบการ หรือผู้นำในองค์กรต่างๆ มานับแต่อดีต ผู้เขียนลองยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ใกล้ตัวผู้อ่านทุกท่านมากที่สุด ซึ่งก็ได้แก่ศิลปะไทย ทุกท่านคงทราบกันดีว่า การที่ประเทศไทยมีจุดแข็งแกร่งในเรื่องของงานศิลปกรรมที่หาชาติใดในโลกมาเปรียบเทียบได้ยากนั้น มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นภายในชั่วระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นการสั่งสมและถ่ายทอดประสบการณ์จากช่างรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่งต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี มีทั้งการถ่ายทอดโดยการศึกษาเล่าเรียนในทางตรง เช่น อาจารย์สั่งสอนศิษย์ และการศึกษาทางอ้อม เช่น การศึกษางานศิลปกรรมจากผลงานการสร้างของคนรุ่นเก่าก่อน ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นจุดบกพร่องหลายๆ ประการในงานศิลปะก็อาจได้รับการพัฒนาแก้ไขโดยช่างในรุ่นต่อๆ มา ซึ่งอาจจะเป็นด้วยความก้าวหน้าทางด้านงานช่าง หรือการได้รับเทคนิคใหม่ๆ จากการคบค้าสมาคมกับต่างชาติในยุคต่อๆ มาก็ตามที

สิ่งเหล่านี้ แท้จริงแล้วก็คือแนวทางในลักษณะของ KM ด้วยกันทั้งสิ้น ผู้อ่านจึงสามารถสรุปได้ง่ายๆ ว่า KM นั้นเป็นเรื่องของกระบวนการจัดเก็บ ถ่ายทอด เลือกสรร และพัฒนาข้อมูลความรู้ต่างๆ นั่นเอง ซึ่งเมื่อเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลมีการพัฒนาอย่างก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จึงได้อาศัยศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้เป็นตัวกลางในการจัดการบริหารองค์ความรู้ต่างๆ จนกลายเป็นศาสตร์ที่ปัจจุบันได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกมากอีกแขนงหนึ่ง และมีความสำคัญมากจนถึงกับมีการเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกกันในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

หากลองพิจารณาถึงอารยธรรมในยุคโบราณของหลายๆ ประเทศที่สาบสูญไป และปัจจุบันไม่มีลูกหลานของประเทศนั้นๆ สามารถพัฒนาตนเองให้มีความชำนาญเทียบเท่ากับบรรพบุรุษของตนเองได้ ปัจจัยสำคัญย่อมเกิดจากการขาดความต่อเนื่องในการถ่ายทอดและรักษาองค์ความรู้นั้นไว้ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะภาวะสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือหายนะใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นมูลเหตุสำคัญที่สุดย่อมเป็นเรื่องระหว่างบุคคล อาจเป็นเพราะผู้ทรงความรู้ไม่ต้องการถ่ายทอดเคล็ดลับในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้อื่น การขาดสื่อกลางที่มีประสิทธิภาพในการเก็บรักษาข้อมูล ความไม่เอาใจใส่ของผู้รับการถ่ายทอดความรู้นั้น ฯลฯ จะเห็นว่าหากมีแนวทางในการเก็บรักษาองค์ความรู้ไว้ได้อย่างเป็นระบบ แม้จะมีปัญหาในเรื่องของบุคคลอยู่บ้างแม้ในยุคสมัยใด องค์ความรู้ที่สำคัญหลายๆ ประการก็คงจะไม่สูญหายไปดังเช่นที่เป็นมาในอดีต

โดย ไพโรจน์ ไววานิชกิจ

คำสำคัญ (Tags): #kmclass
หมายเลขบันทึก: 59282เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2006 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท