อาวุธปืนตามความหมายของกฎหมายพ.ร.บ,อาวุธปืน


อาวุธปืน

การวินิจฉัยความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้น ในเบื้องต้นจำเป็นต้องทราบความหมายของอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนเป็นอันดับแรก เนื่องจากตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ บัญญัติความหมายที่แตกต่างจากความหมายทั่วไปของอาวุธปืน

คำว่า “อาวุธปืน” ตามความหมายทั่วไปที่รู้จักกัน หมายถึง สิ่งที่มีรูปร่างลักษณะเป็นอาวุธปืน ที่มีลำกล้อง ใช้บรรจุกระสุน และเหนี่ยวไกออกไปได้ แต่ตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ ได้ให้คำนิยามไว้ ดังนี้

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

  • "อาวุธปืน" หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊สหรืออัดลมหรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจ ของพลังงานและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง

จากความหมายดังกล่าวตามมาตรา ๔ (๑) อาวุธปืน จึงหมายถึง

  • อาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊สหรืออัดลมหรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน
  • ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง

อาวุธปืน จึงต้องเป็นอาวุธที่สามารถส่งเครื่องกระสุนปืนออกไปได้ ด้วยวิธีการดังนี้

การระเบิด หมายถึง การทำให้เกิดแรงอัดอย่างสูง ทำให้เกิดอำนาจในการผลักดัน ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของสารอย่างกะทันหัน

กำลังดันของแก๊ส

การอัดลม

เครื่องกลไกอย่างใดๆซึ่งอาศัยอำนาจของพลังงาน

โดยกฎกระทรวงฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๙๑) ออกตามความใน พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ ข้อ ๑ กำหนดให้ส่วนของอาวุธปืนต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็น “อาวุธปืน” ตามความในมาตรา ๔ (๑) คือ

  • ลำกล้อง
  • เครื่องลูกเลื่อน หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลูกเลื่อน
  • เครื่องลั่นไก หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก
  • เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของสิ่งเหล่านี้

จากบทบัญญัติดังกล่าว ทำให้ผู้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้การมีไว้เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน จะไม่สามารถทำให้อาวุธปืนนั้นใช้ยิงได้ก็ตาม แต่เมื่อกฎกระทรวงกำหนดให้ถือว่าเป็นอาวุธปืนแล้ว การมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงมีความผิด

ปืนพกอัดลมใช้ยิงลูกกระสุนพลาสติก ไม่ใช่อาวุธปืนตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๙๓/๒๕๔๔

ตามผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า อาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนพกอัดลมชนิดใช้ปืนยิงกับลูกกระสุนพลาสติกทรงกลมขนาด ๖ มม. ซึ่งใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุไม่ได้ มิใช่อาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง มิใช่วรรคสอง (ปัจจุบันคือมาตรา ๒๗๖ วรรคสาม)

กรณีปืนบีบีกัน หรือ Ball Bullet Gun หรือ Air Soft Gun

คือปืนอัดลม ที่จำลองเลียนแบบปืนจริงในอัตราส่วน ๑ :๑ เป็นปืนของเล่นที่มีกลไกการทำงานเลียนแบบอาวุธปืน มีขนาด สีสัน รูปร่างและน้ำหนักใกล้เคียงกับอาวุธปืนจริง ยกเว้น กระสุนที่ใช้ในปืนบีบี จะใช้กระสุนที่ทำมาจากเม็ดพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์เซรามิคสังเคราะห์ ที่มีน้ำหนักเบาตั้งแต่ ๐.๑๒ กรัมไปจนถึง ๐.๔๕ กรัม มีขนาดเส้นรอบวง ๖ มม. หรือ ๘ มม. ลักษณะกระสุนเป็นเม็ดกลมเกลี้ยง ผิวลื่นเป็นมันวาว มีความเร็วต้นและแรงปะทะที่เริ่มต้น ๒๕๐ ฟุตต่อวินาที

ระบบการทำงานต่าง ๆของตัวปืนบีบีกัน คล้ายกับการทำงานของปืนจริงมาก ทั้งการยิงเป็นชุด"Full - Auto" ในปืนกล หรือ ในปืนสั้น ที่มีระบบ "Blow Back" อัตราความเร็ว และความแรงของกระสุนที่ยิงออกมาจากปืนชนิดนี้ ไม่รุนแรงขนาดทำอันตรายถึงชีวิต จึงนิยมนำมาเล่นเกมรณยุทธ์ หรือ Survival Games โดยใช้ปืน “BB Guns” เป็นอาวุธในการเข้าปะทะกันลักษณะเดียวกันกับการเล่น“เพนท์บอล”แต่ถึงแม้ความรุนแรงของปืนจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถทำให้บาดเจ็บได้

        จากการที่บีบีกันมีลักษณะที่เหมือนอาวุธปืนจริงมาก ประสิทธิภาพกลไกการทำงานเหมือนอาวุธปืนจริง แต่วัตถุประสงค์การผลิตเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์กีฬาประเภทยุทธกีฬา หรือเพื่อใช้ประกอบการฝึกของเจ้าหน้าที่ จึงไม่ถือว่าเป็นอาวุธ  บีบีกัน จึงเป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืน เมื่อมีผู้กระทำความผิดนำสิ่งเทียมอาวุธปืนไปกระทำความผิดแทนอาวุธปืน ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยมีหรือใช้อาวุธปืน  ทำให้ไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดในเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๙๓/๒๕๔๔ ที่ได้กล่าวข้างต้น

ปืนและลำกล้องปืนที่ชำรุดใช้การไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นอาวุธปืน

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๒๒/๒๕๒๒

ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔(๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๐๑ มาตรา ๓ มิได้บัญญัติว่า อาวุธปืนนั้นจะต้องใช้ยิงได้จึงจะเป็นอาวุธปืน และแม้ส่วนหนึ่งส่วนใดที่รัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญ และได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงก็ถือว่าเป็นอาวุธปืนนั้นด้วย ดังนั้น การที่จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองพกสั้น ไม่มีเครื่องหมายเลขทะเบียนปืนของเจ้าพนักงาน และมีลำกล้องปืนแก๊ป ๓ อัน ซึ่งเป็นอาวุธปืนตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ปืนและลำกล้องปืนดังกล่าวจะชำรุดใช้การไม่ได้ จำเลยก็มีความผิด




















หมายเลขบันทึก: 592604เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2015 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2015 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท