อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา


ค่านิยมแห่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทยคืออะไร ผมอธิบายเรื่องนี้ให้เพื่อนทั้งในแวดวงการทูตและนักข่าวต่างประเทศฟังอย่างสั้น ๆ ว่า "ภาพจำของพระเจ้าอโศกมหาราชและศาสนาพุทธในอินเดียเมื่อยามรุ่งเรืองถึงขีดสุด" นี่คืออุดมการณ์ที่หล่อเลี้ยงความเป็นไทย และมีปัญญาชนไทยหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ พระองค์เจ้าธานีนิวัฒน์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เสถียรโกเศศ นาคะประทีป ฯลฯ คอยให้ความหมายและอรรถาธิบายมาจนปัจจุบัน และชนชั้นกลางไทยรับเอามาเป็นจิตสำนึกโดยไม่รู้ตัว


อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง



โคลงบทนี้ใน "นิราศนรินทร์" เพียงสี่บรรทัดแต่ถ่ายทอด "อัตลักษณ์ไทย" ได้อย่างยอดเยี่ยม กล่าวคือ "กรุงศรีอยุธยาแตกไปแล้ว แต่กลับลอยลงมาจากสวรรค์อีกหรืออย่างไร มีปราสาทพระราชวังอันงดงามตระการตา ด้วยบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ช่วยทนุบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรือง ปัดเป่าทุกข์ให้แก่ไพร่ฟ้าชาวประชา"

บรรทัดล่างสุดของโคลงบทนี้ ถูกนำมาให้ความหมายแก่ "สัปปายะสภาสถาน" ซึ่งเป็นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างขึ้นที่บริเวณถนนเกียกกาย มีพื้นที่ราว 119 ไร่ ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะ "บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง" ความหมายคือ ฟื้นจิตใจของเมืองขึ้นมาเมื่อชาติเรามีวิกฤติในเรื่องของศีลธรรม

กลุ่มผู้ออกแบบพูดถึงแรงบันดาลใจภายใต้การออกแบบเอาไว้ว่า http://www.asa.or.th/th/node/103824

---
"สัปปายะสภาสถาน"เป็นสถาปัตย์ไทยตามคติ"ไตรภูมิ"นอกจากแสดงเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณถึงความเป็นไทย ยังมีความหมายลึกซึ้งเพื่อให้คนไทยและเหล่า ฯพณฯ ที่ดี และพวกเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลนักเลือกตั้งในเสื้อสูทประชาธิปไตย เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาจะสำนึกถึง "บาปบุญคุณโทษ"พลิกฟื้นจิตใจผู้คนให้ประกอบกรรมดีขึ้นมาบ้าง

การออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่นี้เรียกกันว่า "กระบี่ดาบเดียว" รวมเอาทุกมิติเข้าด้วยกัน อลังการงานสร้างทั้งภายใน ภายนอก ยังมีระบบคมนาคมครบวงจรรองรับทันทีที่สร้างเสร็จในปี 2558 ทางน้ำมีท่าเทียบเรือประชาชน ทางบกมีประตูเข้าออกสองด้าน ถนนโดยรอบจะขยายใหม่กว้างกว่าเดิม ใต้ดินหรูเลิศด้วยสถานีรถไฟฟ้ารัฐสภาอยู่หัวมุมทางเข้า

ชาตรี อธิบายว่า การออกแบบรัฐสภาใหม่เน้นอุดมคติ 5 เรื่อง คือ ชาติ ศีลธรรม สติปัญญา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน ตอบโจทย์ 4 ข้อคือ 1.ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจที่จะพลิกฟื้นจิตวิญญาณของคนในชาติ ในช่วงที่สังคมเกิดวิกฤตศีลธรรมขณะนี้ 2.มีอัตลักษณ์เป็นไทย เป็นคุณค่าของแผ่นดิน 3.สร้างความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐกับประชาชน และ 4.สร้างสำนึกของการคิดสร้างร่วมกันในสังคมไทย

"ตอนที่เริ่มงานเรานึกถึงรัฐสภาในฝัน เราก็เขียนถึงเรื่องใหญ่ๆ ก่อน เรื่องประชาชน เรื่องชาติ เรื่องอื่นๆ ว่าเราคิดอย่างไร แล้วเราก็ตอบคำถามทีละข้อ จนได้ออกมาว่าสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นต้องเป็นสถานที่ของการประกอบกรรมดี มีศีลธรรม เพราะชาวบ้านเลือก สส. สว. ให้เข้ามาทำความดี"

"แนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกต้องการแยกกติกาต่างๆ ออกจากกัน ระหว่างแนวคิดทางจิตใจซึ่งเป็นกติกาที่คลุมเครือ ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครดี ไม่ดี แต่ของไทยผมยังเชื่อว่าศีลธรรมกับเรื่องการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน แยกไม่ออก ฉะนั้นเราเสนอตรงนี้ก็มีอารมณ์ของการตลาดด้วย หลายคนเห็นว่าบ้านเมืองกำลังมีปัญหา มีวิกฤต คนชั้นกลางคนทุกชนชั้นใฝ่ฝันถึงศีลธรรม และคิดว่านี่จะเป็นยาวิเศษที่แก้ปัญหาของสังคมได้"
---

อย่างไรก็ตามผมคิดว่ามีบทความสองชิ้นที่วิพากษ์ "สัปปายะสภาสถาน" ได้ดี ชิ้นหนึ่ง "ประชาธิปไตยที่ตีนเขา (พระสุเมรุ) : ว่าด้วยอำนาจของภาษาสถาปัตยกรรมในอาคารรัฐสภาแห่งใหม่" ซึ่งเป็นของ ชาตรี ประกิตนนทการ http://ibmp.bus.tu.ac.th/Documents/Parliament.pdf

อาจารย์ชาตรีได้เปรียบเทียบ "อุบาย" การออกแบบระหว่าง สัปปายะสภาสถานของไทยและ อาคารรัฐสภาของเยอรมันไว้ได้อย่างแยบคายดังต่อไปนี้



"ผมอยากจะเปรียบเทียบกับรัฐสภาเยอรมันที่กรุงเบอร์ลิน (Reichstag) ที่ถูกสร้างใหม่เมื่อ ค.ศ. 1999 โดยสถาปนิก นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) เขาออกแบบสถาปัตยกรรมขึ้นมาเป็นโดมแก้วกระจกขนาดใหญ่ ครอบทับส่วนที่เป็นห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งออกแบบโดยกดให้ไปอยู่ชั้นล่าง

โดมข้างบนออกแบทางเดินวนรอบตัวโดม ซึ่งทางเดินนี้ประชาชนทุกเพศทุกวัยยกเว้นนักโทษสามารถเข้าไปเดินได้ ขณะที่เดินไปก็สามารถมองลงมาเห็นการประชุมรัฐสภาได้ มองลงไปเห็นผู้แทนของตัวเองกำลังทำหน้าที่อยู่ ภาษาสถาปัตยกรรมแบบนี้มันเป็นรูปธรรมที่แสดงถึงอำนาจของประชาชนอย่างชัดเจน ประชาชนคือเจ้าของอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรมากดข่มให้เรารู้สึกว่าเราเป็นเพียงคนต่ำต้อยอย่างไร

ในขณะที่แบบสถาปัตยกรรมรัฐสภาของไทย ปากก็พูดว่าแสดงถึงอำนาจของประชาชน แต่ตัวรัฐสภากลับกดข่มประชาชนให้เหลือตัวนิดเดียว ยิ่งถ้ามองรวมไปกับการให้ค่าในเชิงสัญลักษณ์ของพื้นที่ลานประชาชนและลานประชาธิปไตยว่าเป็นเพียงที่ปรากฎตัวของประชาชนในระดับโลกียภูมิด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องอธิบายก็คงพอจะรับรู้ถึงนัยแฝงขององค์ประกบทางสถาปัตยกรรมนี่ได้นะครับว่า เค้าให้ศักดิ์ศรีและอำนาจแก่ประชาชนมากน้อยเพียงใด"

และอีกชิ้นที่วิพากษ์เรื่องนี้ได้ดีไม่แพ้กันคือ "'เขาพระสุเมรุ' กับอาคารรัฐสภาใหม่ไทย: 'สภาวะแห่งการยกเว้น' ในฐานะกระบวนทัศน์การสร้างงานสถาปัตยกรรม" ของ ดร. วิญญู อาจรักษา งานชิ้นนี้ปรับปรุงจากบทความภาษาอังกฤษชื่อ "'Mount Sumeru' and the New Thai Parliament House : The 'State of Exception' as a Paradigm of Architectural Practices" ที่ถูกนำเสนอในงานประชุมวิชาการ Theoretical Currents : Architecture, Design and the Nation, Nottingham Trent University, United Kingdom ระหว่างวันที่ 14 - 15 กันยายน 2553 http://www.tci-thaijo.org/…/NA…/article/viewFile/10624/11327

ผมสนใจติดตามอ่านงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม ของอาจารย์ชาตรี มานานแล้ว และผมเชื่อว่ารูปแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่สะท้อนออกมาบนอาคารมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับรูปแบบการปกครอง (อาจารย์ชาตรีพูดถึงความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรและปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยคณะราษฎรและสมัยปัจจุบัน)

เช่นกัน ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้าคือ สถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่อาคารสิ่งก่อสร้าง แต่เป็นระบบการเมืองตามอุดมคติแบบไทยที่กำลังเกิดขึ้น ผมให้ชื่อโดยรวบรัดว่า "รัตติกาลประชาธิปไตย สัปปายะสภาสถาปนา" - http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4315

บทความนี้มองโลกในแง่ร้าย ที่ว่าพลังประชาธิปไตยในระยะสั้น (ซึ่งยืนพื้นฐานอยู่บนค่านิยมสากล -- ที่สำคัญคือ ค่านิยมเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย) จะไม่สามารถหยุดยั้งการปรากฎตัวขึ้นของระบอบการปกครองที่วางอยู่บนค่านิยมแห่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทยแบบนี้ได้

ค่านิยมแห่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทยคืออะไร ผมอธิบายเรื่องนี้ให้เพื่อนทั้งในแวดวงการทูตและนักข่าวต่างประเทศฟังอย่างสั้น ๆ ว่า "ภาพจำของพระเจ้าอโศกมหาราชและศาสนาพุทธในอินเดียเมื่อยามรุ่งเรืองถึงขีดสุด"

นี่คืออุดมการณ์ที่หล่อเลี้ยงความเป็นไทย และมีปัญญาชนไทยหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ พระองค์เจ้าธานีนิวัฒน์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เสถียรโกเศศ นาคะประทีป ฯลฯ คอยให้ความหมายและอรรถาธิบายมาจนปัจจุบัน และชนชั้นกลางไทยรับเอามาเป็นจิตสำนึกโดยไม่รู้ตัว

แต่อัตลักษณ์ไทยนั้นก็ไม่ได้ยืนอยู่อย่างเซื่อง ๆ มันมีพลวัตภายใน และบางครั้งถูกท้าทายจากภายนอก แต่ก็จะรักษารากเหง้าอันเป็นหลักคิดสำคัญไว้ เปรียบเสมือน "รากและใบไผ่" https://www.scribd.com/doc/227538481/Thai-Identity...

(บทความชิ้นนี้ ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ Redefine Thailand : นิยามใหม่ประเทศไทย ของ SIU)

ส่วนบทความวันนี้ของ ชัยอนันต์ สมุทวนิช : "Co-habitation" ก็มีไอเดียทำนองนี้ คือให้ปรับเป็นสภาเดียว แต่มีการสรรหาตัวแทนจากภาควิชาชีพมาด้วย http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx...

ส่วนอีกบทความของ "สิริอัญญา" ก็พูดในทำนองเดียวกัน คือการสรรหา สส จากสายวิชาชีพ http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx...

เมื่อเทียบกันสองบทความแล้ว ผมมองว่าบทความชัยอนันต์ดูลุ่มลึกน่าฟังกว่า ของสิริอัญญาซึ่งใช้คำแรงอย่าง "สัดว์เดรัจฉาน มหาโจร อัปปรีย์ไป-จัญไรมา ฯลฯ" แต่บทความทั้งคู่ก็เสนอแนวคิดเดียวกัน คือทอนอำนาจรัฐสภา ที่มีที่มาจากประชาชนโดยตรงลง และเพิ่มตัวแทนสรรหาที่มีแนวโน้มอุดมการณ์ไปทางฝ่ายชนชั้นนำมากขึ้น (ระบบแบบนี้ได้ทดสอบใน ระบบวุฒิสมาชิกแล้ว แม้คุมไม่ได้ร้อยละร้อย แต่ก็นับว่าคานอำนาจ สส จากพรรคการเมืองได้ดีพอใช้)

ที่ผมพูดว่า "มองโลกในแง่ร้าย" เรื่องพลังประชาธิปไตยไม่สามารถยับยั้ง "สัปปายะสภา" ในระยะสั้นได้ เพราะดูประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวมวลชนที่ผ่านมา ว่าไม่เคยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง --- ซึ่งจะเกิดได้จากสองกรณี คือการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่น ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินทำลายองคาพยพของรัฐบาล เช่นยุบพรรคการเมือง ถอดถอนนายกฯ เป็นต้น (แต่ศาลเป็น passive power ในขณะที่กองทัพเป็น active power) ดีที่สุดเท่าที่ทำได้คือ คณะรัฐประหารถูกกดดันให้ร่างรัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด แต่กระนั้นเวทีการร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นของฝ่ายชนชั้นนำอยู่ดี

ต่อไปนี้ ก็คงจะมีวาทกรรมเรื่อง นักการเมืองทราม คู่ไปกับการปฏิรูปการเมืองที่กินได้และมีคุณธรรมอะไรทำนองนี้เผยแพร่ออกมาเป็นระยะเพื่อสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้กับการแก้เขียนธรรมนูญที่มีตัวแทน สส. จากการสรรหา

คำสำคัญ (Tags): #สัปปายะสภาสถาน
หมายเลขบันทึก: 592359เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2015 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2015 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท