การเข้าร่วมสัมนาทางวิชาการ ....ตลาดนัดความรู้ km สู่การปฎิบัติของ 13 มหาวิทยาลัยราชภัฏ


          

                 การจัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการตลาดนัดความรู้ KM สู่ภาคปฏิบัติ

                จู่ ๆ วันนึงก็ถูกเรียกตัวด่วนเพื่อเป็นหนึ่งในตัวแทนไปเข้าร่วมสัมมนา KM (อะไรกันหนอ นึกในใจเล่น ๆ เหมือน MK หรือปล่าว แล้วมันสำคัญอย่างไรกันหนอ : )  พร้อมทั้งได้รับเอกสารบางอย่างมาอ่านล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมตัวไปเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว ซึ่งเน้นย้ำมาว่า จะเข้าสู่ภาคปฏิบัติกันอย่างเดียว ทฤษฎีไม่ต้อง ..... (ดีจัง คิดในใจเล่น ๆ)
                 สำหรับการสัมมนาเริ่มตั้งแต่วันที่ 9-11 ตุลาคม 2548 ซึ่งในการไปครั้งนี้ก็มีบรรดาตัวแทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 13 แห่งด้วยกัน โดยผู้เข้าร่วมก็จะมีทั้งที่เป็นระดับผู้บริหาร และอาจารย์  สำหรับเราชาวราชนครินทร์ก็ไปกันทั้งสิ้น 8 ท่านซึ่งประกอบไปด้วย ผศ.สรวยสม จิตรรัตน์ ,ผศ.พิศิษฐ์  เมลานนท์,ผศ. สุนาฎ จันทนา, ดร.จารุวรรณ สิงห์ม่วง,อ. เพ็ญศรี ปักกะสีนัง,
อ. จักรพันธ์ ปิ่นทอง,อ.อารียา บุญทวี และ อ. นุชจรินทร์ อาจปรุ โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ
                1. เพื่อประชุมปฎิบัติการ การนำการจัดการความรู้สู่การจัดการเรียนการสอนบุคลากร องค์กรปกครองท้องถิ่น 
                2. เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏ 13 แห่ง
                 ย้อนกลับมาที่  KM พอไปอ่านเอกสารที่ให้มาไอ้เจ้า KM นี้ก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร โดยก็มีขั้นตอนที่อธิบายไว้ตามทฤษฎี  แต่แรก ๆ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก พอเข้าสู่การสัมมนา ก็ได้ยินวิทยากรพูดว่า km ไม่ทำไม่รู้ (แสดงว่าต้องทำ เป็นการบังคับไปในตัวหรือปล่าว คิดในใจอีกเหมือนกัน : )


               KM กับโมเดลปลาทู  

               จริง ๆ แล้ว KM (knowledge management) หรือการจัดการความรู้เพื่อให้เข้าใจง่ายผู้เขียน(ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด) ได้หยิบยก KM เปรียบเทียบกับโมเดลปลาทู โดยแบ่งเป็นสามส่วนด้วยกัน
               ส่วนที่ 1 ส่วนหัวปลา KV (Knowledge Vision) มองว่ากำลังจะไปในทิศทางไหน (เปรียบกับเป้าหมายของค์กร)
               ส่วนที่ 2 ส่วนตัวปลา KS (Knowledge Sharing) ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน)
               ส่วนที่ 3 ส่วนหางปลา KA (Knowledge Assets) เป็นการสร้างคลังความรู้ ให้เป็นที่เผยแพร่ หรือเชื่อมโยงเครือข่าย โดยการใช้ ICI ในการสร้างคลังความรู้ (จัดเก็บขุมความรู้)ที่ง่ายต่อการใช้งาน ง่ายต่อการค้นหา และง่านต่อการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

               

              จากทฤษฎีลงสู่ภาคปฎิบัติ
             
             และแล้วการสัมมนาก็เริ่มขึ้น โดยสรุปแล้วกิจกรรมที่เราทำกันตลอด 3 วัน (ที่จริง 2 วันครึ่งเพราะลงทะเบียนจริง ๆ ก็ตอนเที่ยงครึ่งแหละค่ะ) 
           1. กำหนดหัวปลา (KV) ในหัวข้อเรื่อง "การจัดการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศของผู้เรียนและชุมชน
           2. กระบวนการทำ KS
           วิธีการ 
 
          2.1 วิทยากรจะทำการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนาออกเป็น 8 กลุ่ม แล้วให้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเรื่องเล่า (Story Telling) ก่อนเล่าก็จะมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่ม (ก็จะมีศัพท์แปลก ๆ ที่นำมาเรียกกันในกลุ่ม เพื่อเป็นการสมมติบทบาทของแต่ละคนนั่นเอง ) ประกอบไปด้วย
           2.1.1 คุณอำนวย ทำหน้าที่คอยเป็นผู้อำนวยและดำเนินการต่าง ๆ ในกลุ่มเพื่อให้เป็นไปตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้
           2.1.2 คุณลิขิต  เป็นผู้คอยจดบันทึกข้อมูลจากการเล่าของสมาชิกในกลุ่ม
           2.1.3 คุณกิจ    เป็นผู้ร่วมกันปฎิบัติกิจกรรมโดยนำเอาเรื่องเล่าที่ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ตนเองมีประสบการณ์จริงมา ซึ่งในที่นี่ก็จะให้ทุกคน(ไม่เว้นแม้คุณอำนวยหรือคุณลิขิตเอง)
เล่าถึงความประสบการณ์การจัดการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศที่ได้ปฎิบัติมาแล้วประสบผลสำเร็จ ซึ่งเรื่องเล่าแต่ละเรื่องถือเป็นขุมความรู้ แล้วให้ทุกคนช่วยกันสรุปประเด็นความรู้จากเรื่องเล่าที่ได้รับฟัง แล้วมานำเสนอในแต่ละกลุ่มซึ่งมีทั้งหมด 8 กลุ่ม ซึ่งในแต่ะลกลุ่มก็จะได้ประเด็นความรู้ที่หลากหลาย จากนั้นทุกกลุ่มก็จะมาช่วยกันสกัดและสังเคราะห์หาแก่นความรู้เพื่อจัดเป็นหมวดหมู่ (หรือเรียกว่าปัจจัยหรือองค์ประกอบ)ที่ทำให้หัวปลา (เป้าหมาย) ประสบผลสำเร็จ ซึ่งจากหัวข้อที่เราตั้งไว้ เมื่อทำ KS แล้ว ได้องค์ประกอบทั้งหมด 8 ข้อด้วยกัน คือ
                    1. มีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย
                    2. วิจัยและพัฒนา
                    3. เรียนรู้จากการปฎิบัติจริง
                    4. ใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย
                    5. ผู้เรียนเป็นสำคัญ
                    6. ผู้สอนมืออาชีพ.
                    7. นำความรู้สู่ชุมชน
                    8. เอื้ออาทร/ใจถึงใจ
*** การกำหนดบทบาทของสมาชิกในกลุ่มยังมีอีกหลายคน นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ เช่น คุณเอื้อ คุณประสาน คุณประโยชน์ คุณสนอง ฯ เป็นต้น



บรรยากาศของการสังเคราะห์แก่นความรู้


           2.2 นำแก่นความรู้มาจัดระดับขีดความสามารถ โดยเครื่องมือที่ใช้ทำเรียกว่า ตารางอิสรภาพ  ซึ่งก็จะให้แต่ละกลุ่มนำแก่นความรู้ทั้งหมดมากำหนดรายละเอียดของเกณฑ์ในแต่ละระดับ จากระดับที่ 1(เริ่มต้น) - ระดับที่ 5 (ดีเยี่ยม) แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกันทั้งหมดอีกครั้งเพื่อหาเกณฑ์ที่จะให้จริง ๆ

การกำหนดเกณ์การประเมิน 

ตัวอย่างการจัดระดับเกณฑ์การประเมินของแก่นความรู้ "เรียนรู้จาการปฎิบัติจริง"


           2.3 ประเมินตนเองตามตารางอิสรภาพ เป็นการประเมินตนเองว่าในแต่ละแก่นความรู้นั้น ขณะนี้องค์กรของเรา ณ ปัจจุบัน (Current) อยู่ในระดับใด และเป้าหมายในอนาคต (Target) ต้องการให้อยู่ระดับใด  (คำว่าอิสรภาพที่ใช้เป็นชื่อของตาราง หมายถึง ทุกคนในหน่วยงานมีอิสระในการร่วมกันคิดเกณฑ์สำหรับการประเมินและประเมินสถานภาพของตนเองได้อย่างอิสระ)
          ตัวอย่าง ตารางอิสรภาพ ที่ได้ช่วยกันทำออกมา

 

ร่วมกันประเมินตนเองจากตารางอิสรภาพ


          2.4 จัดทำแผนภูมิแม่น้ำ (ธารปัญญา) โดยการนำผลการประเมินตนเองของแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 13 แห่งมาสร้างกราฟ โดยที่แกนนอน (x) เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือแก่นความรู้ หรือขีดความสามารถหลัก ส่วนแกนตั้ง (y) เป็นแกนที่แสดงค่าเกณฑ์การประเมินจากระดับ 1-5  เมื่อระบายสีช่วงความกว้างของระดับขีดความสามารถทั้งหมดจะได้รูปขีดความสามารถของแต่ละแห่งออกมาในรูปของแผนภูมิแม่น้ำซึ่งแต่ละแห่งสามารถที่จะเปรียบเทียบกบกลุ่ม (แม่น้ำ) ทำให้เห็นสถานภาพของตนเองว่าอยู่ตรงไหนของกลุ่ม ถือเป็นการเทียบเคียงสมรรถนะ (Bechmarking)  อย่างหนึ่ง ซึ่งจำทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา หรือได้วิธีการปฏบัติที่ดีที่สุด
          2.5 การสรุปผลหลังการจัดกิจกรรม (การทำ After Action  Review :AAR) เป็นการสรุปผลหลังการจัดกิจกรรม โดยให้แนะนำตนเอง ทบทวนเป้าหมายวัตถุประสงค์ของตนเองในการทำกิจกรรมครั้งนี้ อะไรที่ทำแล้วบรรลุวัตถุประสงค์ อะไรที่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ แล้วจะทำอะไรต่อไป มีส่วนใดบ้างที่ต้องปรับปรุงในการทำกิจกรรม โดยให้ทุกคนพูดจากใจจริง พูดแบบเปิดใจ และเป็นอิสระ
         3. การจัดทำคลังความรู้ (KA)โดยประยุกต์ใช้ ICT วิทยากรได้ยกตัวอย่างการใช้ blog ซึ่งเป็นแหล่งที่จะใช้แชร์ความรู้ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของการสมัครเป็นสมาชิก  (คล้าย ๆ กับกระดานข่าว แต่ดีกว่าตรงที่เราจัดการข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ และมีพื้นที่ในการใช้มากกว่า ) แล้วทำการจัดพิมพ์ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ลงใน blog ซึ่งจะเป็นการแชร์ความรู้ที่ได้อีกวิธีหนึ่ง

          ซึ่งจาการทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้เราได้เห็นแนวทางและกระบวนการนำ KM ไปปฎิบัติใช้ในองค์กร ซึ่งในที่นี้ก็จะมีข้อคิดในการทำ KM ดังนี้

         ข้อคิดที่ 1 : องค์กร KM เป็นอย่างไร
         1. บุคลากรต้อง
ใฝ่รู้ใฝ่เห็น
         2. มีการสร้างแลสานวิสัยทัศน์โดยความร่วมมือของทุกคนในองค์กรจัดทำ KV ให้ชัดเจน แต่ละด้าน
         3. มีการปรับกระบวนทัศน์ คือปรับกระบวนการคิดของคนในองค์กร ให้รู้จักคิดแบบใหม่ ๆ และมีมุมมองใหม่ ๆ    หรือจินตนาการใหม่ ๆ
         4. ต้องเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team-Learning) ต้องเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม มีสมาชิกทุกส่วนหรือหลากหลายร่วมกันทำงาน เปรียบเทียบกับสัตว์ต่อไปนี้
             - อินทรีย์ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองภาพรวม ไม่สนใจรายละเอียด ถือเป็นนักวางแผนชั้นยอด
             - หมี เอาใจใส่ สนใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ  เป็นนักปฎิบัติชั้นเลิศ
             - กระทิง ลุย เบิกบาน ชอบคิดทำโปรเจ็คต่าง ๆ  ไม่ชอบทำงานย่อย ๆ  เป็นนักคิดหัวก้าวหน้าชั้นนำ
            - หนู เฮฮา ปาร์ตี้ เป็นนักมนุษยสัมพันธ์ชั้นเยี่ยม

           ***(อ่านแล้ว....เราเป็นตัวไหนกันหนอ แล้วคนในองค์กรเราละ มีประเภทไหนเยอะกันนะ)

          ข้อคิดที่ 2 : ในการทำงานกับท้องถิ่น

          1. รวมพลังทางบวก
          2. ทำงานหนักขึ้นเพื่อให้สังคมรู้ว่าเรามีความหมายต่อสังคม
          3. มหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้บริการ คนมาเรียนเป็นผู้รับการ
          4. ทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคม แล้วสังคมจะปกป้องเรา
          5. เวลานี้เป็นโอกาสทองของชาวราชภัฎ ที่จะให้สังคมรับรู้ว่าเราทำงานเพื่อสังคม-ท้องถิ่นอย่างแท้จริง 

          ข้อคิดที่ 3 : สรุปการปฎิบัติการ KM

          1. ใช้ KM พัฒนาคน ให้มีความรู้ และให้คนพัฒนางาน ให้มีประสิทธิภาพ
          2. การปฎิบัติการ KM เบื้องต้
              2.1 นำกลุ่มคนทำงานที่ใช้ความรู้ มากำหนดเป้าหมายทิศทางการทำงานร่วมกัน แบ่ง 
                    ปันความรู้ภายใต้หัวข้อที่กำหนดขึ้น 
              2.2 สกัดความรู้จากความสำเร็จว่ามปัจจัยใดบ้างสู่ความสำเร็จ ทำให้ได้แก่นความรู้
              2.3 นำแก่นความรู้ทั้งหมดมากำหนดเกณฑ์ เพื่อวัดตนเอง โดยมีเครื่องมือ KM ช่วย เช่น ตารางอิสรภาพ แผนภูมิแม่น้ำ เป็นต้น
              2.4 เปรียบเทียบเป้าหมาย กับ Baseline ระยะห่างหรือ Gap คือส่วนที่ขาดหายไป ที่จะต้องหาวิธีการปฎิบัติที่ดีที่สุด
              2.5 เปรียบเทียบตนเองกับองค์กรอื่น เพื่อหาวิธีการปฎิบัติที่ดีที่สุด

              ข้อคิดที่ 4 : เตรียมใจให้พร้อม
              
              ผู้เข้าร่วม KM ต้องถอนหัวโขน ถอดตำแหน่งก่อน เพื่อให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างธรรมชาติ จะทำให้ได้ประเด็นที่มีประโยชน์สูงสุด
              หัวใจ KM อยู่ที่การถอดใจ ความภูมิใจของแต่ละคน ทำใจให้ปลอดโปร่ง ได้ฟังแนวความคิดจากเพื่อน ให้ความชื่นชมยินดี กับความสำเร็จของเขา จุดสูงสุดของ KM คือ ทุกคนเกิดกำลังใจในการทำงาน เกิดแนวคิด เกิดกัลยาณมิตร เกิดความรู้ เกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลและพัฒนากันและกัน

              และกิจกรรมสุดท้ายที่เราทำกันก็คือ ระดมความคิด การจัดการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศของผู้เรียนและชุมชน โดยสมาชิกในแต่ละกลุ่มได้ร่วมกันระดมความคิดเพื่อร่วมพัฒนา KM ขององค์กร ใน 3 ประเด็น คือ

             1. รูปแบบการเกาะเกี่ยวของเครือข่าย มีแนวทางดังนี้
                 1.1 การจัดทำ KM ต้องมีเครือข่ายเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยอาจจะมีแม่ข่ายเป็นศูนย์ประสานงานกลาง
                 1.2 มีคณะกรรมการอำนวยการ KM ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็น กรรมการ
                 1.3  มีคณะกรรมการดำเนินการ KM อาจจะประกอบด้วย คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการ ศูนย์/สำนัก รองผู้อำนวยการศูนย์/สำนัก และผู้เข้าร่วมอบรมสัมมนาในโครงการนี้
                 1.4 จัดทำแผนยุทธศาสตร์ KM ร่วมกันทั้ง 13 มหาวิทยาลัยราชภัฏ
                 1.5 ให้มีการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับ KM
                 1.6 ร่วมประชุมสัมมนาเรื่อง KM อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของการปฎิบัติการ KM ของแต่ละแห่ง โดยให้ถือเป็นประเพณี 

               2. การขับเคลื่อน Blog มีแนวทางดังนี้
                  2.1 ให้มีการตกลงร่วมกันระหว่างอธิการบดีทั้งหมดในการขับเคลื่อน Blog
                  2.2 จัดให้มี Blog สำหรับ 13 มหาวิทยาลัยราชภัฏราชภัฎ
                  2.3 ให้ติดต่อผ่านอีเมล์ โทรศัพท์มือถือ และ Blog เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

               3. การนำ KM ไปสู่ภาคปฎิบัติในมหาวิทยาลัย มีแนวทางดังนี้
                   3.1 โครงสร้าง KM ในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชภัฎ ประกอบด้วย
                          3.1.1 คณะกรรมการระดับมหาวิทยาลัย (กรรมการอำนวยการ)
                          3.1.2 คณะกรรมการระดับคณะ ศูนย์ สำนัก  (ผู้จัดการ KM)
                          3.1.3 คณะกรรมการร่วมปฎิบัติการ (ทุกคนในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชภัฏ)
                   3.2 การขยายผลมหาวิทยาลัยราชภัฏราชภัฎ มีขั้นตอน ดังนี้
                         3.2.1 รายงานผลการอบรม สัมมนา เสนอต่อมหาวิทยาลัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง
                         3.2.2 ทีมงานปรึกษาหารือกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งคณะทำงาน
                         3.2.3 จัดอบรมให้ความรู้เรื่อง KM ให้กับทุกคนในมหาวิทยาลัย และชี้ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ KM ที่มีต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย

                4. แนวทางการนำ KM มาจัดการศึกษาให้กับบุคลากรในท้องถิ่น
                    4.1 ด้านการบริหารจัดการหลักสูตร ได้แก่
                          4.1.1 สร้างหลักสูตร โดยใช้ KM
                          4.1.2 พัฒนาหลักสูตรร่วมกันกับชุมชน นำ KM สู่ครูและพระสงฆ์
                          4.1.3 จัดให้มีกระบวนการ KM ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพและการจัด
                                   สัมมนา
                          4.1.4 ให้มีการเทียบประสบการณ์ของผู้เรียน
                    4.2 ด้วนกระบวนการจัดการเรียนการสอน
                         4.2.1 ใช้ KM เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนให้มากที่สุด
                    4.3 ด้านการเชื่อมโยงระหว่างองค์กร เครือข่าย ชุมชน ฯลฯ
                          4.3.1 มีการจัดประชุม สัมมนา เรื่อง KM และลงมือปฏิบัติจริง ร่วมกับชุมชน
                          4.3.2 สร้างเครือข่าย KM

                    จะเห็นได้ว่า KM นั้นเป็นกระบวนการหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาองค์กรเป็นอย่างดียิ่ง และก็คงจะมิแปลกที่ท่านวิทยากรได้พูดไว้แต่แรกแล้วว่า KM ไม่ทำไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราชาวราชนครินทร์เมื่อได้รับทราบแล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเป็น KM เต็มตัวเพราะถ้าเป็น KM จริง ๆ ต้องลงมือปฎิบัติเท่านั้นค่ะ : )





















 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5917เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2005 02:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

    beeman ปฏิเสธการเชิญชวนเข้าร่วมชุมชนเนื่องจากชุมชนสารภี-KM มีบล็อกที่มีบันทึกอยู่แค่ 1 บันทึก แต่ก็ขอขอบคุณที่ชวนให้เข้าร่วมชุมชน

    อันที่จริงน่าจะขอเข้าร่วมชุมชน BeemanNUKM จะยินดีมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท