"ดุเรียนบางกอก กับวัฒนธรรมทุเรียน"



เมื่อหลายวันก่อนได้อ่านบทความของอาจารย์นักมานุษยวิทยาชื่อดังที่ช่วงหลังผันมาจับเรื่องการเมืองสีเสื้ออย่างเต็มตัว 'จารย์แกเขียนเรื่องวัฒนธรรมทุเรียน อ่านแล้วก็งงๆว่างัยกลายเป็นเรื่องกระแทกแดกดันความเป็นไทย กระทบชิ่งไปถึงเรื่องการเมืองคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจนได้ แกเขียนถึงวัฒนธรรมการกินทุเรียนไทยสายพันธุ์โมเดิร์นเทียบกับทุเรียนพื้นเมืองในย่านอุษาคเนย์ ทั้งที่เวียดนาม มาเลย์และแถวภาคใต้...ไม่ยักกะมีของภาคตะวันออกนิ จนให้ต้องคัดลอกเนื้อหามาบางส่วน...

"นี่จึงทำให้คิดว่าทุเรียนต้อง "ไม่ไทย" แน่ๆ และคิดต่อไปว่า แล้วทุเรียนไทยขึ้นชื่อ (คงเฉพาะกับลิ้นไทยๆ) อย่าง "หมอนทอง" กับ "ก้านยาว" น่ะ โมดิฟายหรือดัดแปลงมาหรือเปล่า เพราะฟูมฟายฟุ้งเฟ้อเกินทุเรียนท้องถิ่นหลายที่มากนัก".....

"ลุงกวีบอก "ไปหาทุเรียนในตลาดที่นี่กินกันเถอะ" ลุงกวีบอกอีกว่า "ทุเรียนเมืองไทยไม่อร่อย พูใหญ่เกิน หวานเว่อ สู้ทุเรียนท้องถิ่นในมาเลเซียก็ไม่ได้ ที่นี่น่าจะมีทุเรียนท้องถิ่นเหมือนกัน ไปหาชิมกันเถอะ" ผมตอบรับคำชวนโดยไม่ลังเลด้วยความตื่นเต้นว่าจะได้ลิ้มรสทุเรียนใน "มุมลิ้น" ของชาวมาเลย์เจ้าของวัฒนธรรมทุเรียน".....

"แต่ที่ไม่คาดคิดคือได้กินทุเรียนท้องถิ่น 2 พันธุ์ ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว แต่จำรูปทรง สัมผัส กลิ่น และรสได้ว่าลูกกลมกลึง ขนาดกะทัดรัด เนื้อแนบบางติดเมล็ด กลิ่นหอมชื่นใจ แต่ละพันธุ์มีกลิ่นและสีสันเฉพาะตัว ทำให้ต้องทำความเข้าใจทุเรียนเสียใหม่ ต้องทบทวนว่าก้านยาว (ซึ่งขณะนี้แพงไร้เหตุผล) และหมอนทอง (ทุเรียนพูอวบหวานจัด ซึ่ง พ.ศ.นี้กลายเป็นทุเรียนดาดๆไปเสียแล้ว) มันอร่อยตรงไหน"....

"นี่ชวนให้อยากคิดโรแมนติกว่า นอกจากเราควรรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว มารณรงค์ฟื้นฟูทุเรียนท้องถิ่นกันเถิด".....

ขอแปะเรื่องวัฒนธรรมดุเรียนมาเลย์ของอาจารย์ไว้แป๊บ แล้วหันมาดูวัฒนธรรมทุเรียนของสวนเมืองจันท์ซักหน่อยก่อน ยกของสวนที่บ้านเก่ามาเลย ปลูกกันมาตั้งแต่สมัยปู่รุ่นย่ายังหนุ่มสาว เป็นพันธุ์โบราณซึ่งเข้าใจว่าคงนำเข้ามาจากทางใต้นานแล้ว มีหลายพันธุ์ เช่น อีกบอีปาด กบเล็บเหยี่ยว ชายมะไฟ ย่ำสวาด กระดุม พวกนี้เห็นต้นเบ้อเริ่มสูงปรี๊ดมาตั้งแต่ผมตัวเท่าขี้ไก่ แล้วก็เห็นพ่อเอาชะนี ก้านยาวตามมาปลูก พอเขาพัฒนาหมอนทองได้ก็เอามาปลูกบ้างทีหลังสุด แล้วจากนั้นก็หยุดเพราะมันเกิดโรคระบาดโคนเน่าตายไปหลายต้น

ทุเรียนโบราณเม็ดมักจะใหญ่ ชาวบ้านเขาเรียกเม็ดนะครับ เขาไม่เรียกเมล็ดกันเลยเท่าที่ผมได้ยินมา ถ้าใครเรียกเม็ดทุเรียนว่าเมล็ดนี่เชยในสายตา เขาว่าพวกนี้มาจากเมืองกรุง เจ้ากระดุมลูกเล็กกลมเนื้อมักบางน้อย อีกบ ย่ำสวาดก็เม็ดโตมีเนื้อพอได้เคี้ยวเหมือนกัน ที่ผมชอบคือกบเล็บเหยี่ยว ชื่อมาจากหนามแหลมโง้งกว่าใครๆ กับชายมะไฟเนื้อออกแดงเข้ม เนื้อเยอะอุบกว่าพวกกระดุมและอีกบ มักได้กินตอนมันร่วงสุกเต็มที่แล้ว คงไม่มีใครนึกอยากจนต้องปีนขึ้นไปเคาะไปตัดบนต้นสูงเสียวกับกิ่งเปราะหักง่าย

ทุเรียนพวกนี้ถ้าไม่แกะกินเลยทิ้งไว้ค้างคืนจะงอมมากแกะออกมาเนื้อเละรสออกขมปนหวานกลิ่นหวนแรงเลยทีเดียว เวลากินส่วนใหญ่ก็ดูดๆเอาไม่ต้องเคี้ยวถ้าเม็ดโต ยกเว้นใครที่ไม่ชอบกินก็มี เยอะด้วย แล้วพาลจะอ้วกเวลาคนกินทุเรียนเรอเหียนออกมา ไม่ต้องอยู่กันละวงแตกยิ่งกว่าตดเหม็นๆของบางคนหลายเท่า...ปู่ผมชอบมากกินทุเรียนกับข้าวสวยเลยล่ะ สมัยเด็กๆผมก็กินทุเรียนกับข้าวเป็นประจำ หลังๆจึงเอามากินกับข้าวเหนียวมูล

ส่วนชะนี ก้านยาวกับหมอนทอง เป็นสายพันธุ์พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อขายเนื้อเยอะและเม็ดเล็กซึ่งเขาเรียกว่าเม็ดตาย ก้านยาวจะแกะยากกว่าตัวอื่นเพราะมันรัดไส้ แรงแขนข้อมือไม่ดีแกะก้านยาวไม่ได้นะ เวลาลูกแก่ถึงเวลาขายก็ขึ้นไปตัดลงมาบ่มสามสี่วัน เข้าใจว่าเป็นที่มาเริ่มต้นของวัฒนธรรมการได้กินทุเรียนสุกกำลังดียังไม่งอมเกินไป ติดใจในรสชาติหวานมันไม่ขมและไม่ส่งกลิ่นออกไปรบกวนคนเหม็นทุเรียนมากจนเกินพอดีพอทน สังเกตใช้คำว่า "แกะ"ไม่ได้ใช้คำว่า "ปอก" เพราะต้องออกแรงแงะแหกพูให้เปิดอ้าก่อนจะแกะออกมากิน คนแกะไม่เป็นมือฉีกจากหนามทุเรียนมานักแหล่ว ส่วนพ่อค้าเดี๋ยวนี้จะใช้วิธีปอกปาดหน้าพูกันแทนเพื่อรับรองลูกค้าพวกที่ชอบกินทุเรียนห่ามๆแข็งๆไม่เหม็นฉุนมาก ตามลิ้นตามปากว่ากันไป

ใครปลูกทุเรียนเพื่อขายนี่ต้องดูแลยิ่งกว่าลูกจะบอกให้อาจารย์ ตั้งแต่บำรุงต้นบำรุงใบจนออกดอกแต่งดอกแต่งลูกดูแลให้โตสวยครบพู ขึ้นโยงลูกโยงต้นกันกิ่งฉีก ไม่นับจังหวะเข้าน้ำกะเกณฑ์เดาฝนฟ้ามาไม่มามากน้อยอีกสารพัด ต้องถึงทั้งน้ำ ปุ๋ยและยา ซึ่งใช้เยอะมากคนทำสวนเลยมักจะตายก่อนได้ใช้เงิน ดูแลไม่ถึงติดลูกดีๆฝนลงโครมร่วงหมดลัดใบอ่อนทันที...เศร้ากันเป็นสวนๆ บ้านผมใช้ภาษา "ร่วงหมด" ว่า "ร่วงเฉ่ด" นะอาจารย์ หรือลูกกำลังรุ่นแต่งสวยๆไม่นานก็จะลงมีดตัดขาย ลมฝนหน้าร้อนมาเป็นช่องตึงเดียวโค่นเฉ่ดดดดเกือบหมดสวน....เศร้ากันไปอีกหลายสวน

สวนที่บ้านเก่าพอหยุดใช้ยาไม่ตัดแต่งปล่อยให้ธรรมชาติดูแลลูกทุเรียนตอนหลังๆออกมาก็บูดๆเบี้ยวๆ ติดลูกน้อยร่วงซะเยอะ มีหนอนเจาะเป็นพูๆไป หาลูกสมบูรณ์ยาก แกะมาก็แฉะน้ำบ้างเนื้อไหม้บ้างไรบ้าง เลยไม่ค่อยได้ขายหล่นมาก็ไว้กินกับแจกจ่ายเพื่อนพี่น้อง....จนถึงหมาเฝ้าบ้าน ถ้าปีไหนเหลือเยอะๆก็แกะมากวนกัน ใช้กระทะทองเหลืองขนาดใหญ่ กวนเป็นชั่วโมงๆบนเตาถ่านกว่าจะได้ที่มือหงิกกันเป็นคนๆไป

วกกลับมาเรื่องวัฒนธรรมทุเรียนของอาจารย์นักมานุษยวิทยา ทุเรียนที่ขายดีในสมัยนี้ก็หมอนทองนั่นแหล่ะ มีสองแบบพันธุ์หนามเขียวกับพันธุ์หนามเหลือง ขายดีกว่าแพงกว่าชะนีเพราะมันอร่อยติดปากคนอื่นจนส่งออกไม่ทัน ไม่ใช่นิยมเพราะลิ้นคนกรุงคนเมืองหรือคนไทยแค่นั้น อาจารย์ไม่เคยมาเห็นล่ะซิแถวบ้านผมน่ะ คนจีนทั้งไต้หวัน แผ่นดินใหญ่มาเช่าที่ตั้งล้งรับซื้อใหญ่ๆทั้งนั้น คนไทยตั้งล้งส่งออกเองก็เยอะตามถนนสุขุมวิทตั้งแต่ท่าใหม่ยันขลุงตราด คัดแต่หัวๆลงกล่องขึ้นคอนเทนเนอร์ติดแอร์เย็นฉ่ำลงเรือออกไปวันนึงๆไม่รู้กี่เที่ยว ที่เพื่อนๆอาจารย์ได้กินเป็นประจำทุกปีน่ะเป็นทุเรียนตกไซ้เกรดสองสามลงมา

เขาชอบมากคนจีนอ่ะชอบกินทุเรียนไทยโมเดิร์นพันธุ์หมอนทอง เขาไม่กินหรอกทุเรียนเม็ดโตพันธุ์พื้นเมือง แล้วก็ไม่ใช่แต่ลิ้นคนไทยคนจีนนะ สิงคโปร์อินโดนีเซียโน่นก็แบบคลั่งกับทุเรียนไทยโมเดิร์นพันธุ์หมอนทอง อันนี้ไม่นับก้านยาวพันธุ์นนท์ ซึ่งแพงเว่อร์เพราะแบรนด์มากกว่าจะแพงเพราะความอร่อย ซึ่งว่าไปอร่อยลิ้นไม่ต่างจากก้านยาวบ้านผมเท่าไรนัก คงเป็นในแบบเดียวกับนาฬิกาคลองถมกับโรเล็กซ์มั้งถ้าจะเอามาเทียบกัน

ที่อินโดนีเซียมีคนเอาทุเรียนพันธุ์หมอนทองไปทดลองปลูกเยอะแล้วหลายสวนบนเกาะชวา ทั้งที่เขาก็มีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ผสมหลายอยู่ ผมเคยเขียนถึงไปแล้วขี้เกียจพิมพ์ให้เมื่อยข้อนิ้วอีก ซึ่งต้องขอบอกอาจารย์ไว้ตรงนี้ว่า ทุเรียนไม่ใช่เป็นวัฒนธรรมของมาเลย์แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมตั้งแต่เกาะกะลิมันตัน ชวา สุมาตรา มาลายู ไล่ขึ้นมาจนถึงปากใต้บ้านเรา บนเกาะสุมาตรานี่แม้แต่เสือยังชอบกินทุเรียน มีเรื่องเล่าเลยว่าเสือจะจำต้นและฤดูทุเรียนสุกได้ ถึงขนาดมาเวียนเฝ้ากินทุเรียนป่าทุกปี และจำได้ว่าครั้งนึงในป่าบนเกาะกะลิมันตันยังได้ดูดกินเม็ดทุเรียนป่าลูกเล็กขนาดกำปั้นที่ร่วงหล่นจากต้นสูงลิ่วแหงนคอตั้ง

ชาวอินโดนีเซียเรียกทุเรียนหมอนทองอย่างคุ้นเคยในอีกชื่อว่า "ดุเรียนบางกอก" คำว่า "บางกอก" มีความหมายสำคัญมากบนริมฝีปากของคนที่นั่น เพราะหมายถึงของกินอะไรก็แล้วแต่ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ และรสชาติอร่อย เช่น "ปาปาย่าบางกอก" "จัมบู้บางกอก" "มังก้าบางกอก" "อะยัมบางกอก" เป็นต้น เขายกย่องเรามากทางด้านการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ ถ้าร้านไหนขายของกินพวกนี้แล้วตั้งชื่อต่อท้ายว่า "บางกอก" จะเป็นที่นิยมมาก คำนี้จึงเป็นคำสามัญทางการตลาดแทนสิ่งที่ใหญ่กว่าปกติไปแล้วในสายตาของเขา ในแบบเดียวกับที่เราเรียก "มาม่า" แทนบะหมี่กึ่งสำเร็จทั่วๆไป

คนที่ชอบกินทุเรียนพื้นเมืองก็ยังมี ชอบรสหวานขมกลิ่นรุนแรงดูดกินแล้วเรอสนั่นบ้านแตก ต้องไปกินไกลๆคนที่ไม่ชอบและถ้าจะเรอต้องออกไปนอกบ้านหรือไม่ก็ต้องทนหูชาซักหน่อย ส่วนคนที่ชอบรสหวานมันอุบลึกก็เยอะ ส่วนผมมันชอบทั้งสองแบบกินได้ทั้งหวานขมหวานมัน และมักแกล้งเรอใส่คนที่ไม่ชอบกินทุเรียนไม่ว่าพันธุ์ไหน แล้วนั่งฟังเสียงสบถก่นด่าเอาฮาพอได้มัน

ผมว่าบางทีอคติจากสีเสื้อมันอาจทำให้บดบังความคิดดีๆหลายเรื่องในสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ จนหลายครั้งกลายเป็นการมองจากมุมๆเดียวอย่างสุดโต่ง ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่ายในหลายๆนักวิชาการ ที่สวมแว่นหัวโขนอคตินี้อย่างถาวร ใส่ครอบกบาลตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน ยังตามไปหลอกล่อขณะหลับฝัน รวมทั้งเวลาขี้เยี่ยวและเข้าปี้ แทนที่จะผลิตผลงานจากประสบการณ์ในสายเฉพาะเรื่องที่รู้ลึกรู้จริงออกมาอย่างบริสุทธิ์สวยงาม ก็ปนเปื้อนไปด้วยก้อนตะกอนแขวนลอยฟูมฟายฟุ้งเฟ้อเกินทุเรียนท้องถิ่น จนดูไม่ออกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องไหน....ถอดแว่นออกบ้างเถอะครับอาจารย์

จันทบุรี 3 มิถุนายน 2558

(ขอบคุณเจ้าของภาพทุเรียน)

หมายเลขบันทึก: 590885เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2015 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2015 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท