บทวิเคราะห์ แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของแมโล ปองตี


บทวิเคราะห์

แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของแมโล ปองตี

[Maurice Merleau-Ponty, ๑๙๐๘-๑๙๖๑]

๑. เกริ่นนำ


แมโล ปองตี เป็นชาวฝรั่งเศสเหมือนซาร์ตร์และอายุอ่อนกว่าซาร์ตร์ จึงได้รู้ปรัชญาของซาร์ตร์และของไฮเดกเกอร์มาก่อนเห็นด้วยกับการใช้วิธีปรากฏการณ์ของนักปรัชญาทั้งสองท่าน แต่คิดว่าน่าจะประนีประนอมผลจากการใช้วิธีปรากฏการณ์ของทั้งสองท่านได้ และประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ดีกว่า

ผลจากการใช้วิธีปรากฏการณ์ ผลโดยตรงจากการใช้วิธีปรากฏการณ์มิใช่ภวันต์เพียงอย่างเดียว และมิใช่ความสำนึกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความสำนึกในโลกหรืออัตถิภาวะในสถานการณ์ ความสำนึกเช่นนี้ย่อมท้าทายให้ทำการเพื่อจรรโลงโลกอันมีสังคมมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซาร์ตร์กล่าวว่า คนเราถูกสาปให้มีเสรีภาพ (Man is condemned to be free) แมโล ปองตีแก้สำนวนเป็นว่า คนเราถูกสาปให้แสดงออก (Man is condemned to express something)


๒. วิเคราะห์แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของแมโล ปองตี

แนวคิดของปองตีเป็นการให้ความหมายกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งอื่นไม่เพียงการแสดงของมนุษย์ต่อวัตถุหรือสิ่งอื่นเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังจะต้องรับรู้ถึงผลของการเข้าใจในสิ่งดังกล่าวนั้นดังที่เป็นด้วยความรู้สึกร่วมไปกับสิ่งดังกล่าวนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของปองตีนั้นเป็นการอาศัยความรู้สึกร่วมไปกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น พฤติกรรมของมนุษย์ไม่สามารถจะเป็นไปตามความคิดนึกส่วนตนเพียงอย่างเดียว คือตัวของเราเป็นสิ่งที่มีอยู่ร่วมกับโลกและกับสิ่งอื่นในความสับสนที่ถอดไม่ออก (we are mixed up with the world and with others in an inextricable confusion) ความเป็นตัวตนแท้ของมนุษย์จึงไม่สามารถคลี่คลายให้หายไปอย่างไม่มีร่องรอยหรือความไม่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับสิ่งอื่นไม่ได้ เพราะสิ่งที่มนุษย์แสดงออกมาด้วยคำพูดนั้นเป็นสิ่งที่สับสนของโลก (we express in a precise word the confused discourse of the world)

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังคงสัมพันธ์ได้ด้วยสัมผัสของตนและสิ่งดังกล่าวนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เชื่อได้ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ และมนุษย์สามารถเข้าใจผ่านสิ่งดังกล่าวนั้นด้วยกล่าวคือสามารถรับรู้สิ่งดังกล่าวนั้นได้ด้วย ไม่และสิ่งดังกล่าวนั้นไม่เพียงเป็นสิ่งที่มนุษย์จะเป็นผู้จะรู้หรือด้วยตนเองได้อย่างเดียวเท่านั้น หากแต่สิ่งดังกล่าวเป็นเหตุที่ทำให้มนุษย์เข้าใจผ่าน หรือรู้ได้เป็นความสัมพันธ์ร่วมกัน


แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของ ปองตีนั้นมีแนวโน้มคล้ายกับพระพุทธศาสนาในประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุกับสิ่งที่รู้หรือผู้รู้ กล่าวคือพระพุทธศาสนากล่าวถึง เรื่องวิญญาณ ที่แปลว่าความรู้ อันเกิดจากอายตนะภายในและภายนอกทำงานปฏิสัมพันธ์กันจนเกิดความรู้เรียกว่า "วิญญาณ" คือ

๑. เพราะอาศัยจักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด

๒. เพราะอาศัยโสตะและเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด

๓. เพราะอาศัยฆานะและกลิ่น ฆานวิญญาณจึงเกิด

๔. เพราะอาศัยชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด

๕. เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ กายวิญญาณจึงเกิด

๖. เพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด


ความรู้ในพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งภายนอกกับสิ่งภายในจนเกิดเป็นความรู้ จึงสามารถเรียกชื่อได้ถูกต้องว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ความรู้ในพระพุทธศาสนาการจะเข้าใจตรงกันระหว่างสิ่งที่ถูกรู้กับผู้รู้นั้นจะต้องสามารถยืนยันได้ว่าเป็นจริง ไม่เพียงแต่เชื่อว่าเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามปองตีเห็นว่า เมื่อตัวของมนุษย์รื้อฟื้นแก่นของความเป็นตัวตนนั้นเป็นการผูกไปในตัวตนที่อยู่ในโลก เพราะความมีอยู่ของตัวเรามันเป็นผู้กระทำต่อการดำรงอยู่ของตัวเองกับการดำรงอยู่ของโลก เพราะว่าตัวเราเป็นผู้รู้ว่าเราเป็น เมื่อยึดเป็นรูปธรรม ที่แยกออกไม่ได้จากร่างกายและโลกนี้


ในแนวคิดของปองตีการสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับผู้รู้ในโลก ความมีอยู่ของโลกจึงไม่แยกขาดจากการรับรู้ของมนุษย์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้สึกที่ไม่แยกขาดออกจากกัน อย่างไรก็ตามแม้ปองตี ต้องการแสดงให้เห็นถึงความมีอยู่ของโลกและผู้รู้ทีสัมพันธ์กับโลกที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เหมือนกันเหรียญสองด้านที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะเมื่อแยกออกจากกันได้แล้วก็ย่อมไม่สามารถเข้าใจสิ่งดังกล่าวนั้นว่าเป็นเหรียญไปได้


ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาที่จะตามมีคือเมื่อตัวเราไปสัมพันธ์กับโลก การเห็นความจริงโดยที่ตัวของเราไม่แยกตัวออกมาจะพบความจริงและพิสูจน์ความจริงได้อย่างไร การเห็นความจริงดังกล่าวอาจเป็นเพราะอคติหรือความรู้สึกในการตัดสินไปตามอารมณ์ด้วยหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่เป็นจริงจะเป็นสิ่งที่เราอยากให้เป็นไปด้วย ไม่ใช่การจะเข้าใจความจริง ตามที่เป็นไปดังที่เป็น ผู้เขียนเข้าใจว่า หากไม่สามารถแยกสิ่งที่รู้กับวัตถุที่รู้ออกจากกันย่อมไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างรอบด้านหรือสมบูรณ์ครบถ้วนได้ หากแต่การพบความจริงเป็นเพียงด้านหนึ่งที่แต่ละคนได้ค้นพบและพิสูจน์เท่านั้น ความเป็นสากลหรือความจริงเป็นเพียงสิ่งที่ขึ้นอยู่กับโลกทัศน์ของแต่ละคน


อีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนสามารรับรู้แนวคิดของปองตีที่เน้นไปที่ตัวผู้รู้ที่เป็นชีวิตที่ไม่มีวันที่จะทำให้มนุษย์เป็นผู้ที่สมบูรณ์หรือเต็มไปได้เพราะเนื่องจากการที่มนุษย์ยังเป็นผู้ที่ยังว่างในการเป็นอยู่ อย่างไรก็ตามหากเป็นเช่นนั้นจริง ชีวิตของมนุษย์ในแนวคิดของปองตีนั้นเป็นธรรมชาติที่เป็นเพียงการรับรู้สิ่งภายในตัวของตนเป็นเสมือนภาพในโลกที่สะท้อนให้เห็นตัวตนของมนุษย์ได้ดี การรับรู้ดังกล่าวจึงมีเพียงแต่ตัวเองแต่ละคนเท่านั้นที่จะรู้ได้ แม้จะเป็นธรรมชาติดังกล่าวของมนุษย์เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์เข้าใจผิดอาจเป็นเพราะการปรุงแต่งในสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปดังที่อยากเป็น แต่สิ่งที่ง่ายดูเหมือนว่าเพียงแต่รู้ในสิ่งที่เป็น อาจจะคล้ายกับที่ปองตีกล่าวไว้ว่า "ทุกการรับรู้จะเกิดขึ้นในบรรยากาศทั่วๆไป และจะแสดงต่อเราโดยไม่ระบุชื่อ" แม้มนุษย์จะมีเสรีภาพดังที่ซาร์ตร์ว่าไว้แต่อย่างไรก็ตามเสรีภาพยังเป็นสิ่งที่ถูกจำกัดไว้ด้วยเงื่อนไขสิ่งภายนอกคือปรากฏการณ์ ความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพจึงยังคงเป็นความว่างเปล่าในสถานการณ์คงไม่ใช่ความว่างเปล่าที่ไม่ได้ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นเงื่อนไข แม้มนุษย์เป็นเสรีภาพดังที่ซาร์ตร์กล่าวก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏนั้นไม่เพียงเป็นสิ่งที่จะต้องสัมผัสได้อย่างแท้จริงดังที่ปองตีหมายเอาด้วยการสำนึกของมนุษย์ที่มีอยู่ต่อการเชื่อมโยงต่อโลก แต่การเป็นอยู่หรือภาวการณ์ที่เป็นมนุษย์ที่มีอยู่ดังกล่าวนั้น จะไม่เป็นการทำลายเสรีภาพที่เป็นไปได้ของแต่ละคน เพราะสำนึกการมีอยู่ของแต่ละคนนั้นต่างหาก มนุษย์ไม่ได้แตกต่างกันโดยธรรมชาติแต่แตกต่างกันในสถานการณ์ที่สำนึกดังกล่าวต่อโลกต่างกันออกไป ไม่เพียงความแตกต่างของบุคคลหากแต่ยังคงแตกต่างกันออกไปยิ่งเมื่อมนุษย์แต่ละคนจำเป็นที่จะต้องกระทำการต่างๆ ผ่านกิจกรรมและต่อโลกด้วยแล้ว คงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ความจริงที่ปรากฏต่อประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับนั้นต้องแตกต่างกันออกไป


การเข้าใจถึงปรากฏการณ์ของผู้อื่นจากมุมมองตัวตนของผู้อื่นหรือของเรานั้นจะมีสิ่งร่วม หรือรู้สึกร่วมกันได้หรือไม่อย่างไร หากเป็นตัวตนของเราในปรากฏการณ์ร่วมนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามความแตกต่างดังกล่าวนั้นย่อมยังเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอยู่ดี




อ้างอิง

๑. ภาษาไทย

กีรติ บุญเจือ. ปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๒.

เจษฎา ทองรุ่งโรจน์. พจนานุกรม ปรัชญาอังกฤษไทย. นนทบุรี: โรงพิมพ์ บริษัท ออฟซ็ทเพรส จำกัด, ๒๕๔๗.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.


๒. หนังสือภาษาอังกฤษ

A Companion to Phenomenology and Existentialism. Edited by Hubert L. Dreyfus

and Mark A. Wrathall (First published 2006 by Blackwell Publishing Ltd. Pdf.

Thevenaz, Pierre. What is Phenomenology. Chicago: USA, 1962.


๓. อิเล็คทรอนิคส์

Maurice Merleau-Ponty http://plato.stanford.edu/entries/merleau-ponty/

หมายเลขบันทึก: 589684เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2015 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2015 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท