​"ช่วยคนอื่นรวย เท่ากับ ช่วยตัวเองรวย"


"ช่วยคนอื่นรวย เท่ากับ ช่วยตัวเองรวย"

เมื่อมีความเชื่อเช่นนั้น "หมง-มงคล ลุสัมฤทธิ์" นักวางแผนการเงินส่วนบุคคลมืออาชีพ ในฐานะที่ปรึกษาอาวุโส และผู้อำนวยการภาค เอไอเอ ประเทศไทย (AIA) และกรรมการผู้จัดการ Wealth Design Consulting ไม่รอช้ารีบส่งต่อความรู้ ด้วยการกลั่นกรองวิชาที่ได้ร่ำ เรียนมาเป็นตัวหนังสือ ภายใต้ชื่อ "อยากรวยผมช่วยคุณได้" ค่าเขียน 10 เปอร์เซ็นต์ เขานำไปทำบุญตามวัด โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น

"ความรู้อัดแน่นเต็มสมองของเรา ไม่ได้เกิดจากเราเป็นคนคิดค้น แต่เกิดจากใครบางคนให้เรามา ฉะนั้นจะนำความรู้ที่ได้มาจากคนอื่นไปหากินต่อมันตลกนะ การได้ส่งต่อความรู้ และความรวยให้แก่ผู้ไม่รู้ นั่นคือ ชีวิตที่แสนสุขของชายชื่อ "มงคล ลุสัมฤทธิ์" เจ้าของคุณวุฒิทางวิชาชีพสำหรับมืออาชีพ ด้านบริการทางการเงิน ภาคพื้นเอเซียและแปซิฟิค บอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ Biz Week"

"คนจะรวย" ต้องประกอบด้วย 1.ต้องหาเงินเป็น 2.ต้องเก็บเงินอยู่ สุดท้าย ต้องมีความรู้ในการบริหารเงิน อยากมีชีวิตร่ำรวยจะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ "ผมจะเล่าวิธีรวยในรูปแบบการออมเงินในสินทรัพย์ต่างๆฉบับย่อให้ฟัง"

"ชายวัย 47 ปี" พื้นเพเป็นคนกรุงเทพ มีพี่น้อง 3 คน "มงคล" เป็นลูกคนโต น้องคนสุดท้องอายุห่างจากเขา 16 ปี "หมง" เติบโตมาได้ด้วยเงินจากการทำธุรกิจแอร์ของครอบครัว แท้จริงแล้วเขาต้องเป็นคนสานต่องานทั้งหมด แต่ชีวิตต้องหักเห หลังหันมายึดอาชีพขายประกันชีวิตของ AIA ทันทีที่คว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในปี 2533

เขาเล่าว่า วันที่ตัดสินใจทำอาชีพขายประกันชีวิต ด้วยความที่พ่อแม่เห็นภาพลักษณ์คนขายประกันไม่ดี ทำให้ท่านไม่เห็นด้วยในสิ่งที่เรากำลังลงมือทำอย่างแรง แม่โกรธมาก ท่านบอกว่า อายที่มีลูกขายประกัน พ่อไม่คุยด้วย 6 เดือนเต็มๆ ร้องไห้ทุกวัน แต่เราไม่เปลี่ยนใจ เพราะรู้ว่า กำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้โกงกินใคร

วันนั้นเราพร่ำบอกตัวเองว่า ต้องประสบความสำเร็จให้เร็วที่สุด เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ วันนี้เราคือหนึ่งในความภาคภูมิใจของท่าน ตั้งแต่มีครอบครัวทุกครั้งที่เหนื่อยเพียงไปยืนอยู่หน้าปลายเตียงลูกสาวทั้ง 2 คน เราจะได้พลังมหาศาลคืนกลับมา "แพ้ไม่ได้ ท้อไม่ได้ เลิกไม่ได้" ความคิดเหล่านี้จะเข้ามาวนเวียนในหัวสมองทันที แม้กระทั่งวันนี้ยังคอยบอกตัวเองเสมอว่า "ล้มไม่ได้ งี่เง่าไม่ได้"

ก่อนตัดสินใจทำงานใน AIA มีบริษัทเอกชนดังๆ ไม่ว่าจะเป็นบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, บจ.เชลล์แห่งประเทศไทย และพีแอนด์จี เป็นต้น มาชวนเราในฐานะ 40 นักการตลาดรุ่นเยาว์ให้ไปทำงานด้วย แต่เราไม่เลือก บังเอิญสนใจงานใน AIA มากกว่า หลังพี่ชายของเพื่อนที่เป็นผู้บริหารอยู่ใน AIA เขาต้องการผู้ช่วย ทำไปทำมาสนุกดี

เมื่อก่อนอาชีพขายประกันชีวิตยังไม่เป็นที่นิยม ทั้งเมืองไทยมีคนถือกรมธรรม์แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แถมยังเป็นอาชีพต้องห้ามของเด็กจบใหม่อีกต่างหาก แต่เมื่อเปิดใจเรียนรู้ ทำให้เข้าใจว่า เป็นสินค้าที่ช่วยเหลือคนอย่างมีเหตุมีผล เพียงแต่คนไม่ชอบคนขายประกัน ไม่ชอบวิธีการขายประกัน ไม่ใช่ไม่ชอบประกัน

ทำงานใหม่ๆเหนื่อยมาก พูดแทบตายลูกค้าไม่ซื้อ แต่การถูกปฏิเสธถือเป็นเรื่องธรรมดาของอาชีพนี้ เขายกตัวอย่างว่า พระพุทธเจ้ามหาบุรุษ 2,500 ปี พูดคนยังไม่เชื่อแล้วเราเป็นใครเขาถึงจะเชื่อ นี่คือ วิธีการให้กำลังใจตัวเอง

แต่บนโลกนี้มีบางคนที่ห่วงใยคนอื่นและรับผิดชอบต่อตัวเองอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งคนเหล่านั้น คือ ลูกค้าของเรา ส่วนคนที่ปฏิเสธเสียงแข็งอย่างไร้เหตุผล ส่วนใหญ่ไม่ใช่ลูกค้าของเราอยู่แล้ว คงต้องรอพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปมาโปรด (หัวเราะ) เขาพูดติดตลก

"คนอื่นทำได้ฉันต้องทำได้ คนอื่นสำเร็จได้ฉันก็สำเร็จได้"

ประโยคเหล่านี้ฝังอยู่ในหัวตลอดเวลาในช่วงแรกๆของการทำงาน ลูกค้าคนแรก คือ พี่สาว พ่อ แม่ ของเพื่อน ครั้นจะไปขายเพื่อนคงไม่ได้ เพราะไม่มีตังค์ ช่วงแรกที่ขายประกันไม่เคยที่จะขายไม่ได้เชื่อมั้ย!! แต่เมื่อเข้าเดือนที่ 3 เริ่มขายไม่ได้ละ เพราะตลาดเริ่มหมด แถมไม่ได้สร้างตลาดใหม่ไว้อีกต่างหาก

ตอนนั้นดราม่ามากกลับถึงบ้านโยกเอกสารทิ้ง ก่อนล้มตัวลงบนเตียงนอนร้องไห้ แต่สุดท้ายเราสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ด้วยการหันไปปรึกษารุ่นพี่ในวงการประกัน เขาแนะนำว่า "อย่าไปหาคนซื้อ แต่จงหาคนคุย" เมื่อเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ "โลกเริ่มกว้างขึ้น" ทำให้วันนี้เราเติบโตบนสายวิชาชีพนี้อย่างมั่นคง

เขาเล่าต่อว่า "เมื่อปี 2535 ทาง AIA ให้ผมที่ขณะนั้นมีอายุแค่ 25 ปี สร้างทีมขายประกันชีวิตทีมใหม่ ตอนนั้นมีพนักงานแค่ 13 คน แต่ปีแรกของการทำงาน ทีมของผมสามารถขึ้นแท่น "ทีมใหม่อันดับ 4" หลังมียอดขายประกันมากถึง 3 ล้านบาทต่อปี"

ตลอดระยะเวลา14-15 ปีแรก ยึดอาชีพขายประกันชีวิตตลอด ทีมงานของเราติดอันดับยอดขายดีอันดับต้นๆของเมืองไทยตลอด แต่ช่วง 10 ปีหลัง เราเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ หลังเห็นเทรนด์ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคลกำลังคืบคลานเข้ามาในเมืองไทย

3 ปีแรกของการทำงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน ยอมรับว่า ออกแนว "มั่ว" เพราะยังไม่มีแก่นความรู้ที่แน่นอน เพิ่งมาเรียนหลักสูตรต่างๆ ย้อนหลังเมื่อ 7 ปีก่อนเอง หน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล คือ หาเป้าหมายทางการเงินของลูกค้าให้เจอ เมื่อพบแล้วต้องหาทางออกให้เขา ด้วยการนำเครื่องมือทางการเงินมาเป็นตัวช่วย คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีใครสนใจบริหารเงิน แต่มักเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากกว่า

ถามถึงหลักการบริหารการเงินที่ดี "มงคล" แนะนำว่า คุณควรแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน "ระยะสั้น-กลาง-ยาว" แบ่งเงินลักษณะนี้จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า ทุกช่วงเวลาของชีวิต คุณจะมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่ขาดมือ

"เงินออมระยะสั้น" หรือช่วง 0-2 ปี วัตถุประสงค์ของเงินก้อนนี้ คือ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งเงินก้อนนี้ต้องเบิกง่าย อยากใช้เมื่อไรต้องมี เครื่องมือที่จะตอบสนองการออมเงินระยะสั้น คือ บัญชีออมทรัพย์ บัญชีฝากประจำ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน หรือ Money Market Fund

ส่วน "เงินออมระยะกลาง" หรือช่วง 2-10 ปี เงินก้อนนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินเก็บที่เตรียมไว้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ท่องเที่ยว แต่งงาน หรือนำไปลงทุนสินทรัพย์ใหม่ๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เครื่องมือทางการเงินที่ตอบสนองการออมประเภทนี้ คือ กองทุนรวม, กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF, หุ้นกู้, Value Stock หรือ หุ้นคุณค่า และหุ้นปันผล

สำหรับ "เงินออมระยะยาว" หรือมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เงินก้อนนี้เหมาะสำหรับเก็บออมไว้ใช้ยามเกษียณ หรือเป็นทุนการศึกษาสำหรับบุตร เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม คือ ประกันแบบสะสมทรัพย์, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF คนส่วนใหญ่ซื้อ RMF ไม่ได้ต้องการจะเก็บไว้เป็นเงินออมระยะยาว แต่มักซื้อไว้เพื่อหักภาษี ซึ่งวัตถุประสงค์ในการซื้อ RMF ที่ถูกต้อง คือ เก็บไว้ใช้ยามเกษียณ

หากแบ่งเงินลักษณะนี้ คุณจะมั่นใจได้ว่า นอกจากทุกช่วงชีวิตจะไม่ขาดเงินแล้ว เขาย้ำ คุณยังจะได้รับผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ ที่สำคัญจะไม่มีความเสี่ยงจากการลงทุน หรือ Investment risk แต่ถ้านำเงินที่ควรอยู่ยาวไปเก็บสั้น คุณจะเสียโอกาสทางการเงิน ในต่างประเทศมีคำศัพท์ที่ว่า "มหาเศรษฐียากจน" หรือ Poor Millionaire เพราะเมื่อเจาะดูงบการเงินของคนรวยบางคนจะพบว่า ทรัพย์สินบางอย่างของเขาขาดสภาพคล่อง เพราะเขาวางการลงทุนไว้ผิดประเภท

"มีลูกค้ารายใหญ่คนหนึ่งของผม เขาลาออกจากงานประจำที่ทำมาเกือบ 20 ปี แล้วนำเงินที่ได้จากการออมผ่านกองทุนมูลค่า 2 ล้านกว่าบาท ไปซื้อรถยนต์ Honda Accord แทนการย้ายที่อยู่ของเงินไปในกองทุนแห่งใหม่ ลักษณะนี้เขาเรียกเสียโอกาส"

ถามว่าควรจัดสรรเงินออมอย่างไร เขาตอบว่า คุณควรมีเงินออมระยะสั้นไว้ใช้ยามฉุกเฉินประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ส่วนเงินระยะกลางต้องย้อนดูเป้าหมายการใช้เงินของตัวเอง

สำหรับระยะยาวต้องดูว่า ตั้งใจจะเกษียณอายุตอนไหน คุณต้องรีบวางแผนตั้งแต่อายุน้อยๆ เขาย้ำ อย่ามาทำตอนใกล้เกษียณมันจะไม่ทันการ หากมาทำเมื่อสายคงช่วยคุณได้แค่ ให้เลื่อนเวลาเกษียณออกไป หารายได้เสริม ประหยัดมากขึ้น และเพิ่มอัตราผลตอบแทนในสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องใช้ฝีมือละ

สมมุติลูกค้าใกล้เกษียณรายหนึ่งยังขาดเป้าหมายในการออมเงินอีกไม่มาก เราต้องปรับพอร์ตการลงทุนในมีความเสี่ยงต่ำ โดยการให้น้ำหนักลงทุนไปในตราสารหนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ ตราสารทุน 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเงินสด 10 เปอร์เซ็นต์

ผลตอบแทนที่แท้จริงเฉลี่ยจะอยู่ระดับประมาณ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลตอบแทนของตราสารหนี้จะอยู่ระดับ 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลตอบแทนตราสารทุนจะอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในกรณีที่ยังขาดเป้าหมายอีกมาก ทำได้อย่างเดียวคือ เลื่อนเวลาเกษียณออกไป หรือลดไลฟ์สไตล์บางอย่างขอตัวเองลง

หลักการวางแผนทางการเงินที่ดีควรเป็นอย่างไร? "มงคล" เล่าว่า คุณต้องมีรายได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ก่อนเกษียณ สมมุติก่อนเกษียณเคยมีรายได้เดือนละ 100,000 บาท เท่ากับว่า หลังเกษียณต้องมีรายได้ 70,000 บาท จากนั้นคุณต้องทำรายได้ให้เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อทุกปี ถามต่อว่า แล้วเงินจะเพิ่มมาจากส่วนไหน หน้าที่ของเรา คือ ต้องไปหากองทุนที่สามารถถอนเงินออกได้ทุกปีให้กับคุณ

"อายุน้อยคุณมีโอกาสแก้ตัว และยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าคุณอายุมาก แต่ถ้าเวลาออมเงินสั้นคงต้องวัดดวงแล้วละ"

เขาแจกแจงการลงทุนตามช่วงอายุให้ฟังว่า หากอายุ 25-35 ปี สามารถลุยลงทุนได้เต็มที่ คุณควรมีพอร์ตตราสารทุน 80 เปอร์เซ็นต์ และตราสารหนี้ 20 เปอร์เซ็นต์ ผลตอบแทนต่อปีเท่าไรขึ้นอยู่กองทุนที่เลือก แต่โดยปกติกองทุนหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 14-15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าลงทุนหุ้นรายตัว คงขึ้นอยู่กับลักษณะหุ้นที่เลือก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 13-14 เปอร์เซ็นต์ อย่าลืมเก็บเงินสดนะ

ถ้าอายุ 35-45 ปี แต่งงานมีครอบครัวแล้ว คุณควรลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ด้วยอายุที่มากขึ้นไม่ควรเสี่ยงมาก ควรนำเงินไปลงทุนตราสารทุนเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นตราสารหนี้ 40 เปอร์เซ็นต์ หรือจะแบ่งพอร์ตเป็น 50:50 ยังได้เลย แต่เมื่ออายุ 45-55 ปี สัดส่วนควรเป็นตราสารทุน 30 เปอร์เซ็นต์ และตราสารหนี้ 70 เปอร์เซ็นต์

"ความคิดเรื่องลงทุนต้องถูกต้อง ถ้าฐานไม่แข็งแรง อย่ากระโดดสูง ตกลงมามันเจ็บ การบริหารการเงินที่ดีควรแบ่งเงินเดือนออกมาออมให้ได้เดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ถ้าน้อยกว่านี้ถือว่า ล้มเหลวในชีวิต"

วางแผนทางการเงินให้ตัวเองอย่างไร "หมง" เล่าว่า ก่อนจะมาทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงินมักเลือกออมเงิน ด้วยการซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ เบี้ยประกันทั้งบ้านเกือบ 3 ล้านบาท คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต ออมเงินลักษณะนี้ ถือเป็นอุปกรณ์ขังเงินชั้นดี แม้ผลตอบแทนต่อหนึ่งกรมธรรม์จะไม่สูงแค่ 2.2 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยเรายังมีประกันคุ้มครองชีวิต แต่ฝากเงินผ่านแบงก์ไม่มี

"ลงทุนลักษณะนี้มาหลายสิบปี ผลตอบแทนเฉลี่ยทุกกรมธรรม์ประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์"

เมื่อมีความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลจึงเริ่มปรับพอร์ตออมเงินเล็กน้อย ด้วยการหันไปลงทุนในกรมธรรม์ที่ให้ทั้งการคุ้มครองชีวิต และเงินสะสม นั่นคือ "เอไอเอ ลิงค์ แบบชำระเบี้ยประกันภัยรายงวด" (ยูนิต ลิงค์) ทุกวันนี้เราลงทุนตรงนี้เยอะคิดเป็นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต ผลตอบแทนเฉลี่ยไม่มากเท่าไร เพราะเพิ่งลงทุนเมื่อ 3-4 ปีก่อน

แต่เมื่อ 1-2 ปีก่อน "ยูนิต ลิงค์" ให้ผลตอบแทนมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเมื่อปีก่อน อนาคตอยากเห็นผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งพอร์ตในส่วนนี้ระดับ 8-9 เปอร์เซ็นต์

พวกกองทุนเปิด อเบอร์ดีน โกรท และกองทุนเปิด อเบอร์ดีน สมอล แค็พ เราลงทุนเหมือนกัน โชคดียังไม่ขาดทุน แต่ถึงจะขาดทุนบ้างในช่วงที่ตลาดหุ้นลงแรงก็ไม่เป็นไร เพราะตั้งใจจะถือยาวอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ได้ซื้อกองทุนนี้ให้ลูกสาว 2 คน ตกคนละ 1 ล้านบาท หากผลตอบแทนดีแบบนี้อนาคตคงเติบโตดับเบิ้ล

จริงๆไม่ได้หวังผลตอบแทนมากมาย เพียงแต่อยากให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ไม่อยากให้ลูกโง่เหมือนเรา คิดแล้วเสียดายชีวิต ไม่เช่นนั้นป่านนี้คงได้ผลตอบแทนดีกว่านี้ คนไทยไม่ชอบวางแผนทางการเงิน เรื่องนี้ใหม่มากสำหรับเมืองไทย คนทำงานด้านนี้มีน้อยมาก ฉะนั้นทุกคนต้องรีบตื่นตัว

วันนี้ลูกสาว 2 คน กำลังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ คนโตอายุ 19 คนเล็กอายุ 17 ปี ที่ผ่านมาเราไม่เคยแบ่งค่าใช้จ่ายการศึกษาส่วนนี้ออกมา ซึ่งตกปีละ4 ล้านบาท ฉะนั้นเราจึงต้องหาวิธีออมเงิน ด้วยการซื้ออินชัวรันซ์ที่มีทุนประกันประมาณ 10-20 ล้านบาท อย่างน้อยหากวันหนึ่งเราเกิดเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยยังมั่นใจได้ว่า ลูกๆได้เรียนหนังสือจนจบแน่ๆ

"หากคุณอยากรวยต้องมีความต้องการอย่างแรงกล้า เราต้องรู้ว่า ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อใคร วลีประจำตัวของผม คือ "เราอาจเป็นคนคนหนึ่งในโลกใบนี้ แต่เราอาจเป็นโลกทั้งใบของใครคนหนึ่ง" เมื่อคิดได้เช่นนั้น รับรองชีวิตคุณจะไม่มีวันล้มเหลว"

คำสำคัญ (Tags): #diary
หมายเลขบันทึก: 589570เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2015 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2015 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท