อากงสุดยอดผู้แข็งแรง


อากงสุดยอดผู้แข็งแรง

อากงท่านนี้ชื่อ นายซา แซ่โต๊ะ อายุ 83 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่แถวยานเยาวราช อาศัยอยู่กับภรรยาชื่อนาง สุวรรณา ชาญพิทยานุกูลกิจ อายุ 79 ปี มีลูกด้วยกัน 7 คน มีหลานทั้งหมด 13 คน สมัยหนุ่มๆอากงมีอาชีพขายส่งกระบุงและเคยเป็นเสมียรที่โรงน้ำชา อากงมีโรคประจำตัวคือโรคเก๊าท์และเคยเข้ารับการรักษาอาการต่อมลูกหมากโต โดยตอนนี้สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี เพราะอากงมีลูกสาวทำงานในสายทางการแพทย์อีกทั้งมีลูกเขยเป็นหมอทำให้ไม่ว่าจะมีอาการเล็กน้อยเพียงใดก็จะมักหายไปอย่างรวดเร็ว แต่อากงก็เริ่มที่จะมีปัญหาทางด้านความทนทานของร่างกายนั้นคืออากงจะเมื่อยขาเมื่อต้องเดินในระยะทางไกลๆ แต่ถ้าระยะทางใกล้ๆอากงสู้ไม่ถ้อยแน่นอน

จากการประเมินการทำงานของร่างกายในด้านอื่นๆ โดยในด้านการเคลื่อนของร่างกายอากงสามารถเคลื่อนไหวได้สุดช่วงไม่มีข้อไหนที่จำกัดการเคลื่อนไหว แม้ว่าในสมัยหนุ่มๆอากงเคยล้มแล้วมีกระดูกแขนหักแต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรือขัดขว้างการทำงานต่างๆในปัจจุบัน อากงสามารถทรงตัวได้ดีไม่มีเอียง ไม่มีล้ม เดินได้เองโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเดิน เพราะเมื่อใดที่ว่างอากงจะชอบแอบอาม่าออกไปเดินหาเพื่อนๆและชวนกันไปเที่ยว โดยอากงจะชอบเดินไปทำบุญที่วัดไทย วัดจีน และมูลนิธิต่างๆในยานนั้น เช่น วัดไตรมิตร วัดเล่งไร่ยี่หรือมูลนิธิปอเต็กตึ่ง นี่อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ร่างกายของอากงยังแข็งแรงและยังเดินได้ดีเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุในวัยเดียวกัน อากงสามารถได้ยินเสียงปกติไม่มีปัญหาหูตึง ส่วนสายตาสามารถมองเห็นเป็นปกติแต่จะมีปัญหาสายตายาวเล็กน้อยต้องใส่แว่นตาในการอ่านหนังสือ ในด้านการรับความรู้สึกไม่ว่าจะเป็นความร้อนความเย็น แหลมทู่ หรือการแยกแยะลักษณะของวัตถุต่างๆโดยการสัมผัสจะเป็นปกติไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อากงยังสามารถทำงานบ้านได้เอง เช่น ล้างจาน รถน้ำต้นไม้ โดยจะมีอาม่าเป็นคนคอยกำกับ อากงจึงได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายอยู่บ่อยๆ หรือเรียกได้ว่าแทบจะไม่เห็นอากงได้นั่งกันเลย แต่จะมีงานบ้างอย่างที่จะมีคนดูแลเป็นคนทำให้ เช่น การซักผ้า รีดผ้า ล้างห้องน้ำ เป็นต้น และจากการประเมินภาวะสมองเสื่อมพบว่าปกติดี

จากการประเมินสภาพบ้านที่อยู่อาศัย พบว่า เป็นตึกแถวจำนวน 2 ชั้น มีห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนอน บริเวณทางเข้าหน้าบ้านไม่มีทางลาดชันที่เป็นอุปสรรค พื้นปูด้วยกระเบี้ยงที่มีพื้นผิวหยาบเพื่อป้องกันการลื่นล้ม ในห้องน้ำมีราวจับและแผ่นกั้นลื่น บันไดขึ้นชั้นสองมีประมาณ 20 ขั้น เป็นบันไดไม้ มีราวบันไดให้จับ 1 ข้าง

ปัจจุบันนี้ในแต่ละวันของอากงจะมีกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิมทุกวันนั้นคือ อากงจะตื่นตั้งแต่ตี 5 อาบน้ำ แต่งตัว เตรียมใส่บาตรตอน 6 โมงครึ่ง จากนั้นจะกินข้าวกับอาม่าและนั่งดูคุณสรยุทธเล่าข่าวตอนเช้าให้ฟัง อากงจะชอบติดตามข่าวสาร ชอบดูช่องกีฬาโดยกีฬาที่ชอบดูคือสนุ๊กเกอร์และบาสเก็ตบอล อากงจะชอบเปิดหนังจีนกำลังภายในนั่งดูกับอาม่าเพราะอากงสามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาจีนแต้จิ๋วได้ เนื่องจากพ่อแม่ของอากงเป็นคนจีนแท้ๆที่ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย อากงจึงได้เรียนรู้ทั้งภาษาไทยและจีนมาตั้งแต่เด็กๆ หลังจากนั่งดูข่าวและละครจบก็จะกินข้าวกลางวันกัน โดยอากงก็จะเก็บล้างทำความสะอาดเองหมด ต่อจากนั้นในช่วงบ่ายอากงกับอาม่ามักจะพักผ่อนด้วยการนอนหลับ แต่เมื่ออาม่าตื่นมาจะพบว่าอากงหายไปเพราะอากงจะไปเดินเล่นข้างนอกหาเพื่อนฝูงหรือนั่งเล่นที่บ้านลูกหลานที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนัก จากนั้น บ่ายแก่ๆก็จะกลับมานั่งพักเหนื่อยสักครู่พร้อมกินน้ำจับเลี้ยงเย็นๆของโปรดเพื่อดับร้อน เมื่อถึง 4 โมงเย็นอากงจะเตรียมนำอาหารเย็นออกมาอุ่นกินพร้อมกับอาม่า ซึ่งอาหารในแต่ละวันจะมีลูกชายคนที่ 2 เดินนำเอามาให้ทุกวันโดยมีประมาณ 4-5 ถุงต่อวัน จากนั้นเวลาประมาณ 6 โมงเย็น อากงจะอาบน้ำเตรียมดูละครตอนเย็นต่อด้วยดูข่าว ดูกีฬา ดูรายการตลก ดูยาวไปถึงประมาณ 3 ทุ่ม ก็จะเตรียมเข้านอน โดยอากงจะนอนชั้นล่างของบ้านเพราะอาม่าเดินขึ้นบันไดไม่ไหว และนี้ก็คือกิจกรรมการดำเนินชีวิตของอากงในแต่ละวันที่มักจะเหมือนเดิมในวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดราชการลูกหลานจะมาหาที่บ้านหรือรับเพื่อพาไปเที่ยว พาไปออกกำลังกาย ซื้อของ ทานข้าวรวมกัน ซึ่งถือได้ว่าวันเสาร์อาทิตย์ก็จะเป็นวันที่ทำให้อากงมีความสุขไม่น้อยเลยทีเดียว



นอกจากนี้อากงยังชอบที่จะสะสมซีดีเพลงจีนไว้ฟังเล่น อากงมักจะชอบเล่าเรื่องราวในอดีตให้ลูกหลานฟังอยู่บ่อยๆ อากงเป็นคนอารมณ์ดีและมีเพื่อนฝูงเยอะแยะมากมาย อากงได้โชว์อัลบั้มรูปสมัยหนุ่มๆและจดหมายที่เขียนเป็นตัวหนังสือภาษาไทยที่สรุปความได้ว่า "เพื่อนเอ่ยเพื่อนไปไหนหมด จากกันทีเดียว 60 กว่าปี คิดถึงคิดถึง! ไม่ทราบจะได้พบกันอีกหรือไม่ ไอ้.ชีวิตก็เหมือนอยู่ในฝัน" ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของอากงทำให้สรุปปัญหาและความต้องการของอากงได้ 2 ข้อคือ อากงอยากมีร่างกายแข็งแรงๆแบบนี้ไปนานๆและอีกข้อคือต้องการพบเจอเพื่อนเก่าสมัยหนุ่มๆ

จากเรื่องราวของอากงสอดคล้องกับกรอบความคิด PEOP ทางกิจกรรมบำบัดพอดีโดยที่

  • -Person(บุคคล) คือ อากงซา ที่ชอบการพบเจอเพื่อนฝูงเพื่อไปเที่ยวและทำบุญ แม้จะมีความเสื่อมถอยทางร่างกาย เช่น อาการปวดเมื่อยขาเมื่อต้องเดินในระยะไกลๆ
  • -Environment(สิ่งแวดล้อม) อากงอาศัยอยู่แถวเยาวราช ซึ่งมีผู้คนมากมายอาศัยอยู่ทำให้มีเพื่อนฝูงเยอะและเป็นที่รู้จักของคนแถวนั้น เมื่อเดินไปที่ไหนก็จะมีแต่คนรู้จักทักทายยิ้มแย้มให้กัน
  • -Occupation(กิจกรรมการดำเนินชีวิต) โดยอากงจะมีรูปแบบการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตในแต่ละวันคล้ายๆเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
  • -Performance(ความสามารถในการประกอบกิจกรรม) อากงสามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย ทำให้เกิดความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถึงแม้ว่าสมรรถภาพทางกายจะลดเสื่อมถอย แต่คุณค่าในตนเอง ประสบการณ์ และคำสอนที่ดีไม่ได้ลดลงเลย

ในฐานะที่ดิฉันเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเสนอแนวทางการบำบัดฟื้นฟูอากง คือ เริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหรือความเสื่อมที่อากงเป็นอยู่เพื่อให้เข้าใจและปรับตัวให้เหมาะสม โดยมีการส่งเสริมให้อากงกินอาหารให้ครบห้าหมู่และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เก๊าท์กำเริบ เช่น ลดการรับประทานไก่ลง ทานน้ำ นม ผักผลไม้มากขึ้น มั่นออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินในระยะใกล้ๆและค่อยๆเพิ่มระยะทางเดินมากขึ้น โดยเมื่อรู้สึกเมื่อยขาอาจหยุดพักก่อนให้หายแล้วเดินต่อ ทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบ ปรับวิธีการทำกิจวัตรประจำวันให้ง่ายขึ้นหรือแนะนำวิธีประหยัดพลังงานในการทำกิจกรรมการดำเดินชีวิต เช่น การใช้เก้าอี้นั่งล้างจาน อาบน้ำ แทนการยืนนานๆ เป็นต้น ส่งเสริมให้เดินไปพบปะผู้คนอย่างที่อากงทำอยู่ เพราะเป็นวิธีที่ทำให้อากงมีสุขภาพใจที่แข็งแรงแจ่มใส หรือแนะนำให้ทำกิจกรรมร่วมกับอาม่า เช่น ออกกำลังกายตามท่าหนังจีนกำลังภายในที่ทั่งคู่ชอบดู เน้นท่าง่ายๆขยับเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ ไม่หนักจนเกินไป นอกจากนั้น ครอบครัวควรพาอากงไปเที่ยวตามสถานที่ใหม่ๆ ได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ พาไปวัดไหว้พระทำบุญตามความชอบ ได้พูดคุยบอกเล่าประสบการณ์กับลูกหลานและผู้อื่นจะทำให้อากงมีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความสุขเพิ่มขึ้นได้ ส่งเสริมให้อากงไปเข้ารมชมตามวัดหรือมูลนิธิต่างๆใกล้ๆบ้าน เผยแผ่ความรู้ให้ชุมชนหรือเด็กๆแถวนั้น เพื่อทำประโยชน์ให้สังคมตามความสามารถของอากง นอกจากนี้นักกิจกรรมบำบัดจะแนะนำการปรับสภาพบ้านให้เหมาะสม และปลอดภัยในการทำกิจวัตรประจำวัน ลดอุปสรรคสิ่งกีดขว้างทางเดิน แนะนำการป้องกันการล้มหรือวิธีลุกจากการล้ม แนะวิธีลดอาการปวดเข่าปวดหลังที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น แนะนำท่าทางการก้มหยิบของที่ถูกต้อง ส่งเสริมทั้งร่างกายและจิตใจของอากง ป้องกันปัญหาอื่นๆที่จะตามมาเช่น การหลงลืมในผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อให้อากงเป็นผู้สูงอายุ 100 ปีที่มีคุณภาพแบบนี้ตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 589515เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2015 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2015 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท