ผู้นำ (Leader) กับ ผู้บริหาร (Executive)



    มีบางคนถามผมว่า เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเขียนหรือแสดงความคิดเห็นอะไรในเฟซบุ๊ค (FACEBOOK)บ้างเลย จริงๆแล้วผมเป็นคนชอบเขียนนะครับ ช่วงหลายเดือนมานี่สลับไปบ่นทาง ไลน์(LINE) เป็นบางโอกาสครับ ไม่ค่อยอยากบ่นหรือพูดอะไรทางโซเชียลมิเดียมาก เพราะรู้ดีว่า "คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ" เขียนไม่ดีรึเขียนไปในทางที่เขาไม่ชอบมีโอกาสโดนถล่ม(แหลก) นั้นเป็นเหตุผลหลักครับ ยกเว้นบางวันที่คันไม้คันมือจริงๆ ก็อดไม่ได้
    มีบทความมากมายหลายบทความที่กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างสองคำนี้คือ ผู้นำ (Leader) กับ ผู้บริหาร (Executive) แต่ ณ ตรงนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ของผม ดังนัั้นสิ่งที่ผมเขียนลงไปนี้เป็นความคิดเห็นของผมล้วนๆ นะครับ อย่าเอาไปอ้างอิง โดยเด็ดขาด ในฐานะที่ตัวเองก็เป็นทั้งลูกน้อง และในบ้างครั้งก็เป็นทั้งหัวหน้า จึงสามารถพูดได้เต็มปากว่า บทบาทของสองคนนี้ต่างกันมากครับ ผู้นำให้ความหมายไปถึงการสร้างแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้กับลูกน้อง บางครั้งหรือหลายครั้งที่พบว่าผู้นำในการดำเนินงานหรือกิจกรรม ไม่ได้มีตำแหน่งหรือฐานะเป็นผู้บริหาร แต่สามารถชักจูง ประสาน แนะนำ และนำพาทีมหรือองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ ขณะที่คำว่าผู้บริหารให้ความหมายค่อนข้างไปในทางที่บ่งบอกถึง ตำแหน่งหน้าที่ ฐานะทางการงานมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ผู้บริหารควรจะต้องมีทักษะความเป็นผู้นำอย่างเต็มเปี่ยม
    ลองนึกภาพผู้บริหารที่ขาดความเป็นผู้นำ หรือภาวะผู้นำดูนะครับ ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึง นโยบายของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงทางการศึกษาของประเทศหนึ่ง ที่เมื่อไม่นานมานี้พึ่งเสนอแนวคิดที่....(อนุญาตให้เติมเองได้ครับ) ออกมาให้ชาวบ้านและคนในแวดวงการศึกษาแปลกใจ ที่ท่านบอกว่ามีแนวคิดจะให้นักเรียนทำสมุดบันทึกความดี และให้มีผลในการพิจารณาเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย การให้ทำความดีนะเป็นเรื่องที่ดีครับ ยอดเยี่ยมเลยที่เดียว แต่การนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนต่อ ผมเข้าใจว่าท่านอาจไม่เคยรับรู้สภาพจริงของสังคมบ้านเรา แค่ทุกวันนี้การสมัครเข้าเรียนต่อที่นำเอาคะแนน GPA มาเป็นส่วนหนึ่งของการคิดคะแนน ก็ทำให้มีการปล่อยเกรดในโรงเรียนค่อนประเทศแล้วครับ ผมไม่ได้พูดด้วยความรู้สึกแต่มีการศึกษาข้อมูลยืนยันว่าจริง หลังจากนั้นไม่นานท่านก็มีแนวคิดเอาคนที่ไม่ได้จบทางสายครูแต่มีความสามารถ มาเป็นครู ถ้าฝากคำถามได้ก็จะถามท่านว่าท่านครับ แล้วน้องๆที่เรียนสายครูมา ทั้งๆที่จบแล้วยังไม่มีงานทำ กับที่ยังไม่จบ คนเหล่านี้จะเรียนสายครูมาเพื่ออะไรครับ คนที่มีความสามารถแต่ไม่ได้จบสายครูจะมีหลักการ วิธีการเช่นไร ที่เราจะเชื่อได้ว่าเขาเหมาะสมกับการเป็นครู
    ที่เขียนมานี่ไม่ได้มีอคติกับท่านเป็นส่วนตัวนะครับ แต่อยากจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าผู้บริหารไม่มีความรู้หรือเข้าใจบริบทของสภาพจริง เขาหรือเธอจะไม่มีทางเลยที่พัฒนาหรือยกระดับเรื่องนั้นให้ดีขึ้นได้ อุปมา คนเป็นพ่อครัว/แม่ครัว แต่ลิ้้นไม่รู้รส จมูกไม่รับกลิ่น แถมยังดื้อด้านว่าฉันเป็นคนปรุง แกเป็นคนกินอย่าได้มาแสดงความเห็นว่ามันไม่ดี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็คงจะเห็นอนาคตได้ว่า ร้านอาหารนี้คงเจ๊งในไม่ช้า เช่นเดียวกันกับการศึกษาที่เป็นพื้นฐานของคนที่จะเป็นกำลังของสังคมและ ประเทศ ถ้ามีผู้บริหารที่ไม่รู้เรื่องการศึกษาเลย ไม่ต้องทายเลยครับว่า อีกไม่นานคงได้อ่านข่าวที่ น่าเป็นห่วงกว่า "ตะลึ่งเด็กพม่า ชนะเลิศประกวดคัดไทยระดับเทศ" เช่น "จบกันการศึกษาไทย เด็กพม่า ลาว เขมร ชนะเลิศรางวัลที่ 1, 2, 3 ตามลำดับในการประกวด อ่าน เขียน คัด พูดไทย ส่วนเด็กไทยได้รับรางวัลชมเชย"

    จิรเมธขฐ์
    ในวันที่อดใจไม่ได้ เลยขอเขียนสักหน่อย

    6//08/57

หมายเลขบันทึก: 588734เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2015 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2015 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท