เมื่อ กู (Gu)ไม่รู้(ไทย) บังอาจเถียง กูรู ฝรั่ง ชื่อ Michael E. Porter ตอนที่ 1


// หัวข้อเรื่องนี้ กู (Gu) ขออภัยทุกท่านที่ใช้คำนี้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง  เพื่อให้สอดคล้องกับศัพท์  กูรู (Guru)  หากแสลงใจที่จะอ่านสรรพนามแทนตัวดังกล่าวซึ่งเป็นภาษาไทย ก็ให้อ่านภาษาอังกฤษในวงเล็บประกอบก็แล้วกัน //
 
                มีกูรูฝรั่งคนหนึ่ง ชื่อ  ไมเคิล  อี. พอร์ตเตอร์  กู (Gu) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นญาติข้างไหนกับ  แฮรี่  พอร์ตเตอร์  แต่ กู (Gu) คิดว่า ถ้า เจ เค โรวลิ่ง ผู้เขียนหนังสือ ชุด แฮร์รี่  พอตเตอร์ เขียนหนังสือตอนใหม่ว่า  แฮร์รี่  พอตเตอร์ ขี่ไม้กวาด ปะทะ ไมเคิล อี. พอร์ตเตอร์ ควบม้า  คลัสเตอร์ สีหมอก   ก็จะเป็นการบุกเบิกพรมแดนตลาดจากกลุ่มลูกค้า  เด็ก ๆ  ไปสู่ กลุ่มนักวิชาการ  นักธุรกิจ  ซึ่งมีกำลังซื้อมหาศาล   แต่ข้อควรระวังก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้เป็นพวกไม่มีอารมณ์ขัน  และอาจจะไปคิดว่า แฮร์รี่  พอตเตอร์ เป็นกูรูฝรั่งคนใหม่  ที่ยังไม่ได้อิมพอร์ตมา   สปีดให้ฟัง     ( ช่วยฮา.หน่อย )      

มูลเหตุบันดาลใจที่ทำให้ กู (Gu)  บังอาจเถียงฝรั่งชื่อเสียงนามอุโฆษ  ทั้ง ๆ ที่ กู (Gu) เองก็อาจจะเข้าตำรา  หัวล้านนอกครู ด้วยเหตุที่หน่วยงานจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ  2 แห่ง คือ World  Economic  Forum  ( WEF) และ  International  Institute  of Management  Development ( IMD ) ปรับลดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยโดยรวม จากอันดับที่  34 ในปีที่แล้ว หล่นไปอยู่อันดับที่  36  ทั้ง ๆ ที่ ประเทศนี้ เชื่อมั่นใน  ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ตลอดมาอย่างน้อยก็ในช่วงอายุของรัฐบาลปัจจุบัน   ทั้งได้ลงทุนลงแรงศึกษาวิจัย  ตั้งหน่วยงานต่าง ๆ  ขึ้นมารองรับมากมาย แล้วทำไม ๆ  พระเจ้า (จ๊อด)ไม่ทรงดลบันดาลให้ WEF และ IMD    จัดอันดับประเทศไทยให้สูงกว่านี้ เล่า

                ตอนแรก กู (Gu) ว่าจะยก อนิจจะลักษณะ หรือ กฎแห่งอนิจจัง  มาเถียงแล้ว  แต่บังเอิญได้อ่านของกูรูฝรั่งอีกรายหนึ่ง  (มีใครรู้บ้างว่าทำไมผู้รู้ฝรั่งถึงชอบอยู่รู  ไม่ชอบอยู่บ้านอยู่ช่อง  หรือว่าอยู่แล้วฉลาด กู (Gu) จะได้ขุดรูอยู่บ้าง  แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น กู (Gu)ต้องนับถือพวกกระต่ายเป็นบรมครูด้วยหรือไม่)  ที่เขียนไว้แสบกว่า  และกู (Gu) ก็ว่า อะไรจะจิ้มฝรั่งได้สะเด็ดสะเด่ากว่า ฝรั่งจิ้มกันเอง  คงไม่มีอีกแล้ว  เขาเขียนว่า
สิ่งที่ต้องถูกทิ้งอีกอย่างก็คือ  ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน  พูดง่าย ๆ คือ เลิกคิดที่จะค้นหาอะไรสักอย่างสองอย่างที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่น แล้วใช้ประโยชน์จากมันไปเรื่อย ๆ   ( Tom peters : หนังสือชื่อ  Re-imagine )
                มีอีกรายที่แสบเหมือนกันเป็นเพื่อนของนายทอม ปีเตอร์  ชื่อ ริช  ดีอะเวนี  เขียนไว้ในหนังสือ  Hypercompetition  : Managing  the Dynamics of Strategic Maneuvering ว่า
อัศวินได้ตายไปแล้ว   หลักปฏิบัติแบบใหม่มุ่งไปที่กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทิศทางของสถานการณ์  เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันแบบต่อเนื่องแต่ไม่ยั่งยืน นี่ไม่ใช่ยุคของการป้องกันตัวด้วยปราการ  คูน้ำ และเสื้อเกราะ  แต่เป็นยุคของการใช้เหลี่ยมคู  ความว่องไว  และความเหนือชั้น  สำหรับบางคน  การแขวนเกราะแห่งการแข่งขันแบบยั่งยืนที่เคยช่วยชีวิตมาหลายสงครามอาจจะเป็นเรื่องยาก  แต่เชื่อผมเถอะ ไม่มีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนอีกต่อไปแล้ว  การแข่งขันเหนือธรรมดาเป็นการแข่งขันเพียงระดับเดียวในปัจจุบัน
 
                สำนวนกระทบกระเทียบแบบไม่เกรงใจ อัศวินคลื่นลูกที่สามของไทยแบบนี้  รับประกันได้เลยว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีติดโผแนะนำให้ ครม. อ่าน 

ไว้ต่อตอน  2 ครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5882เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2005 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท