มะกะโท


แม้พายุหมุนไซโคลนนาร์กีสจะผ่านพ้นไปแล้ว

แต่ทว่าร่องรอยความสูญเสียยังเหลือซากอยู่เกลื่อนกล่น บนแผ่นดินพม่า เช่นเดียวกับเรื่อวราวของมะกะโทหนุ่มรูปงามคนนั้น แม้เหตุการณ์คราวนั้นจะล่วงเลยไปเนิ่นนานแล้ว แต่เนื้อหาอันรุนแรงและภาพสลดหดหู่ยังไม่ยอมจางสลาย....

มะกะโทเป็นบุตรชาวบ้าน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลตะเกา แขวงเมืองเมาะตะมะ ในรามัญประเทศ กล่าวกันว่าเป็นผู้มีบุญวาสนา เพราะประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการคือ

๑.มีรูปร่างดี เป็นที่ชอบพอของคนทั้งปวง

๒.มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด

๓. มีความกตัญญู

หลังจากบิดาถึงแก่กรรม มะกะโทได้ประกอบอาชีพค้าขาย เขาเป็นพ่อค้าหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยมีการติดต่อการค้ากับประเทศใกล้เคียง ครั้งหนึ่งเขาคุมลูกค้า ๓๐ คน หาบสินค้าขึ้นไปขายที่เมืองสุโขทัย ครั้นมาถึงใกล้ภูเขา ลูกค้าคนหนึ่งป่วย มะกะโทจึงเข้ารับเอาหาบลูกค้านั้นแทน เมื่อขึ้นไปถึงเชิงเขา เวลานั้นมิใช่ฤดูฝน แต่บังเกิดมีพายุใหญ่พัดอึงคะนึง ฟ้าร้องคำรามและสายฝนก็พร่างพรูลงมา สายฟ้าแลบแปลบปลาบ

เปรี้ยง !

ผ่าลงมาถูกไม้คานซึ่งมะกะโทหาบหักลงจากบ่า

เปรี้ยง !

เปรี้ยง !

อสนีก็บันดาลผ่าลงมาถูกคานหักถึง ๓ หน จนครั้งสุดท้ายตะกร้าสินค้านั้นตกกระเด็นลงไปในเหว มะกะโทยืนตัวสั่นและตกตะลึง !

เมื่อตั้งสติได้แล้ว มะกะโทเงยหน้ามองไปทางทิศตะวันออก เห็นแสงอรุโณทัยสาดส่องขึ้นเรื่อเรืองประหนึ่งเป็นเวลาเช้าที่สดใส แล้วหันกลับไปมองทางทิศตะวันตก ฟ้าแลบแล่นแตกกระจายกลายเป็นดอกไม้ไฟ ภาพวิมานสีรุ้งและปราสาทราชมณเทียรปรากฎขึ้นชัดเจน มะกะโทบังเกิดความเชื่อเป็นนิมิตในใจ

"เหตุใหญ่ ! มหัศจรรย์ ! แต่น่าแปลกพิลึก ไม่มีใครได้รับอันตราย"

พ่อค้าหนุ่มชาวรามัญยกมือประนมไปรอบทิศ พลางรำพึง

" ตัวข้านี้เห็นจะมีวาสนาในภายหน้าเป็นแน่แท้ !"

ประกอบกับคำทำนายของโหรคนหนึ่งในเวลาต่อมาว่า ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาตินั้นคือนิมิตหมายที่ดีที่มะกะโทจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในภายภาคหน้า ดังนั้น มะกะโทจึงเลิกทำการค้า เข้าอาสารับราชการอยู่กับพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ด้วยความขยัน อดทน พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องพระร่วงเจ้าชอบพระอัธยาศัย จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็น 'ขุนวัง' ซึ่งข้าราชการน้อยใหญ่ต่างยำเกรงเป็นอันมาก

เมื่อได้รับตำแหน่งและอำนาจ มะกะโทก็เปลี่ยนไป !

ครั้งนั้น พระร่วงเจ้ายกทัพไปปราบข้าศึกที่ชายแดน มะกะโทในนามขุนวังผู้มีอำนาจก็ลอบกระทำสังวาส 'นางเทพสร้อยสุดาดาว' พระธิดาพระร่วงเจ้า แต่ด้วยกลัวพระราชอาญาจึงพานางสร้อยสุดาดาวขึ้นช้างพังตัวหนึ่งพร้อมด้วยไพร่พล ๑๗๐ คนออกจากเมืองสุโขทัย หนีกลับไปยังเมืองเมาะตะมะบ้านเกิดเมืองนอน

มะกะโทมีกองกำลังทหาร มีทองคำมากมายและมีความเชื่อเป็นของตน เมื่อกระทำการสิ่งใดมักประสบผลสำเร็จ จึงมีผู้คนท้องถิ่นมาสมัครเป็นพรรคพวก จนกลายเป็น 'ผู้มีบุญ'คนใหม่ของชาวเมืองเมาะตะมะ ในที่สุดมะกะโทก็วางแผนสำคัญเพื่อทำความเชื่อให้เป็นจริง วางแผนจับเจ้าเมืองฆ่าเสีย แล้วก้าวขึ้นครองเมืองเมาะตะมะ สถาปนาตนเป็นกษัตริย์นามว่า 'สมิงจาโร' หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว!

วิมานในอากาศคราวนั้นยังชัดเจนในความจำ พระเจ้าฟ้ารั่วจึงดำเนินการขั้นต่อไป ทรงสร้างปราสาทประหลาด ผิดวิสัยมนุษย์ทั่วไป เวลาจะเอาเสาเอกลงหลุมปราสาทนั้น ได้ตั้งเสาเอกไว้เหนือหลุม จับผู้หญิงมีครรภ์ใส่ลงในหลุม แล้วก็ตัดเชือกให้เสาเอกนั้นหล่นกระแทกลงไปในหลุม โดยพิธีกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสนองความเชื่อว่าจะช่วยค้ำราชบัลลังก์ให้มั่นคง และเพื่อแสดงว่าผู้มีอำนาจเหนือสามัญชนเท่านั้นจึงสามารถกระทำได้

ผลปรากฎว่าเลือดของหญิงมีครรภ์ผู้น่าสงสารนั้นกระเด็นขึ้นมากลายเป็นงู ๘ ตัว โดย ๗ ตัวตายทันทีที่ปากหลุ่ม ส่วนอีกตัวเลื้อยทุรนทุรายไปตายอยู่ห่างปากหลุมออกไปทางทิศตะวันตก

หยดเลือดเหล่านั้นนำไปสู่เหตุการณ์วิบากกรรมในเวลาต่อมา

หยดที่หนึ่งคือ พระเจ้าฟ้ารั่วเสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะได้ ๒๖ ปี มีโรคเบียดเบียนอย่างทุกข์ทรมานก่อนสวรรคต มุขมนตรีทั้งปวงจึงเชิญพระศพเข้าถวายพระเพลิงในปราสาท กวาดเอาพระอัฐิและพระอังคารประมวลเข้าแล้วก่อพระเจดีย์สวมไว้

หยดที่สองคือเจ้ามะกะตา น้องชายพระเจ้าฟ้ารั่ว อยู่ในราชสมบัติไม่นานก็ถูกพี่เขยจับฆ่า แล้วตั้งลูกชายของตนคือ พระเจ้าแสนเมืองมิ่ง ครองเมืองเมาะตะมะ

หยดที่สามคือพระเจ้าแสนเมืองมิ่ง ครองเมืองท่ามกลางความยุ่งยาก การแย่งชิงอำนาจจากขุนนางจนสิ้นพระชนม์

หยดที่สี่คือ เจ้าชี อนุชาเจ้าแสนเมืองมิ่งขึ้นครองเมืองเมาะตะมะได้ ๘ ปี ถูกขุนนาง นามว่า 'ชีปอน' ปลงพระชนม์

หยดที่ห้าคือชีปอนตั้งตนเป็นกษัตริย์อยู่ได้ ๗ วันก็ถูกอุ้มฆ่าโดยขุนนาง 'เจตสงคราม' แล้วยก 'เจ้าอายกำกอง'โอรสพระเจ้าแสนเมืองมิ่งขึ้นครองราชสมบัติ

หยดที่หกคือเจ้าอายกำกองครองราชสมบัติไม่กี่วันก็ถูกนางจันทรมังคละวางยาพิษสิ้นพระชนม์

หยดที่เจ็ดคือนางจันทรมังคละยกเจ้าอ้ายลาวสืบราชสมบัติ แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นอย่างง่อนแง่น คลอนแคลนเต็มที เพราะขุนนางแตกแยกเป็นหลายก๊กหลายก๊วน

หยดที่แปดคือพระยาอู่ โอรสเจ้าชีครองราชสมบัติ แล้วก็เกิดความวุ่นวายขึ้นในเมืองเมาะตะมะ เมื่อพระยาอู่เสด็จไปคล้องช้าง ให้สมิงพะตะบะอยู่รักษาเมือง ปรากฎว่าสมิงพะตะบะกลับเป็นกบฎ เตรียมศาสตราวุธรักษาหน้าที่บนเชิงเทินไม่ยอมให้พระยาอู่เข้าเมือง จึงเกิดศึกชิงความเป็นใหญ่ขึ้น แต่พระยาอู่เสียเปรียบทุกอย่าง จึงปราชัย เลยต้องกระเด็นจากเมืองเมาะตะมะไปอย่างน่าเวทนาและสิ้นพระชนม์ที่เมืองอื่นด้านทิศตะวันตก

สายฟ้าผ่าเปรี้ยง !

บันดาลให้มะกะโทเกิดพลังความเชื่อมั่นจนกระทั่งประทับนั่งเหนือบัลลังก์ได้สำเร็จ แต่หยดเลือดที่กระเด็นขึ้นจากปากหลุมแห่งอำนาจเถื่อนไม่ใช่นิมิตแห่งความสถาพร แต่มันคือลางร้ายชี้ชะตากรรมบทอวสานอย่างน่าเศร้าไว้บนผืนดินแห่งตำนาน !

คำสำคัญ (Tags): #พระเจ้าฟ้ารั่ว
หมายเลขบันทึก: 587516เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2015 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2015 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่ยักกะใช่เรื่องเดียวกะ..มักกะโท..ที่เคยได้ยิน...ๆเขาเคยเป็นคนเลี้ยงช้าง..ด้วยความขยันหมั่นเพียร..ต่อมาได้ครองเมือง..เนื่องจาก..เมล็ดผัก..กับเงินเบี้ยที่ได้รับพระราชทานมา...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท