โค้ชกลุ่ม (Group Coaching) อย่างไรให้ได้ใจทั้งทีม โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


การโค้ชกลุ่ม (Group Coaching) เป็นประสบการณ์ที่สุดแสนท้าทายสำหรับโค้ชหลายท่าน เพราะธรรมชาติของการโค้ชเปรียบเสมือนการเต้นรำระหว่างโค้ชกับโค้ชชี่ โดยโค้ชเต้นตามจังหวะของโค้ชชี่ ผ่านการสนทนา วิธีการสื่อสารพูดจาที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของโค้ชชื่ บรรยากาศ และสถานการณ์ในการโค้ช ทั้งนี้ โค้ชจะใช้กระบวนการเป็นตัวควบคุมการสนทนาโดยมีจุดประสงค์ ดังต่อไปนี้

  • ช่วยให้โค้ชชี่เกิดการตระหนักรู้จากภายในตนเอง (Create Self-Awareness) และเข้าใจความจริงในปัจจุบัน (Understand Current Reality) ทั้งในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง และสิ่งที่โค้ชชี่ปรุงแต่งขึ้นในรูปแบบของความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมา
  • ช่วยให้โค้ชชี่เล็งเห็นภาพเป้าหมายที่ตนต้องการบรรลุ (Define Picture of Goal)
  • ช่วยให้โค้ชชี่สามารถคิดค้นทางเลือกต่างๆและพัฒนาแผนดำเนินการที่เป็นรูปธรรม (Develop Action Plan)

การเต้นรำกับโค้ชชี่เพียงคนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว โค้ชต้องแม่นยำในกระบวนการ มีสติอย่างสมบูรณ์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับตนเอง จึงจะสามารถปรับตนยืดหยุ่นและสนทนาได้อย่างลื่นไหลในการโค้ช การเต้นรำกับโค้ชชี่หลายท่านยิ่งท้าทาย เพราะพื้นฐานและความคาดหวังของโค้ชชี่ต่อการโค้ชมีความแตกต่างกัน แม้ว่าการโค้ชจะอยู่ภายใต้หัวข้อหรือประเด็นเดียวกันก็ตาม

ในการโค้ชกลุ่ม จุดมุ่งเน้นที่สำคัญที่สุดคือการทำให้โค้ชชี่ทุกคนเดินทางมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันด้วยความเต็มใจและร่วมแรงร่วมใจ ภายใต้บรรยากาศของความหวัง มีแรงบันดาลใจ และมุ่งมั่น แนวทางปฏิบัติที่ผู้เขียนใช้ในการโค้ชกลุ่มและประสบความสำเร็จมีดังต่อไปนี้

  • ชี้แจงให้โค้ชชี่ทราบว่าองค์กรส่วนใหญ่จะลงทุนเรื่องการโค้ชกับบุคลากรที่เป็นความหวัง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขององค์กร และบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้รับการโค้ชเป็นบุคคลที่องค์กรเชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาได้
  • กระตุ้นให้โค้ชชี่ทุกคนจินตนาการถึงภาพเป้าหมายที่ตนต้องการบรรลุ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตพวกตนหากเป้าหมายนั้นกลายเป็นความจริง
  • กระตุ้นให้โค้ชชี่ร่วมสังเคราะห์ภาพที่จินตนาการออกมาเป็นเป้าหมาย 1-2 ข้อที่เห็นชอบร่วมกัน และเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับหัวข้อในการพัฒนา
  • ทำให้แน่ใจว่าเป้าหมายที่กำหนดขึ้นอยู่ภายใต้เกณฑ์ 4 ข้อ คือเป็นเป้าหมายที่สร้างแรงบันดาลใจ ท้าทาย เป็นจริงได้ และวัดผลได้
  • ทำให้แน่ใจว่าโค้ชชี่ทุกคนมีความรู้สึกตื่นเต้น พึงพอใจ และกระตือรือร้นอยากจะทำให้เป้าหมายบรรลุผล
  • กระตุ้นให้โค้ชชี่ร่วมกันวางกลยุทธ์หรือเส้นทาง (Road Map) ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น
  • กระตุ้นให้โค้ชชี่ร่วมกันกำหนดวิธีดำเนินการ (Action Plan) สำหรับกลยุทธ์แต่ละข้อ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
  • แต่งตั้งหัวหน้าทีมใหญ่และทีมย่อยเพื่อรับผิดชอบในการขับเคลื่อนการเดินทางสู่ความสำเร็จของทีม โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสมาชิกในทีมให้มีโอกาสรับบทบาทหัวหน้าทีมเพื่อการเรียนรู้การเป็นผู้นำ
  • โค้ชต่อเนื่องเพื่อติดตามผลความคืบหน้าของทีม และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการนำวิธีดำเนินการไปปฏิบัติ
  • โค้ชหมั่นแสดงความชื่นชมความสำเร็จของทีม และให้กำลังใจทีมเป็นระยะ รวมถึงสะท้อนจุดแข็งของทีมให้ได้รับรู้ด้วย การชมและการสะท้อนจุดแข็งช่วยให้โค้ชชี่เกิดการเรียนรู้ ส่งเสริมความเคารพ และมั่นใจในตนเอง
  • นำการให้คำปรึกษาแนะนำ (Mentoring) มาใช้ผสมผสานกับการโค้ชด้วยคำถามตามความเหมาะสม

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การโค้ชกลุ่มประสบความสำเร็จคือ ความสามารถของโค้ชในการสร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ความฮึกเหิม ทำให้บุคคลเห็นคุณค่าในตนเอง โค้ชต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการโค้ชแต่ละครั้ง ขณะที่มีความสามารถในการปรับตนยืดหยุ่นในการสนทนา ไม่ยึดติดกับรูปแบบการโค้ชด้วยคำถามเพียงอย่างเดียว แต่สามารนำการให้คำปรึกษาแนะนำ (Mentoring) มาใช้อย่างเหมาะสมในจังหวะต่างๆ เพื่อทำให้การโค้ชดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นสูงสุดโดยแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 587240เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2015 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2015 08:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท