เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนน่าอยู่ภาคอีสานชูต้นแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาพผู้บริโภค-เกษตรกรผู้เพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต


"เราให้ชาวบ้านเลือกปัญหาหรือเรื่องที่ต้องการทำขึ้นเพื่อให้ชุมชนของตัวน่าอยู่ขึ้น อย่างเช่น 3 ประเด็นที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้แก่ ลด ละ เลิกสุรา เกษตรอินทรีย์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักๆ ของภาคอีสาน โดยเฉพาะเรื่องการลด ละ เลิกสุรา ซึ่งเมื่อเรานำชุมชนที่ประสบความสำเร็จมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ว่าเขามีกระบวนการอย่างไรที่ทำให้ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จ ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะเกิดแรงจูงใจที่จะทำตามไปด้วย"

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนน่าอยู่ภาคอีสานชูต้นแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาพผู้บริโภค-เกษตรกรผู้เพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต พร้อมหนุนชาวบ้านลด-ละ-เลิกเหล้า จัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างชุมชนให้น่าอยู่

สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีประชุมสรุปบทเรียนโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ ปี 2555 โดยมีตัวแทนจากชุมชน 125 คน จาก 45 ชุมชน จากทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งในครั้งนี้ภาคีเครือข่ายได้นำองค์ความรู้ จุดเด่นและแนวทางการดำเนินโครงการ ทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ การลดละเลิกเหล้าในงานบุญ งานศพและงานเทศกาลตามประเพณี รวมทั้งการจัดการคัดแยกขยะในหมู่บ้านนำไปขายและแปรรูปเป็นปุ๋ย ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

ศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ คณะกรรมการบริหารสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ให้โจทย์ว่าทำอย่างไรให้ชุมชนน่าอยู่ ซึ่งแต่ละแห่งทำไม่เหมือนกัน และเมื่อมาจับกลุ่มคุยกัน ก็จะได้รู้ว่าชุมชนน่าอยู่เป็นอย่างไร จะต้องทำอย่างไร เช่น ครอบครัวต้องอบอุ่น ชุมชนมีความสามัคคี เป็นต้น

"เราให้ชาวบ้านเลือกปัญหาหรือเรื่องที่ต้องการทำขึ้นเพื่อให้ชุมชนของตัวน่าอยู่ขึ้น อย่างเช่น 3 ประเด็นที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้แก่ ลด ละ เลิกสุรา เกษตรอินทรีย์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักๆ ของภาคอีสาน โดยเฉพาะเรื่องการลด ละ เลิกสุรา ซึ่งเมื่อเรานำชุมชนที่ประสบความสำเร็จมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ว่าเขามีกระบวนการอย่างไรที่ทำให้ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จ ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะเกิดแรงจูงใจที่จะทำตามไปด้วย"ศ.นพ.อำนาจ กล่าว

ทางด้าน นายนคร ยาวะโนภาส เกษตรกรจากบ้านตามุง หมู่ที่ 17 ต.สำโรงปราสาท อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่าบ้านตามุงมีทั้งสิ้น 48 ครัวเรือน ประกอบอาชีพทำนาข้าวหอมมะลิ 40 ครัวเรือน อีก 8 ครัวเรือนนั้นทำอาชีพราชการ เดิมชาวบ้านทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งใช้ต้นทุนการผลิตสูงกว่า 2,000 บาทต่อไร่ และการใช้สารเคมีส่งผลต่อสุขภาพของชาวนาและผู้บริโภค ชุมชนจึงได้ร่วมปรึกษากันและตั้งกรรมการขึ้นหาทางลดปัญหาด้านสุขภาพและลดต้นทุน จึงได้เริ่มดำเนินโครงการ "ตามุงร่วมใจสร้างข้าวไทยปลอดสารเคมี" สร้างกติกาให้แต่ละครัวเรือนสงวนที่นาสำหรับปลูกข้าวปลอดสารพิษอย่างน้อย 2 ไร่ต่อครัวเรือน ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้ง 40 ครัวเรือน จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 800 ไร่ และชุมชนยังร่วมใจกันซื้อที่ดินเพิ่มอีก 2 ไร่ เพื่อทำนารวมและเก็บผลผลิตแบ่งกัน

เกษตรกรรายเดิมกล่าวว่า ขณะนี้เพิ่งเริ่มดำเนินการตามครงการและอยู่ระหว่างฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเมื่อตรวจสอบต้นทุนการผลิตพบว่าการทำนาปลอดสารพิษต้นทุนการผลิตเหลือ 500 บาทต่อไร่ เพราะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ชาวบ้านร่วมกันทำและสารกำจัดแมลงจากธรรมชาติที่ผลิตได้เอง อีกทั้งยังเชื่อว่าขาวที่ผลิตขึ้นนี้จะทำให้สุขภาพดีขึ้น

"บ้านผมเพิ่งปลูกข้าวปลอดสารพิษครั้งแรก จากที่ไปคิดต้นทุนก็พบว่าลดลงมาก แต่ผลผลิตอาจไม่เท่าข้าวที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมี แต่มันปลอดภัยเพราะปลูกไว้กินเอง ชาวนาก็สุขภาพดีขึ้นเพราะไม่ต้องใช้สารเคมี ขณะเดียวกันก็เกิดความสามัคคีร่วมใจกันในหมู่บ้านช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นาข้าวปลอดสารเคมีเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ต่อไปจะมีการขยายให้ปลูกเต็มพื้นที่และต่อยอดทำกิจกรรมอื่นๆที่ทำให้หมู่บ้านของเราอยู่ดีมีสุข" นายนครกล่าว

ด้านนางลัดดาวัลย์ ชัยวิเศษ ตัวแทนเกษตรกรจากบ้านขี้นาค ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีษะเกษ ซึ่งเริ่มปลูกข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษ กล่าวว่าชุมชนขี้นาคประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน มี 97 ครัวเรือน ขณะนี้มีการทดลองปลูกข้าวปลอดสารพิษ 30 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 1 ไร่ พบว่าต้นทุนการผลิตลดลง เพราะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ชาวบ้านร่วมกันทำ และสารปราบศัตรูพืชจากธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านให้ความสนใจ ขณะเดียวกันก็พบว่าในหมู่บ้านมีการปลูกข้าวหอมนิลพันธุ์พื้นบ้านของผู้ใหญ่เทวลิตร ทวีชาติ มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งได้เข้าร่วมกลุ่มเกษตรปลอดสารพิษด้วย ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวนี้ไว้ โดยมีโครงการที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกให้มากขึ้น

ตัวแทนเกษตรกรจากบ้านขี้นาค กล่าวว่าบ้านขี้นาคกำลังเริ่มต้นการเป็นชุมชนน่าอยู่ในหลายๆด้าน ทั้งการปลูกข้าวปลอดสารพิษ การปลูกพืชสวนครัวปลอดสารพิษไว้กินเองเหลือจึงนำออกจำหน่าย การจัดตั้งกลุ่มทำดอกไม้จันทน์ กลุ่มทำไม้กวาดจากต้นตาล เพื่อสร้างรายได้แก่ครัวเรือน การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ภาษาชาวกูยในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีโครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนด้านอื่นๆด้วย เช่น การลดละเลิกเหล้า การจัดการขยะในหม่บ้าน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 586778เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท