เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา


ผมได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ ให้เป็นประธานคณะทำงานเตรียมการด้านโลจิสติกส์สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ตอนที่รัฐบาลประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 เขตในประเทศคือ 1. อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก 2. จังหวัดหนองคาย 3. จังหวัดมุกดาหาร 4. สระแก้ว 5. อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา วันแรกของการประกาศผมบอกเลยว่าสงขลาถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 1 โดยไม่ได้ซื้อ เพราะเท่าที่ทราบรัฐบาลตั้งใจจะประกาศ 4 เขตแรก แต่มาติดที่ว่า อ.สะเดา จังหวัดสงขลา เป็นด่านที่มีการส่งออกและนำเข้าสินค้ามากที่สุด เอา 4 ด่านแรกรวมกันยังไม่เท่ากับด่านสะเดาด่านเดียว ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศจึงจำเป็นต้องประกาศให้ด่านสะเดาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปด้วย แต่หลังจากการประกาศความงงงวยของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็บังเกิดขึ้น เพราะไม่ได้เตรียมเนื้อเตรียมตัวไว้ว่าจะเอาอย่างไร ไม่เหมือนกับ 4 ด่านแรกที่มีความต้องการใช้พื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรมเพื่อใช้แรงงานของประชากรเพื่อนบ้านมาทำงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ติดขัดในกฎหมายที่ประกาศใช้ทั้งประเทศ จึงมีความต้องการที่จะใชัเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีสิ่งที่ไม่มีให้มี สิ่งที่กฎหมายทั่วไปทำไม่ได้ เขตเศรษฐกิจพิเศษทำได้ ในประเทศไทยพอพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษเราไม่มีตัวแบบชัดเจน เพราะยังไม่เคยมีการทำเป็นเรื่องเป็นราว ความเข้าใจของผู้นำรัฐบาลก็คือต้องการสร้างงาน สร้างรายได้ แทนที่ในสภาวะที่เศรษฐกิจทั้งโลกกำลังมีปัญหา ภาพที่จำลองชัดเจนของเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องดูที่เมืองเสินเจิ้น ที่ตรงข้ามฮ่องกง ในอดีตก่อนที่ผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง จะมีอำนาจ เมืองเสินเจิ้นคือสลัมเทียบกับฮ่องกงเหมือนนรกกับสวรรค์ แต่เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงมีอมตะวาจาที่ว่าแมวขาวหรือแมวดำขอให้เพียงจับหนูได้ ประกาศเมืองเสินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐทุ่มโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านลงไป วางผังเมืองรองรับการเจริญเติบโตเป็นเวลาหลายๆสิบปี เมืองเสินเจิ้นเหมือนเนรมิตร แต่เมืองเสินเจิ้นมีเบ็นชมาร์คกิ้ง(ตัวเปรียบเทียบ) คือฮ่องกง ในแต่ละแห่งต่างก็มีฝันของตนเอง ฝันของผู้นำประเทศ รวมถึงภาครัฐไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่างก็ถือฝันของตนเอง แต่งสงขลาไม่ทันฝันก็ถูกรางวัล พอขึ้นเงินรางวัลก็ไปติดเงื่อนไขว่าแล้วแต่ทางการเขาจะจ่ายเงินรางวัล เพราะพอทางราชการว่ากำหนดให้เพียงสี่ตำบลของอำเภอสะเดาที่ติดพรมแดนประเทศมาเลเซียเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเอกชนก็ได้แต่แซ่ซร้องตาม ทั้งๆที่ในเขตที่ทางราชการประกาศไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำอุตสาหกรรมใดๆเลย เพราะอำเภอสะเดาเป็นพื้นที่ต้นน้ำของคลองอู่ตะเภา ที่น้ำในคลองนี้ไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือไปลงที่ทะเลสาบสงขลา และคลองนี้เป็นคลองน้ำดิบในการทำประปาเลี้ยงคนอำเภอหาดใหญ่ทั้งอำเภอ รวมถึงอำเภอเมืองสงขลา และอำเภอสิงหนคร แต่ด้วยการขาดการวางแผนในระยะยาวทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นตลอดลำคลองประมาณ 70 กว่าโรง ผู้เขียนเคยพูดคุยกับทั้งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ว่าน่าถือโอกาสนี้ขอให้รัฐประกาศให้จังหวัดสงขลาทั้งจังหวัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออย่างน้อยก็ให้เอาเขต สี่อำเภอคือ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา อำเภอจะนะ และอำเภอนาทวี(ซึ่งมีด่านศุลกากรเปิดใหม่คือด่านประกอบ) เป็นเศรษฐกิจพิเศษ โดยควรพัฒนาสี่อำเภอให้เป็นต้นแบบของอีกสามจังหวัด และให้เวลาโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่รายรอบต้นน้ำ 70 กว่าโรง ภายใน 10 ปี ต้องย้ายออกให้หมด มิฉนั้นไม่ต่อใบอนุญาต โรงงานอุตสากรรมควรไปอยู่ในสี่อำเภอที่ว่า โดยเฉพาะด่านศุลกากรด่านบ้านประกอบ เราสร้างขึ้นมาเพื่อประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะ เพราะพื้นที่รอบๆด่านล้วนเป็นพื้นที่ สปก. ดังนั้นภาคเอกชนจะลงทุนอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นควรถือโอกาสที่ รัฐบาลมี คสช.ที่มีอำนาจพิเศษออกกฎหมายเวนคืนพื้นที่่รอบด่านสักอย่างน้อยห้าหมื่นไร่ และถนนที่ผ่านเข้าสู่ด่านศุลกากรมีบางส่วนเป็นพื้นที่ สปก. บางส่วนเป็นเขตป่าสงวน ดังนั้นต้องใช้อำนาจพิเศษที่มีอยู่จึงจะทำได้ ให้เป็นเมืองใหม่ที่มีพร้อมหมดโดยการวางผังเมืองอย่างน้อย 50 ปี มีศูนย์กลางโลจิสติกส์ พร้อมที่จะถ่ายเทสินค้าของสามจังหวัดในอนาคต ต้องมีที่ตั้งของตำรวจตะเวนชายแดน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทุกด้าน เอาบทเรียนความผิดพลาดของด่านนอก ตำบลสำนักขามเป็นบทเรียนที่ต้องไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนั้นอีก

สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเคยจ้างจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยทำวิจัยเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างบูกิตกายูอิตัมกับอำเภอสะเดา ภายใต้ข้อตกลง JDS (Joint Development Special) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ผู้เขียนจำได้ว่าเคยมีการเสนอให้เอาอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเมืองเข้าไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ไม่ทราบบทวิจัยนั้นไปอยู่ตรงไหนแล้ว ความคิดที่กรุงเทพเป็นศูนย์กลาง กรุงเทพคิดแล้วส่งออกความคิดแบบสั่งการลงมาควรยกเลิกเสียทีในยุคที่บ้านเมืองเข้าสู่ยุคปฎิรูป ส่วนกลางควรพูดให้น้อยๆ อย่าทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี ฟังจากส่วนท้องถิ่นให้มากๆ ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นน่าจะทำวิจัยออกมาว่าในอนาคตทิศทางการพัฒนาภาคใต้ควรจะเป็นเช่นใด ภายใต้บริบทของคนภาคใต้ เป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 585686เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท