โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไม่ใช่โรงงานผลิตบัณฑิตกระป๋อง..


ได้ยินข่าวเล็ก ๆ ว่ากลุ่มผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในกลุ่มงานอาชีวะและมหาวิทยาลัย โดยอ้างถึงความต้องการแรงงานของภาคการผลิตว่ายังขาดแคลนอยู่อีกราว ๕ แสนอัตรา และอยากให้ฝ่ายการศึกษาเร่งผลิตบุคลากรให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของตลาด

ที่สำคัญก็คือ ได้ทราบว่าผู้บริหารระดับกระทรวงก็เต้นตาเพลงนี้แล้ว ฟังแล้วก็น่าสลดใจ อยากแสดงข้อคิดเห็นทักท้วง บันทึกไว้ในที่นี้


โรงเรียนทั้งหมด ทั้งในสังกัด สพฐ อาชีวะ หรือมหาวิทยาลัยก็ดี มีหลักคิดสำคัญคือสร้างคนให้มีปัญญาเป็นหลัก รู้คิด วิเคราะห์และคัดเลือก มีศีลธรรมเป็นรอง ความรู้และทักษะเป็นลำดับถัดไป ดังนั้น หน้าที่ของการสร้างคนเพื่อเข้าไปทำงานในโรงงานหรือในสถานประกอบการ จึงไม่ใช่หน้าที่หลักของโรงเรียนหรืออาชีวะ

เราอยากให้ ผู้มีบทบาทในบ้านเมือง ลองมองภาพที่เห็น กลับไปสู่ต้นตอสักนิด...


๑. เราอย่าหลอกตัวเองเลยว่า เก่งหรือสร้างคนตามแบบคำขอได้ (Requirement Specification) เราสร้างคนรู้ ให้คิด ให้รู้ว่าจะขวนขวายต่อไปอย่างไร ทำอย่างไรเรียกว่าดี หรือเลว เราพอทำได้ แต่ให้เก่งทักษะนั้น โรงงานหรือสถานประกอบการต้องลงมือทำเอง หรือช่วยทำเป็นส่วนใหญ่ โรงเรียนไม่ใช่โรงงานผลิตนักเรียนมาม่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงงานผลิตบัณฑิตกระป๋อง โปรดอย่าโย้นภาระให้แก่ภาคการศึกษา


๒. ความต้องการแรงงาน กับปริมาณแรงงานของประเทศไทย ไม่สมดุลกัน น่าประหลาดใจที่เรามีสำนักสถิติมากมาย สำนักพยากรณ์ในมหาวิทยาลัยเยอะ จนออกโพลล์ได้ทุกเช้า สาย บ่าย เย็น แต่ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำเสนอไปสู่ประชาชนไทย น้อยมาก... อาจเป็นเพราะคนไทยมีนิสัยใจกว้าง โอบอ้อมอารี ถ้าเรื่องไม่ถึงตายก็ไม่สนใจ ก็เป็นได้ เราสนใจเรื่องหวย รางวัล ชิงโชค ประกวดความงาม เซ็กซี่ ขาว หล่อ คนไทยจึงสนใจเรื่องที่มีผลกระทบอย่างหนักต่ออนาคตของประเทศนี้ น้อยมาก ...ข้อมูลแรงงานกับทิศทางของงาน ในประเทศของเรากำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็วและพลิกผัน ชนิด หน้ามือเป็นหลังมือ ..ภาพรวมของแรงงานไทย จะไม่มีที่ยืนอยู่แล้วใน อาเซียน ...ระดับมันสมอง คือสิงคโปร์และเวียดนาม ระดับล่าง คือเขมร ลาว พม่า ระดับกลาง คือฟิลิปินส์ บรูไน อินโต แรงงานไทยไม่มีที่ยืน เพราะหยิบโย่ง ไร้ความรู้ ขาดความอดทน และเรื่องมาก ...มีงานสองลักษณะเท่านั้นที่เหลืออยู่ คือขายบริการและสิ่งผิดกฎหมาย.... ข้อมูลแรงงานไม่เคยถูกนำไปใช้กับระบบการศึกษาแม้แต่น้อย แต่ระบบติวเตอร์กลับการเป็นแกนขับเคลื่อนทิศทางการศึกษาไทย Reality Show กลับกลายเป็นต้นแบบของชนชั้นหัวกะทิ ในระบบการศึกษา ขนาดแพทย์ และ เศรษฐศาสตร์ ยังถวิลที่จะลงสนามแข่งประกวด ความสวยงาม และร้องเล่น เต้นระบำ...ประเทศไทยก็คงจบเห่แล้ว....ประเทศนี้คงเหลือแต่หมดผิวพรรณเท่านั้น...


๓. นายทุนไทย ยังต้องการของถูก ทำถูก ขายถูก มากกว่าทำของดี ขายดี คุณภาพดี ภาพแรงงานต่างชาติเข้ามายึดพื้นที่ในโรงงาน เป็นภาพน่าวิตก ไม่ใช่เรื่องดีงามนักสำหรับนักแรงงานหรือเจ้าของกิจการ แต่ภาพของ "ถูก" กลับบิดเบือนคุณภาพการผลิตได้เกือบหมด นายทุนและเจ้าของกิจการเมืองไทย ยังไม่สนใจเรื่องคุณภาพ และสวัสดิการแรงงาน ไม่มีโรงงานที่ใช้แรงงานเขมรใด จะจัดสวัสดิการ อาหารที่พักให้คนงานเขมรเหล่านี้ อยู่อาศัยเยี่ยงคน เราใช้เขาเหล่านี้ราวกับทาสยุคใหม่. .เราซื้อขายแรงงานเหล่านี้ ราวกับวัว ควายตัวหนึ่ง... เอะอะก็ "ต้นทุนถูก"...ขณะเดียวกันก็ใช้กลไกนี้ต่อรองกับแรงงานไทย..ทั้งที่การพัฒนาคนในฐานะทรัพยากรมนุษย์นั้น ก็กระทำได้และควรกระทำ..... แต่เราเลือกต่อสู้ในเวทีราคามากกว่าด้านอื่น ๆ ...สินค้าและบริการของไทยจึงด้อยคุณภาพ อาจจะมีบางชนิดที่ใช้เครื่องจักรและ Know How สูง ๆบ้าง จึงจะพอสู้เขาได้...แต่รวมๆ แล้ว สินค้าคุณภาพสูง ไทยก็สู้ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่ได้ ในระดับราคากลาง ๆ เราก็สู้จีน ไม่ได้ เรากินได้เพียงตลาดสินค้าราคา ถูกๆ หรือสินค้าเกษตรธรรมชาติที่บ้านอื่นปลูกไม่ได้...หรือต้องขอสิทธิพิเศษจนกลายเป็นนิสัย... เราแข่งได้เฉพาะ เขมร ลาว พม่า (ซึ่งอีกไม่นาน เราก็จะถูกแซงหน้าไปเช่นกัน) ตัวอย่างง่ายที่สุด เราเป็นศูนย์กลางรถยนต์ของโลก แต่ยังผลิตเสื่อสูบเองไม่ได้ เราบริโภคมือถือ ๓ จี ๔จี แต่ไม่มีโรงงานผลิตเอง ...(ด้วยคำตอบของนายทุนง่าย ๆ และของรัฐด้วย คือ ซื้อถูกกว่า ....ต่างจากมาเลย์ ที่เพียรผลิตรถยนต์ด้วยตนเอง..แม้ไม่ดีที่สุด แต่เขาก็ทำเพื่อสังคม / สิงคโปร์ แม้ไม่มีแม่น้ำลำคลองแต่เขาก็พยายามผลิตน้ำดื่มด้วยเทคโนโลยีที่เพียรคิดค้นมานานกว่า สามสิบปี จนถึงวันนี้ เขาผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเล และน้ำที่ใช้แล้วได้โดยสมบูรณ์ ขนาดบริษัทผลิตน้ำไทย ยังต้องไปขอเรียนรู้เรื่องน้ำ จากประเทศที่ไม่มีน้ำ...เลย


๔. ตัวอย่างของแรงงานเขมรหรือแรงงานต่างด้าวอพยพ เป็นเพียงขยะใต้พรม ก้อนเล็ก ๆ ก้อนเดียว ของความผิดเพี้ยนของข้าราชการและระบบสังคม ที่เริ่มผุดออกมา ไม่ใช่น้ำแค่ลดตอผุด...แต่เป็นมะเร็งที่เริ่มแสดงอาการแล้วเท่านั้น...ช้าราชการยังโลภ ยังหวังประโยชน์และทำงานแบบกฐิน ผ้าป่า หัวหน้า อธิบดี ปลัด ยังคิดยุทธศาสตร์ไม่เป็น มองไม่ออก แต่เก่งเรื่องตรวจหนังสือ ผิด ตก ยกเว้น แก้ไขกลยุทธ์ไม่เป็น ทำได้แค่แก้ไขหนังสือ กับ แก่ แต่ต่อ ก็ จึง ..ฯลฯ การอบรมเพื่อสร้างปัญญาก็เห็นเพียงแค่ทำแผน แล้วก็นิ่ง (Planning) เพราะใช้ไม่เป็น จะเห็นแผนทั้งทีก็เห็นเพียงแค่การใช้เงิน ซื้อ ซื้อ ซื้อ ...เท่านั้น..เห็นข่าวปลัด ปิ๊งโน่น ปิ๊งนี่ แล้วบังอาจเสนอ คสช แล้วก็สลดใจ เด็กมหาวิทยาลัย เขี้ยว ๆ หน่อย ก็คิดได้ เผลอ คิดได้ดีกว่าปลัดเสียอีก บริษัท โฆษณา หรือ อีเว็นท์ เก่ง ๆ คิดได้ลุ่มลึกกว่านี้เยอะ...ไม่อยากให้บ้านเมืองเช้ารกเข้าพง มากกว่านี้...ไม่อยากให้พ่อค้าจูงจมูก ซี ๑๐ ซี ๑๑ มากไปกว่านี้.เลย...


ระบบการศึกษา กว้างกว่า ลุ่มลึกกว่า และละเอียดซับซ้อนกว่าระบบการผลิตในอุตสาหกรรมมาก มิใช่มองข้ามหลังคากระทรวงหรือนึกสนุกระหว่างกินเลี้ยง หรือเที่ยวเล่นก็คิดจะเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว อย่าเห็นการศึกษาเพียงแค่ ๑๐ หรือ ๒๐ ปีแล้วให้แก้โน้นนี่นั้นโดยขาดความรู้แท้จริง แต่ต้องเห็นล่วงหน้าไป ชั่วชีวิตหนึ่งของคน

ไม่มีทางออกอื่นใด นอกจากผู้บริหารและมีบทบาทในการกำหนดทิศทางประเทศเหล่านี้ ต้องสละประโยชน์ส่วนตัว หันมองสังคมและคนอื่น ๆ ด้วยใจดวงใหม่ มองอย่างไทย ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์บ้านเมืองใหม่ สังคมใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ (ไม่ใช่ชาตินิยม..แต่ก็อย่าโง่เขลา เดินคามฝรั่ง หรือคนอื่น ๆ จนไม่เหลืออะไรให้ลูกหลาน ) ถ้าไม่มีความรู้ก็ถอยออกมา และเปิดโอกาสให้คนอื่นที่ทำได้ เขามีโอกาสทำเถิด (ภาษาวัยรุ่นเขาบอกว่า อย่าโชว์โง่เลย)


หมายเลขบันทึก: 585510เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท