ถ้าใครสักคน คิดจะเลิกจ้างแรงงานเพราะเขาเรียกร้องเยอะละก็..โปรดอ่านสักนิด...


ตอนนี้ ประเด็นการเพิ่มค่าแรงให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างหน่วยราชการกำลังเป็นที่ยินดีและหวาดกลัวในหมู่วงการจ้างงาน (Human Resource)

เพราะค่าจ้างแรงงาน หรือเงินเดือนในภาคราชการนั้นเป็นแกนหลักของระบบการจ้าง ถือเป็นเกณฑ์อ้างอิงถาวรในระบบการจ้างงานภาคเอกชน และถือเป็นน้ำมันหล่อลื่นระบบเศรษฐกิจภาคการบริการและอุตสาหกรรมที่สำคัญ การเพิ่มเงินเดือนนี้แต่ละครั้งทำให้กลไกของระบบเศรษฐกิจเดินต่อได้อย่างรัดกุม ไม่หวือหวาจนคุมไม่อยู่ แม้จะไม่มากแต่ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจภาคการบริโภคขับเคลื่อนอย่างมีเหตุผล ถึงแม้หลายครั้ง จะช้าจนทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงล้ำหน้าไปก่อนก็ตาม นอกจากนี้ การขึ้นเงินเดือนของภาคราชการยังเป็นสัญญาณเตือนการจ้างทุกวงการว่า ถึงเวลาปรับค่าจ้างค่าตอบแทนไปพร้อมๆ กัน


แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนเน้นกำไร-ขาดทุน (แบบเดิม) ค่าจ้างแรงงานกลายเป็นปัญหาใหญ่ของนายจ้างเสมอมา เพราะนายจ้างเหล่านี้มักแถลงเสมอว่าค่าจ้างแรงงานสะท้อนถึงต้นทุนบุคลากร อันเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจภาคบริการและอุตสาหกรรม ถ้าค่าแรงงานสูงมากก็ทำให้ต้นทุนสูง

ทั้งที่หากแจงแจงสัดส่วนอย่างแท้จริงแล้ว ต้นทุนค่าจ้างแท้จริงอาจมีไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ของต้นทุนการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นด้วยซ้ำ (เคยได้ยินว่ารถยนต์หนึ่งคัน ๘๐๐,๐๐๐ บาทนี้ มีต้นทุนค่าแรงงานเพียง ๒๔,๐๐๐ บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการตลาดโฆษณามากถึง ๑๒๐,๐๐๐ บาทและไม่ต้องพูดถึงกำไรว่าเป็นเท่าไรและแฝงอยู่ในขั้นตอนใดบ้าง)

แต่สังคมส่วนใหญ่ ไม่เคยได้ยินเสียงข้อมูลเรื่องค่าจ้างแบบนี้จากกลุ่มแรงงาน แต่ได้ยินเสียงจากกลุ่มทุนแต่ฝ่ายเดียว อย่างเซ็งแซ่และต่อเนื่อง


พูดอย่างไม่เกรงใจ แม้แต่ใน คสช. และ สนช. เองก็ไม่มีตัวแทนแรงงานจริง ๆ แม้สักคนหนึ่งใน ขณะที่มีตัวแทนของกลุ่มทุนภาคอุตสาหกรรม ทุนการค้า ทุนธนาคาร เกือบ ๒๐ คน (ไม่นับตัวแทนจำแลง มีหมวกหลายใบอีกนับสิบคน) จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อพูดถึงเศรษฐกิจ คนเหล่านี้จึงเห็นแต่การซื้อขาย และการลงทุนเพื่อกำไร ขาดทุน ไม่เคยพูดถึงการซื้อขายที่เป็นธรรม สิทธิผู้บริโภค สวัสดิภาพ ความปลอดภัย จากอุตสาหกรรม ภาพการเก็บกวาดทรัพยากรเป็นของตนเองแทนที่จะเป็นของประเทศ จึงดาษดื่น

เพราะความเชื่อฝังหัวเดิมๆ ว่าเศรษฐกิจดีคือกำไรมากกว่าขาดทุน ตัวการร้ายคือแรงงาน เพราะแรงงานมักเรียกร้อง ประท้วง ทำให้วุ่นวาย ควบคุมยาก ค่าจ้างแรงงานสูงทำให้ต้นทุนสูง ต่อสู้กับสินค้าจากจึนและแหล่งอื่นๆ ในตลาดโลกไม่ได้ ยิ่งตอนนี้เปิด AEC แล้ว สินค้าต้องแข่งขันสูงมากกว่าเดิมอีกเป็นสิบ ๆ เท่า ค่าแรงราคาถูกเป็นกุญแจของความสำเร็จเท่านั้น


โดยลืมความจริงไปสิ้นว่า ขณะที่นายทุนลักลอบนำแรงงานเถื่อน กดขี่แรงงานเหล่านี้เหมือนสัตว์เลี้ยง และเป็นข่าวทุกวัน เพราะไม่อยากรับผิดชอบตามกระบวนการที่ราชการออกแบบไว้ ขณะแรงงานคือกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่พูดถึงการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นธรรม สนับสนุนระบบขึ้นทะเบียนของราชการแลพูดถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ทั้งที่เป็นคู่แข่งขันกันใลกอาชีพ แต่กลุ่มทุนไม่สนใจ ต้องการเพียง "แรงงานราคาถูก" เพื่อต้นทุนต่ำ

น่าเสียดายที่กลุ่มสื่อ กลุ่มนักวิชาการ ผู้รู้ในสังคมมากมาย หลงผิด เรื่อง "กำไรสูง-ต้นทุนต่ำ" ยังไม่รู้ตัวว่าไม่ใช่วิถีการต่อสู้ของโลกเศรษฐกิจดิจิตอล อีกต่อไปแล้ว ถ้าเราอยากก้าวไปแข่งขันในตลาดนี้จริงๆ อย่างดังโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลและที่สำคัญการพัฒนาแรงงานไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนหรือกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องสร้างคนเท่านั้น เพราะโรงเรียนไม่ใช่โรงงานผลิตเครื่องจักรตามสเป็ค และมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่โรงงานผลิตบัณฑิตกระป๋อง


ตำราการตลาดที่พูดถึงแรงงานในฐานะทุนจำกัด ที่ต้องกดให้ต่ำสุดควรเผาทิ้งได้แล้ว ทำให้ผู้บริหาร MBA ทั้งหลายตกกับดักในการตลาดสีแดงแข่งกันตาย (Red Ocean) หรืออย่างดีก็เป็นตัวประกอบในตลาดสีฟ้าแบ่งกันกิน (Blue Ocean) ทั้งที่คนหรือแรงงานจะช่วยให้องค์กรก้าวไปสู่การตลาดสีเหลืองหรือแบ่งกันโต (Yellow Ocean) และท้ายสุดพุ่งถึงการตลาดสีเขียวหรือแบ่งกันซื้อขาย(Green Ocean) คน คือกุญแจสำคัญของเศรษฐกิจดิจิตอล หาใช่ต้นทุนที่ถูกกว่าต่ำกว่าไม่ เพราะแรงงานหรือคน คือปัจจัยชี้ขาดในการผลิตยุคหน้า คนคือผู้เปลี่ยนแปลงชะตากรรมขององค์กร ผู้สร้าง Value ตัวจริง

แต่ในอดีตที่ผ่านมา คนที่ได้ทำหน้าที่นี้ในองค์กรมีเพียงกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง ถ้าคนกลุ่มนี้ฉลาด ดี เก่ง องค์กรก็เจริญก้าวกระโดดจนกลายเป็น Best of the Year ถ้าคนกลุ่มนี้โง่ โกง สอพลอขาดศีลธรรม องค์กรก็ล้มละลายในชั่วพริบตาเช่นกัน จึงไม่ต้องแปลกใจเมื่อองค์กรใหญ่ๆ รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่เคยโด่งดัง ๆ ในอดีต เหตุใดวันนี้จึงพ่ายแพ้ในเวทีโลกอย่างไม่น่าเชื่อ


มาถึงวันนี้ การต่อสู้ในระบบ AEC และเศรษฐกิจ Digital ยิ่งดุเดือดกว่า ด้วยหลักคิดที่ก้าวพ้นข้อจำกัดเรื่องทุนตายตัว แรงงานคือกลยุทธ์และความสำเร็จใหม่ขององค์กร โปรดอย่าคิดเลิกจ้างหรือเลือกทางออกอื่นเพียงเพราะเขาประท้วงเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม อย่ามองแต่มุม "เงินกำไรขาดทุน" เท่านั้น อุตสาหกรรมมากมายผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาได้ เพราะคนเหล่านี้สละบางอย่างช่วยกอบกู้ไว้ เมื่อสามปีก่อน ความหายนะจากน้ำท่วมใหญ่ กทม. และในนิคมอุตสาหกรรมทำให้บริษัทนับร้อยๆ แห่งได้รับผลกระทบถึงล้มพังครืน หลายบริษัทอยู่รอดเพราะแรงงานสละเลือดเนื้อ ช่วยกอบกู้ ร่วมกันเป็นร่วมกันอยู่

โปรดรำลึกถึงภาพนั้นอีกครั้ง ว่าเพราะเหตุใดแรงงานมีปฏิสัมพันธ์มากกว่าเงินและเครื่องจักรที่จมน้ำ


แรงงานตรงหน้าไม่ใช่เครื่องจักรตัวหนึ่งที่สึกหรอและหมดอายุตามการใช้งาน แต่เขาคือเพื่อนร่วมงานของคุณ ที่มีทักษะเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ยิ่งทำงานนานยิ่งเก่งกาจ เพียงแต่คุณมองเห็นจุดนี้และใช้ประโยชน์เป็นหรือไม่

อย่าให้ตำราฝรั่งหลอกคุณมากเกินไป อย่าให้นักพูดในวิทยุ ทีวี หรือหนังสือพิมพ์ เป่าหูคุณด้วยบทความและบทวิเคราะห์ที่อ้างจากฝรั่งถ่ายเดียว เพราะบางทีเขาก็อ่านมากเกินไป ฉลาดในการอ่านแต่ล้มเหลวในการทำงานจริง ...

อย่าเพิ่งคิดเลิกจ้างแรงงานเพียงเพราะการประท้วงเรียกร้องค่าแรงงานเพิ่ม ไม่มีแรงงานคนไหนจะล้มบริษัทของตนเพื่อให้ได้กินอิ่มนอนหลับเพียง วันเดียว ปีเดียว โปรดมองปัญหาแบบคนไทยเอาใจเขามาใส่ใจเรา คุณจะมองเห็นทางรอดในการตลาดสีเหลืองแน่นอน...

แรงงาน (ไทย-ต่างด้าว) ผู้บริหาร นายทุนและชุมชน คือแกนกลางใหม่ของระบบเศรษฐกิจดิจิตอล

หมายเลขบันทึก: 585509เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท