ประเภทของซอฟต์แวร์


ประเภทของซอฟต์แวร์

สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทคือ ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software)

1. ซอฟต์แวร์ระบบ

ซอฟต์แวร์ระบบ หมายถึง ชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่บริษัทผู้ผลิตสร้างขึ้นมาเพื่อใช้จัดการกับระบบ ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น การนำเข้าข้อมูลของอุปกรณ์นำเข้า การประมวลผลของหน่วยประมวลผล การจัดสรรหน่วยความจำสำรอง และการแสดงผลของอุปกรณ์แสดงผล เป็นต้น เมื่อผู้ใช้เริ่มเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ การทำงานจะเป็นไปตามชุดคำสั่งที่เขียนขึ้น ชุดคำสั่งนั้นก็คือ "ซอฟต์แวร์ระบบ" นั่นเอง ซอฟต์แวร์ประยุกต์ไม่ว่าประเภทใดล้วนแต่ต้องทำงานบนระบบปฏิบัติการทั้งสิ้น เครื่องคอมพิวเตอร์จะไม่ทำงานถ้าไม่มีระบบปฏิบัติการ การเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกครั้งจึงต้องบรรจุระบบปฏิบัติการเข้าไว้ในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะให้เครื่องเริ่มทำงานอย่างอื่น ซอฟต์แวร์ระบบที่นิยมใช้ คือ ระบบปฏิบัติการ (operating system) เอ็มเอสดอส ยูนิกซ์ โอเอสทู วินโดวส์ ลินุกซ์ เป็นต้น

1.1 ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ (OS:Operating System) เนื่องจากระบบปฏิบัติการเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ แต่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานทั่วไปจะมีคุณสมบัติและการทำงานที่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น มินิคอมพิวเตอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องให้บริการที่ต้องคอยให้บริการและดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นบริวารจำนวนมาก ระบบปฏิบัติการที่ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ประเภทนี้จึงต้องมีความซับซ้อนกว่าระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์

ตัวอย่างระบบปฏิบัติการ

ระบบปฏิบัติการดอส (Disk Operating System :DOS) เป็นซอฟต์แวร์จัดระบบงานที่พัฒนามานานแล้ว การใช้งานจึงใช้คำสั่งเป็นตัวอักษร ดอสเป็นซอฟต์แวร์ที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างลักษณะคำสั่ง ในระบบปฏิบัติการดอส เช่น C:\>copy C:\mydocument\data.doc A:\myfileคำสั่งนี้เป็นการใช้คำสั่งคัดลอกแฟ้มข้อมูลชื่อ data.doc ที่อยู่ใน Drive C Folder my document เอาไปไว้ที่ Drive A ใน Folder myfile

ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ (UNIX) เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนามาตั้งแต่ครั้งใช้กับเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์เป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถใช้งานได้หลายงานพร้อมกัน และทำงานได้หลาย ๆ งานในเวลาเดียวกัน ยูนิกซ์จึงใช้ได้กับเครื่องที่เชื่อมโยงและต่อกับเครื่องปลายทางได้หลายเครื่องพร้อมกัน

ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ (Microsoft Windows) ระบบปฏิบัติการนี้พัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟต์ เป็นระบบปฏิบัติการที่มีลักษณะการใช้งานแตกต่างจาก 2 ระบบแรก เนื่องจากมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (user interface) เป็นแบบที่เรียกว่าระบบติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก (Graphical User Interface : GUI) หรือที่เรียกว่า จียูไอ คือมีการแสดงผลเป็นรูปภาพ และใช้สัญลักษณ์ในรูปรายการเลือก (menu) หรือสัญรูป (icon) ในการสั่งงานคอมพิวเตอร์แทนการพิมพ์คำสั่งทีละบรรทัด ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้น ทั้งยังมีสีสันทำให้ซอฟต์แวร์น่าใช้งานมากขึ้น ระบบปฏิบัติการวินส์โดวส์นี้เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมสูงมากในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทั่วไป ทั้งนี้นอกจากจะเป็นความง่ายในการใช้งานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังเป็นเพราะหลังจากที่บริษัทไมโครซอฟต์ได้ผลิตระบบปฏิบัติการนี้ออกสู่ตลาด ก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่สามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการนี้ขึ้นหลายประเภท เช่น ซอฟต์แวร์ในกลุ่มซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน หรือซอฟต์แวร์นำเสนอข้อมูล ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้ใช้ในทุก ๆ ด้าน ทำให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ ๆ ที่สนับสนุนการใช้งานกับเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ระบบปฏิบัติการโอเอสทู (OS2) เป็นระบบปฏิบัติการแบบเดียวกับวินโดวส์ แต่บริษัท ผู้พัฒนาคือ บริษัทไอบีเอ็ม เป็นระบบปฏิบัติการที่ให้ผู้ใช้สามารถใช้ทำงานได้หลายงานพร้อมกัน และ การใช้งานก็เป็นแบบกราฟิกเช่นเดียวกับวินโดวส์

ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (LINUX) เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาโดยนักศึกษาชื่อว่า "Linus Torvalds" จากประเภทฟินแลนด์ LINUX เป็นระบบปฏิบัติการที่มีลักษณะคล้ายกับ UNIX แต่มี ขนาดเล็กกว่าและทำงานได้เร็วกว่า ในช่วงแรกของการพัฒนา LINUX พัฒนาขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายให้ใช้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพัฒนาขึ้นมาเพื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ในช่วงหลังความนิยมใน การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เป็นเครือข่ายเพิ่มสูงขึ้น จึงมีผู้พัฒนาส่วนประกอบอื่น ๆ ของ LINUX เพื่อเพิ่ม ความสามารถในการทำงานทางด้านเครือข่าย และผู้ใช้ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย

1.2 ซอฟต์แวร์อรรถประโยชน์ (Utility Software) เป็นโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่ช่วยสนับสนุน เพิ่ม หรือขยายขีดความสามารถของโปรแกรมที่ใช้งานอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบปฏิบัติการโดยส่วนใหญ่จะมีโปรแกรมอรรถประโยชน์มาให้ใช้งานอยู่แล้ว เช่น

- Windows Explorer เป็นเครื่องมือแสดงไฟล์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถดูภาพ และแก้ไของค์ประกอบของไฟล์ได้

- Uninstaller เป็นโปรแกรมอรรถประโยชน์ที่ใช้ในการยกเลิกโปรแกรมที่ทำการติดตั้งไว้ในระบบ เมื่อผู้ใช้ทำการติดตั้งโปรแกรม ระบบปฏิบัติการจะทำการบันทึกโปรแกรมนั้นไว้ในระบบไฟล์ หากผู้ใช้ต้องการลบโปรแกรมนั้นออกจากเครื่องก็สามารถใช้ เครื่องมือยกเลิกการติดตั้งโปรแกรมได้

- Disk Scanner เป็นเครื่องมือตรวจสอบดิสก์ เป็นโปรแกรมอรรถประโยชน์ที่ใช้ในการตรวจหาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฮาร์ดดิสก์ ผู้ใช้สามารถกำหนดให้เครื่องมือตรวจสอบดิสก์นี้ทำการซ่อมส่วนที่เสียหายได้

ฯลฯ

2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์

เป็นซอฟต์แวร์ที่ผู้ผลิตได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อจำหน่าย ให้ผู้ใช้สามารถนำไปใช้งานได้โดยตรง โดยไม่ต้องไปพัฒนาเอง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

2.1 ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป เป็นซอฟต์แวร์ที่มีบริษัทผู้ผลิตได้สร้างขึ้น และวางขายทั่วไป ผู้ใช้สามารถหาซื้อมาประยุกต์ใช้งานทั่วไปได้ ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะสำหรับงานใดงานหนึ่ง ผู้ใช้งานจะต้องเป็นผู้นำไปประยุกต์กับงานของตน เช่น ครูนำมาใช้ในการผลิตสื่อการสอน นักเรียนนำมาใช้ในการทำรายงาน เป็นต้น หรือผู้ใช้อาจต้องมีการสร้างหรือพัฒนาชิ้นงานภายในซอฟต์แวร์ต่อไปอีก ราคาของซอฟต์แวร์ใช้งานทั่วไปนี้จะไม่สูงมากเกินไป ซอฟต์แวร์ใช้งานทั่วไปซึ่งนิยมเรียกว่า ซอฟต์แวร์สำเร็จ แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามลักษณะการใช้งาน คือ

1) ซอฟต์แวร์ประมวลผลคำ (Word Processing Software)เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการพิมพ์เอกสาร หน้าที่ของซอฟต์แวร์ประมวลผลคำคือ เป็นซอฟต์แวร์ใช้สำหรับจัดพิมพ์เอกสาร จัดทำรายงาน รวมทั้งงานพิมพ์ต่าง ๆ โดยบันทึกหรือพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ลงในคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสามารถจัดเก็บเอกสารที่พิมพ์แล้วลงในหน่วยความจำรองเพื่อใช้งานในภายหลังได้ด้วย

2) ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน เป็นซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในงานด้านการคำนวณ หลักการทำงานของซอฟต์แวร์ตารางทำงาน คือ การให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เสมือนกระดาษทำการหรือเวิร์คชีด (worksheet) ของผู้ใช้งานซึ่งทำงานในรูปของคอลัมน์ (column) และแถว (row) โดยนำตัวเลขที่บันทึกในแต่ละแถว หรือคอลัมน์ มาทำการคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์ที่กำหนดไว้เช่น การนำตัวเลขในแถวหรือคอลัมน์ใดมาคำนวณเพื่อจัดเป็นค่าของคอลัมน์ใหม่ เมื่อมีค่าในคอลัมน์ หรือแถวใดเปลี่ยนไป ค่าที่สัมพันธ์กันจะเปลี่ยนตามไปด้วยโดยอัตโนมัติจุดเด่นที่สำคัญของซอฟต์แวร์ประยุกต์นี้คือ ช่วยทำให้งานคำนวณสะดวก รวดเร็ว ซึ่งสามารถกำหนดค่าของข้อมูลเพื่อคำนวณผลลัพธ์ในลักษณะต่าง ๆ ได้ รวมทั้งความสามารถในการแสดงผลลัพธ์ในรูปของตาราง และกราฟ หรือแผนภูมิต่าง ๆ ได้ซึ่งทำให้สามารถอ่านผลลัพธ์ได้ง่ายขึ้น

3) ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล ปัจจุบันนี้มีข้อมูลมีบทบาทสำคัญทุก ๆ ด้าน ทั้งในด้านการปฏิบัติงาน และการวางแผนการตัดสินใจ ซอฟต์แวร์ประยุกต์เพื่อใช้งานด้านการจัดการฐานข้อมูลจึงนับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยงานด้านการจัดเก็บข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการจัดเก็บ และการเรียกข้อมูลที่จัดเก็บออกมาใช้ได้ง่าย

4) ซอฟต์แวร์นำเสนอ เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์เพื่อใช้งานด้านการนำเสนอข้อมูล (Presentation) ในรูปแบบสไลด์ ซึ่งในการแสดงผลจะต้องมีรูปแบบที่น่าสนใจ ข้อความเข้าใจง่าย กระชับได้ใจความ สามารถแสดงผลในรูปแบบกราฟ ข้อความ รูปภาพ หรือเสียงได้ ซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่ Microsoft Power Point เป็นต้น

5 ) ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิก

ซอฟต์แวร์ชนิดนี้มีเครื่องมือสามารถปรับเปลี่ยนรูปภาพให้ได้ ตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น ปรับความเข้มของแสง ปรับเปลี่ยนความแตกต่างของสีวัตถุในภาพ และสามารถตัดแปะองค์ประกอบของภาพหลาย ๆ ภาพมาสร้างเป็นภาพใหม่ได้เหมือนการสร้างศิลปะ นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนลักษณะของภาพ ลักษณะของสีให้มีพื้นสีแบบต่าง ๆ ได้ บางโปรแกรมสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์นำเข้า เช่น เครื่องกราดตรวจ จากกล้องดิจิทัล สามารถจัดเก็บข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบของแฟ้มข้อมูลสามารถนำมาแก้ไขได้อีก ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ เช่น Photoshop, Paint Brush เป็นต้น

6) ซอฟต์แวร์ติดต่อสื่อสาร ในปัจจุบันเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกขนาดสามารถเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อติดต่อ สื่อสารกันได้ผ่านระบบเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศต่าง ๆ โดยใช้ซอฟต์แวร์ ชนิดนี้ควบคุมการติดต่อสื่อสารทั้งในเครื่องผู้ส่ง และในเครื่องผู้รับด้วย ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อการติดต่อสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีหลายชนิดตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อการรับส่งแฟกซ์ การสนทนา การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การพูดคุยด้วยไมโครโฟน การค้นหาข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่จะต้องใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่เรียกว่า Web Browser หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Browser ซอฟต์แวร์เหล่านี้บางครั้งเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีพร้อมกับซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ เช่น Browser Internet Explorer ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows

2.2 ซอฟต์แวร์เฉพาะ เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่จะต้องมีการรวบรวมความต้องการของผู้ใช้ ก่อนการพัฒนาขึ้นมาเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถทำงานได้ตามความต้องการนั้น การพัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ชนิดนี้ส่วนใหญ่เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในงานด้านธุรกิจ ที่ผู้ใช้ไม่สามารถหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมาใช้งานได้อย่างตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น ระบบงานบัญชี ระบบงานคลังสินค้า ระบบงานขาย ระบบงานห้องสมุด ระบบงานทะเบียนประวัติ ระบบบริหารงานบุคคล ระบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านเว็บ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องว่าจ้างนักพัฒนาระบบหรือบริษัทรับพัฒนาระบบ ให้วิเคราะห์ความต้องการ ออกแบบระบบ เขียนโปรแกรม และติดตั้งเพื่อใช้งาน ดังนั้น ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ได้จึงตรงตามความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #คอมพิวเตอร์
หมายเลขบันทึก: 585328เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท