โรคสมาธิสั้นจากคุณหมอเด็ก :)


วันนี้ดิฉันจะมาแบ่งปันความรู้ที่ได้รับมาจากคุณหมอผู้รอบรู้ท่านหนึงนะคะ

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 58ที่ผ่านมานี้ ดิฉันและเพื่อนๆนักศึกษากิจกรรมบำบัด ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสเรียนเรื่องโรคสมาธิสั้นกับ แพทย์หญิงหัทยา ดำรงค์ผล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พบข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น จึงอยากนำมาแบ่งปันให้อ่านกันค่ะ

เมื่อเราก้าวเดินเข้าไปในสังคม เราจะมีโอกาสได้รู้บ้างไหมว่าแต่ละคนมีความบกพร่องด้านใดบ้าง? บางทีเราเดินไปพบเด็กดื้อคนหนึ่งที่ไม่สนใจการตำหนิของผู้ปกครอง บางทีเราก็อาจเผลอคิดในแง่ร้ายในชั่ววูบที่ได้เห็น ว่าอาจจะเป็นเด็กดื้อ นิสัยไม่ดี ซุกซนเกินเหตุ บางทีนั่นอาจไม่ใช่เพราะนิสัยของเด็กหรอกค่ะ นั่นอาจจะเป็นอาการหนึ่งของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นก็ได้

ปัจจุบันตัวเลขที่สามารถระบุเป็นเปอร์เซนต่อประชากร พบว่า มีผู้คนจำนวน5-10% ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว ที่เป็นโรคสมาธิสั้น บางผลงานวิจัยระบุว่ามากถึง15% นั่นหมายถึง ถ้าหากเราเจอประชากร 100คน จะมีมากถึง 15 คนที่เขาเป็นโรคสมาธิสั้น และจะมีผลการทบต่างๆตามมา สำหรับเด็กนั้น ผลกระทบเรื่อง "การเรียน" เป็นสิ่งที่ควรคำนึง

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น พบว่าปัญหามาจากสารเคมีในสมอง ไม่ได้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด และวิธีการแก้ปัญหาที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะทำคือ การไปพบแพทย์ รับยา ซึ่งการรับยามาทานอย่างเดียว คงไม่เป็นสิ่งที่ดีแน่ๆ เพราะผลข้างเคียงก็จะมีบ้าง ผู้ปกครองควรคำนึงเรื่อง "กิจกรรม" ของเด็กด้วย

อาการของเด็กสมาธิสั้น แบ่งเป็น 1 ไม่สนใจสิ่งใดๆรอบตัว (Inattention) คือ เด็กจะไม่คิดอะไรก่อนที่จะทำสิ่งใด มักจะอยู่ไม่นิ่งเคลื่อนไหวไปมาบ่อยๆ พูดไม่หยุด ชอบแทรกแซงคนอื่น ไม่ชอบทำตามกฎเกณฑ์ รออะไรไม่ได้ เป็นต้น 2 เคลื่อนไหวมากเกินไป อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) คือ เด็กจะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้ไม่นาน ก็จะละความสนใจไปที่อื่น แต่ในกรณีนี้ การดูโทรทัศน์นิ่งๆนี่ไม่เกี่ยวนะคะ เพราะในโทรทัศน์จะมีภาพวิ่งๆอยู่ เด็กจะชอบถ้าหากผู้ปกครองคิดว่าเขามีสมาธิกับโทรทัศน์ อันนี้ผิดค่ะ เขาจะไม่ฟังคนอื่นพูด ทำอะไรมักจะไม่เสร็จ มักจะหลงลืมง่าย ทำของหายประจำ 3 คือทั้งสองอาการดังกล่าวผสมกัน (Combined)

ผลกระทบของโรคสมาธิสั้น นอกจากเรื่องการเรียนแล้วยังส่งผลกระทบต่อความประพฤติของเขา และการควบคุมอารมณ์ของเขาด้วย ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาก็ยิ่งส่งกระทบกับครอบครัวมากขึ้น รวมถึงสังคม เพราะเขาจะเข้าสังคมไม่ได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ถ้าหากได้รับการรักษา เด็กจะเรียนได้ดีขึ้น รู้สึกมั่นใจ และเข้าสังคมได้

การรักษาจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ การรักษาด้วยยา และการปรับพฤติกรรม สำหรับการให้ยา แพทย์จะสั่งยา Methylphenidate (Trade name) เพื่อเพิ่มสมาธิของเด็ก มีทั้งแบบออกฤทธิ์ระยะสั้นและยาว เด็กจะมีสมาธิขึ้น แต่ผลข้างเคียงคือ เด็กจะเบื่ออาหาร และนอนยากค่ะ แพทย์จะต้องดูความเป็นไปของอาการเรื่อยๆ สิ่งที่สามารถเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ ผลการเรียน และแบบบันทึกพฤติกรรมที่โรงเรียน ปัจจัยสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง อาการที่บรรเทาลงของเด็กก็แบ่งเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ดูแลลูกได้อย่างคงเส้นคงวา เมื่อหยุดยาก็จะไปได้สวย , เด็กที่ไม่หาย จะต้องกินถึงวัยรุ่น และอีกกลุ่มคือเป็นสมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่ไปเลย

ผู้ปกครองมีส่วนในการช่วยเด็กได้อย่างมาก อย่างแรกคือต้องยอมรับและเข้าใจสภาพของโรคที่ลูกตนเองเป็น ต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์สูง! ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ อาจจะมีแรงเสริมเล็กน้อยโดยการมี Star Chart ให้เด็กสะสมแต้มความดีของตนเอง ถ้าหากว่าเด็กมีพี่น้อง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเปรียบเทียบกันว่าใครดีหรือเรียบร้อยกว่ากัน เรื่องนี้ส่งผลทางจิตใจกับเขามากๆนะคะ สำหรับบริบทในโรงเรียนของเด็ก ต้องจัดตำแหน่งโต๊ะเรียนให้เขาได้อยู่ด้านหน้าห้อง มีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเพราะเด็กอาจอยู่นิ่งๆเฉยๆได้ไม่นาน ครูจะต้องไม่ทำให้เด็กเป็นจุดเด่นเกินไปว่าเป็นตัวป่วนของห้อง ให้ความยุติธรรม สนใจเด็ก สื่อสารกับเขาเหมือนกับที่สื่อสารกับเด็กคนอื่นๆในห้องเรียน ให้คำชมและกำลังใจ

สำหรับการให้กิจกรรม จะเป็นการให้กิจกรรมที่เน้นการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ควรจะให้กิจกรรมที่ดี เพื่อให้เขาเกิดอารมณ์ที่ดี ส่งเสริมพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นการ เดินเล่น กิจกรรมที่ต้องพูดสื่อสารกัน กิจกรรมเล่านิทาน อ่านไปด้วยกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความก้าวร้าวของเด็กลดลง

สมาธิสั้นมี "แท้" กับ " เทียม" ด้วยนะ รู้ยัง?

สมาธิสั้นแบบแท้ ก็คืออาการตามที่กล่าวไปข้างต้นเลยค่ะ และสาเหตุคือมาจากสารเคมีในสมอง แต่สมาธิสั้นแบบเทียม คุณผู้อ่านทุกท่านเลี้ยงลูกแบบนี้กันหรือเปล่าเอ่ย? คือเด็กจะถูกเลี้ยงอย่างดี เหมือนไข่ในหิน เป็นคุณหนูที่ต้องพึ่งผู้ปกครองทุกอย่าง ผู้ปกครองไม่ให้ทำกิจกรรมด้วยตนเองทำให้เด็กไร้ระเบียบ ยุกยิกๆ ทำของหายบ่อย สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ได้ค่ะ ไม่ใช่การรักษาด้วยยาแบบสมาธิสั้นแท้นะ แต่เป็นการปรับที่ผู้ปกครอง ควรปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูที่ไม่ทะนุถนอมจนเกินไป จนถึงขนาดทำอะไรเอง จัดการอะไรตนเองไม่เป็นเลย เปลี่ยนเป็นให้เขาสามารถกล้าลองทำสิ่งใหม่ๆได้ด้วยตนเอง รอบคอบ พึ่งตนเองได้ มั่นใจในตนเองด้วยค่ะ

สำหรับคาบเรียนวันนี้ ขอขอบคุณ แพทย์หญิงหัทยา ดำรงค์ผลมากๆค่ะ ที่สละเวลามาสอนพวกเราแต่เช้า ทำให้พวกเราได้รับรู้ถึงกลุ่มผู้รับบริการที่เราจะต้องได้พบเจอในอนาคต เด็กเหล่านี้แหละ คือกลุ่มเป้าหมายที่นักกิจกรรมบำบัดจะต้องมุ่งเข้ารักษา พวกเขากำลังรอวิชาชีพของเราอยู่ วันนี้เราจึงได้ตระหนักว่า วิชาชีพนี้ ผู้คนกำลังรอต้อนรับเราเดินหน้าสู่สังคมในวันข้างหน้าต่อไป ไม่เว้นแม้แต่เด็กน้อยเลยล่ะค่ะ :)

หมายเลขบันทึก: 584571เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2015 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2015 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท