หลักการ 6c ในการวิเคราะห์สินเชื่อ


หลักการ 6c ในการวิเคราะห์สินเชื่อ

1. อุปนิสัยของลูกค้า (CHARACTER)

2. ความสามารถในการชำระหนี้ (CAPACITY)

3. เงินทุน (CAPITAL)

4. หลักประกัน (COLLATERALS)

5. สถานการณ์ (CONDITION)

6.ประเทศ (COUNTRY)


1. อุปนิสัยของลูกค้า (CHARACTER)

อุปนิสัยของลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญข้อแรกของการพิจารณาตัวผู้กู้ว่าเป็นคนอย่างไรมีความซื่อสัตย์สุจริตเพียงใดมีความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจที่ประกอบการขนาดไหนมีประวัติที่ไม่ดีทางด้านการเงินหรือไม่หากเป็นลูกค้าเก่าของธนาคารก็จะดูได้จาก ผลการติดต่อกับทางธนาคารที่ผ่านมาว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่มีไว้กับธนาคารดีหรือไม่หรืออาจสืบจากวงการธุรกิจไม่ว่าจะเป็น SUPPLIERS หรือ CUSTOMER ของลูกค้าในตลาดว่าเป็นอย่างไร พึงระลึกว่าถ้าคนไม่ดีแล้วให้โครงการดีแค่ไหนก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นได้

2. ความสามารถในการชำระหนี้ (CAPACITY)

เป็นหัวใจสำคัญในการพิจารณาสินเชื่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อต้องศึกษาถึงธุรกิจของลูกค้าว่ามีความสามารถในการชำระหนี้คืนให้กับธนาคารเพียงใดโดยส่วนใหญ่แล้วควรเป็นรายได้ที่ธุรกิจนั้นสามารถจะทำกำไรเพื่อนำมาชำระหนี้คืนได้หากวิเคราะห์แล้วพบว่า โครงการนั้น ๆ ไม่สามารถทำกำไรได้เพียงพอกับการชำระหนี้ก็ไม่ควรพิจารณาให้สินเชื่อไป รายได้ที่จะนำมาชำระหนี้ควรเป็นรายได้สุทธิจากการดำเนินธุรกิจหลังจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว และควรเป็นรายได้ประที่แน่นอนมากกว่าเป็นรายได้ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น รายได้จากค่านายหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าหน้าที่สินเชื่อควรจะต้องติดตามผลด้วยว่ามีการชำระหนี้คืนตามกำหนดหรือไม่ เพราะมักจะเกิดเหตุการณ์ดังนี้ขึ้นเสมอ ๆ คือเมื่อลูกค้ามีรายได้แล้วแทนที่จะนำมาชำระหนี้กลับนำไปใช้ในทางอื่น เช่น นำไปใช้ในการขยายกิจการโดยนำเงินทุนหมุนเวียนไปใช้ดำเนินการฉะนั้น การกำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนจึงเป็นส่วนสำคัญในการปล่อยสินเชื่อด้วย

3. เงินทุน(CAPITAL)

โดยทั่วไปแล้วสถาบันการเงินจะให้สินเชื่อแก่ธุรกิจใดก็ตามต้องพิจารณาด้วยว่าผู้กู้ได้นำเงินทุนส่วนตัวมาลงทุนด้วยเท่าไรเพราะยิ่งผู้กู้นำเงินทุนส่วนตัวมาลงมากเท่าใดความเสี่ยงของธนาคารก็น้อยลงเท่านั้นเพราะการที่ผู้กู้นำเงินทุนส่วนตัวมาลงมากก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับธุรกิจจนสุดความสามารถ ฉะนั้นสัดส่วนระหว่างเงินทันกับหนี้ (D/E RATIO) จะต้องมาพิจารณาด้วยทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับธุรกิจแต่ละประเภทว่าควรจะมี D/E RATIO เท่าไรเช่น ธุรกิจที่มีผลกำไรต่ำก็ควรต้องมีเงินลงทุนสูง เช่น ธุรกิจ APARTNENT ให้เช่าซึ่งมีรายรับไม่มากนักเมื่อเทียบกับเงินลงทุนผู้กู้คงต้องใช้เงินลงทุนของตนเองเป็นส่วนใหญ่มองอีกด้านหนึ่งก็คือรายได้ของธุรกิจที่เป็นข้อกำหนดความสามารถในการขอสินเชื่อได้เป็นจำนวนเท่าไรแต่ในทางธุรกิจแล้วการที่ธุรกิจประสบผลสำเร็จได้นั้นจะต้องมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินงานดังนั้นเมื่อไม่สามารถขอสินเชื่อได้ตามที่กำหนดผู้กู้ควรเพิ่มทุนเพียงพอ และธนาคารก็ไม่ควรที่จะให้กู้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจมิฉะนั้น จะเป็นผลเสียแก่ทั้งสองฝ่าย

4. หลักประกัน (COLLATERALS)

ในการวิเคราะห์สินเชื่อถึงแม้ว่าจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเป็นหัวใจสำคัญแล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือหลักประกันเพราะธุรกิจจะดีเพียงใดก็ตามอาจถูกสภาวะแวดล้อมหรือเหตุอันไม่คาดหมายทำให้ธุรกิจเกิดปัญหาได้เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ธนาคารอาจได้รับก็คือหลักประกันซึ่งแล้วแต่การพิจารณาว่าควรมีหลักประกันมากน้อยเพียงไรโดยพิจารณาจากความเสี่ยงถ้ามีความเสี่ยงน้อยหลักประกันก็น้อยถ้ามีความเสี่ยงมากหลักประกันก็ควรมากเช่นกันแม้ว่าหลักประกันจะสำคัญมีอยู่บ่อยครั้งที่ธนาคารจะให้สินเชื่อชนิดที่ไม่มีหลักประกัน (CLEAN BASIS) เนื่องจากเห็นว่า ลูกค้ามีฐานะทางการเงินดีมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคมติดต่อกับธนาคารมาเป็นเวลานานและบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อที่ขอด้วยว่ามีความเสี่ยงเพียงใดอาจจะเสี่ยงน้อย เข่น การขอออก L/G (ยื่นซอง) โดยไม่เอางานการขายลดงวดงานซึ่งผู้กู้ได้ส่งมอบงานแล้วขอรับเงินเท่านั้น หรือการเปิด L/C สั่งซื้อเครื่องจักรธนาคารอาจเรียกหลักประกันแค่บางส่วนเพราะจะได้เครื่องจักรมาเป็นหลักประกันอีกส่วนหนึ่ง

5. สถานการณ์ (CONDITION)

เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมอันมีปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศปัญหาทางด้านนโยบายของรัฐบาลการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราปัญหาสิ่งแวดล้อมความผันผวนของตลาด การขึ้นลงของราคาวัตถุดิบเจ้าหน้าที่สินเชื่อควรวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้และคาดหมายสถานการณ์ล่วงหน้าที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอยู่เสมอหมั่นศึกษาและติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดก็จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีวิธีลดความเสี่ยงอีกประการหนึ่งคือไม่ควรปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากจนเกินไปควรกระจายไปในธุรกิจหลาย ๆ ประเภท

6.ประเทศ (COUNTRY)

สำหรับซีสุดท้ายเป็น สิ่งที่วิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างไรมองไปต่อถึงสภาวะการเมืองของประเทศ เจ้าหน้าที่สินเชื่อควรใช้วิเคราะห์ประกอบในการออกสินเชื่อ

อ้างอิงข้อมูล : http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=7633

คำสำคัญ (Tags): #finance
หมายเลขบันทึก: 584436เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2015 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2015 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท