​นวัตกรรมละครชุมชน สะท้อนปัญญา สร้างสำนึกพลเมือง


เป็นอีกครั้งที่เหล่านักละครเยาวชนจากโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้มาพบปะกัน แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าเพราะเป็นการครบรอบ 6ปีของกระบวนการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางปัญญาที่พวกเรารู้จักกัน การรวมตัวครั้งนี้ มีขึ้น ณ วันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซ.งามดูพลี กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่องาน "นวัตกรรมละครสร้างปัญญา "เปิดกะโหลก ชะโงกดูเงา" ซึ่งภายในงานจะประกอบด้วย การสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การนำเสนอผลงาน นิทรรศการ การแสดงละครเยาวชน เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์การทำงาน องค์ความรู้ นวัตกรรม รวมทั้งผลงานละครขององค์กรภาคีเครือข่าย 6 พื้นที่และกลุ่มละครเยาวชน เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนและผู้สนใจ

นอกจากจะมีกิจกรรม Workshop ที่ให้ผู้สนใจเข้าร่วมแล้ว อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือการเสวนา และที่ "กระจายสุข" นำมาฝากคือการพูดคุยในหัวข้อ "จากนวัตกรรมละครสร้างปัญญาสู่พลเมืองเยาวชน" ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนว่าด้วยกระบวนการละครต่อการปลุกจิตสำนึกด้านความเป็นพลเมืองของเยาวชน และมีตัวแทนจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคีเครือข่าย กลุ่มมะขามป้อม ตัวแทนจาก สสส.เข้าร่วมพูดคุย เริ่มที่ ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน (Theatre for Transformation Network) ที่อธิบายสรุปว่า ตลอดระยะเวลาที่โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ขับเคลื่อน ได้ส่งเสริมกระบวนการละครจะเป็นวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนและสร้างสุขภาวะปัญญาของสังคมได้ ด้วยวิธีต่างๆ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลง (Transformation) จากภายในตัวของเยาวชน โดยเสริมพลัง คุณค่าเชิงบวก ด้วยฐานคิดทฤษฎี "การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" (Theory of Learning For Transformation) ของกระบวนการละคร

กระบวนการละครจึงมุ่งให้เกิดการรับรู้ความจริง รู้เหตุ รู้ผล มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตนเอง และการพัฒนาจิตอาสาโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม รวมถึงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การผลักดันกลไกการสร้างพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ทางปัญญาสำหรับเยาวชน ผ่านศิลปะการละคร "การสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมต่อปัญหาของชุมชนและสังคม เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เริ่มจากในห้องเรียนที่เด็กจะมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เปลี่ยนอำนาจในห้องเรียนจากเดิมที่คอยรอว่าครูจะสอนอะไร เป็นการโต้ตอบกัน มีส่วนร่วมที่จะกำหนดประเด็นและพัฒนารูปแบบการสอนที่นักเรียนต้องการ ขณะที่ในมุมของความเป็นชุมชน กระบวนการละครได้กระตุ้น ปลุกเร้าให้ทุกคนมีส่วนร่วม เสนอความคิดเห็น และร่วมกันขับเคลื่อนที่จะพัฒนาชุมชน ไม่ต้องรอเทศบาลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอย่างเดียว" สอดคล้องกับที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ย้ำในประเด็นนี้ว่า ความสำคัญของกระบวนละครไม่ได้อยู่ที่ด้านการผลิต องค์ประกอบความสวยงาม แต่อยู่ที่การสร้างให้เยาวชนได้เห็นถึงปัญหาที่อยู่รอบตัวและนำประเด็นนั้นมาพูดคุย ถกแถลง เปิดประเด็น เรียบเรียงอย่างมีกลวิธีให้สังคมเห็นความสำคัญถึงเรื่องดังกล่าวนั้นได้ "เมื่อเขาเจอประเด็นแรง เขาก็อยากสะท้อนมุมมอง พร้อมๆกับชวนชุมชนเข้าร่วมด้วย และนั่นต้องมีกลวิธีนำเสนอ" อ.อรรถพล กล่าว

ด้าน โตมร อภิวันทนากร กลุ่มมานีมานะ จ.สงขลา ซึ่งได้นำละครเข้าไปใช้ในการเรียนรู้ผลกระทบจากแผนพัฒนาภาครัฐในภาคใต้ต่อความเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่ ชุมชน เช่น อำเภอจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า เครื่องมือละครซึ่งมีพลังในการสะท้อนเรื่องราว ได้อย่างมีพลัง เข้าถึงคุณค่าทางจิตใจ และเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างกลุ่มเยาวชนศิลปินผู้ทำละคร กับผู้คนผู้ชมละครในชุมชน จึงถูกนำมาใช้พัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในการสร้างสรรค์ผลงานละคร พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเยาวชนผู้ทำละครอย่างมาก ดังนั้น ด้วยความต้องการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาต่างๆ ของเครือข่ายนักพัฒนา และนักละครในพื้นที่ภาคใต้ "การสนับสนุนให้เยาวชนได้กลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญของชุมชนนั้น เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ มันไม่ใช่แค่ผลงานละครที่น่าสนใจ หรือความสามารถในการทำงานละครทำกิจกรรมที่แข็งแรงขึ้น แต่สิ่งที่เขาได้ลงมือทำด้วยกำลังความสามารถของตัวเขาเองด้วยวิธีการทางศิลปะ มุ่งที่จะสร้างปัญญาแก่ชุมชนนี้ มันมีความหมายในแง่ความรู้สึกต่อชีวิตเขามาก และศักยภาพในงานละครสร้างปัญญาเล็กๆ นี้เองมันก็สะท้อนให้เห็นบทบาทของความเป็นพลเมืองที่ไม่นิ่งดูดายกับปัญหาของชุมชน ด้วยวิธีคิดที่อยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น อยากเห็นปัญหาที่สร้างความทุกข์แก่ผู้คนหมดไป" นายโตมรกล่าว

ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ จากกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์และภาคีกลุ่มเพื่อนตะวันออกตั้งโจทย์คำถามที่สำคัญว่า จะทำอย่างไรที่จะติตตั้งวิธีคิดใหม่เพื่อให้เยาวชนและคนในชุมชนรับรู้และเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ และจะทำอย่างไรจึงจะดึงการมีส่วนร่วมของแกนนำเยาวชนให้หันมาเห็นคุณค่าและรักษาบ้านเกิดของตัวเอง "ความงอกงามของโครงการเรียนรู้บูรพาผ่านละคร คือ การเกิดมิติความเป็นมนุษย์ในใจคน ใจเอื้อ เคารพ อยู่ร่วมอย่างมีภูมิรู้ และพร้อมที่จะดูแลรักษาภาคตะวันออกผ่านกำลังที่ทำได้ เป็นปัญญาในกายตนที่เริ่มปรากฏภายในตัว พร้อมๆกับชวนสังคมมารับรู้เรื่องราว" ละครที่มีทั้งความบันเทิง และความเป็นศิลปะจึงถูกเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้กับทั้งผู้เล่นและผู้ชมไปพร้อมๆกัน เรียกจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะการเกิดปัญญาที่ค่อยๆบ่มเพาะระหว่างทาง

หมายเลขบันทึก: 584283เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2015 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2015 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท