คู่สร้างคู่สมของแม่


คู่สร้างคู่สมของแม่<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />

แม่ของผม เกิดปี พ.ศ. 2459 ที่บ้านปากคลองโพธิ์ล้ม ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี กำพร้ามารดา ตาของผมมีภรรยาใหม่แต่ให้การเลี้ยงดูแม่ผมอย่างดี ให้การศึกษาจนจบชั้นประโยคประถม ปีที่ 3 ในยุคนั้นแล้ว แม่ได้ช่วยตาเลี้ยงน้องต่างมารดาและช่วยทำนา จนอายุย่างเข้า 18 ปี มีพ่อแม่ของชายหนุ่มมาสู่ขอ ตารู้กิตติศัพท์ไม่ดีชายหนุ่ม วิสัยนักเลงไม่ปฏิเสธ แต่มีเงื่อนไขให้ว่าที่ลูกเขยต้องมาช่วยเหลือครอบครัวฝ่ายหญิง ทำมาหากินทำไร่ทำนากันอยู่ช่วงเวลาหนึ่งก่อน เพื่อจะดูนิสัยใจคอ ปรากฏว่าไม่เป็นที่ถูกตาต้องใจตาของผม เพราะไม่ช่วยทำงานเท่าที่ควร ชอบกินแต่เหล้า ตาของผมถึงแม้เป็นนักเลงดื่มสาโท เหล้าเถื่อนบ้างแต่ไม่หมกมุ่น ดื่มในหมู่เพื่อนเพื่อสังสรรค์กันบ้างเล็กน้อย ตาจึงบอกเลิกรากันไป แม่ของผมจึงหม้ายขันหมาก

พ่อของผมเกิดปี พ.ศ.2453 ที่บ้านน้ำตาล ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี กำพร้าพ่อแม่อยู่กับพี่สาว ช่วยพี่สาวทำนาในที่ลุ่ม ปลูกอ้อยในที่ดอน ถึงฤดูเก็บเกี่ยว นวดข้าว เก็บข้าวเข้ายุ้งฉางหมดหน้านา ต้องตัดอ้อย หีบอ้อย เคี่ยวน้ำอ้อย หยอดทำเป็นงบแล้ว ห่อใบตองแห้งมัดละสิบงบส่งขาย หรือไม่ก็ใส่เรือสำปั้นล่องไปขายตามลำน้ำ ชุมชน สถานที่ต่างๆ ต่อไปอีก เหน็ดเหนื่อยทั้งปี อยู่กับพี่สาวอายุครบ 20 ปี ถึงวัยบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ลาสิกขาแล้ว ช่วยพี่สาวทำมาหากินต่อมาจนอายุ 24 ปี ถึงวัยมีครอบครัว เกิดความเบื่อหน่ายวงจรชีวิตการทำนาทำอ้อย หมดฤดูทำอ้อยก็เข้าเทศกาลตรุษสงกรานต์พักผ่อนได้แค่ช่วงนี้เท่านั้น มีน้องชายของปู่มาได้ภรรยา อยู่เหนือบ้านตาของผม อยู่ที่บ้านกล้วย ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ห่างกันหนึ่งท้องคุ้ง จึงมาเยี่ยมอา คิดว่ามาหาภรรยาเอาแถวบ้านย่านนี้ดีกว่า อาของพ่อหรือปู่น้อยของผมจึงมองหาสาวให้ เห็นมีลูกสาวผู้ใหญ่บ้าน ใต้บ้านตาอ่ำ ชื่อนางสาวทองหยิบสวยทั้งรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติ จึงจัดข้าวสุกลูกไม้ไปสู่ขอ ทางผู้ใหญ่บ้านปฏิเสธ อ้างว่าเป็นคนต่างถิ่นคนละจังหวัดไม่รู้หัวนอนปลายตีน จึงพากันกลับมานอนคิดที่บ้านปู่น้อยอยู่ 1 คืน มีคนแนะว่า

“ลูกสาวตาอ่ำ นักเลงปากคลองโพธิ์ล้ม บ้านใต้นั่นไงหม้ายขันหมากอยู่ ลองไปสู่ขอดูสิ”

ปู่น้อยจึงให้เพื่อนบ้าน คนทำบุญวัดเดียวกันชื่อทิดแช่ม ซึ่งเป็นนักเลงเพื่อนตาอ่ำ ช่วยไปพูดเจรจาให้ ประสบผลสำเร็จ เหมือนฟ้าดินบันดาลให้คู่สร้างคู่สมซึ่งอยู่คนละฟากฟ้ามาพบกัน แต่ก่อนหากอยู่คนละจังหวัด แสนยากที่จะพบและแต่งงานกัน ข้าวสุกลูกไม้ มีกล้วยน้ำว้าเป็นต้น ที่ตัดมาดิบๆ ตั้งแต่ไปขอลูกสาวผู้ใหญ่บ้าน ก็สุกเหลืองอร่ามพองาม จึงเป็นส่วนประกอบในวันสู่ขอแม่ของผมพอดี

ตามประเพณีต้องมีเรือนหอไม้สัก ทรงไทยฝาเฟี้ยมหนึ่งหลัง พร้อมสินสอดทองหมั้น พี่สาวพ่อของผมก็จัดหาให้ ตาอ่ำจึงได้ลูกเขยคนหัวปีไม่ดื่มเหล้าเมายาปลูกเรือนหอไม้สักทรงไทยอยู่ใกล้กัน ใต้บ้านบริเวณที่ดินแปลงเดียวกัน พ่อกับแม่ของผมเริ่มก่อร่างสร้างตัวด้วยผืนนา 20 ไร่ ที่ตายกให้พร้อมกับควายตัวเมีย 1 ตัว ชื่อ แหง่ พวกเราลูกๆ เรียกกันว่า “อีแหง่”ใต้ถุนเรือนหอนั้นพ่อจัดทำคอกให้อีแหง่ ล้อมด้วยไม้ไผ่ ประตูคอกทำด้วยไม้เนื้อแข็งเจาะเสาทั้งสองด้าน สอดไม้กลอนขนาดใหญ่ 2 แผ่นตอกลิ่มกันขโมย อีแหง่ให้ลูกดีตามลำดับถึงถึง 4 ตัว พ่อกันไว้ใช้งาน 2 ตัวแบ่งขายไป 2 ตัว อีแหง่ เป็นควายมงคลให้ความเจริญแก่ครอบครัว เข้าใจความรู้สึกเจ้าของเหมือนรู้ภาษาคน สมัยก่อนใช้ควายไถนา ลากเลื่อน บรรทุกฟ่อนข้าวที่เกี่ยววางรายตากไว้ในนา แล้วรวมรายมัดเป็นฟ่อนบรรทุกมารวมที่ลานหลังบ้านที่เป็นลานดินกว้าง ถากถางปรับบดดินให้เรียบ ยาด้วยขี้ควายสดผสมน้ำเข้มข้น ตากลานให้ขี้ควายแห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นดินแตกเป็นฝุ่น แบ่งกองฟ่อนข้าวทยอยใช้ควายพ่วงคอด้วยเชือกประมาณ 3-4 ตัว เดินวนย่ำจนเม็ดข้าวล่วงหลุดจากรวงแล้วหยุดพันรอบแรก พ่อกับแม่และเพื่อนบ้านที่ช่วยแรงงานกัน เอาคันฉายกลับฟางข้าว นวดรอบสองต่อไปจนข้าวล่วงหมดแล้วเอาคันฉายคัดเขี่ยเอาฟางออกเป็นรอบสุดท้าย รวมกองเมล็ดข้าวใช้สีฝัดปั่นเป่าเอาแต่เมล็ดข้าวที่สะอาดเก็บเข้ายุ้งฉาง รอขายในฤดูน้ำหลากจะมีพ่อค้านำเรือเอี้ยมจุ๊นขึ้นมารับซื้อถึงหน้าบ้านได้ราคาดี ขายหน้าลานราคาไม่ค่อยดี

ด้วยแรงงานของอีแหง่และแรงงานของลูกอีก 2 ตัว ทำให้ในบั้นปลายชีวิตพ่อและแม่มีเงินจากการทำนา ซื้อที่นาได้เพิ่มขึ้นจนมีที่นาในครอบครองถึง 60 ไร่เศษ พ่อเลี้ยงอีแหง่ไว้เกือบ 20 ปีเศษ หลังเลิกอาชีพทำนา มาเป็นพ่อค้าไม้ร่วมหุ้นกับพี่ชายของแม่หรือคุณลุงของผม ซื้อไม้ต้นแพซุงจากแม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดสิงห์บุรีมาเลื่อยด้วยแรงงานคนขาย เมื่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาสำเร็จในปี พ.ศ. 2500 แล้ว แพซุงผ่านเขื่อนได้น้อยและไม้ซุงจากกำแพงเพชรหมดลง จึงซื้อไม้ต้นจากป่าม่วงค่อม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มาเลื่อยขาย มีรายได้ดีกว่าทำนา มีกำไรพอส่งลูกๆ เรียนต่อสูงๆ ได้ ส่วนอีแหง่พ่อนำไปฝากลุง(พี่ชายแม่)เลี้ยงไว้จนหมดอายุขัย ลุงจึงเอากระดูกส่วนหัวและเขามาคืนให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงความดีของควายที่ชื่อแหง่

พ่อแม่ของผมมีบุตรชายหญิง 9 คน คนที่ 7 เป็นชาย คนที่ 8 เป็นหญิง เสียชีวิตเมื่อตอนคลอด คงเหลือเป็นชายทั้งหมด 7 คน จำนวนบุตรชายหญิงทั้ง 8 คน แม่คลอดและอยู่ไฟในเรือนหอนี้ ยกเว้นน้องชายสุดท้องคนที่ 9 ไม่ได้คลอดในเรือนหอของแม่ เพราะพ่อกับแม่มีจิตเป็นกุศลยกเรือนหอถวายวัดใกล้บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2499 ก่อนน้องชายคนสุดท้องซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2500 เหตุที่ยกถวายวัดเพราะเห็นว่าลูกๆ กลัวไม่ค่อยจะกล้าเข้าไปในเรือนหอของแม่ ด้วยเหตุที่เรือนไทยมีลักษณะทึมทึบดูน่ากลัว พ่อแม่จะใช้เป็นที่เก็บหีบสมบัติเก่าๆ หรือข้าวของสำคัญ ใช้คลอดลูกอยู่ไฟ และบ่มมะม่วงในช่วงฤดูเก็บผล นอกจากนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรมาก ประกอบกับพ่อปลูกขยายบ้านให้กว้างขวางออกไป จากไม้ต้นที่เลื่อยด้วยแรงงานคนเหลือจากขายส่วนหนึ่งมาต่อเติมบ้าน

สรุปว่าคู่สร้างคู่สมกันแล้ว ไม่แคล้วต้องพบเป็นคู่ครองกัน ปัจจุบันพ่อและแม่เสียชีวิตลงหมดแล้ว หากพ่อมีชีวิตอยู่จะมีอายุ 105 ปี และแม่จะมีอายุ 100 ปี แต่ท่านหนีสัจจะธรรมของสังขารไม่พ้น ขณะนี้ท่านมี ลูก หลาน เหลน สืบสกุล รวม 22 คน ทุกคนมีความรู้และฐานะมั่นคง ไม่ต้องกลับมาทำนาเหมือนบรรพบุรุษต่อไป.../

นายสมหมาย ฉัตรทอง

หมายเลขบันทึก: 583549เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2015 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2015 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท