สังคมการเรียนรู้


ปัจจุบันเรามีโอกาสเรียนรู้มากขึ้น แต่กับรู้น้อยลง

ปี 2550 น้องโอ๋ ผู้ช่วยบก. เสนอว่าวารสารของเราจะใช้ Theme หลักว่า The Power of Learning โจทย์ต่อไปคือฉบับรับศักราชใหม่เราจะสัมภาษณ์ใครดี ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่แบ่งปันความรู้ให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาไม่นานดิฉันก็นึกถึงอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ และได้รับความกรุณาให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นำความตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างยิ่ง จนสามารถเข้าใจแล้วว่าทำไมน้องๆ วัยรุ่นจึงสามารถกรี๊ดดาราคนโปรดได้อย่างลืมตัวลืมสติ

นอกจากอาจารย์จะเขียนหนังสืออ่านสนุกแล้ว ยังคุยสนุกอีกด้วย ที่สำคัญคือในความสนุกนั้นมีสาระ ข้อคิดดีๆ อยู่ตลอดเวลา ประเด็นหลักที่เราคุยกันคือการสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อาจารย์ให้หลักการสำคัญสองสามข้อ คือ หนึ่ง ต้องสร้างทัศนคติที่ดีให้คนให้คุณค่ากับการเรียนรู้จากกันและกัน สอง ต้องสร้างเงื่อนใขให้คนแบ่งปันความรู้ สาม ต้องฝึกให้คิดเชิงวิทยาศาสตร์ คือใช้หลักเหตุผล ทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไป ซึ่งอาจารย์บอกว่าคนไทยมักจะเชื่อโดยไม่ได้คิดถึงเหตุผล ทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

และการที่จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ สังคมต้องช่วยกันทุกส่วน ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชน องค์กรทุกองค์กร ทำไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่หน้าที่ใคร คนใดคนหนึ่ง

สังเกตได้ว่าอาจารย์เป็นผู้รอบรู้ตัวจริงคนหนึ่ง สามารถอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายเสมอ ทำให้ดิฉันนึกถึงปราชญ์อีกท่านหนึ่งคือ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ว่าท่านจะเขียนอะไรก็อ่านสนุก เข้าใจง่ายไปเสียทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการเมืองไปถึงตำน้ำพริก และมีความรู้แทรกอยู่ทุกอณู

ปัจจุบันดูเหมือนว่าเรามีโอกาสเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งหนังสือ ทั้งอินเทอร์เน็ต แต่ทำไมเรากลับมีความรู้น้อยลงก็ไม่รู้

คำสำคัญ (Tags): #สังคม#วัฒนธรรม
หมายเลขบันทึก: 58319เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท