หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ระวังลม


แรงลมมีอิทธิพลต่อกระบวนการยังชีวิตของต้นไม้ เพียงแค่พัดแผ่วๆ ก็มีผลทำให้พืชเจริญเติบโตช้าได้แล้ว.....เมื่อไรสูญเสียน้ำมากกว่าการดูดน้ำ ต้นไม้จะชะงักการเจริญเติบโต เกิดแบบนี้เรื่อยๆต่อเนื่องและนานต้นไม้จะตาย

ไม่เคยคิดว่าป่าเป็นเพียง "ที่ที่มีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่รวมกัน" แต่คิดว่าเป็น "สังคมสิ่งมีชีวิตที่มีไม้ยืนต้นเป็นแกนหลักสำคัญ" ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทั้งในระดับพื้นดิน ใต้ดิน และอากาศมีอยู่อีกมากที่ยังไม่รู้

ผู้ใหญ่จะสอนเมื่อตอนเป็นเด็กว่า เมื่อไรต้นไม้ที่ปลูกตากแดด ให้รีบไปเสาะหาทางมะพร้าวมาไวๆ ได้แล้วให้วางบังแดดช่วยต้นไม้ไม่ให้แดดเผาตาย ไม่ใคร่ได้ยินว่าให้รีบไปหาอะไรมาบังลมช่วยต้นไม้ เวลาลมพัดแรง

เพิ่งรู้มาไม่นานว่าแรงลมมีอิทธิพลต่อกระบวนการยังชีวิตของต้นไม้ เพียงแค่พัดแผ่วๆ ก็มีผลทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้าได้แล้ว

เคยเรียนเรื่องต้นไม้คายน้ำ และเพิ่งรู้เพิ่มว่าต้นไม้ใช้การคายระเหยน้ำรักษาอุณหภูมิตัว และน้ำที่รากดูดไปใช้มีปริมาณเพียงเล็กน้อย เมื่อไรสูญเสียน้ำมากกว่าการดูดน้ำ ต้นไม้จะชะงักการเจริญเติบโต เกิดแบบนี้เรื่อยๆต่อเนื่องและนานต้นไม้จะตาย

เก็บความรู้มาใช้ ท่องไว้ๆ ระวังลม! ระวังลม! พื้นที่แห่งนี้แดดแรง น้ำน้อย หน้าร้อนลมพัดแรง ที่โล่งเยอะ ถ้าปลูกต้นไม้ตรงจุดรับลม ต้นไม้จะมีโอกาสรอดลดลง โตช้า จะให้โตเร็ว อยู่รอดนานๆ ห้ามลืมกันลมให้

ต้นไม้ระเหยน้ำออกทางใบ บางพันธุ์ปรับตัวเองให้น้ำระเหยจากใบยากขึ้นเพื่อสงวนน้ำไว้ไม่ให้เสียไปมาก นักวิชาการเขาว่าพืชที่มักขึ้นในที่แห้งแล้ง มักจะใบเล็ก บ้างก็มีใบเป็นหนามหมด บ้างก็มีลำต้นสีเขียว บ้างก็มีผิวใบมัน หนา เพื่อช่วยป้องกันน้ำระเหย

ลมที่พัดแรงและเร็วทำให้ดินพังทลายได้ โดยเฉพาะดินที่อยู่ในที่โล่ง กว้าง ไม่มีสิ่งกำบัง ไม่มีต้นไม้ พื้นที่โล่งกว้างที่ไม่มีต้นไม้ จะมีคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศสะสมเพิ่มขึ้นๆ อุณหภูมิยิ่งสูงขึ้น ความต่างของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็สามารถส่งผลต่อความแรงของลมที่พัด

พื้นที่ตรงนี้มีส่วนที่เป็นทุ่งหญ้า มีพืชคลุมดินพันธุ์ต่างๆ ใบของพืชพวกนี้ช่วยกันแดดไม่ให้ส่องถึงผิวดิน นักวิชาการเขาว่าจำนวนที่หนาแน่นของพืชคลุมดินทำให้อุณหภูมิใกล้ผิวดินแตกต่างกันไม่มาก ถ้าตรงโคนไม้ยืนต้นมีพืชคลุมดินอยู่ ความหนาแน่นของพืชคลุมดินจะช่วยป้องกันไม่ให้ลมพาอากาศรอบต้นพืชที่มีไอน้ำมากออกไปจากพื้นที่เร็วนัก

อืม เข้าใจแล้วว่าเจ้าต้นไม้พวกนี้ ยอ ติ้วเกลี้ยง แต้ว ไผ่ป่า โคลงเคลง มะลิป่า เล็บเหยี่ยว ช้าเลือด มะเดื่อป่า ขลู่ เฟิร์นโชน รสสุคนธ์ป่า พังแหรใหญ่ ผักหวานป่า ข่อย ปรงไข่ ฝรั่งขี้นก ปอเส้ง มีดีที่ใบและต้นนี่เอง จึงสามารถเติบโตได้ดีในที่แบบนี้

อย่างนี้นี่เอง ผู้เชี่ยวชาญสร้างป่านิเวศจึงยอมรับลำดับปลูกจากทุ่งหญ้าสู่พืชคลุมดิน ก่อนไม้พุ่มและไม้ยืนต้น ปลูกพืชให้ชิดแบบไม่มีระเบียบแถว ๔-๕ ต้นในพื้นที่ ๑ ตารางเมตร และใช้พืชประจำถิ่นเป็นพืชหลักปลูกป่า

พืชได้ธาตุอาหารสำคัญที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน จากอากาศและน้ำ ไม่น่าเชื่อว่าแรงลมแผ่วๆจะส่งผลต่อพืชอย่างมหาศาลได้

หมายเลขบันทึก: 582289เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2014 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท