หลักพุทธธรรมกับการบริหารในยุคโลกาภิวัตน์


หลักพุทธธรรมกับการบริหารในยุคโลกาภิวัตน์

The Buddhadhamma principles to the administration
in the era globalization

ดร.ธิติวุฒิ หมั่นมี*[๑]

Dr.Thitiwut Manmee

บทคัดย่อ

การบริหารในยุคโลกาภิวัฒน์เป็นการบริหารที่ต้องอาศัยความทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความคล่องตัวและสามารถบูรณาการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อยู่เสมอ ฉะนั้นการบริหารงานนั้นตามความหมายของทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์นั้นคือการบริหารที่เป็นการผสมผสานสหวิชาเข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่การบริหารในยุคโลกาภิวัตน์อีกรูปแบบหนึ่งที่คิดว่าเป็นการบริหารงานที่ทันสมัยและไม่เคยล้าหลังอีกประการหนึ่งคือการบริหารตามหลักพุทธธรรม กล่าวคือหลักธรรมพุทธธรรมซึ่งในที่นี้กล่าวคือหลักสังคหวัตถุ ๔ ประกอบด้วย การให้ ได้แก่ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การพูดคำสุภาพ อ่อนหวาน การบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือกันและกัน และการวางตนเสมอต้นเสมอปลายซึ่งหลักเหล่านี้จะสามารถนำมาบูรณาการหรือประยุกต์ใช้กับการบริหารได้เป็นอย่างดีถึงแม้ว่าหลักธรรมดังกล่าวจะได้ถูกค้นพบมาไม่น้อยกว่า ๒,๖๐๐ แล้วก็ตาม

Abstract

Management in a Globalizing the administration relies on the modern and up to date, and most importantly, be flexible and can be integrated with various situations is always that the management is in the meaning of the Public Administration Theory is. Interdisciplinary management that combines together perfectly. But another form of globalization that is considered a modern administration and never backwards Another is managed by Buddhism. It is the principle of morality, namely, in which the main object Sangahavatthu 4 consists of a generous sacrifice of. Speaking gentle sweetness Rouses help each other. And placing them for their consistency, which can be integrated and applied to managers as well, although this principle can be found for more than 2,600 already.

๑. บทนำ

ปัจจุบันการบริหารที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างที่จะเป็นองค์ประกอบช่วยนำพางานบริหารให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามความมุ่งหมายได้ ผู้บริหารและองค์กรนั้นจะต้องรู้จักประยุกต์ และนำประโยชน์ในแต่ละด้านที่เหมาะสมมาใช้ในงานบริหาร

ในโอกาสนี้จะขอนำกล่าวถึงการนำหลักพระพุทธศาสนาเข้ามาใช้ประยุกต์ในงานบริหารที่ประสบความสำเร็จอีกด้านหนึ่ง โดยการนำหลักสังคหวัตถุ ๔ เข้ามาเป็นองค์ประกอบของงานบริหารในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะหลักพุทธธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาถือเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ยึดถือมาตั้งแต่โบราณซึ่งบุคคลทั่วไปทราบและเป็นแนวทางที่ดีที่ควรปฏิบัติในส่วนของการบริหารผู้บริหารหรือองค์กรนั้น ๆ หากเข้าใจถึงประโยชน์ของพุทธธรรมและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานการทำงานในองค์กรร่วมกันก็จะประสบความสำเร็จ

๒. แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์กับการบริหารในยุคโลกาภิวัตน์

การบริหารยุคโลกาภิวัตน์ตามแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจกับแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่สำคัญที่นำมาสู่การบริหารยุคปัจจุบัน ซึ่งมีหลายอย่าง โดยนำมาเป็นแนวทางได้ศึกษาเพื่อประยุกต์ใช้ในงาน คือ

แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ สืบเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ซึ่งหมายถึง มนุษย์โดยธรรมชาติย่อมอยู่รวมกันเป็นกลุ่มไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่อาจมีข้อยกเว้นน้อยมากที่อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของมนุษย์อาจมีได้หลายลักษณะและเรียกชื่อต่างกัน เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มธรรมชาติในแต่ละกลุ่มจะต้องมี "ผู้นำกลุ่ม" รวมทั้งมี "การควบคุมดูแลกันภายในกลุ่ม" คำว่า การบริหารเป็นคำกลาง ๆ เข้าใจง่ายและใช้กันอย่างแพร่หลาย ยังมีคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันกับคำว่า การบริหารหลายคำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารจัดการ การบริหารพัฒนา การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การบริหารและบริการ บริหารจิตสำนึก และการบริหารการเมือง คำดังกล่าว ประกอบด้วย คือ ๑. เป็นแนวทาง หรือวิธีการบริหารงานภาครัฐที่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐนำไปใช้ในการบริหารเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการ ๒. เป็นกระบวนการบริหาร ๓. มีจุดหมายปลายทาง

รัฐประศาสนศาสตร์มีแนวโน้มเป็นวิชาการมากขึ้น แต่การเป็นวิชาชีพจะต้องเกี่ยวกับความเป็นมืออาชีพที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ในลักษณะของการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติอย่างแท้จริง รัฐประศาสนศาสตร์ หรือการบริหารภาครัฐของไทยบางส่วนมิได้รับแนวความคิดด้านการบริหารภาครัฐของต่างประเทศเท่านั้น แต่ได้รับแนวคิดทางการบริหารภาคเอกชนของต่างประเทศด้วย รัฐประศาสนศาสตร์ยังเกี่ยวข้องกับงานกิจการสาธารณะ หรือการให้บริการสาธารณะ วิชาความรู้เกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ หรือการบริหารภาครัฐมีลักษณะเป็นสหวิทยา คือ รัฐประศาสนศาสตร์ได้นำวิทยาการของหลาย ๆ สหวิทยามาปรับใช้หรือประยุกต์ใช้ รัฐประศาสนศาสตร์ยังมีความคล่องตัวในการหยิบยืมหรือเลือกวิชาความรู้ที่เป็นประโยชน์จากสาขาอื่นๆมาประยุกต์ใช้ นั่นก็หมายรวมถึง
หลักของพุทธธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้รวมอยู่ด้วย[๒]

๓. แนวคิดทางพระพุทธศาสนากับการบริหารในยุคโลกาภิวัตน์

การบริหาร คนทั่วไปอาจมองเป็นเรื่องของชาวบ้าน ไม่เกี่ยวกับพระสงฆ์ หรือพระพุทธศาสนา มากเท่าใดนัก แต่ถ้ามองให้ดีแล้ว เรื่องนี้เกี่ยวกับพระสงฆ์และพระพุทธศาสนามาก เพราะว่าในพระพุทธศาสนา ก็มีสถาบันมีองค์การที่จะต้องมีการบริหาร ซึ่งก็คือคณะสงฆ์หรือเรียกว่า ภิกษุสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ หรือที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า คณะสงฆ์ ซึ่งใจปัจจุบันนี้นักวิชาการตะวันตกยอมรับและประจักษ์ว่า คณะสงฆ์นี้เป็นองค์กรที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ไม่ปรากฏว่ามีองค์กรใดในโลกตะวันตก ตะวันออกที่ไหนอื่น ที่จะยั่งยืนอยู่ได้ มีแต่เกิดมาแล้วก็ล่มสลายจบสิ้นไป แต่คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงตั้งมา ๒,๖๐๐ กว่าปี ยังอยู่มาได้จนบัดนี้ แสดงว่า ความยั่งยืนของคณะสงฆ์จะต้องมีวิธีการบริหารอะไรที่จะทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนมั่นคง[๓]

ประเทศที่จะเจริญทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ต้องอาศัยการบริหารที่ดี พลเมืองจะต้องมีความสามารถในการผลิตหรือในการสร้างสรรค์ จึงจะสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนได้ เศรษฐกิจที่มั่นคง ต้องมีฐานในตัวคน คือ ความสามารถในการผลิต คิดสร้างสรรค์ รวมถึงการบริหารที่มีหลักยึดถือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น ๆ ปัจจุบันเรารับอิทธิพลในแนวคิดทางด้านการบริหารจากโลกตะวันตกมามากขึ้น ทำให้เรามักจะละเลยการนำหลักธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการนำองค์กรของเราแต่จริง ๆ แล้วเชื่อว่าการนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการบริหารองค์กร น่าจะเหมาะกับบริบท ของประเทศไทยมากกว่าการนำหลักของตะวันตกมาใช้แต่เพียงอย่างเดียว[๔]

ในปัจจุบันการบริหารงานหรือการจัดการองค์กรมีความจำเป็นต้องใช้ศาสตร์ในการบริหารงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันเป็นระบบทุนนิยม หรือบริโภคนิยมที่แสวงหากำไร และ มีการแข่งขัน เพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่ง ทั้งในเชิงบริหารงาน และการพัฒนาองค์กร ให้บรรลุผลตามเป้าหมายขององค์กร จึงมีหลักการบริหารสมัยใหม่เข้ามาเป็นกลยุทธ์ หรือหลักการในการบริหารจัดการ ในขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการทางตะวันตกกำลังสนใจหลักการในทางพระพุทธศาสนามาผสมผสาน และประยุกต์ใช้กับหลักการบริหารจัดการ เพราะเขาถือว่า การที่จะใช้หลักการ วิธีการ หรือเทคนิค ของ นักวิชาการชาวตะวันตก ซึ่งพัฒนาการการบริหารจัดการมาไม่เกิน ๑๐๐ ปีนั้นยังเป็นหลักการที่ยังยึดกับวัตถุ รวมทั้งมีผู้แพ้และผู้ชนะ เป็นการบริหารจัดการที่มุ่งหวังผลกำไรและการแข่งขัน ดังนั้นเมื่อนักวิชาการทางตะวันตก ได้เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา ทำให้เขารู้ว่าศาสตร์แห่งการบริหารจัดการที่ยั่งยืนและดำรงความเป็นมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุขนั่นคือ ศาสตร์ในการบริหารจัดการเชิง
พุทธศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงหลักการบริหารงานสมัยใหม่กับหลักการบริหารงานเชิงพุทธศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบว่าสามารถบูรณาการรวมเข้ากันได้ และเป็นแนวทางที่มีความสอดคล้องกับหลักการบริหารสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี[๕] พุทธศาสนานั้นมีประโยชน์เกี่ยวกับนักบริหารอยู่สามด้านด้วยกัน กล่าวคือ

ด้านแรก ช่วยเป็นหลักเกณฑ์ในการบริการจิต นั่นคือ ในการที่จะใช้จิตไปบริหารอะไรก็ควรที่จะบริหารจิตของตนให้อยู่ในสภาวะที่พร้อมที่สุดเสียก่อน

ด้านที่สอง แสดงได้ว่าหลักทฤษฎีและเทคนิคในการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นของตะวันตกหรือตะวันออก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหัวข้อพุทธธรรมที่ได้แสดงไว้แล้วทั้งสิ้น นอกจากนี้ในการสำรวจคุณสมบัติของหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาที่พึงประสงค์ของผู้บริหาร ก็พบว่าคุณสมบัติเหล่านั้นต่างก็เป็นธรรมะที่อยู่ในพุทธศาสนาเช่นกัน มองในมุมกลับการนำพุทธธรรมที่จำแนกเป็นหมวดหมู่อย่างเหมาะสมมาฝึกปฏิบัติย่อมจะเป็นประโยชน์แก่นักบริหารได้เป็นอย่างดี

ด้านที่สาม สังเกตดูจะเห็นว่า แนวโน้มในการบริหารยุคใหม่เริ่มมองการแข่งขันและการบริหารที่เป็นธรรมและความสำเร็จที่ยั่งยืนมากกว่าผลประโยชน์ระยะสั้น และเริ่มมีหลักบริหารที่ส่งเสริมแนวทางนี้ เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการที่ดี ความโปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน
เป็นต้น ซึ่งเป็นการวิ่งเข้าหาและสอดคล้องกับหลักพุทธธรรมอย่างแท้จริง

หลักพุทธธรรมเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่นักบริหารทั้งหลาย จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านแยกแยะผิดถูกชั่วดี ในการพัฒนาอุปนิสัยทั้งตนเองและผู้ใกล้ชิดเกี่ยวข้อง ในเชิงอุปการธรรมคือ เป็นเครื่องช่วยในด้านต่าง ๆ เช่น การตัดสินใจ พลังในการทำงาน การครองใจคน ความสำเร็จ
ของงาน และท้ายที่สุดยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลสูงยิ่งในการปลอบใจเมื่อพบความล้มเหลว
และเตือนสติเมื่อประสบความสำเร็จ

พุทธศาสนาจะมีความทันสมัยและมีประโยชน์ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย แต่นักบริหารทั่วไปมักมองข้ามขุมทรัพย์เหล่านี้ ไม่ว่าจะด้วยความดูถูกดูแคลน ไม่สนใจ ไม่รู้จริง ท้อถอย กลัวความลำบากหรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนาสามารถให้ประโยชน์แก่นักบริหารยุคโลกาภิวัฒน์ที่ปราศจากอคติได้เป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามอยู่บ้างก่อนที่จะได้รับประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้มากไปกว่าความพยายามที่ผู้บริหารพึงใช้เป็นปกติอยู่แล้ว[๖]

เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันสภาพสังคมค่อนข้างเน้นในเรื่องของวัตถุมากกว่าความเอาใจใส่ในเรื่องของจิตใจหรือทางด้านจริยธรรม สังคมจึงขาดแนวยึดหรือหลักทางศาสนาจึงทำให้สังคมมีความยุ่งยาก และปั่นป่วน คนที่อยู่ในสังคมจึงขาดซึ่งจริยธรรมที่สำคัญในการใช้ชีวิตการมีศาสนาตามกฎหมายยังไม่สำคัญเท่ากับที่เราได้ตระหนักว่าเรานั้นมีแนวคิดหรือหลักยึดทางศาสนาในเรื่องใด เรื่องของศาสนามีหลายอย่างที่เป็นเรื่องสำคัญที่นำไปช่วยในกระบวนการพัฒนา แก้ไขปัญหา เพื่อนำพาไปสู่การปฏิบัติตน และหากนำหลักศาสนาตามหลักสังคหวัตถุ ๔ มาใช้ร่วมกับการบริหารงานในยุคปัจจุบันก็สามารถนำไปสู่ความสำเร็จในงานระดับหนึ่ง ซึ่งความหมายของหลักสังควัตถุ ๔ นั้นหมายถึงคุณธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจคน ผูกใจคนและประสานหมู่ชนให้มีความสามัคคีเป็นธรรมที่ทำให้คนเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนทั่วไปเป็นการปลูกไมตรีเติมน้ำใจต่อกัน ทำให้สังคมเป็นสุข[๗] ดังคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นหลักสัจธรรมที่ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์เข้าถึงความสุขและความบริสุทธ์ภายในได้จริง ธรรมะของพุทธองค์เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์เป็นธรรมโอสถขนานเอก ที่สามารถเยี่ยวยารักษาจิตใจของมวลมนุษยชาติให้หลุดพ้นจากความโลภ ความโกธรความหลง เพราะเมื่อใจปราศจากสิ่งเหล่านี้ ใจย่อมสะอาดบริสุทธิ์มีอานุภาพเกิดเป็นความเมตตากรุณาปราณีมีความรักความปรารถนาดีต่อกันดังที่สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าตรัสไว้ในสังคหวัตถุสูตรว่า[๘] "ทานญฺจ เปยฺยวชฺชญฺจ อตฺถจริยา จ ยา อิธสมานตฺตตา จ ธมฺเมสุ ตตฺถ ตตฺถ ยถารหํ การให้ทาน การพูดจาไพเราะ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ในโลกนี้ความเป็นผู้มีตนสม่ำเสมอในธรรมทั้งหลายนั้นตามควร" ซึ่งเป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ประกอบด้วยหลัก ๔ ประการ คือ[๙]

. ทาน คือ การให้ ได้แก่ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปันช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ การให้ทานให้เพื่อขจัดกิเลส การทำทานโดยให้สังคหวัตถุนี้ ในแง่ปฏิบัติ หมายถึง การเฉลี่ยหรือแบ่งให้จากส่วนที่คนมีอยู่ มิใช่ให้มากมายจนไม่เหลือ หรือให้จนผู้รับร่ำรวย จุดประสงค์เน้นที่การแสดงอัธยาศัยไมตรีมากกว่าความมากหรือน้อยของวัตถุที่ให้ เพราะฉะนั้น คนยากจนหรือคนที่มีวัตถุสิ่งของเล็กน้อยก็สามารถแบ่งปันให้ทานผู้อื่นได้ตามอัตภาพของตน ข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว

๒. ปิยวาจา ได้แก่ การพูดคำสุภาพ อ่อนหวาน เพื่อให้เกิดความสมานสามัคคี ปิยวาจาทำได้ง่าย เพราะวาจานั้นมีในตัวเรา เพียงเรามีสติ มีเมตตาในใจก็สามารถพูดออกมาได้ คำพูดมีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่

(๑) คำพูดที่พูดออกไปแล้วคนฟังเกลียด เช่น คำหยาบ คำด่า คำประชด คำกระทบกระเทียบ คำแดกดัน คำสบถ เป็นต้น คำพูดเหล่านี้เรียกว่า "อัปปิยวาจา"

(๒) คำพูดที่พูดออกไปแล้วทำให้คนฟังรัก เช่น คำอ่อนหวาน คำชมเชยจากใจจริง คำพูดที่ชวนให้เกิดความสมัครสมานไมตรี เป็นต้น

๓. อัตถจริยา หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือกันและกันในวงแคบ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในวงกว้าง หลักธรรมข้อนี้มุ่งสอนให้คนพัฒนาตน ๒ ด้าน คือ การทำตนให้เป็นประโยชน์ และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ การทำตนให้เป็นประโยชน์ หมายถึง ทำตนให้มีคุณค่าในสังคมที่ตนอาศัยอยู่

๔. สมานัตตตา การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย หมายถึง การวางตนได้เหมาะสมความหมาย ๒ ประการ คือ

(๑) วางตนได้เหมาะสมกับฐานะที่ตนมีอยู่ในสังคม ตนอยู่ในฐานะอะไรก็วางตนให้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นอยู่ และทำได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

(๒) ปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อคนทั้งหลาย ให้ความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเสมอในสุขและทุกข์ คือ ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมรับรู้ปัญหา และร่วมแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ขององค์กรคุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยมและไว้วางใจให้แก่บุคลากรในองค์กร

สังคหวัตถุ ๔ ประการดังกล่าวมาแล้ว อำนวยประโยชน์ที่มองเห็นได้เป็นรูปธรรมดังต่อไปดังนี้

๑. ช่วยให้บุคคลดำรงตนอยู่ได้ในองค์กรด้วยความสุข สามรถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๒. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ สมานไมตรีระหว่างกันในองค์กร

๓. เป็นเครื่องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้มีความเคารพนับถือกันตามสมควรแก่ฐานะของบุคลากรในองค์กร

๔. เป็นเครื่องประสานองค์ประกอบต่าง ๆ ของสังคมให้คงรูปอยู่และดำเนินไปได้ด้วยดี

๕. ช่วยส่งเสริมศีลธรรมและป้องกันความประพฤติเสื่อมเสียในองค์กร

จากองค์ประกอบของสังคหวัตถุ ๔ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ในแง่ของการบริหารสามารถหยิบยกส่วนใดส่วนหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่องานบริหารมาใช้ได้ ซึ่งผู้ใช้จะได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อผลที่ตอบสนองอย่างแท้จริง ซึ่งมิใช่ ไม่เคยมีผู้นำประโยชน์จากพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้
แต่ตรงกันข้าม กลับมีผู้นำประโยชน์จากหลักพุทธธรรมเหล่านี้มาใช้แล้วได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าทีเดียว ดังนั้น การบริหารงานที่เป็นไปตามหลักของเศรษฐศาสตร์ และสังคมในปัจจุบันที่พัฒนาทุก ๆ ด้าน ต้องมีการบริหารที่ควบคู่ไปกับการใช้หลักของพุทธธรรมเข้ามาเสริมจึงจะสัมฤทธิ์ ผลที่สมบูรณ์และก่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในงานการบริหาร[๑๐]

๓. สรุป

การบริหารแนวใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีหลักพุทธธรรม เพราะหลักธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นหลักสังคหวัตถ ๔ หรือหลักธรรมใด ๆ ก็ตามเป็นหลักความดีของการกระทำทางกาย วาจา และใจ ระหว่างผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานทุกฝ่าย ดังนั้นบุคลากรในองค์กรทุกคนย่อมมีความพึงพอใจกับการบริหารโดยใช้ หลักสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา (โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ประชาชน วางตนเหมาะสม)

ดังนั้น การทำงานร่วมกันในเชิงบริหารยุคใหม่ คือกระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ (Sergiovanni) ทุกคนย่อมมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานให้สัมฤทธิผลเป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร มีตัวชี้วัด และต้องมีหลักธรรมเข้ามาใช้ในการบริหาร หลักสังคหวัตถุ ๔ คือ

ทาน คือ การให้ ได้แก่ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ปิยวาจา ได้แก่ การพูดคำสุภาพ อ่อนหวาน

อัตถจริยา หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือกันและกัน

สมานัตตตา คือ การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย

จะเห็นได้ว่าความเสมอภาคและมีความเป็นธรรมต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างเท่าเทียมกัน
ไม่เลือกปฏิบัติผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาถึงจะปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเห็นว่าผู้บังคับบัญชามีความเป็นธรรมจึงเกิดกำลังใจที่จะมุ่งมั่นปฏิบัติงานอย่างเต็มที่

บรรณานุกรม

จำรัส จันทร์แสงศรี. หลักการบริหารงานสมัยใหม่ กับหลักการบริหารเชิงพุทธศาสตร์. กรุงเทพมหานคร, ๒๕๔๙.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต). ทฤษฎีหรือแนวคิดทางด้านการบริหารและการจัดการองค์กร.
กรุงเทพมหานคร : บริษัทพิมพ์สวย, ๒๕๕๒.

พสุ เดชะรินทร์,รศ.ดร.. ผู้นำตามหลักของพระพุทธศาสนา. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี. จุฬาลงกรณ์-
มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๔.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

พรรณพิมล หล่อตระกูล. บทความสุขภาพจิต. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ๒๕๕๕.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๘.

อนุมงคล ศิริเวทิน. หลักศาสนากับการบริหารงานยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพมหานคร : จงลักษณ์การพิมพ์, ๒๕๕๔.

สังควัตถุ ๔ พบในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๓๕๑ หน้าที่ ๑๐๙-๑๑๐.

องฺ จตุกฺก. (บาลี) ๒๑/๓๒/๓๗.


*[๑]อาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

[๒] วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๘), หน้า ๒๓.

[๓] พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต), ทฤษฎีหรือแนวคิดทางด้านการบริหารและการจัดการองค์กร, (กรุงเทพมหานคร : บริษัทพิมพ์สวย, ๒๕๕๒), หน้า ๑๑๓.

[๔] พสุ เดชะรินทร์,รศ.ดร., ผู้นำตามหลักของพระพุทธศาสนา, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี,(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๔), หน้า ๓๒-๓๓.

[๕] จำรัส จันทร์แสงศรี, หลักการบริหารงานสมัยใหม่ กับหลักการบริหารเชิงพุทธศาสตร์, (กรุงเทพมหานคร : ๒๕๔๙), หน้า ๒๓-๓๔.

[๖] อนุมงคล ศิริเวทิน, หลักศาสนากับการบริหารงานยุคโลกาภิวัตน์, (กรุงเทพมหานคร : จงลักษณ์การพิมพ์, ๒๕๕๔), หน้า ๑๑๑.

[๗] พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,พิมพ์ครั้งที่ ๙ ,(กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๑๖๗.

[๘] องฺ จตุกฺก. (บาลี) ๒๑/๓๒/๓๗.

[๙] พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล, บทความสุขภาพจิต, (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ๒๕๕๕), หน้า ๑๐-๑๕.

[๑๐] สังควัตถุ ๔ พบในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๓๕๑ หน้าที่ ๑๐๙-๑๑๐.

หมายเลขบันทึก: 582135เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2014 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2014 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท