อาจารย์คณะเกษตรฯ มข.โชว์ผลงาน 4 ปีซ้อน ตกแต่งแท่นพระราชทานปริญญาบัตร


คณาจารย์และนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำผลผลิตทางการเกษตร ผสมผสานรังค์สรรผลงานทั้งแบบสากลและประเพณีไทย ตกแต่งสถานที่พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลงานต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน

เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 อาจารย์ดร.ภาณุพล หงษ์ภักดี อาจารย์ประจำสาขาพืชสวน ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบหมายจาก รองศาสตราจารย์ดร.อำนวย คำตื้อ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานอนุกรรมการฝ่ายตกแต่งสถานที่พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2557 ในวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2557 ให้เป็นหัวหน้างานนำทีมคณาจารย์ ได้แก่ อาจารย์ดร.วิไลลักษณ์ ชินะจิตร อาจารย์ฝากจิต ปาลินทร ลาภจิตร และ นางสาวพรทิพา ชุมแวงวาปี เจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยนักศึกษาสาขาพืชสวนทั้งระดับบัณฑิตศึกษาและระดับปริญญาตรี คณะเกษตรศาสตร์กว่า 20 คน เข้าร่วมดำเนินงานตกแต่งดอกไม้สด บริเวณแท่นพระราชทานปริญญาบัตรและห้องประทับพักผ่อนอิริยาบถ ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

อาจารย์ดร.ภาณุพล หงส์ภักดี กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสวิภาควิจารณ์งานจัดดอกไม้สดและการเปรียบเทียบในสื่อสังคมออนไลน์ เหล่าคณาจารย์และนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ยังคงมุ่งมั่นสานต่อภารกิจงานจัดตกแต่งดอกไม้สด ที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของการนำเอาผลผลิตทางการเกษตร ทั้งดอกไม้ ใบไม้และพืชผักนานาชนิด มาผสมผสาน รังค์สรรผลงานร่วมกับการจัดดอกไม้แบบสากลและแบบประเพณีไทย เพื่อร่วมแสดงความยินดีและนำความสุขสดชื่น มาสู่เหล่าบัณฑิตใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกทั้งยังเป็นการร่วมถวายพระเกียรติแด่องค์ประธานฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ โดยใช้เวลาเตรียมงาน ทั้งการออกแบบ จัดหาดอกไม้และอุปกรณ์นานร่วมเดือน ขณะที่ใช้เวลารังสรรค์ผลงานดอกไม้สดเพียง 2 คืน ก่อนถึงวันงาน

อาจารย์ดร.ภาณุพล กล่าวต่อว่า งานตกแต่งแท่นพระราชทานปริญญาบัตรและห้องประทับฯ ด้วยดอกไม้สด ถือเป็นงานละเอียดและท้าทายความสามารถ เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลาและงบประมาณ ตลอดจนดอกไม้ ที่ต้องคงความสดและสวยงาม โดยในปีนี้ ได้ออกแบบให้ผลงานดอกไม้มีโทนสีเหลือง-ส้ม เพื่อเชื่อมโยงกับสีอิฐหรือสีดินแดง อันเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเลือกใช้ดอกกุหลาบ(Rose)สีแดงและสีเหลือง ดอกดองดึง(Glory Lily) ดอกเบญจมาศ(Chrysanthemum) ชนิดดอกช่อสีเหลืองทองและสีส้ม ดอกเยอบีร่า (Gerbera) จากมูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ผสมผสานกับผลพริกแดงที่นำมามัดเข้าช่อ ผลส้มสีทอง มีการประยุกต์ใช้มะเขือพวงผลเดี่ยวร้อยเป็นอุบะสลับกับดอกรัก(Crown flower)สีขาว ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้ล้วนแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ ตอนล่างของชิ้นงาน ประยุกต์ใช้ตุ้มปลาตะเพียนแปลง ที่สานขึ้นจากทางมะพร้าว ห้อยเป็นอุบะ ร้อยเว้นช่วงสลับกัน แสดงถึงความบริบูรณ์ของผลาหารในภูมิภาค เฉกเช่นคำกล่าวที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อีกทั้งปลาตะเพียน ยังพ้องเสียงกับคำว่า เพียร ซึ่งฝากเป็นข้อคิดให้กับการดำเนินชีวิต และการทำงานของบัณฑิต ดังพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่า "บุคคลใดประกอบความเพียรโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มีจิตมุ่งมั่นที่จะกระทำการใดๆแล้ว บุคคลผู้นั้น พึงจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวังไว้"

"นอกจากความรู้ด้านการจัดดอกไม้แล้ว เหล่านักศึกษายังได้เรียนรู้การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวดอกไม้สด เช่น การลดอุณหภูมิ การยืดอายุการปักแจกัน การเก็บรักษาแบบเปียก และแบบแห้ง ตลอดจนกระตุ้นการบานของดอกไม้แต่ละชนิดก่อนใช้งาน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการปฏิบัติจริงนอกห้องเรียน และการร่วมกันคิดวิเคราะห์วางแผนทำงานเป็นหมู่คณะ อันจะนำไปสู่การพัฒนาจนกลายเป็นลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อไป" อาจารย์ดร.ภาณุพล หงส์ภักดี กล่าวในที่สุด

ดร.ภาณุพล หงส์ภักดี ข้อมูลข่าว/ภาพ
กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 581909เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท